แนวทางการสอนลูกศิษย์ "ครูดอย" ที่แม่ฮ่องสอน


ในภาคเรียนที่ 2/2550 นี้ ผมได้รับมอบหมายให้ไปสอนนักศึกษาประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ 2

จากใบรายชื่อของนักศึกษามีทั้งหมด 35 คน แต่เหลือรอดมาถึงภาคเรียนนี้ 25 คนเท่านั้น (ผมคิดในใจว่า "สบายแล้ว จำนวนคนน้อย สอนทั่วถึงดี)

ผมจะต้องเดินทางไปสอนโดยเรือบินของการบินไทย ในภาคเรียนนี้ทั้งหมด 6 ครั้ง และสอบปลายภาคอีก 1 ครั้ง ประมาณว่า 2 สัปดาห์ก็ไปหนหนึ่ง

เดินทางวันเสาร์ พัก 1 คืน สอนวันอาทิตย์ทั้งวันแล้วกลับตอนเย็น เป็นอย่างนี้สม่ำเสมอ

เขียนบันทึกถึงตรงนี้ เหลือการสอบปลายภาคอีก 1 ครั้ง คือ สอบวันพรุ่งนี้แล้วครับ (9 ก.พ.51)

ผมสอนวิชา "เทคโนโลยีกับการเรียนรู้" ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนของครู 

 

ผมมีแนวทางในการสอนพวกเขาอย่างไรบ้าง ลองประมวลผลตัวเองหน่อย

คาบแรก ๆ ผมต้องทำความรู้จักพวกเขาแต่ละคนให้ได้ละเอียดมากที่สุดก่อนว่า ชื่อเสียงเรียงนามเป็นอย่างไร อยู่อำเภอไหนของแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันทำงานอะไร ถ้าเป็นครู สอนอยู่ที่ไหน ลำบากไหม และเป้าหมายในชีวิตของพวกเขามาเรียนเพื่ออะไรกันแน่ ... ผมเลือกวิธีการสร้างแบบฟอร์มประวัติส่วนตัวให้พวกเขากรอกและติดรูป เหมือนสมัครงานยังไงยังงั้นเลย

เนื่องจากผมมีเวลาสอน 6 สัปดาห์ ๆ ละ 6 ชั่วโมง ทำให้การสอนต้องเร่งรัดพอสมควร สิ่งใดที่มีประโยชน์น้อย ผมจะตัดออกไป ผมพยายามจะเลือกเนื้อหาที่เขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามสภาพพื้นที่ของเขาได้จริง รวมทั้งเปิดโลกเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เขา เขาจะได้มีวิสัยทัศน์มากขึ้น

 

เนื้อหาที่ผมเลือกที่จะสอน มีดังนี้

  • สื่อการเรียนการสอน : การออกแบบ การพัฒนา การนำไปใช้จริง
  • เทคโนโลยีการฉายภาพ
  • เทคโนโลยีการขยายเสียง
  • คอมพิวเตอร์เบื้องต้น
  • อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น
  • บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
  • การใช้งานบล็อกเพื่อสร้างเครือข่ายครู
  • การศึกษาทางไกลเบื้องต้น
  • ฯลฯ

 

นอกจาก การให้ความรู้ต่าง ๆ แล้ว อีกประเด็นที่ผมจะเน้นมาก ๆ ก็คือ การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของตัวเอง

ผมจึงเลือกสื่อวีดิทัศน์หลาย ๆ เรื่องมาเปิดให้เขาชม สอดแทรกในระหว่างการสอนทุกครั้ง เช่น

  • วีดิทัศน์ "อุดม แต้พานิช 4" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความกล้าในการใช้ภาษาอังกฤษ
  • วีดิทัศน์ "คุณหมอพงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ พิษภัยยาเสพติด การชิงสุกก่อนห่าม การกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่ (ได้ผลมาก)
  • วีดิทัศน์ "น้องเรย์ คนเก่งหัวใจแกร่ง" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความพยายามที่เล่าเรียนให้สำเร็จ พร้อมกับดูแลแม่ที่ป่วย บอกรักแม่ทุกครั้ง
  • PowerPoint เรื่อง "คุ๊กกี้" สอนเรื่องการไม่ประมาทในชีวิต มีเรื่องการใช้คำพูด เวลา และโอกาส
  • ฯลฯ

ผมไม่ต้องการสอนแต่เนื้อหาวิชาการ แต่ผมต้องการให้ลูกศิษย์ "ครูดอย" ของผมเป็นคนดี เป็นครูดี และเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่

บางคนอาจคิดได้ หันกลับมาพิจารณาตัวเองแล้วปฏิบัติ แต่บางคนคิดได้ภายในห้องเรียน ออกจากห้องก็ลืม ... เรื่องนี้มันสอนกันโดยตรงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่า จะยอมหันมามองตัวเองหรือไม่

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมตั้งใจสอนเขามากก็คือ การใช้บล็อก Gotoknow แห่งนี้ ครับ

ผมมองว่า ครูดอยควรได้รับการเหลียวแลจากสังคมบ้าง เนื่องจากที่ทำงานหรือโรงเรียนทุรกันดารมาก น้ำไฟไม่มี กว่าจะลงมาที่อำเภอก็ลำบากแล้ว จึงอยากให้พวกเขาได้มีโอกาสเล่าให้สังคมฟังบ้างว่า ลำบากแค่ไหน ยังขาดแคลนอะไรอีกบ้างหรือไม่ เพื่อมีคนใจบุญ คนที่มีสิ่งของแต่ไม่ค่อยได้ใช้ ได้บริจาคไปให้เด็กน้อยตามโรงเรียนเหล่านี้บ้าง

ลองเข้าไปที่ ลูกศิษย์ "ครูดอย" ผู้เสียสละแห่งเมืองสามหมอก ดูนะครับ

ซึ่งผมก็คิดว่า ผมคิดถูก ... แรก ๆ ก็เหนื่อยหน่อย เพราะว่าพื้นฐานคอมพิวเตอร์ของหลาย ๆ ไม่ค่อยดีนัก ต้องอาศัยเพื่อนที่อยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอนที่พื้นฐานดีกว่าเพื่อนมาติวให้

แน่นอนผมมีความภูมิใจมากที่หลาย ๆ โรงเรียน ลูกศิษย์หลาย ๆ คนมีสังคมภายนอกเริ่มเข้ามาช่วยเหลือเด็ก ๆ และโรงเรียนที่ขาดแคลนบ้างแล้ว เหตุเกิดจาก Gotoknow แท้ ๆ ทีเดียว

 

ตัวอย่างความสำเร็จในการเขียนบล็อกของลูกศิษย์ "ครูดอย"

ธารน้ำใจที่อบอุ่นสู่แดนดอย : เตรียมของบริจาคเพื่อส่งถึงมือผู้ขาดแคลน ..

คุณเอก เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือโดยตรงกับลูกศิษย์คุณครูนุชวรรณ (ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของผม)

หรือ ที่โรงเรียนร่มเกล้าปางตองก็มีคนมาให้ความช่วยเหลือสร้างฐานเสาธงให้กับโรงเรียน เป็นต้น

เป็นลูกศิษย์ "ครูดอย" รุ่นแรกที่ผมได้สอนการสร้างบล็อก ครับ ... ภูมิใจตามประสาครูมีลูกศิษย์ดี

 

แต่ปัญหาของการสอนห้องนี้ก็มีเหมือนกัน

  • ลูกศิษย์บางคนเกเร ... ดูเหมือนจะมาเรียนไปยังงั้น ๆ โดยขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียนหลักสูตรนี้นะครับ ทำให้บางครั้งก็ไม่เข้าเรียน หรือบางคนมาเรียนตอนเช้า ตอนบ่ายหายจ้อย ... ผมก็พยายามทำความเข้าใจพวกเขาว่า ภาระหน้าที่การงานมีเสาร์-อาทิตย์ หรือบางคนลูกเล็กประมาณนี้ ทำให้เรียนไม่เต็มที่ (มั้ง) แต่ถ้าเขาคิดได้บ้างว่า ผมมาสอนเขาแค่ 6 ครั้งเท่านั้น เขาจะรู้ว่า การมารับความรู้เป็นเรื่องที่มีคุณค่า
  • เวลาการสอนน้อย ... ทำให้เนื้อหาที่อยากสอนมากมายต้องลดน้อยลงไปด้วย ผมก็อยากสอนเขามากที่สุด เพราะโอกาสที่ครูดอยจะเจอพบมันน้อยครับ

 

"สัตวโลกย่อมเป็นไปตามกรรม"

  • วิชานี้เขาต้องได้เกรด B ขึ้นไป ... ไม่งั้นผมจะให้ "ร" เขาแน่นอน ... ความเดือดร้อนสำหรับคนที่ติด "ร" จากผม ... เขาต้องนั่งรถจากแม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่ เพื่อติดต่อแก้เกรดจากผม อันนี้ "สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม" "หว่านพืชฉันใด ก็ได้ฉันนั้น" จริง ๆ

 

ความรู้สึกส่วนตัวของการไปสอนครั้งนี้

  • ดีใจที่ได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินไปสอนครั้งแรก สะดวก สบายดี ... ผมชอบ อิ อิ
  • แม่ฮ่องสอน เมืองแห่งความสงบ จังหวัดหนึ่งที่ผมชอบมานาน แล้วผมก็มีโอกาส
  • ดีใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้กับครูดอย ครูผู้เสียสละ ...
  • มีลูกศิษย์ดี ๆ หลายคนในห้องเรียนนี้ ... เรียนด้วยความตั้งใจ ผลงานจึงออกมาค่อนข้างดี ... การสร้างคนให้เก่งให้ดี มันยากจริง ๆ
  • รู้จักหมอรัตน์ หมอที่ชอบถ่ายรูป และส่งโปสการ์ดทำมือ
  • พักผ่อนนอนหลับ ... ไปสอนทุกครั้ง ผมไม่คิดว่า ผมไปสอนหนังสือสักครั้ง ผมกลับคิดว่า ผมกำลังจะได้ไปพักผ่อนแล้ว หลังจากที่ผมทำงานหนัก และเหนื่อยจากที่นี่

 

หวังว่า การสอบในวันพรุ่งนี้ของลูกศิษย์ของผม เขาจะทำได้นะครับ ไม่ใช่ สอบตก มาให้ผมต้องให้ "ร" ล่ะ ... ซ้วย ซวย ล่ะคราวนี้

"ครูช่วยไม่ได้เน้อ" ... :) ตรงไปตรงมา ไม่มีเบี้ยวแน่นอน

 

ขอบคุณที่ติดตามอ่านบันทึกนี้นะครับ

บุญรักษา ทุกท่านครับ

หมายเลขบันทึก: 164185เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2008 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • เห็นวิธีการสอนของอาจารย์แล้วมีความสุขดี
  • สอนในสิ่งที่เขามีได้ใช้จริงๆๆ
  • อยากให้อาจารย์เก็บข้อมูลลูกศิษย์ไว้ครับ
  • เพื่อเปรียบเทียบดูความก้าวหน้า
  • ขอไปทักทายลูกศิษย์อาจารย์ก่อนนะครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต

  • ช่วงนี้มีเวลามากขึ้นแล้วนะครับ
  • บันทึกนี้เป็นวิธีคิดที่วางแนวมาแล้ว 2 - 3 เดือนน่ะครับ อาจารย์
  • เขียนไปเขียนมาเลยเล่าให้ฟังทั้งหมดกระบวนการเลย อิ อิ
  • ดีนะ ที่ยังไม่ได้บอกข้อสอบ
  • ไม่งั้นลูกศิษย์ ... ผม มาแอบดูแน่ ๆ เลยครับ

ขอบคุณอาจารย์มาก ๆ ครับผม :)

  • มาฟ้องว่า
  • ลูกศิษย์บางคนมีบล็อก
  • แต่ไม่ยอมบันทึก
  • อิอิอิอิ(ขี้ฟ้องไหมครับ)

เรียน      อาจารย์ที่เคารพ

               ในระยะเวลาสั้นๆที่ได้เรียนกับอาจารย์ก็เห็นความตั้งใจ จริงใจที่มีต่อลูกศิษย์ทุกคน หลายครั้งอาจารย์อาจจะมีความรู้สึกทำไมครู แม่ฮ่องสอนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเวลาเลย (เดานะครับ) เพราะต้องให้อาจารย์รอตลอด ซึ่งไม่สมควรที่จะทำอย่างนี้ แทนที่จะกอบโกยผลประโยชน์เต็มที่ แต่ท่านก็ไม่สามารถพุดอะไรได้มาก เพราะอาจารย์สอนอาจารย์ ต่างคนต่างเป็นอาจารย์ ท่านเป็นคนเสมอต้นและเสมอปลาย มีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ในการสอน (ไม่ได้พูดเพื่อหวังผลต่อการสอบพรุ่งนี้ระครับ) แต่พูดเพื่อแสดงความเห็นส่วนตัว และไม่สามารถอธิบายแทนเพื่อนได้ เพราะ นานา จิตตัง

               ขอบคุณสำหรับของขวัญอันมีค่าที่อาจารย์มอบให้ในฐานะที่ได้เป็นลูกศิษย์ นั่นคือ "โกทูโน" ขอบคุณครับ และจะใช้มันให้เป็นประโยชน์

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ขจิต

  • ไม่ต้องห่วงครับอาจารย์
  • การเขียนบันทึกบนบล็อกเป็นส่วนหนึ่งของการให้คะแนนด้วยครับ
  • มิฉะนั้น เกรดจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่การเขียนบล็อกด้วยครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ที่มาฟ้องครับ อิ อิ

ชอบ ๆ :)

สวัสดีครับ คุณครู สังเวียร

  • นานาจิตตัง ... นะครับ
  • ขอให้คุณครูเลือกรับสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเองไปนะครับ
  • ผมยินดีมากที่สิ่งใดที่ผมให้แล้วมีประโยชน์

ขอบคุณ คุณครูมากครับ :)

ผมขอแลกเปลี่ยนเรื่อง การเขียนบันทึกผ่านสังคมออนไลน์ครับ 

เรื่องการเขียนบล็อกนี้พูดยากนะครับ เราจะเห็นได้ว่าเราอบรมเพื่อการเขียนบันทึกออนไลน์ บ่อยครั้งในระยะเวลาสองสามปี ใช้ทั้งงบประมาณ ทุนหลายๆอย่างที่ทุ่มเท สุดท้ายเราเหลือ Active Blogger ไม่กี่คนเอง??

เราคงต้อง AAR กระบวนการสร้างคนคิด คนเขียน ในฐานะblogger  gotoknow ว่าเราน่าจะมีกระบวนการอย่างไร

  • ที่เขียนมาระยะเวลายาวนาน ต่อเนื่อง มีปัจจัยอะไร
  • ที่เลิกเขียน เพราะปัจจัยอะไร
  • การสร้างชุมชนคนคิด คนเขียน จะช่วยผลักดันสังคมเรียนรู้อย่างไร

-------

ในความคิดของผม ผมคิดว่าผมได้โอกาสที่ดีในการพัฒนาตนเอง พัฒนาเครือข่าย ได้ความคิดใหม่ๆผ่านการนำเสนอและแลกเปลี่ยนที่หลากหลายสอดคล้องกับความพึงพอใจที่ผมมี

เป็นบรรยากาศของความสุขในกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นอิสระครับผม

ดังนั้นการสร้างให้คนใหม่เป็น blogger น่าจะมีแนวทางสร้างแรงบันดาลใจที่แตกต่างจากเดิมที่เคยทำ

 

 

 

ที่ให้ข้อคิดเห็นไปข้างบน เพื่อตอกย้ำสำหรับผู้ที่คิดว่า Blog เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจในโลก IT ปัจจุบันนะครับ

หากบางท่านคิดว่ามีกระบวนการอื่นที่ดีกว่า หรือ แตกต่าง เราก็สามารถใช้ช่องทางที่หลากหลายได้

แต่ผมอยากเห็นสังคม (ไม่มีออนไลน์ เสมือน สังคมจริง)

  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • การต่อยอดความคิด
  • การสร้างสรรค์นวัตกรรมความคิดไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
  • การสร้างเครือข่าย และรวมไปถึงการดำเนินการเครือข่ายที่มีชีวิต
  • การถามหาความรู้ของคนไทย  กระหายความรู้ การสังเคราะห์ความรู้สู่การปฏิบัติ

โดยเครื่องมือใดๆก็ตาม...

ประเด็นเคลื่อนสังคมเรียนรู้ มันน่าสนใจมากนะครับ น่าทำวิจัยครับผม

 

 

 

สวัสดีครับ คุณเอก

  • ขอบคุณครับที่ให้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ครับ
  • ผมพยายามสอนให้พวกเขาเห็นเป้าหมายและผลที่ออกมาก่อนครับ ... แต่ผมก็ไม่สามารถไปบังคับต่อได้ว่า หลังจากหมดคอร์สแล้วจะเขียนต่อไปหรือไม่ ให้ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่า เห็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหนครับ
  • แต่มีผลลัพธ์ที่ดีเกิดขึ้นกับโรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียนครับ
  • น่าทำวิจัยครับ วัดในหลายมิติทีเดียวครับ

ขอบคุณครับ คุณเอก :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท