AI : คู่แฝดของ KM (และ LO) ตอนที่ 3 : AI กับการก่อเกิดความเป็นองค์กร (1)


ตอนที่ 1     ตอนที่ 2

         วันเดียวกัน (24 พ.ค.49) อ. อ๋อมอ่านบทที่ 3 : Appreciative Inquiry in Organizational Life

         อาจารย์ประพนธ์ขึ้นต้นไว้แล้วว่าหนังสือเล่มนี้เขียนแบบนักวิชาการ  อ่านยาก  น่าเบื่อ  อาจารย์อ๋อมรับลูกทันทีว่าบทที่ 3 ยิ่งยาวและอ่านยากกว่า

         วันนี้ (29 พ.ค.49) ผมถาม อ. ชัยวัฒน์  ถิระพันธุ์ ว่าหนังสือเกี่ยวกับ Appreciative Inquiry มีเป็น 10 เล่มใช่ไหม   ท่านตอบว่าใช่  ผมถามว่าเล่มที่ใครแต่งดีที่สุด   ท่านบอกว่าต้องเล่มที่มีชื่อ David Cooperrider เพราะลึกดี   เนื่องจากได้ความรู้จากการทำวิจัย

         ก็เล่มที่เรากำลังช่วยกันแกะนี่แหละมี David Cooperrider เป็น editor ชื่อแรก   และบทที่ 3 นี้ก็เขียนโดย David Cooperrider คู่กับ Suresh Srivastva

         ผมจะตีความบทนี้มาเล่า   โดยตีความแบบคนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางสังคมศาสตร์   ศัพท์แสงที่ใช้ตามความเข้าใจของผมคงจะไม่ถูกต้อง   หวังว่าผู้รู้ทางสังคมศาสตร์จะเข้ามาช่วยแก้ไขตกเติมนะครับ

สาระสำคัญของบทนี้มี 3 ประการ
1. ทฤษฎีสร้างความรู้ (Generative Theory)
2. การก่อเกิดองค์กร (Organizing)
3. Action Research แนว AI

 


ทฤษฎีสร้างความรู้ (Generative Theory)
         หนังสือบทนี้เปรียบเทียบทฤษฎีสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์ 2 ทฤษฎีคือ (1) Logical Empiricism กับ (2) Socio - Rationalism ใน 10 ประการ  ดังนี้

ลักษณะ 

Logical Empiricism 

Socio - Rationalism

1. บทบาทหลัก  เพิ่มความเข้าใจ  การคาดคะเนและการเข้าไปควบคุม  โดยพัฒนาขึ้นเป็นกฎหรือหลักการที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์นั้น        เพิ่มความเข้าใจโดยให้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นการใช้แนวคิด (concept) สร้างสถานะให้แก่สิ่งนั้น ๆ   เป็นการมองว่าสังคมศาสตร์เป็นเครื่องมือขยายทางเลือกและความยืดหยุ่นในวิวิฒนาการทางวัฒนธรรม 
2. ทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้และจิตใจ (mind) ความรู้อยู่นอกใจ  มองว่าความรู้เป็นสัจจะที่มีอยู่ในโลก   จิตใจเป็นกระจกสะท้อนสิ่งนั้นออกมา        ความรู้อยู่ในใจ   จิตใจที่ตีความสิ่งที่พบเห็นหรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ   เป็นผู้สร้างความรู้   ใจเป็นทั้งกระจกและตะเกียง 
3. มิติด้านเวลา  อกาลิโก  เน้นค้นหาหลักการที่เป็นจริงข้ามกาลเวลา        ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ผูกพันอยู่กับประวัติ ศาสตร์และบริบท   ความรู้ความเข้าใจเป็นชุดเป็นระบบเกิดจากการให้ความหมายโดยมนุษย์ 
4. ความมั่นคงถาวรของรูปแบบทางสังคม  ปรากฎการณ์ทางสังคมมีความมั่นคง  ถาวร  เชื่อถือได้และสร้างซ้ำได้   จึงสามารถกำหนดเป็นกฎหรือหลักการได้        ระบบทางสังคมมีธรรมชาติ "ไม่เที่ยง" (unstable) ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมเดินตามผัสสะและความระลึกรู้ของมนุษย์   จำกัดอยู่แค่ระดับจินตนาการของมนุษย์   ดังนั้น ระบบทางสังคมจึงอาจมิได้อสงไขยรูปแบบ   โดยขึ้นอยู่กับแนวคิดและการปฏิบัติ (ideas & action) 
5. มุมมองด้านคุณค่า  แยกความจริง (fact) กับคุณค่า (value) ออกจากกัน  ทำให้มีความรู้ที่เป็นรูปธรรม (objective knowledge) ที่สร้างโดยการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม       สังคมศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ใช้รูปธรรม (เป็นนามธรรม)  ปรากฎการณ์ใด ๆ ก็ตามเปิดโอกาสให้ตีความได้หลากหลายอย่าง (นับไม่ถ้วน) การตีความแต่ละแบบเป็นการส่องดูผ่านแว่นวัฒนธรรม  ไม่มีคำอธิบายใดที่ปลอดจากการใส่ความหมายของตนเองลงไป (There is no description without prescription.) 
6. ด้านดีของทฤษฎี  เป็นอกาลิโก  เป็นจริงในทุกเวลาของประวัติศาสตร์  จับต้องได้        เปิดโอกาสให้สังคมได้สร้างนวัตกรรมทางสังคม   เปิดโอกาสเพื่อปฏิบัติการแนวใหม่   ขยายขอบฟ้าของ "ความเป็นไปได้" 
7. เกณฑ์สำหรับตรวจสอบทฤษฎี  ความเป็นเหตุเป็นผล  ความสามารถในการทำนาย  อาจถูกพิสูจน์ว่าผิดได้        มีพลังจูงใจ  พลังสร้างสรรค์สูง     ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของชุมชน   ความจริงขึ้นอยู่กับชุมชนผู้สร้างความจริงนั้น 
8. บทบาทของนักวิจัย/นักสังคมศาสตร์  เป็น "ผู้ดู" อยู่นอกเหตุการณ์และไม่เข้าไปคลุกอยู่ในเหตุการณ์นั้น   ยอมรับสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง        เป็นผู้เข้าร่วมตะลุมบอนอยู่ในเหตุการณ์หรือร่วมกิจกรรม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีบทบาทนำเอาทฤษฎีทางวิชาการ  ภาษาทางวิชาการเข้าไปในวงสนทนา   เพื่อร่วมกันสร้างความหมายจากกิจกรรม 
9. ผลผลิตหลักของการวิจัย  การสั่งสมความรู้ที่เป็นรูปธรรมผ่านสมมติฐานที่ได้รับการพิสูจน์โดยข้อมูล       การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของขีดความสามารถในการสร้างทฤษฎี     มีขีดความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการสร้างถ้อยคำเชิงทฤษฎี 
10. จุดเน้นในการพัฒนานักสังคมศาสตร์  วิธีการทดลอง  การวิเคราะห์เชิงสถิติ  ฝึกอบรมด้านวิธีวิทยา        วิธีการตีความ   วิธีการเสนอทฤษฎีเพื่อกระตุ้นการถกเถียง   เน้นจินตนาการในการเสนอทฤษฎีโดยใช้มโนภาพต่อสังคมในด้านดี 

                  

         ผมสรุปกับตัวเองว่า AI เอียงไปทางทฤษฎี Socio - Rationalism   แต่ใน KM เราต้องไม่ยึดหลัก either-or  แต่ยึดหลัก both-and คือใช้มันทั้งสองทฤษฎี   ทั้งแนว "หลักมั่น พิสูจน์ได้" ของ Logical Empiricism   และแนว "เคลื่อนพลวัตด้วยจินตนาการที่ไม่มีวันสิ้นสุด" ของ Socio - Rationalism

         โปรดอ่านต่อตอนที่ 4

วิจารณ์  พานิช
 30 พ.ค.49

หมายเลขบันทึก: 32101เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท