มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

"จิตใหญ่ ใจกว้าง" : วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข


(๑)
“คุณช้าง คุณช้าง พี่ขอคุยอะไรด้วยหน่อย”
ผศ. สุจิตต์ ศรีชัย คุณครูสอนฟิสิก ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ เรียกผมหลังจากจอดรถเก๋งโก้หรูคันงามเทียบข้างรถกระบะดีและถูกของผม…..
เหมือนกับทุกๆเช้าที่ผมจะต้องไปส่งศรีภรรยาที่นี่ แล้วจะขับรถกลับไปนั่งทำงานกระจุ๊กกระจิ๊กอยู่ที่บ้านบางบัวทองมหานคร…แต่หากวันใดมีธุระปะปังในเขตกรุงเทพฯมหานครเมืองใหญ่ที่ยุ่งเหยิงก็จะอาศัยจอดรถอยู่ที่นี่ จอดตรงนี้แหละ แล้วใช้บริการขนส่งมวลชนตามแต่ที่จะไป ไม่ต้องวุ่นวายกับการจราจร…มีคนขับรถให้…ไม่ต้องยุ่งยากหาที่จอดรถ
วันนี้ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙… เพราะความเป็นคนดีที่มี “จิตใหญ่ ใจกว้าง” ของอาจารย์ท่านนี้แท้ๆ ที่ส่งผมไปที่สำนักงานมูลนิธิกระจกเงา…ซอยรางน้ำ

(๒)
“พักนี้คุณช้างออกต่างจังหวัดบ้างหรือเปล่า”… เอ…อาจารย์ใจดีท่านนี้มีเรื่องจะคุยอะไรน๊อ…คำถามแว๊บๆขึ้นในใจ เพราะอาจารย์ที่นี่หลายท่านที่รู้จักมักคุ้น ล้วนคุ้นเคยกับการที่ผมมักหนีเมียไปต่างจังหวัด ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นเลขาธิการมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท จนกระทั่งปัจจุบันที่ยังวนเวียนอยู่กับงาน NGO ในฐานะที่ปรึกษาของมูลนิธิกระจกเงา
กระจกเงา เริ่มต้นจากการรวมตัวของคนหนุ่มสาวมามากกว่าสิบปี แม้จะเพิ่งจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อเกือบสองปีมานี่เอง…เรียกว่าจดทะเบียนตอนที่หนุ่นสาวเหล่านั้นกำลังจะก้าวสู่วัยกลางคน…พุงของหลายคนที่นี่เป็นตัวบ่งชี้วัยได้นะ จะบอกให้
พักเรื่องกระจกเงาไว้ก่อน หากท่านผู้อ่านต้องการรู้เรื่องราว เข้าไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.bannok.com หรือ www.siamvolunteer.com หรืออีกหลายเว็บ…ตามภารกิจที่หลากหลาย

(๓)
“พักนี้ไม่ค่อยได้เดินทางบ่อยครับพี่…แต่ว่าศุกร์หน้าตั้งใจจะไปอุตรติตถ์…” …ผมตอบ
…“ตอนนี้น้องๆที่กระจกเงาเขาไปตั้งศูนย์อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม”…. ชื่อย๊าวยาว จนพวกเราหลายคนอยากจะเรียกสั้นๆว่า “ศูนย์ลับแล”… แหม หยั่งกับ “เมืองแม่ม่าย” แหนะ…
ไม่ขำไช่ม๊ะ… นิทานพื้นบ้านบุร่ำบุราณ เขาว่าอย่างนี้… “ผมจะบรรยายเรื่องเมืองแม่ม่ายขนานแท้ เขาเรียกว่าเมืองลับแล เลลับไม่กลับคืนหลัง…….
“มูลนิธิที่ไปทำเรื่อง ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ ที่เขาหลักไช่มั๊ย เห็นว่ายังทำงานฟื้นฟูต่อเนื่องอยู่ถึงทุกวัน…”
“ครับพี่…ยังทำเรื่องฟื้นฟู สร้างบ้าน งานสิ่งแวดล้อม งานพัฒนาเด็ก ครอบครัว ชุมชน”….ผมก็ตอบไปยืดยาว ตามประสาคนช่างพูด

(๔)
“ไปทำอะไรกันบ้างคะ”… อาจารย์สุจิตต์ถาม
“ตอนนี้จัดระดมอาสาสมัครไปช่วยขนโคลนออกจากบ้านชาวบ้าน…เข้าไปกันตั้งแต่วันที่ ๒๖ เดือนที่แล้ว ส่งทีมสำรวจจากเชียงราย พังงา และ กรุงเทพฯ เข้าไป…เบื้องต้นเลยก็เพื่อจะได้รู้ว่าเราต้องทำอะไร พื้นที่ไหนบ้าง แล้วก็จัดตั้งศูนย์ประสานงาน วางแผน ออกแบบกิจกรรมช่วยเหลือ และระดมอาสาสมัครเข้าไปทำงาน วันละประมาณ ๑๐-๒๐ คนต่อวัน แต่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็จะมีอาสาสมัครไปทำงานเป็นรุ่น รุ่นละประมาณ ๑๐๐-๓๐๐ คน แต่ความจริงในพื้นที่การทำงานเริ่มต้นเฉพาะตำบลแม่พูน อำเภอลับแล เราต้องการและรองรับอาสาสมัครได้ถึงสัก ๕๐๐ คน น่าจะเป็นปริมาณที่พอดี…ศุกร์ที่จะถึงนี่เป็นรุ่นที่ ๓ แล้วครับ…” ผมตอบยาวหน่อย…ม่ายรู้แหละ อยากให้คนรู้เรื่องที่รู้มาตามประสาพู่กันยุทธจักร…..
“น่าสนใจนะคะ….” อาจารย์กล่าวขึ้นมา พอให้ผมได้หยุดพัก… “พี่อยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ…น้ำท่วมเหนือคราวนี้ น่าเห็นใจพี่น้องชาวบ้านที่นั่นนะ…ภัยธรรมชาติ มีมากขึ้นเรื่อยๆ”
“น่าเห็นใจพี่น้องชาวบ้านที่นั่นนะ”… วลีนี้งดงามมากเลย ผมคิดในใจ นี่ไง หนึ่งในจิตใจที่ดีงาม “จิตใหญ่ ใจกว้าง” ของคนในสังคม เป็นวลีที่แสดงให้เห็นถึง “ความเสมอกันที่มีใจให้กัน”…..

๕)
“การจัดการอาสาสมัครคงยากน่าดูนะ…” อาจารย์เปรยขึ้น
แน่นอนครับ ผมคิดอยู่ในใจว่าการจัดการงานอาสาสมัคร โดยเฉพาะอาสาสมัครในภาวะวิกฤติอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ แม้ว่ามูลนิธิกระจกเงาเองจะมีประสบการณ์ในงานอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการงานอาสาสมัครในรูปแบบครูบ้านนอก การจัดการงานอาสาสมัครในรูปของนักศึกษาฝึกงาน หรือการจัดการงานอาสาสมัครไปดำเนินการฟื้นฟูในพื้นที่สึนามิ ก็ตาม
“ครับ ดูน้องๆเขาทำงานกันหนักมาก ทั้งงานกองหนุนที่สำนักงานกรุงเทพฯ เห็นรับโทรศัพท์กันวุ่นทั้งวัน จัดสรรรับสมัคร ทำระบบลงทะเบียน การเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง การจองตั๋ว การประสานงานกับบุคคลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…ที่หน้างานในพื้นที่ ก็มีทั้งการสำรวจชุมชน การวางแผนปฏิบัติการรายวัน การจัดการเรื่องที่กินที่อยู่ของอาสาสมัคร การพาอาสาสมัครสรุปบทเรียนรายวัน การวางแผนระยะยาวในงานฟื้นฟู…แต่ตอนนี้ที่หนักๆก็…ขนโคลนออกจากบ้านชาวบ้าน…สิบคน หนึ่งวัน ทำได้แค่บ้านเดียวนะครับ…”
“นั่นหนะสิ พี่ก็เข้าใจนะ ว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนการช่วยเหลือกันเองระหว่างคนต่อคน…”
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอาจารย์เป็นอาจารย์หรือเปล่าที่ทำให้อาจารย์ท่านนี้เข้าใจกระบวนการทำงาน แต่ก็ดีเหมือนกัน หากสังคมให้ความสนใจในกระบวนการ ก็จะทำให้สังคมสนใจในการสนับสนุนได้กว้างและลึกขึ้น จัดสรรทรัพยากร และแรงกายแรงงานแรงใจได้ตรงความต้องการได้มีประสิทธิภาพขึ้น…..

(๖)
“พี่อยากมีส่วนร่วม นะ…แต่พี่คงไปไม่ได้”….
แป่ว…ที่คุยๆมานี่ ก็อยากชวนอาจารย์ไปเป็นอาสาสมัครด้วยกัน แบบที่ชาวกระจกเงาเขาเชิญชวนว่า… “ขอเชิญมาบริจาคแรงงานด้วยกัน”…
“แต่รอเดี๋ยวนะ”…อาจารย์สุดจิตต์ กล่าวขึ้นพร้อมกับการหันเอี้ยวตัวไปหยิบกระเป๋าในรถ… “ตอนนี้พี่งานแยอะมาก สอนสัปดาห์ละสามสิบชั่วโมง…พี่ขอฝากเงินไปได้มั๊ย”…
ผมตอบอาจารย์ไปว่าได้ครับ ในขณะที่คิดว่าก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะร่วมมือกันได้
“พี่คิดอยากจะสนับสนุนเงินอยู่แล้ว อยากให้เป็นประโยชน์ ไม่เกี่ยงนะ ถ้าจะนำไปใช้ในการจัดการ โชคดีที่รู้จักคุณช้าง…”
ผมพอเข้าใจ ว่าการให้เงินการฝากเงินไปทำกิจกรรมกุศลหรือสาธารณประโยชน์ ผู้ให้อยากจะให้เกิดประโยชน์จริงๆสำหรับกิจกรรมหรือภารกิจ จึงเลือกที่จะหยิบยื่นให้กับคนที่รู้จักกัน พอประกันความไว้ใจกันได้

(๗)
ความจริง หากต้องการหลักประกันความไว้ใจ สำหรับคนที่ไม่รู้จักใครเป็นพิเศษ อาจจะสนับสนุนให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เราเข้าถึงข้อมูลได้ มีใบเสร็จ มีรายงานการดำเนินการ ก็จะง่ายเข้า…มีองค์กรหลายหน่วยงานทีเดียวที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ (Govermental Organizations – Gos) หรือหน่วยงานภาคเอกชน (NGOs) มากมายทีเดียวในสังคมไทยนี้ ที่จะช่วยสนับสนุนให้สำนึกทางสังคม (Social Awareness) ของเรามุ่งตรงเข้าสู่เป้าหมายที่เราต้องการ
อย่างในกรณีอุทกภัยภาคเหนือครั้งนี้ อาจจะสืบหาข้อมูลองค์กรได้จากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ www.thaingo.org หรือที่เว็บไซต์อื่นๆ
แต่หากให้ผมแนะนำและนึกออกในเวลานี้ สำหรับท่านที่ต้องการ “บริจาคแรงกาย” หรือ “สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ข้าวสาร อาหารสดแห้ง” ก็ลองเข้าไปสืบค้นที่ www.siamvolunteer.com ที่นี่เขาต้องการแรงงานอาสาสมัครมาก เหมาะสมแก่การเวลาและสถานการณ์
แต่หากต้องการสนับสนุนในรูปของเงินแบบที่อาจารย์สุจิตต์ทำอย่างตั้งใจ ก็อาจบริจาคตรงไปที่มูลนิธิกระจกเงา…
ประเภทบัญชี : ออมทรัพย์
ธนาคาร : กรุงไทย สาขานานาเหนือ
ชื่อบัญชี : มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี : 000-00-13692
เชิญนะครับ…ท่าน

(๘)
อาจารย์สุจิตต์ ยื่นเงินให้ผมเป็นแบ็งค์สีเทาๆสิบใบ…หมื่นบาทถ้วน…งง เลย คิดว่านิดๆหน่อยๆ…นี่ที่เธอเรียกผมคุยตั้งแต่ต้นเธอตั้งใจจริงมาแล้วนี่นา
“จิตใหญ่ ใจกว้าง” กลายเป็นเรื่องที่ผมนำมาครุ่นคิด จากประสบการณ์สั้นๆเช้าวันนี้ คงจะเริ่มมาจากคิดดี อยากทำดี สำหรับตนเองและเพื่อนมนุษย์ ตั้งใจจะให้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยสำนึกและความรู้ทางสังคม หาข้อมูล แล้วตัดสินใจเลือกวิธีทำให้สอดคล้องต้องตามเงื่อนไขที่แต่ละคนมี
“จิตใหญ่ ใจกว้าง” ของ ผศ.สุจิตต์ ศรีชัย คุณครูสอนฟิสิก ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ สร้างโอกาสให้ผมได้เข้าไปที่สำนักงานมูลนิธิกระจกเงา…
เย็นนี้ ผมจะนำใบเสร็จรับเงินกลับไปมอบให้เธอ…..และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งขออนุโมทนาสำหรับความ “จิตใหญ่ ใจกว้าง”ทุกดวงที่ส่องสว่างในสังคมโดยไม่เคยมอดหมดเสมอมา…..
………………………………………………………………………………….

โดย : วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข   Mail to วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข [email protected]
IP : (58.8.88.82)
เมื่อ : 7/06/2006 01:59 PM


ที่มา : http://www.thaingo.org/webboard/view.php?id=15
<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 33703เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2006 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จิตใหญ่ ใจกว้าง (ตอน ๒)

(๑)
มันเป็นธรรมเนียมของบ้านเราเมื่อมีวันหยุดต่อเนื่อง เราสองสามีภรรยามักจะใช้เวลาเดินทางไปที่ไหนด้วยกันอยู่ด้วยกันตลอดเวลาตามประสาคนที่ต้องฝากผีฝากไข้ในยามบั้นปลายชีวิต...ซึ่งคงจะอีกนานหลายสิบปีทีเดียว
วันที่ ๑๑-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ผมไปนอนเล่นอยู่ที่โรงแรมเมาเทนบีช พัทยา...เขาพระที่เคยเต็มไปด้วยต้นไม้ แต่ทว่าปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างตอบสนองอารมณ์บริโภค ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม ตึกราม ราวกับเมืองเล็กๆ ที่นี่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และ ลูกครึ่งวัยเบบี้...ก็อย่างว่าแหละ นักธุรกิจการเมืองเขาเรียกว่าการพัฒนา
เย็นวันที่ ๑๒ ทางทีวีนะ...ได้ดูพระราชพิธีเห่เรือ อันเอาฬารตระการตา ในฐานะพิธีกรรมหนึ่งของส่วนเสี้ยวศักดิ์สิทธิ์แห่งกระบวนการเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๐ ปีครองราชย์ของในหลวงผู้เป็นที่รักของมหาชนจำนวนมากภายใต้กระแสเวลาดีที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Royalism ...บอกตรงๆ ดูแล้วเกิดปิติดีมาก
ขณะที่ผมเสริงรมย์อยู่กับการพักผ่อน น้องๆที่กระจกเงาเขาไปตั้งศูนย์อาสาสมัครเพื่อผู้ประสบภัยเนื่องจากน้ำท่วมดินถล่มอยู่ที่อำเภอลับแล วันหยุดยาวนี้เขาระดมหมู่อาสาสมัครจากกรุงเทพฯไปขนดินออกจากบ้านชาวบ้าน เป็นรุ่นที่สาม สุดสัปดาห์ที่จะถึงในวันที่ ๑๖-๑๘ ก็จะเป็นรุ่นที่ ๔ ... หากท่านใดสนใจ กรุณาคลิ๊กไปดูที่ www.siamvolunteer.com ...เขาคงต้องการอาสาสมัครไปอีกระยะยาวๆ ระยะหนึ่งแหละ

(๒)
เชื่อว่าคนลุ่มริมเจ้าพระยาตั้งแต่บ้านผม ณ บางบัวทองไล่เรื่อยไปถึงกรุงเทพฯ ธนบุรี สมุทรปราการ... คงไม่แปลกใจแลพอรู้เหตุที่น้ำเจ้าพระยาล่วงลุฤดูพิธีเห่เรือนี้มีสีแดงขุ่น หาใช่ใสเฉกเช่นที่ผ่านมา...เพราะว่าดินถล่มน้ำทะลักจากทางเหนือเสกผสมสีน้ำให้เป็นเช่นนั้นเอง...ดูคล้ายสีเลีอดระทมก็มิปาน
นับเวลาต่อแต่นี้ อุบัติภัยธรรมชาติใหญ่ จะเกิดขึ้นอีกสักกี่ครั้งหนอ...เป็นคำถามที่คาใจ
“ผมกลัวจริงๆพี่ กลัวแผ่นดินไหว กลัวเขื่อนถล่ม”... หนูหริ่ง ผู้นำมูลนิธิกระจกเงา (www.bannok.com) เคยคุยกับผม...เขาว่า “จากประสบการณ์ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ ผมอยากทำเรื่องอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ”...
เราคุยเรื่องนี้กันมาหลายครั้งนับจากอุบัติภัยสึนามิ จนกระทั่งวิบัติภัยน้ำทะลักดินถล่มครั้งนี้ ทีมกระจกเงานี่ก็เป็นคณะหนึ่งที่บุกเข้าพื้นที่ทันทีในวันต้นๆ บุกเข้าไปด้วยต้นทุนประสบการณ์การจัดการอาสาสมัครจากพังงา บุกเข้าไปด้วยต้นทุนการบริหารงานอาสาสมัคร...มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า มีการสร้างระบบระดมอาสาสมัคร มีการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องระยะต้นเพื่อดำเนินการสานเนื่องทั้งในระยะต้น หรืออาจต่อเนื่องในระยะยาว...ตามแต่เหตุและปัจจัย
“อาสาสมัครในภาวะวิกฤติ”... ภาพฝันที่ท้าทาย คมชัด และควรเป็นจริง

(๓)
จากผนังกระจกใสของห้องพักหมายเลข ๗๑๗ ผมทอดสายตาไปยังเกาะแก่งทางทิศสัตหีบกวาดตามาทางซ้ายช้าๆ ชื่นชมหมู่ตึกต่ำสูงที่ยืนตระหง่านทิวบนพื้นที่เขาพระ แล้วหยุดมองไปที่หอคอยสูงด้านหาดจอมเทียน ดูสายสลิงขนรอกคนชื่นชมทัศนียภาพจากมุมสูง ด้านขวาที่ค้ำโยงไปทางทะเล น่าจะเป็นกระเช้านั่งหลายคน ส่วนด้านทิศตรงข้ามมีลักษณะเป็นม้านั่งคนเดียว วิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่นั่น...เออเนาะ สุนทรีย์ของคนนี่ช่างคิดช่างมีราคาจริง
“วันศุกร์นี้พี่จะไปอุตรดิตถ์”... ผมเปรยบอกภรรยา ทั้งที่ความจริงผมคิดมาตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว... ภรรยาแสนดี พยักหน้ารับ รอผมพูดต่อ ตามประสาผู้รู้ใจกัน... “พี่จะไปขนดิน ให้เหงื่อมันล้างสันดาน...” ผมพูดพลางยิ้มพลาง...แม้นคำจะก้าวร้าวแต่เรารู้ว่านี่เป็นลูกเล่นทางภาษาที่น่าจะพอดีกับกาลเทศะ
“พี่จะไปกี่วัน”... เธอผู้งามใจถามขึ้นมา
“ว่าจะไปวันศุกร์ กลับอาทิตย์เย็นจ้ะ...”
ในห้วงคำนึงตรึกตรองเฉพาะตน...เหมือนกลับทุกครั้งที่อาสาสมัครทำกิจกรรม ดูเหมือนเรานี่เป็นคนดีซะเหลือเกิน เป็นเทพเทวาซะเหลือเกิน ช่างเมตตากรุณาซะเหลือเกิน... แท้จริง เราเพียงแต่อยากเสนอหน้าเข้าไปอาศัยภารกิจทั้งหลายเพื่อเป็นเตาเผาใจเผาความเห็นแก่ตัว เราอยากไปในที่แปลกๆ อยากเห็นและพบพานประสบการณ์ที่ชีวิตปกติไม่มีโอกาสได้พบเจอ... ที่แท้...สำหรับเรา...งานอาสาสมัคร มันก็มีค่าฐานะกิจกรรมต่างตอบแทนธรรมดาๆ...ระหว่างมนุษย์ตาดำๆ นี่เอง

(๔)
“หนูหริ่งนี่เขาเอาจริงเอาจังกับงานอาสาสมัครจริงๆ นะ” แม่งามเอ่ยขึ้นมาระหว่างการสนทนา... “น้องว่าน่าจะดีนะที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านท้องถิ่นรวมตัวกันเป็นอาสาสมัคร...แบบว่าชาวบ้านมีน้ำใจอาสาสมัคร แล้วจัดตั้งกันแบบ อสม ที่ทางการจัดตั้ง หรือ รูปแบบเครือข่ายชาวบ้าน ตามแนวทางของ NGOs ทั้งหลาย เวลาเกิดเหตุวิกฤติการณ์ ชาวบ้านจะได้รวมกลุ่มช่วยกันเอง”...
“ตามตำราแปะเลยนะน้อง”... ผมแซวแม่งามนักพัฒนาเก่า เมื่อครั้งปี ๒๕๒๘-๒๕๓๑ ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ด้านสังคมวิทยาทุกวันนี้... “งานพัฒนา ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน นำไปสู่การรวมกลุ่ม...”... หยั่งว่า ได้ยินเรื่องนี้ทีไร อดแซวไม่ได้ซักที
เธอเคยบอกผมเมื่อครั้งคุยกันเรื่อง “อาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” เธอว่างานอาสาสมัครเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้น “สำนึกการให้ในสังคม” หากเราจะทำเรื่องอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ เธอว่าในที่สุดเราก็จะจรดจ่ออยู่กับ “ภาวะวิกฤติ” มากกว่าเรื่อง “การให้” และมากกว่าเรื่อง “งานพัฒนาคน” อันจะนำไปสู่การบริหารและจัดสรรทรัพยากรที่ให้ความสำคัญเฉพาะ “ภาวะวิกฤติ”...
ม่ายรุ เป็นงาย ได้ยินนักพัฒนาพูดเรื่องนี้ทีไร อดแซวไม่ได้ซักกะที.....

(๕)
“เวลาเกิดเหตุหนะพี่...ระบบมันล่มหมดแหละ...อาสาสมัครท้องถิ่น อบต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายชุมชนทั้งหลาย...เป็นคนประสบภัยทั้งหมดแหละพี่...ชีวิตทุกชีวิต ครอบครัวทุกครอบครัว ย่ำแย่อยู่ในสภาพติดลบทั้งหมดแหละพี่...ก็มีอาสาสมัครจากภายนอกนี่แหละ ชาร์จเข้าไป เข้าไปด้วยใจ เข้าไปด้วยสัญชาตญานการช่วยเหลือเกื้อกูล”....
เนื้อหานี้แหละ ที่ผมใช้คุยกับภรรยา เวลาที่เราสนทนากันเรื่อง “อาสาสมัครในภาวะวิกฤติ”... เป็นเนื้อหาที่ผมชอบและจำมาจาก “หนูหริ่ง กระจกเงา” ตอนที่เขาอธิบายให้ฟังเมื่อตอนงานหลังเหตุการณ์สึนามิหมาดๆ
ใช่...อาสาสมัคร เป็นถือเป็นคนที่มี “จิตใหญ่ ใจกว้าง” หากในภาวะปกติ “สำนึกการให้” หรือ “สำนึกอาสาสมัคร” น่าจะเป็นเรื่องปกติของคนในชุมชนทุกชุมชน และเป็นสำนึกที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนพัฒนาเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองและชุมชน
แต่ “อาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” เป็นความจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องระดมพลฅนอาสาสมัครจากภายนอกเข้าไป...และนี่คือความเป็นจริงของสังคม...ความเป็นจริงที่แตกต่างจาก “อาสาสมัครในภาวะปกติ”

(๖)
“ทันทีที่กิดเรื่องราววิกฤติขึ้น ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ น้องว่า ใครมักจะเข้าถึงพื้นที่ก่อนเพื่อน”... ผมหยอดถามลองภูมิสุดที่รัก
“อาสาสมัครกู้ภัยไงพี่...ปอเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู”... แม่งามตอบทันทีเลย
“เก่ง...เก่ง...” ผมหยอดคำหวานนิดหน่อยตามประสาผัวเคยหนุ่มแต่เมียสาวมาตลอด...เป็นคำตอบที่ผมเดาอยู่แล้ว ใครๆก็ต้องนึกถึง “วีรชนกู้ภัย” เหล่านี้.....
แต่การจัดการ “งานอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” จากประสบการณ์ของ “ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ” ที่ทำต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ มี “ความจริงของปัญหา” มากกว่าเรื่องของการเก็บศพ งานฟื้นฟู งานก่อสร้าง...มันมีงานที่ต้องทำมากจริงๆ
ในส่วนของหน้างานพื้นที่เอง ... หลังจากภารกิจของหน่วยกู้ภัยต่างๆ แล้ว ความจำเป็นของ “งานอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” คือระหว่างปฏิบัติงานช่วงต้น จำเป็นที่ต้องสำรวจวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ ออกแบบ รองรับอาสาสมัครที่มักจะทยอยเข้าไปในช่วงเวลาร้อนของข่าวสารที่ปรากฏในสังคม ออกแบบไป ดำเนินการไป เรียนรู้ความเป็นจริงไป จนกว่าปัญหาจะดำเนินผ่านสู่ภาวะปกติ...และนั่น “การทำงานพัฒนาชุมชนในภาวะปกติ” จึงจะเกิดขึ้น
นอกเหนือจากการวิเคราะห์เนื้องานหลักแล้ว กลุ่มจัดการ (ซึ่งเท่าที่ผ่านมา คือ อาสาสมัครที่ตัดสินใจอยู่ยาว) ก็จำเป็นจะต้องจัดตั้งองค์กรจัดการ จากรูปแบบหลวมๆ เป็นองค์กรที่มุ่งคุณภาพ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร ทรัพยากร ระบบ การจัดการอาสาสมัคร และอื่นๆ ควบไปกับการประชาสัมพันธ์จัดหาอาสาสมัครเข้าไปเสริมงานในระยะทาง...
การบริหารคน ที่มีจิตใจดี อยากจะร่วมกิจกรรมในพื้นที่ แต่มีระยะเวลาสั้นๆ มีความคาดหวังเป็นของตนเอง เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง คนโน้นจะเอาอย่างนู๊น คนนี้จะเอาอย่างนี๊ ตามแต่จิตใจดีจะพาไป หรือแม้กระทั่งความเป็นอยู่ ของอาสาสมัคร... เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นงานที่ใหญ่และยุ่งเหยิง หากต้องการให้กำลังอาสาสมัครตอบสนองต่อภารกิจและความเป็นจริงในพื้นที่ ที่มีกลุ่มเกาะติดอยู่...
ยังคงมีประสบการณ์อาสาสมัครในภาวะวิกฤติ ที่จะต้องเรียบเรียงจับกลุ่มความรู้...เหตุว่า “งานอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” เป็นเหมือนกับกองทัพประชาชน ที่ต้องเตรียมพร้อม พร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์พิบัติภัยขนาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา...

(๗)
“วันศุกร์นี้พี่จะไปอุตรดิตถ์”... ผมเปรยบอกภรรยา ทั้งที่ความจริงผมคิดมาตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว... ภรรยาแสนดี พยักหน้ารับ รอผมพูดต่อ ตามประสาผู้รู้ใจกัน... “พี่จะไปขนดิน ให้เหงื่อมันล้างสันดาน...” ผมพูดพลางยิ้มพลาง...แม้นคำจะก้าวร้าวแต่เรารู้ว่านี่เป็นลูกเล่นทางภาษาที่น่าจะพอดีกับกาลเทศะ
นอกจากไปอุตรดิตถ์...ไปขนดินให้เหงื่อมันล้างสันดาน...แล้ว ผมเชื่อว่า จะเป็นการไปทบทวนประสบการณ์ เพื่อนำมาสรุปเป็นความรู้ แลกเปลี่ยนกันในสังคมอาสาสมัครผู้มี “จิตใหญ่ ใจกว้าง” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้สาธารณะ
เรื่อง “การบริหารจัดการงานอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ”... ต่อไป ในอนาคต

โดย : วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข   Mail to วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข [email protected]
IP : (58.8.84.75)
เมื่อ : 28/06/2006 09:16 AM

จิตใหญ่ ใจกว้าง (ตอน ๓)

(๑)
บ้านที่เราไปขนโคลนออก เป็นบ้านอยู่ริมลำธาร มีถนนโค้งอ้อมจากหน้าบ้านข้ามสะพานปูนเลี้ยวไปทางขวา เป็นบ้านของป้าสวย น้องสาว และลูกชายวัยมัธยมต้นของป้าสวยเอง...หากในยามปกติบ้านยกใต้ถุนสูงหลังนี้ น่าจะเป็นบ้านที่อยู่เย็นเป็นสุข เพราะไม่ใกล้หรือไกลเพื่อนบ้านเกินไป ห่างกันแค่ตะโกนคุยกันได้ รอบบ้านร่มรื่นด้วยสวนทุเรียน สวนมังคุด เหมือนกับบ้านอื่นๆในย่านนั้น
อนิจจังไม่เที่ยง...วันที่เราไป สวนผลไม้ที่เคยเป็นแหล่งรายได้และความร่มรื่น กลับยืนต้นท้าทายให้ขุดตัดทิ้ง ต้นมังคุดโชว์สีน้ำตาลแก่ทั้งใบ ต้น และผล ทุเรียนก็อยู่ในสภาพไม่เพี้ยนผิดกัน แถมบ้านเพื่อนบ้านเยื้องออกไปทางซ้ายมือหลังหนึ่งเหลือแต่เสายืนโด่เด่ท้าทายสายตาทุกข์ระทม
พลังของน้ำท่วมหลากดินถล่มครั้งนี้มันมากมหาศาลจริงๆ
“กว่าจะปลูกเก็บผลได้ก็คงอีกห้าหกปี”... ป้าสวยเอ่ยเล่าให้เราฟัง

(๒)
“เมื่อวาน เราเริ่มทำหลังนี้ครับพี่ พวกเราที่อยู่ที่นี่มาช่วยกันเจ็ดแปดคน”...เอ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ลับแล มูลนิธิกระจกเงา (www.siamvolunteer.com) เล่าให้เราฟัง
“ตอนเริ่มทำ เข้ามาไม่ได้ โคลนท่วมทางเข้าเลยพี่วี”...โอ๊ต ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงราย มูลนิธิกระจกเงา (www.bannok.com) ซึ่งเข้ามาเสริมทัพพร้อมเจ้าหน้าที่จากเชียงรายจำนวนหนึ่ง เสริมต่อเอ
วันเสาร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ พลพรรคอาสาสมัครส่วนหนึ่งประกอบด้วยพวกที่มาจากกรุงเทพฯเมื่อคืน คนที่อยู่ที่นี่ยาวมาแล้ว และนักเรียนพยาบาลจากในเมืองอุตรดิตถ์ ทั้งชาวต่างชาติ ทั้งชาวไทย ประมาณสี่สิบคนเศษ เริ่มลุยภารกิจ “ขนโคลน” กันที่บ้านป้าสวย
เริ่มแรกเลย อาสาสมัครรุ่นพี่คนที่คุยเก่งๆ เสียงดังๆ ฟังว่า เคยมาช่วงวันหยุดตอนพระราชพิธี แกสั่งเรียงแถว เลย...หยั่งว่าคนเคยงาน หัวแถวก็มีหน้าที่ขุด ส่วนหนึ่งมีหน้าที่จัดกระป๋อง แล้วส่งต่อกันมาเรื่อยๆตามแถว คนท้ายสุดมีหน้าที่เทกองแล้วส่งย้อนกระป๋อง...คล้ายๆงานก่อสร้างนั่นแหละ
ที่เราต้องขนโคลน เพราะว่าน่าจะมีแต่คนและเครื่องมือเล็กเท่านั้น ที่จะเข้าไปทำงานสุดยอดนี้เนื่องจากความเป็นใต้ถุนบ้าน...โคลนจำนวนมากถูกขนมากองเป็นภูเขานอกบ้าน...คาดว่ารอเครื่องมือหนักมาจัดการในวาระต่อไป
หนักมาก งานนี้ หนักสำหรับคนที่ปกติไม่ค่อยได้ใช้แรงกายเลี้ยงชีพ...แต่สนุก เพราะเป็นประสบการณ์ที่นานๆทีจะมีโอกาสทำกัน...โดยส่วนตัวนะ...ตอนนั้นสมาธิจรดจ่ออยู่กับกระป๋อง...ขวารับ ซ้ายส่ง ขวารับ ซ้ายส่ง...
ทำกันสักชั่วโมงกว่าๆ ได้งานพอเห็นว่าโคลนถูกทยอยขนออกไปจำนวนหนึ่ง...ช่วงพักนี้ บางคนล้างมือ บางคนดื่มน้ำ บางคนกินผลไม้ที่เจ้าของบ้านจัดมาให้...หลง ลับแล...ทุเรียนขึ้นชื่อของที่นี่...หอมมากทีเดียว...สำหรับ Durian Fan Club.....

(๓)
“ผมว่าฉีดน้ำดีกว่ามั๊ยพี่”.....ผอ.เอ ถามท่านหนูหริ่งกระจกเงา ขณะที่ ผอ.โอ๊ต มีท่าที่อือๆ ออๆ เห็นด้วย
“ฉีด เหรอ”... คุณหนูหริ่งถาม
พอดีผมอยู่ตรงนั้น เลยช่วยสนับสนุน เพราะคิดว่าน่าจะเร็วกว่า...กระบวนการขนโคลนนี้ ใช้เครื่องปั๊มน้ำ ต่อสายดูดน้ำจากลำธาร แล้วเอาเข้ามาค่อยๆฉีด หน้าโคลนค่อยๆถล่มลงและไหลเลื้อยไปตามทางน้ำที่เราเปิดเอาไว้
บรรดาชาวยกถังที่เริ่มทำกันตอนเช้า ก็เปลี่ยนจากการทำงานก่อสร้าง มาเป็นประชาชนชาวเหมือง พวกที่ฉีด ก็ฉีดไป พลจอบ พลพลั่ว ก็เรียงแถวโกยดินขึ้นจากทางน้ำ เป็นการทำงานที่เร็วมาก เร็วกว่าขุดใส่ถังแล้วทยอยไปเท เร็วกว่าหลายเท่าทีเดียว...พักเที่ยง งานที่ได้ คือเราสามารถจัดการกับโคลนที่อยู่ในห้องเก็บของ เก็บอุปกรณ์การเกษตร ห้องที่หนึ่ง และ พื้นใต้ถุนอีกสักสามในสี่ ได้จนเห็นพื้นปูนที่เคยเป็นอยู่ก่อนอุทกภัยทีเดียว
ผมแอบดีใจ รู้สึกเป็นสุขไปกับป้าสวยเจ้าของบ้านที่เฝ้ามองพวกเราทำงาน...และที่ดีใจมากๆ ก็ตอนที่พวกเราได้นำเครื่องมือทำมาหากินของป้าแกออกมาได้ ชิ้นใหญ่ที่เห็นก็มีไม้ต่อกรรไกรสอยผลไม้ กับถังฉีดปุ๋ย...ที่แอบดีใจเพราะเรานำเครื่องมือทำมาหากินออกมาให้แกได้...
ตอนเที่ยง ป้าสวยแกเลี้ยงข้าวปลาอาหาร...พวกเราชาวลุยโคลนก็ซัดกันซะเต็มคราบ...กินข้าวกับความเหนื่อย (และกับข้าว) นี่มันอร่อยเลอรสเลิสสะแมนแตนจริงๆ...ไม่เชื่อ มาลองใช้แรงอาสาสมัครกันดิ... ที่ (www.siamvolunteer.com)
ตอนบ่าย...เราเริ่มลุยงานกันต่อ เราฉีด เราโกย เราขุด...จนโคลนถูกกำจัดไปจากใต้ถุนบ้านป้าสวย ในส่วนที่มีกำแพงปูน เรียกว่างานเสร็จไปสักสามในสี่ ท่าจะได้...อ้อ ตอนเบรกบ่าย ป้าสวยแกจัดข้าวผัดและผลไม้ มาบำรุงพวกเราอีกนะ
งานที่เหลือก็เป็นจะได้แก่ห้องเก็บของอีกห้องหนึ่ง กับส่วนท้ายของใต้ถุนบ้าน อันนี้ยากหน่อย เพราะในห้องเก็บของมีของวางอยู่เยอะ ซ้อนกันไป ซ้อนกันมา เป็นห้องยาวกว่าห้องแรก ส่วนผนังก็ทะลุได้เพียงด้านหน้าห้องครึ่งเดียว...ที่เราทะลวงก็เพราะน้ำมันทำให้ทะลุอยู่ก่อนแล้ว ส่วนที่ยังดีอยู่เราไม่ทะลายมัน...ไม่งั้นตอนซ่อม เราต้องใช้ต้นทุนอีกมาก
วันรุ่งขึ้น พวกเราก็ไปลุยกันต่อ...วันนี้นักเรียนพยาบาลไม่ได้มา มีนักเรียนอาชีวะมาแทน...เราลุยงานกันตั้งแต่ก่อนติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ โดยการต่อแถวขุดขน พอได้เครื่องปั๊มน้ำแล้ว เราก็ลุยปั๊มกันต่อ
นึกว่าจะเสร็จวันนี้ เพราะเป็นวันที่อาสาสมัครทางไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของทีม ต้องกลับบ้านกันแล้วเย็นนี้
แต่ที่ไหนได้ เราลุยห้องเก็บของได้หนึ่งห้อง ห้องน้ำหนึ่งห้อง และส่วนท้ายของบ้านที่เต็มไปด้วยกองไม้อัดแน่นหลากขนาด
อันนี้ก็ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของอาสาสมัครที่ยังอยู่ต่อกันได้ในวันต่อไป...ทำการปิดงานให้สำเร็จ

(๔)
มีบางหัวข้อสนทนา ที่ได้เห็นได้ยินมา... เลยนำมาเป็นประเด็นในการสำรวจตนเอง...นั่งเงียบๆ หลับตา หายใจเข้า พุงป่อง หายใจออก พุงแฟบ...ป๊อบ แป้บ ๆๆๆ...อยู่สักสีห้าปึด...ได้เรื่องเลย...ได้ยินหยิน คุยกับหยาง เยิบยาบ เยิบยาบ...
ปุจฉา : ทำไมหว่า ทำไมต้องเปลี่ยนจากขุดโคลนใส่กระป๋อง มาเป็นน้ำฉีด
วิสัชชนา : ขุดโคลนใส่กระป๋องช่วยกันเคลื่อนย้ายนี่ก็ดีอยู่ดอก ได้อารมณ์อาสาสมัครดี ได้เรียนรู้การทำงานออกแรง ส่วนใช้น้ำฉีด ก็ดี เสร็จเร็วดี อาสาสมัครทุกคนก็ได้ทำงาน เพียงแต่เปลี่ยนจากจับกัง มาเป็นคนงานเมือง ได้เหงื่อเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุน หากอยู่ใกล้น้ำ ทำไมต้องใช้กระป๋องตักโคลน...
ปุจฉา : เสร็จเร็วแล้วมันดียังไงอะ
วิสัชชนา : ดูเจ้าของบ้านดิ เขาทุกข์มาตั้งนาน พองานเสร็จเร็ว กำลังใจเขาก็ดีขึ้น มีเวลาที่จะลุยชีวิตไปข้างหน้าต่อไป ไม่ต้องพะวักพะวงยืดเยื้อ
ปุจฉา : แล้วอาสาสมัครล่ะ จะได้ลิ้มรสการใช้แรงงานสักเท่าไหร่
วิสัชชนา : ฉีดน้ำ ก็ต้องใช้แรงไง แรงฉีด แรงโกยโคลนขึ้นจากธารน้ำฉีด...งานอาสาสมัครนี่ มีกลุ่มได้รับประโยชน์มากกว่าหนึ่งกลุ่ม...
กลุ่มแรก...ผู้ได้รับความเดือดร้อน ทุกข์ของท่านเหล่านั้น จำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อย ให้เร็วและดีที่สุด เท่าที่อาสาสมัครจะทำได้
.....กลุ่มที่สอง...ตัวอาสาสมัครเอง เมื่อได้ประโยชน์จากการใช้แรงแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการช่วยกันคิดค้นทดลองเพื่อการทำงานให้เร็วเข้า ได้เห็นผู้ทุกข์ร้อนยิ้มอย่างมีความสุขได้เร็วเข้า จะได้ไปลงแรงลงใจร่วมกับผู้ทุกข์รายอื่นๆต่อไปได้เร็วเข้า
.....กลุ่มที่สาม...กลุ่มผูจัดการงานอาสาสมัคร...จะได้มีข้อมูลไปปรับใช้ในการบริการทั้งอาสาสมัคร ทั้งผู้ประสบภัย ทั้งสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.....กลุ่มที่สี่...สาธารณชน...จะได้รับรู้ข้อมูล เพื่อจะมีส่วนร่วมในจังหวะที่เหมาะสม...พอคนเป็นอาสาสมัครเยอะเข้า พอจิตสำนึกเพื่อการให้ใหญ่ขึ้น พอจิตใจแห่งการเผื่อแผ่กว้างขึ้น...สังคมก็จะงดงามขึ้น ความสุขก็บังเกิดขึ้น.....อะไร อะไร ก็ดีขึ้น
ปุจฉา : ทำไมเราต้องทำบ้านป้าสวยให้เสร็จ เอาแค่พอแกขึ้นบ้านได้ ก็น่าจะพอแล้ว ที่เหลือก็ให้แกทำต่อเองก็แล้วกัน
วิสัชชนา : โธ่ถัง...ทำให้แกให้เสร็จเถ๊อะ...เวลาเราทุกข์ร้อนหนะ หากคนมาช่วยเราด้านกายภาพ มันก็ดี แต่คนทำจนถึงที่สุด มันมีค่ามากกว่านั้น เพราะเป็นเครื่องหมายของกำลังใจ ที่คนมอบให้กับคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่บอบช้ำ ที่สวน ที่ทำกิน วินาศขนาดนั้น
เออ หนอ ได้ยินหยินคุยกับหยาง ฝ่ายจิตข้างหนึ่งมองตนเป็นศูนย์กลาง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองผู้ทุกข์ร้อนเป็นศูนย์กลางในการพินิจตัดสินใจ...
และแล้ว...สองฝ่ายก็ตกลงกันว่า “เราต้องมองกันด้วยปัญญา เนาะ...พอปัญญาประกอบพอดีกับจิตใจ จิตก็ใหญ่ ใจก็กว้าง...เห็นแต่ความจริงที่เราสัตว์โลกผู้ร่วมเกิด ร่วมทุกข์ทั้งหลายต้องเผชิญอยู่...หลุดพ้น หลุดพ้น...ไม่มีตนหรือผู้ทุกข์ร้อนเป็นศูนย์กลาง ให้วุ่นให้วาย”.....

(๕)
ภายใต้รหัส “จิตใหญ่ ใจกว้าง” นี้ ผู้เขียน พยายามที่จะนำไปสู่การสรุปเรียบเรียงความรู้ เรื่อง “การจัดการอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” เขียนขึ้นโดยไม่มีเคร้า ไม่คำนึงโครง อาศัยเพียงประสบการณ์อาสาสมัครจากเหตุการณ์ ทั้งสึนามิ และ น้ำท่วมภาคเหนือ มาเป็นข้อมูลสำหรับการไตร่ตรอง
อาศัยประสบการณ์ของมูลนิธิกระจกเงา ประสบการณ์อื่น และ/รวมประสบการณ์ส่วนตน เป็นเครื่องมือ เพื่อการรวบรวมเรียบเรียง
เพียงหวังว่าในที่สุด “การจัดการอาสาสมัครในภาวะวิกฤติ” ที่เหล่าสาธุชน ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทรัพย์ กันก่อให้เกิดขึ้น จะพัฒนาเป็น “ความรู้สาธารณะ”
ณ เวลานี้ไม่รู้ว่าในที่สุด งานชุดนี้จะจบตรงไหน เมื่อใด... อาจจะเร็วๆนี้ หรืออาจจะระยะยาว ก็คงต้องดูๆกันไป เมื่อเหตุและปัจจัยพร้อม
ในชั้นนี้ มีการพูดคุยกันบนเว็ปที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสาเหตุในการตัดสินใจเป็นอาสาสมัคร และสิ่งที่ได้รับจากการเป็นอาสาสมัครอยู่...ในฐานะสามัญชน ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ทุกท่านเข้าไปอ่านหรือแลกเปลี่ยนสร้างความรักความรู้...ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน กัน ที่
http://www.siamvolunteer.com/newwebboard/main.php?board=000086&topboard=6
เจ้าประคู๊ณ...หวังว่านอกเหนือจากมูลนิธิกระจกเงา (www.bannok.com) โดยโครงการฅนอาสา (www.siamvolunteer.com) และศูนย์อาสาสมัครสึนามิ (www.tsunamivolunteer.net) จะเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการระดมอาสาสมัครเสนอตัวเข้าไปในภาวะวิกฤติแล้ว จะมีบุคคลหรือองค์กรกลุ่มอื่นๆ จัดการงานลักษณะเช่นนี้ด้วยเถิด...
“จิตใหญ่ ใจกว้าง” ในสังคม กำลังรออยู่.....

โดย : วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข   Mail to วีรศักดิ์ บริบูรณ์สุข [email protected]
IP : (58.8.84.75)
เมื่อ : 28/06/2006 04:25 PM
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท