โจทย์วิจัย KM : ดี เก่ง และมีความสุข เกิดขึ้นได้อย่างไร


         สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการวิจัยประเมินผลคุณภาพของคนไทย ด้านดี  เก่ง  และมีความสุข

         เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข"   สำนักประเมินผลฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิธีวิทยาการประเมินและในด้านเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ "ดี เก่ง และมีความสุข" มาบรรยายให้เจ้าหน้าที่ในสำนักฯ ฟัง   และจัดพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม  เล่มแรกเพิ่งออกมา เป็นคำบรรยายของ ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์,  ผศ. ดร. จุมพล  พูลภัทรชีวิน  และ ดร. โสภา (ชูพิกุลชัย) ชปิลมันน์   ชื่อหนังสือ "นานาทัศนะในการวิจัยประเมินผลคุณภาพของคนไทย : ดี เก่ง และมีความสุข"

         เมื่อเขามาเชิญผมไปบรรยาย   ผมก็บอกว่า "ดี เก่ง และมีความสุข" น่ะมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้ว   เป็นหน่ออ่อนที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนและมีมากมายเป็นพันเป็นหมื่นหน่อ   รอเติบโตเป็น "ป่าแห่งดี เก่ง และมีความสุข"   อยู่ที่ว่าการเลี้ยงดู  อบรมบ่มนิสัยในครอบครัว   การอบรมสั่งสอนโดยครูในโรงเรียน   และกระแสสังคมจะรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้หน่ออ่อนแบบไหนงอกงาม   ผมเคยบันทึกแนวคิดนี้ไว้แล้ว   อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/17872

         ผอ. สุรางค์  โพธิ์พฤกษาวงศ์ ของสำนักประเมินผลฯ บอกว่า  อยากเอา KM ไปใช้เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการวิจัยชิ้นนี้   ผมจึงบอกว่าถ้าเช่นนั้นเราไปสัมมนาแบบปฏิบัติการเรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข อยู่ในตน" ดีไหม   เป้าหมายของ workshop ก็คือ  เพื่อให้คนภายในสำนักฯ เข้าใจว่า หน่ออ่อนของ "ดี เก่ง และมีความสุข" นั้น  มีอยู่ในคนทุกคน

         จุดสำคัญอยู่ที่ concept ที่ใช้อยู่ในระบบการศึกษาของประเทศไทยเวลานี้   ว่าเน้นการ "อบ - รม" คือ เอาจากภายนอกใส่เข้าไปในเด็ก   หรือสร้างบรรยากาศ  กิจกรรม  ปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้งอกงามจากภายในเด็ก

         ผู้บริหารและคนในวงการศึกษาไทย  ต้องตีโจทย์ให้แตกเสียก่อนว่าการศึกษาไทยจะเน้น  ปลูกต้นความดีโดยเอาต้นกล้าจากภายนอกตัวเด็กเข้าไปปลูกในใจเด็ก   หรือจะรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยเปิดช่องแดดให้ต้นไม้ความดีที่มีเป็นหน่ออ่อนอยู่แล้วในตัว  ในใจเด็กให้งอกงาม

         เน้นปลูกฝังจากภายนอกหรือเน้นเติบโตจากภายใน   ที่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของ "ดี เก่ง และมีความสุข"

         42 ชีวิตจากสำนักประเมินผลฯ  จาก สกศ. นอกสำนักฯ  และ 2 ท่านจาก สพฐ. จึงไปประชุมปฏิบัติการกันที่ภูเขางามรีสอร์ท อ.นางรอง จ.นครนายก  เมื่อวันที่ 23 - 24 มี.ค.50  เรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข อยู่ในตน"   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข"  และเพื่อเรียนรู้เรื่อง KM

         เป็นการเรียนรู้ KM จากการปฏิบัติและทำความเข้าใจ "ดี เก่ง และมีความสุข" จากการเล่าเรื่อง   การฟังอย่างตั้งใจ   การจับประเด็น  การคิดเชิงบวก   สุนทรียสนทนา  และการถามอย่างชื่นชม

         เป็นการเรียนรู้เรื่องที่ซับซ้อนมาก 2 เรื่อง  คือเรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข" กับเรื่อง KM   โดยเรียนจากการปฏิบัติ  ซึมซับเอาเองและร่วมกันตีความเป็นความรู้แจ้งชัดด้วย

         ตกค่ำเราเชิญ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา  มาพูดเรื่อง "การสร้างแรงบันดาลใจ" จากประสบการณ์เป็นครูในโรงเรียนสัตยาไสของท่าน   เป็นการเอาตัวอย่างของจริงเรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข" มาเล่าและตีความให้ฟัง

         มาถึงประเด็นว่า  จะเอา KM ไปใช้ในการวิจัยประเมินผลคุณภาพของคนไทยในเรื่อง "ดี เก่ง และมีความสุข" ได้อย่างไร   คำตอบคือ  เอาไปใช้ได้แน่นอนแต่ต้องอย่าใช้แบบหลงทาง
1. อย่าใช้ KM ตัวเดียว  ต้องใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น   ผมมองว่าตัวสำคัญอย่างยิ่งอีกตัวหนึ่งคือ OM - Outcome Mapping   OM ดีเพราะเส้นทางไปสู่ "ดี เก่ง และมีความสุข" ในชีวิตคนเป็นเส้นทางที่ซับซ้อน คดเคี้ยวและยาว   จึงต้องวัดและประเมินที่ "เป้าหมายรายทาง" มากกว่าที่ "เป้าหมายปลายทาง"   OM เป็นเครื่องมือวัดตลอดเส้นทาง
2. คิดให้ดีว่าโจทย์ควรเป็นอะไรแน่   ควรวัด "ดี เก่ง และมีความสุข" ของคนไทย   หรือวัดที่ระบบและกิจกรรมการศึกษา   ว่ามีวิธีการส่งเสริม "ดี เก่ง และมีความสุข" อย่างได้ผลและไม่ได้ผลอย่างไร
    ผมสงสัยว่า  เรื่องนี้ต้อง "ระเบิดจากข้างใน"
3. เมื่อโจทย์ชัดแล้ว   ก็ต้องวิจัยจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง   ตรงนี้แหละครับ KM จะเป็นเครื่องมือ "เก็บข้อมูล" ที่ชะงัดมาก
   เพราะ "ข้อมูล" เกี่ยวกับ "ดี เก่ง และมีความสุข" เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่ซับซ้อนมาก   เครื่องมือ KM จะช่วยให้เก็บ "ข้อมูล" ที่ซับซ้อนนี้ได้อย่างลึก   ซอกซอน  เข้าไปได้ทุกแง่ทุกมุม   จากเรื่องจริง  กิจกรรมจริง
   กรณีนี้เป็นโจทย์วิจัยว่าการศึกษาแบบไหนที่จะส่งเสริม "ดี เก่ง และมีความสุข" ในเด็กนักเรียน   การเรียนรู้แบบไหนที่จะส่งเสริม "ดี เก่ง และมีความสุข" ในคนไทยทุกช่วงอายุ
   แล้วใช้ KM เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล
4. โจทย์วิจัย : วิธีใช้ KM เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อ "ดี เก่ง และมีความสุข" เป็นอย่างไร   โจทย์นี้สามารถตอบได้เป็น 100 แบบ   และสามารถมี นศ.ป.เอก มาทำวิทยานิพนธ์ได้เป็น 10 - 20 คนนะครับ   และงานวิจัยนี้จะมีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเราอย่างมากมาย

         เรื่อง KM กับ สกศ. ยังไม่จบ   ครูใหม่ได้บันทึกความประทับใจของเธอต่อ workshop นี้แล้ว   อ่านได้ที่นี่ (click)

                      

บรรยากาศในห้องประชุม คุณหญิง (นภินทร ศิริไทย) กำลังกล่าวนำ

                      

       จากซ้ายไปขวา อ. มณฑล  ครูใหม่  และคุณหญิง

                      

ละลายพฤติกรรมด้วยเกมหัวใจ  ล่าหัวใจเพื่อน (สิ่งที่ชอบ  สิ่งที่ไม่ชอบ  สิ่งที่ชอบทำ  สิ่งที่ไม่ชอบทำ)

                      

บรรยากาศการประชุมกลุ่ม  ฝึกเล่าเรื่อง  ฟังอย่างลึก  ถามอย่างชื่นชม  บันทึกขุมความรู้เกี่ยวกับ  ดี เก่ง มีความสุข

                      

  ประชุมระดมความคิด  ว่า ดี เก่ง มีความสุข เกิดขึ้นได้อย่างไร

                       

                               ข้อสรุปของกลุ่มหนึ่ง

                      

                           นำเสนอผลการประชุมกลุ่ม

                      

เรื่องเล่าเร้าพลังคัดสรร ว่าด้วยความซื่อสัตย์ต่ออุดมกาณ์ของตนเอง

                       

           ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ  วิทยากรรับเชิญพิเศษ

                      

เช้าวันที่ ๒  Check - in ด้วยการกล่าวความประทับใจกิจกรรมวันแรกคนละ ๓ ประโยค

                       

AAR อย่างมีความสุข   เป็นครั้งแรกที่เข้าสัมมนาแล้วผู้เข้าสัมมนาได้เป็นผู้พูด วิทยากรเป็นผู้ฟัง

                      

 เป็นการประชุมที่ผู้เข้าร่วมเกิดความสุข สมชื่อของการประชุม

 

วิจารณ์  พานิช
 24 มี.ค.50

หมายเลขบันทึก: 86486เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณมากครับอาจารย์ เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า 'เป้าหมายรายทาง' ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท