ขอบคุณ หนึ่งใน 3 คำมหาอำนาจ


ธรรมดาของผู้ที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมานานระดับหนึ่ง… จนได้เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ มีแนวโน้มคล้ายๆ กันคือ จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

               

ท่านอาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์มีโอกาสปรึกษาหารือกับท่านอาจารย์ดอกเตอร์มาแชล โกลด์สมิธ แห่งวิทยาลัยธุรกิจทัค มหาวิทยาลัยดาร์ธมัธ สหรัฐฯ
  • ท่านอาจารย์โกลด์สมิธได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในโค้ชผู้นำองค์กร 5 อันดับแรก (Top five) จากนิตยสารฟอร์บส์ และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 ของผู้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผู้บริหาร (Top ten) จากหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล

                 

ท่านอาจารย์พอใจกล่าวว่า "ของดีๆ บางทีไม่ต้องซับซ้อน"… ผู้เขียนขอนำข้อคิดจากบทความ "คุณของขอบคุณ" ของท่านมาเล่าสู่กันฟัง…

  • อาจารย์โกลด์สมิธท่านจะให้ลูกศิษย์ของท่านเขียนชื่อบุคคลอย่างน้อย 25 ชื่อที่มีส่วนผลักดันให้เรามายืนตรงนี้ได้อย่างภาคภูมิใจ

                   

และตั้งคำถามว่า เราได้ "ขอบคุณ" ท่านผู้มีพระคุณเหล่านี้แล้วหรือยัง…

  • ถ้าขอบคุณแล้ว… ขอให้เราทบทวนว่า เราได้ขอบคุณอย่างจริงใจ โดยระลึกถึงพระคุณของท่านจริงๆ หรือสักแต่กล่าวไป "พอเป็นพิธี" หรือ "ไม่ให้น่าเกลียด" 

                 

ที่ต้องถามอย่างนี้… เพราะอานุภาพแห่งคำขอบคุณไม่เท่ากัน…

  • การขอบพระคุณ หรือขอบคุณอย่างจริงใจย่อมมีอานุภาพมากกว่าการทำอะไรแบบสักแต่ทำ หรือทำ "พอเป็นพิธี"

   ธรรมดา... 

  • ธรรมดาของผู้ที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมานานระดับหนึ่ง… จนได้เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ มีแนวโน้มคล้ายๆ กันคือ จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

   มากขึ้นๆ...

  • มากขึ้นๆ จนลืมคนในอดีตที่ผลักดัน สนับสนุน เกื้อกูล ส่งเสริม
  • มากขึ้นๆ จนลืมคนรอบข้างที่มีส่วนสนับสนุน เกื้อกูล ส่งเสริม
  • ใจที่อาจจะเคยกว้าง… เลยแคบ

    • โปรดสังเกต "แคบหมู" ทางเหนือ ชิ้นประมาณปลายนิ้วก้อย ผู้ใหญ่ที่ "ลืมตน" มักจะมีใจกว้างเท่าแคบหมู (แคบหมู = หนังหมูตัดเป็นชิ้นยาวคล้ายนิ้วก้อยทอด ก่อนสะเด็ดน้ำมันออก)

    เลยลืม...

ใจที่อาจจะเคยจำ(บุญคุณคนอื่น)… เลยลืม
  • โปรดสังเกตคนเราเวลาเดินเท้าเปล่าไปบนดิน… จะมี "รอยเท้า" ทว่า… เมื่อใหญ่ขึ้นมา สูงขึ้นมา เดินบนพรมมากๆ มักไม่เห็นรอยเท้า เลย "ลืมตัว" คล้ายคำโบราณว่า "วัวลืมตีน"

   ข่าวดี...  

คนเรามักจะทำอะไรดีๆ ได้มากกว่าที่เราคิดไว้เสมอ...

  • ข่าวดีคือ…
  • อาจารย์โกลด์สมิธท่านกล่าวว่า เรื่องนี้พอจะเยียวยาแก้ไข หรือทำให้ดีขึ้นได้ ขอเพียงให้เราตระหนักว่า "… สารพัดของดีๆ หลายอย่างเริ่มต้นที่คำ "ขอบคุณ" คำเดียว

                 

อาจารย์โกลด์สมิธแนะให้เขียนจดหมายขอบพระคุณ หรือขอบคุณบุคคลผู้มีพระคุณให้ครบ 25 ท่าน หรือทำตามธรรมเนียมไทยเรา… ไปแสดงความเคารพ เตรียมของขอบพระคุณ หรือของขอบคุณติดไม้ติดมือไปหน่อย ถ้าท่านอยู่ไกล… โทรศัพท์ไปหน่อยก็ยังดี

  • ศีลในพระพุทธศาสนามี 2 หมวด หมวดหนึ่งเป็นเจตนางดเว้น หรือ "วิรัติศีล" เช่น งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา ฯลฯ
                   

ศีลอีกหมวดหนึ่งเป็นเจตนาเพื่อกระทำ หรือ "จารีตศีล" เช่น การดูแล ทดแทนพระคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ ฯลฯ

  • จารีตศีล หรือข้อควรทำนี้สงเคราะห์เป็นมงคลธรรม หรือธัมมะที่ยังให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญตามมงคลสูตร

                 

ท่านอาจารย์สุเทพ โพธิสัทธาเล่าเรื่องเด็กกตัญญูคนหนึ่ง… ญาติผู้ใหญ่รุ่นปู่รุ่นตาของท่านกล่าวว่า "รวยอีก รวยกว่านี้อีก"

  • เด็กคนนี้กตัญญูต่อพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ดี คนรุ่นปู่รุ่นตาเห็นโลกมามาก ท่านสังเกตว่า คนที่มีความกตัญญูมักจะร่ำรวย ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น

                 

การเป็นคนรู้คุณคน(กตัญญู)เป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่… เราจึงควรหัดกล่าวคำขอบคุณให้เป็นนิสัย…

  • บางทีไม่ใช่เพราะคนที่เรากล่าวขอบคุณมีดีอะไรมากมาย ทว่า… เป็นการแสดงความเคารพตัวเราเอง หรือเคารพคุณธรรมของเรา… เพราะเรามีดี เพราะเราเป็นคนกตัญญู

                   

การแสดงความขอบคุณมักจะไปคู่กันกับความอ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนะ) บุญในข้ออ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปัจจัยให้เกิดในตระกูลสูง

  • ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่จะสนับสนุนให้ท่านผู้อ่านหวังรวย หรือหวังเกิดในตระกูลสูง ทว่า… การบำเพ็ญบุญบารมีในพระธัมมวินัยนี้… บางทีก็ต้องอาศัยทรัพย์ หรือตระกูล

                 

ตัวอย่างเช่น คนมีฐานะหน่อยย่อมให้ทานได้มากกว่าคนยากจน ฯลฯ ยิ่งถ้าสมัยก่อนมีระบบทาส คนที่เกิดในตระกูลต่ำหรือเป็นทาสจะไม่มีอิสรภาพ จะไปฟังธรรมอะไรสักครั้งแสนยากเย็น หรืออาจจะไม่ได้ไปฟังถ้าเจ้านายไม่อนุญาต

  • คุณครูภาษาไทยท่านสอนว่า "เสน่ห์ของคนไทยอยู่ที่คำ ขอบคุณ , ขอบใจ , ‘ขอโทษ ใครพูดคำ 3 คำนี้บ่อยจะเป็นคนมีเสน่ห์ น่ารัก ไปไหนก็มีคนรัก"

                   

วิธีฝึกง่ายๆ คือ ฝึกกล่าวคำมหาอำนาจ 3 คำนี้ (ขอบคุณ ขอบใจ ขอโทษ) ให้เป็นนิสัย กล่าวไปด้วยยิ้มน้อยๆ ด้วย และอย่าลืมสบสายตากับผู้ฟังพอประมาณ

  • คนที่พูดไปตาลอยไป… ท่านว่า "สักแต่พูด ไม่จริงใจ"
  • คนที่พูดไปหลบตาไป… ท่านว่า "พูดเหมือนแกล้ง(แสร้ง) กลัวความลับหรือความในใจจะหล่น(ออกมา)"
  • คนที่พูดไปหน้าเรียบเหมือนแผ่นรองเตารีด(ไม่ยิ้ม หรือแย้ม)… ท่านว่า "พูดเหมือนบัว(แล้งน้ำ)"

                   

คำขอบคุณ หรือขอบใจจะมีค่าเพิ่มขึ้น... ถ้าเรากล่าวด้วยว่า ขอบคุณหรือขอบใจการกระทำอะไร เช่น ขอบใจลูกหลานที่นำน้ำดื่มมาให้ ฯลฯ

  • ธรรมเนียมคนตะวันออกมักจะ "ปฏิเสธ" เมื่อคนอื่นยกย่องความดี หรือขอบคุณ-ขอบใจ

                   

ผู้เขียนจำคำของนักศึกษาเภสัชกร (ชื่อเล่น "สิงห์") ท่านหนึ่งสมัยเป็นนักเรียนได้... ท่านอ่านพบข้อคิดว่า บางทีคนเราก็ปฏิเสธไป เพียงเพื่อจะรอ...ให้อีกฝ่ายชมซ้ำ

  • ถ้าเราชม หรือขอบคุณ-ขอบใจใครแล้ว... ได้รับการปฏิเสธมา(ตามธรรมเนียม) เราน่าจะลองชม หรือขอบคุณ-ขอบใจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงความหนักแน่น และจริงใจ

แล้วคำชม หรือคำขอบคุณ-ขอบใจของเราจะมีอานุภาพยิ่งขึ้น...

                 

คนที่เป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารมีอานุภาพแห่งการทำดีมากกว่าคนทั่วไป...

  • อย่าปล่อยให้คำชม คำขอบคุณ-ขอบใจ คำขอโทษของท่านหนักดังขุนเขา โปรดปล่อยอานุภาพแห่งคุณงาม ความดีนี้ออกมาให้คนรอบข้างได้ชื่นใจ...

ขอจบท้ายด้วยคำกล่าวของท่านอาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์ที่ว่า

  • "… ความรู้สึกดีๆ ย่อมมีแก่ผู้ที่ประพฤติดีเช่นเดียวกัน วันนี้ท่านขอบคุณใครหรือยัง…"

    แหล่งที่มา:

  • ขอขอบพระคุณ (thank / courtesy of) > ท่านอาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์ ([email protected]) . ถอดรหัสธุรกิจ. กรุงเทพธุรกิจ BizWeek. 26 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2550. หน้า A4.
  • ขอขอบพระคุณ > คณะครูภาษาไทย วชิราวุธวิทยาลัย.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐.
  • เชิญอ่าน "บ้านสุขภาพ" ที่นี่ > http://gotoknow.org/blog/health2you > อ่านบันทึกย้อนหลังได้ โดยการเลือกเดือนจากปฏิทินกิจกรรมทางขวามือของบล็อก
  • เชิญอ่าน "บ้านสาระ" ที่นี่ > http://gotoknow.org/blog/talk2u > อ่านบันทึกย้อนหลังได้ โดยการเลือกเดือนจากปฏิทินกิจกรรมทางขวามือของบล็อก
  • เชิญดาวน์โหลดแฟ้ม PDF ที่นี่ > www.lampangcancer.com > ขอขอบคุณ อาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี webmaster โรงพยาบาล
หมายเลขบันทึก: 76352เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอขอบพระคุณอาจารย์หมอวัลลภด้วยความจริงใจ ที่หมั่นนำเรื่องราวดีดีมาคอยเตือนสติ และคอยเตือนใจให้เราประกอบแต่กรรมดีเสมอ

ขอขอบคุณอาจารย์มาลินีและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน พร้อมทั้งกล่าวปฏิสันถาร (ทักทาย)...

ขอขอบคุณครับ...

ขอขอบคุณคุณหมอวัลลภ ที่ซอกแซกหยิบนำเรื่องดี ๆ มาใหอ่านกันได้ตลอด มีสาระดีครับ และเป็นการชี้ทางให้คนอื่นได้สร้างกุศลด้วย
      ขอบพระคุณคุณหมอมากครับที่มาช่วยกระตุ้นเตือนสติ  และคำว่า "ขอบคุณ  ขอบใจ ขอโทษ" จะพยายามนำไปใช้ให้บ่อยๆ ครับ
"ขอบคุณครับอาจารย์"  จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนครับ

บุญ...

  • การขอบคุณ-ขอบใจนับว่า ได้บุญหลายอย่าง...
    (1). เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที (รู้คุณ + ตอบแทนคุณทันทีด้วยการแสดงปิยวาจา - คำพูดอันเป็นที่น่ารัก เป็นคำไพเราะ)
    (2). เป็นการแสดงความอ่อนน้อม (อปจายนะ = อ่อนน้อม เป็นบุญหมวดศีล)
    (3). เป็นการกล่าวอนุโมทนา เป็นบุญหมวดทาน หรือการแสดงความยินดีในการทำดีของผู้อื่น

กระแส...

  • การขอบคุณ-ขอบใจ มีส่วนทำให้คนทำดี "มีกำลังใจ"... ทำให้เกิดกระแสของการทำดีแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง...

คนเรา...

  • กล่าวกันว่า คนเราดีขึ้นได้ 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่
    (1). "ดีแบบบันได" -> เหยียบย่ำคนอื่น เพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น เป็นความดีเสมือน เป็นความดีสมพั่ทธ์ (relative goodness) ไม่ใช่ความดีจริง... สังคมด้อยพัฒนาจะมีความดีเสมือนแบบนี้มาก
    (2). "ดีแบบก่อเจดีย์" -> เป็นการต่อยอดความดีของเรา หรือของคนอื่น... ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น การกล่าวชมความดีของคนอื่น การขอบคุณ-ขอบใจ การให้กำลังใจคนทำดี การริเริ่มทำอะไรดีๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ฯลฯ... ชุมชนของคนดีมักจะมีความดีแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขอขอบคุณครับ...

ขอขอบคุณอาจารย์สิงห์ป่าสัก และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน
  • ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์คงจะทำคุณงามความดีได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะเป็นอาชีพ "แม่พิมพ์" หรือ "พ่อพิมพ์" ของชาติ
  • ขออนุโมทนาที่ตั้งใจจะกล่าว "ขอบคุณ ขอบใจ ขอโทษ" ครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

ขอขอบคุณ...

ขอขอบคุณอาจารย์เจษฎา และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน...
  • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาที่จะน้อมไปเพื่อกล่าวคำ "ขอบคุณ ขอบใจ ขอโทษ"...

ขอขอบคุณครับ...

  • ขอบคณมากเลยคะ สำหรับ ... วิธีฝึกง่ายๆ "คือ ฝึกกล่าวคำมหาอำนาจ 3 คำนี้ (ขอบคุณ ขอบใจ ขอโทษ) ให้เป็นนิสัย กล่าวไปด้วยยิ้มน้อยๆ ด้วย และอย่าลืมสบสายตากับผู้ฟังพอประมาณ" แล้วลองนำไปใช้นะคะ

  • "อย่าปล่อยให้คำชม คำขอบคุณ-ขอบใจ คำขอโทษของท่านหนักดังขุนเขา โปรดปล่อยอานุภาพแห่งคุณงาม ความดีนี้ออกมาให้คนรอบข้างได้ชื่นใจ..." ในฐานะผู้น้อย...ชอบคะชอบ

ขอขอบคุณคุณอรุฎาและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน (มาจากเมืองฝนแปดแดดสี่... ระนองทีเดียว)

มหาอำนาจ...

  • คำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" นี่... ครูภาษาไทยท่านสอนว่า เป็นคำมหาอำนาจ ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเคารพ มีมิตรมาก มีศัตรูน้อย...

คนไทย...

  • คนไทยนิยมคนที่มากด้วยเมตตา...
  • คำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ"... ถ้ากล่าวไปด้วย ยิ้มน้อยๆ และสบตาผู้ฟังพอประมาณแล้ว จะเป็นอุปนิสัยสำคัญของ "เมตตา"

เมตตา...

  • เมตตานี่... สงเคราะห์เป็นสมถกรรมฐาน หรือบุญขั้นภาวนาที่ก่อให้เกิดความสงบสุข
  • การทำบุญบางอย่างมีส่วนทำให้คนเพียงไม่กี่คนมีความสุข เช่น ทาน > คนรับ + คนให้มีความสุข (จากการรับ + การให้) ฯลฯ

เมตตา...

  • เมตตามีส่วนทำให้ผู้ให้ + ผู้รับ + คนรอบข้างมีความสุข และทะเลาะวิวาทกันน้อยลง
  • สมัยพุทธกาลมีท่านพระสุภูติ... น้องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ท่านเศรษฐีผู้ชายที่เป็นเลิศด้านให้ทาน) เป็นเลิศด้านเมตตา
  • ท่านพระสุภูติไปไหน... กล่าวกันว่า คนที่ทะเลาะกันอยู่จะหยุดทะเลาะกันด้วยอานุภาพเมตตาของท่าน
  • นอกจากนั้นท่านยังเป็นทักขิไณยบุคคลอย่างยิ่ง คือ เป็นนาบุญที่ให้ผลไพบูลย์มาก เพราะท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อนรับบาตร

คนเรา...

  • ใหญ่ได้เพราะมีธัมมะของผู้ใหญ่คือ พรหมวิหาร (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)...
  • ไม่ใช่ใหญ่เพราะมีอำนาจบาตรใหญ่ หรือทำร้ายใครได้มาก
  • ขออนุโมทนากับทุกท่านที่กล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ"...สาธุ สาธุ สาธุ

ขอแถมนิด...

  • ตอนผมเรียนโทบริหารฯ... อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ดีครับ
  • ท่านว่า "ผู้บริหารควรพกแบ๊งค์(ธนบัตร) 20 ติดตัวไว้บ้าง เพราะเป็นเครื่องมือของผู้บริหาร"...

สถานการณ์...

  • สถานการณ์บางอย่าง เช่น เวลาไปพักโรงแรม + พนักงานทำอะไรดีๆ ให้ หรือช่วยเหลือ ฯลฯ ควรกล่าว "ขอบคุณ-ขอบใจ" ไปด้วย แนบแบ๊งค์ไปด้วย... ซึ่งจะดีมากถ้าหาอะไร "ห่อ (packaging)" แบ๊งค์ไปด้วย
  • ถ้าหาอะไรห่อไม่ได้จริงๆ... ใช้กระดาษทิชชูห่อ หรือใส่ในซองจดหมายหน่อยก็น่าจะดี เพราะจะดู "มีค่า" มากขึ้นเยอะ

ทิป...

  • "ทิป (tip)" ไม่ใช่ "ถีบ" หรือของที่สักแต่โยนให้
  • แม้การให้ทานก็ควรให้ด้วยความเคารพ และให้ด้วยเมตตา

ขอขอบคุณครับ...

  • แวะมาทักทาย "จากสาว...เมืองฝนแปดแดดสี่.. แต่ล่าสุดปีที่ผ่านมา ระนองกลายเป็นเมืองฝนสี่แดดแปดไปซะงั้น!"
  • ชอบความคิดเห็นที่อาจารย์หมอตอบให้มากเลยคะ
  • ขออนุญาตปริ๊นเอ้าท์ออกมาติดไว้ บนบอร์ดนิทรรศการ ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอกะเปอร์ ซักหน่อยนะคะ ..  อ่านแล้วจรรโลงใจดีจัง อิอิ

ขอขอบคุณ... คุณอรุฎาและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน (จากระนองโน่น)
  • ขอแสดงความเห็นใจครับที่ระนองปีนี้ฝนน้อย แดดมาก... อีสานก็แล้ง ส่วนภาคกลางกับเหนือส่วนล่างท่วมนานเป็นเดือนๆ

ขอขอบคุณ...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรตินำไปพิมพ์ปิดประกาศ (ดีใจมากทีเดียว...)
  • ถ้าเมืองไทยเราช่วยกันกล่าว 3 คำมหาอำนาจนี้... เชื่อมั่นได้เลยว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
  • นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะได้เรียนรู้ "คำมหาอำนาจ" จากไทยไป ทำให้เกิดเมตตาแผ่ไปทั่วโลกทีเดียว

ขออนุโมทนา... สาธุ สาธุ สาธุ

แวะมาแสดงความขอบคุณครับ ขอขโมยสิ่งดีๆ ที่ท่านได้ถ่ายทอดไว้ไปใช้ประโยชน์ต่อชีวิตนะครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์รองจบ และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ขอขอบพระคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจ
  • บันทึกใน go2know นี่... ไม่จำเป็นต้องขโมยครับ ยินดีให้พวกเรานำไปใช้ได้
  • การมีท่านผู้อ่านแวะมาอ่าน และเยี่ยมเยียนนับเป็นของขวัญสำหรับชีวิตผู้เขียนอยู่แล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท