KM สัจจะวันละบาท


KM สัจจะวันละบาท


          วันที่ 16 ก.ย.48   คุณอ้อมกับผมไปร่วมประชุม “กลุ่มสัจจะวันละ 1 บาท” (หรือเรียกชื่อเต็มว่า    โครงการสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน  จังหวัดสงขลา   สถาบันพัฒนาองค์กรการเงินและสวัสดิการภาคประชาชน  จังหวัดสงขลา)   ที่มูลนิธิ ดร. ครูชบ – ปราณี  ยอดแก้ว    อ.เมือง จ.สงขลา   โทร. 074-326-818   กิจกรรมนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่มองได้หลายมุมมาก   คือ
1.      เป็นขบวนการเรียนรู้ภาคประชาชน   คนที่มาประชุม 60 – 70 คน  แน่นขนัดบริเวณมูลนิธิฯ  เป็นแกนนำของแต่ละกลุ่มสัจจะวันละ 1 บาท   ตำบลละ 1 กลุ่ม   มาประชุมทุกวันที่ 16 ของเดือน   เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน   ฟังดูครูชบต้องการให้มีครบ 124 ตำบล  22 เทศบาล  ใน จ.สงขลา
2.      เป็นการสร้างระบบสวัสดิการสังคมแบบใหม่   เป็นสวัสดิการสังคมภาคประชาชน   ที่ชาวบ้านรวมตัวกันดำเนินการเอง   หวังให้ภาครัฐเข้ามาหนุนเสริมด้วยเงินสวัสดิการภาครัฐ   ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินของภาครัฐ   ถ้าระบบนี้ได้ผลจะเป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยใน 20 ปีข้างหน้าที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงมาก   และถ้าไม่มีระบบสวัสดิการที่ดีจะเป็นภาระต่อสังคม
3.      เป็นการส่งเสริมการออม   สร้างจิตสำนึกในการออมเพื่ออนาคต
4.      เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวบ้าน   เป็นการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ร่วมกัน   และเรียนรู้ร่วมกัน
5.      เป็นขบวนการสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการในพื้นที่   โดยที่ชาวบ้านร่วมกันทำกิจกรรม   ข้าราชการในพื้นที่ที่ “มีใจ” ต่อกิจกรรมของชาวบ้านเข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการ
6.      เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันหลายฝ่ายในพื้นที่   ได้แก่  ฝ่ายชาวบ้าน   ฝ่ายนักการเมืองท้องถิ่น (อบต.,  เทศบาล,  ฯลฯ)   ฝ่ายนักวิชาการในมหาวิทยาลัย   และฝ่ายมูลนิธิ ดร.    ครูชบ  – ปราณี  ยอดแก้ว
7.      เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ   คือแกนนำของกลุ่มสัจจะวันละบาทเอาวิธีการดำเนินการไปปฏิบัติ   แล้วกลับมา ลปรร. กันว่าเมื่อเอาหลักการตามที่มูลนิธิฯ กำหนดไปปฏิบัติแล้วเกิดผลอย่างไร   มีการพบและแก้ไขปัญหาอย่างไร   รวมทั้งมีการ ลปรร. ประสบการณ์การออกไปปฏิสัมพันธ์กับภายนอกท้องถิ่น   ได้แก่การได้รับเชิญไปร่วมประชุมโครงการวิจัยสวัสดิการสังคมคนชราที่กระทรวงการคลัง   การไปร่วมประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ ของครูชบ  เป็นต้น


           ผมตื่นตาตื่นใจกับวิธีการประชุมที่มีการทำให้เข้าใจง่าย   มีคนช่วยทำตัวเป็นคนช่วยซักถามคือ  ดร. ประเสริฐ  แห่ง ม.หาดใหญ่   มีคนทำหน้าที่ “คุณลิขิต” บันทึกรายงานการประชุม   แล้วนำมาอ่านทบทวนทำความเข้าใจกันอีกครั้งในการประชุมเดือนถัดไป   มีการแนะนำสมาชิกที่มาร่วมประชุมครั้งแรก   เป็นการให้ข้อมูลของกลุ่มสัจจะฯ ที่เกิดขึ้นใหม่


            การประชุมแบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย   ช่วงเช้าเริ่ม 10.00 น. ตรงถึง 12.00 น.   ช่วงบ่ายเริ่ม 13.00 น. ตรง   เลิก 15.00 น. ตรง   ครูชบบอกว่าต้องฝึกวินัยด้านความตรงต่อเวลา   และครูชบเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะช่วงเช้า   ส่วนช่วงบ่ายคณะนักวิชาการที่มาร่วมเป็นผู้ดำเนินการประชุม


            มีวาระการประชุมของช่วงเช้าขึ้นไวท์บอร์ดหน้าที่ประชุมดังนี้

 


ประชุมประจำเดือนวันที่ 16 กันยายน 2548  ณ มูลนิธิฯ
ครั้งที่ 9/2548


วาระที่ 1         เรื่องประธานแจ้งเพื่อทราบ  แขกมาเยี่ยมจาก กทม.
วาระที่ 2         เรื่องรับรองรายงาน  ครั้งที่ 8/2548
วาระที่ 3         เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
3.1     ค่าเดินทางวันที่ 22 ส.ค.48
3.2     ตัวอย่างโครงการเสนอ อบต.
3.3     เป็นวิทยากรกับกรรมธิการ กทม. – กระทรวงการคลัง
3.4     การทำสติ๊กเกอร์ติดรถ
3.5     ตัวอย่างกติกา : เงินสนับสนุนจาก พอช.,  อบต.
3.6     การเสนอโครงการกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
วาระที่ 4         เรื่องเลือกคณะกรรมการชุดเล็กของ จว. สงขลา
วาระที่ 5         เรื่องอื่น ๆ 


          ผมเห็นการเรียนรู้ของชาวบ้านที่มาร่วมประชุมเต็มไปหมด   ทั้งที่เรียนรู้แบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว   ผมจะลองนับดู   ซึ่งคงจะรวบรวมมาได้ไม่ถึงครึ่ง
1.      เรียนรู้ความตรงต่อเวลา
2.      เรียนรู้ว่าคนที่ทำงานเพื่อสังคมไม่ควรต้องชักเนื้อตนเองมากเกินไป   มูลนิธิฯ จึงออกเงินค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยง (200 บาท) ให้แก่ผู้มาร่วมประชุม   โดยมีกติกาว่าเมื่อมูลนิธิออกให้ 6 เดือน   ต่อไปทางกลุ่มสัจจะนั้น ๆ จะเป็นผู้ออกให้
3.      เรียนรู้เรื่องความซื่อสัตย์   โปร่งใส   ตรวจสอบได้
4.      เรียนรู้วิธีการทำบัญชีและหลักฐานต่าง ๆ
5.      เรียนรู้วิธีการประชุม   ทั้งกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย
6.      เรียนรู้การบันทึกการประชุมด้วยผังความคิด (Mind Mapping)
7.      เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมสัจจะวันละบาทฯ กับกิจกรรมอื่น ๆ ในชุมชน
8.      เรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับภาพใหญ่ของสังคม   โดยชุมชนไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง   เรื่องนี้ต้องไปร่วมประชุมด้วยตนเองจึงจะสัมผัสจิตวิญญาณนี้ได้
9.      เรียนรู้ความสัมพันธ์ร่วมมือกับราชการ   การเมืองท้องถิ่น   ภาควิชาการ   และหน่วยงานเชิงพัฒนา – วิจัย  ในลักษณะ win – win
10.  เรียนรู้วิธีทำงานกลุ่ม
11.  เรียนรู้เรื่องจิตสาธารณะ   การทำงานเพื่อชุมชน  สังคม
12.  เรียนรู้เรื่องการจดบันทึก   การจัดทำเอกสารหลักฐาน


          ผมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า สคส. และ มสช. จะร่วมกันจัดการประชุมปฏิบัติการหรือตลาดนัด
ความรู้   ฝึก “คุณอำนวย” ของกลุ่ม   สำหรับทำหน้าที่ขับเคลื่อน “การเรียนรู้ภาคประชาชน”   ผ่านขบวนการสัจจะวันละบาทฯ


          ผมดีใจมากที่ได้มาเห็นด้วยตาตนเอง   ว่าได้เกิดกิจกรรม KM ที่เป็นการริเริ่มเอง  เกิดเอง   ในสังคมไทย   ผมอยากเห็นกิจกรรมรวมกลุ่มสร้างสรรค์และ ลปรร. เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย   และ สคส. จะเข้าไปหนุนกิจกรรมเช่นนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น   โดยเอาหลักการและวิธีการ KM ไปให้ปรับใช้ตามความเหมาะสม 

  
          ความประทับใจสูงสุดคือ   เครือข่ายสัจจะฯ ที่นำโดยครูชบนี้มีทักษะด้านการจัดการสูงมาก   KM จะดีได้ต้องมีการจัดการที่ดี   เป็นพลังขับเคลื่อนครับ


          ท่านที่สนใจรายละเอียดของแนวคิดสัจจะวันละบาท   ดูได้จาก http://gotoknow.org/archive/2005/09/02/08/17/58/e3321 (link)

         

  ดร. ครูชบ ยอดแก้ว                       บรรยากาศการประชุม 


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   20 ก.ย.48
         

หมายเลขบันทึก: 4111เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2005 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท