เชอรี่บริจาคเลือดครั้งแรก


ท่านผู้อ่านจำประสบการณ์บริจาคเลือดครั้งแรกได้ไหมครับ... ผู้เขียนบริจาคเลือดครั้งแรกที่ศูนย์ฝึกรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร

                                       

  • ท่านผู้อ่านจำประสบการณ์บริจาคเลือดครั้งแรกได้ไหมครับ... ผู้เขียนบริจาคเลือดครั้งแรกที่ศูนย์ฝึกรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร

พอได้ยินประกาศว่า ใครบริจาคเลือด... ไม่ต้องฝึกวันนี้ เสร็จแล้วให้กลับบ้านได้เลย ผู้เขียนรีบไปให้เลือดทันที

 

  • ทุกวันนี้ยังคงนึกถึงพระคุณของคณะอาจารย์ครูฝึก โรงพยาบาลที่ไปออกหน่วย และสภากาชาดไทยเสมอมา เพราะซาบซึ้ง และประทับใจกับการบริจาคเลือดครั้งแรกมากเป็นพิเศษ

โรงพยาบาลที่ผู้เขียนทำงานคงจะคล้ายโรงพยาบาลอื่นๆ แทบทุกแห่งทั่วประเทศที่ว่า เลือดมักจะขาดเสมอ

 

  • นักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเขลางค์นคร ลำปาง และนิสิตรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกที่ไปฝึกงานมีส่วนสำคัญมากในการบริจาคเลือด

 

ปีนี้ (2549) มีนิสิตรังสีเทคนิค มน. ไปฝึกงาน 4 ท่านได้แก่

  • คุณพัฒนา แจ้งสว่าง / ป้อม
  • คุณโนรี สรรเพชุดามณี / โน่
  • คุณศิริพรรณ รักษาคำ / เชอรี่
  • คุณธวัชชัย ตาลผัด / ต้น

 

นิสิตรุ่นนี้บริจาคเลือดให้โรงพยาบาลครบ 4 ท่าน จึงขออนุโมทนา และขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

  • อาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิคมีสมุดบันทึกการฝึกงานพร้อม เช่น ถ่ายฟีล์มอะไรไปบ้าง ให้ลงวันที่ และอาจารย์ผู้ฝึกสอนไว้ ฯลฯ

นิสิตรุ่นแรกดูจะกลุ้มใจที่ผ่านการฝึกงานไม่ครบทุกประเภท ถ่ายภาพเอกซเรย์ได้ไม่ครบ จึงมีการติดต่ออาจารย์... ขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งฝึกที่โรงพยาบาลลำปาง อีกกลุ่มหนึ่งฝึกที่ศูนย์มะเร็งลำปาง

 

  • โรงพยาบาลลำปางเป็นโรงพยาบาลใหญ่ มีการถ่ายภาพเอกซเรย์ครบทั้งตัว(จากหัวจรดปลายเท้า) ส่วนศูนย์มะเร็งลำปางมีที่พัก ทำให้นิสิตประหยัดค่าเช่าที่พัก และดูจะปลอดภัยกว่าไปหาที่พักข้างนอก

โรงพยาบาลผู้เขียนเพิ่งเปิดใช้อาคารใหม่... ย้ายของในช่วงวันที่ 17-19 พฤศจิกายน นิสิตรังสีเทคนิคจึงได้บริจาคเลือดเป็นคนแรก... จะกล่าวว่า ทำพิธีเปิดตึกด้วยการหลั่งเลือด(บริจาค)ก็คงจะได้

 

  • เชอรี่เป็นนิสิตที่เก่งมากในทัศนะของผู้เขียน... สอบได้นักธรรมโทมาเสียด้วย ปกติเธอมักจะไปโรงพยาบาลเป็นเพื่อนคุณแม่บริจาคเลือด และยังไม่เคยบริจาคเลือดมาก่อน

ต้นบริจาคเลือดมาก่อน 2 ครั้ง การให้เลือดครั้งที่ 3 จึงดูไม่แปลกอะไร เรียนเชิญท่านผู้อ่านมาชมบรรยากาศบริจาคเลือดเปิดตึกกันครับ...

 

  • ภาพที่ 1: "กล้าๆ กลัวๆ กับการบริจาคเลือดครั้งแรก" อาจารย์จุ๋ม(เสื้อเหลืองศิษย์เก่า มน.) และอาจารย์กิ๊ฟต์หาเส้นกันใหญ่ เพราะไม่ค่อยมีเส้น (เส้นเลือดเล็ก)

  • ภาพที่ 2: "บริจาคเสร็จรีบดมยาทันที"

  •  ภาพที่ 3: หลังดมยา(ดม)... ลุกขึ้นมา ทำท่าใจสู้ ชู 2 นิ้ว

  • ภาพที่ 3: บริจาคเสร็จแล้ว... เชอรี่กับต้นช่วยพลิกถุงเลือดให้คุณบุญชู (สหายธรรมของผู้เขียนแวะไปบริจาคด้วย) การพลิกถุงเลือดช่วยให้เลือดผสมน้ำยากันเลือดแข็งตัว เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในถุง

  • ภาพที่ 4: ภาพนิสิตรังสีเทคนิค(เชอรี่กับต้น)ช่วยพลิกถุงเลือดอีกมุมหนึ่ง

ต่อไปเชอรี่คงไม่ต้องไปเป็นเพื่อนคุณแม่บริจาคเลือด และนั่งรอเฉยๆ อีกต่อไปแล้ว... คราวนี้คงจะได้บริจาคเลือดเป็นประจำทั้งคุณแม่ และคุณลูกทีเดียว...

เชิญชมภาพใหญ่ (1,2) ที่นี่:

 เชิญชมภาพใหญ่ (3,4) ที่นี่:

เชิญชมภาพใหญ่ (5,6) ที่นี่:

เชิญชมภาพใหญ่ (7) ที่นี่:
  • ภาพเชอรี่กับต้นช่วยเขย่าถุงเลือดเบาๆ เพื่อให้น้ำยากันเลือดแข็งตัวผสมกับเลือดได้ดี จะได้ไม่เกิดลิ่มเลือดในถุง -----> [     Click     ] หรือที่นี่ > http://gotoknow.org/file/wullopporn/061121Donation07.jpg

หมายเลขบันทึก: 61608เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2006 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • สวัสดีครับอาจารย์หมอผมเป็นคนหนึ่งที่เคยบริจาคเลือดตามคำชักชวนของอาจารย์ ซึ่งผมเป็นนิสิตจากมน.ที่ได้ฝึกงานที่ศูนย์มะเร็งลำปางเมื่อปีที่แล้วครับ ซึ่งตอนนีผมได้บริจาคเลือดประมาณ 6-7 ครั้งได้แล้วมั้งครับแล้วถ้ามีเวลาก็จะไปบริจาคอีก  
  • ผมว่าการบริจาดเลือดเป็นสิ่งที่ดีครับอยากจะเชิญชวนทุกๆคนมาร่วมกันบริจาคเลือดซึ่งเคยได้ยินมาว่าเลือด 1 ถุงสามารถช่วยชีวิตคนถึง 2 คนได้ ส่วนแรกคือน้ำเลือด ส่วนที่สองคือเกร็ดเลือด เป็นการดีมากที่เราสามารถช่วยเหลือคนอีกหลายคนได้
  • ขอชื่นชมกับน้องๆรังสีเทคนิครุ่นหกจาก มน.ทั้งสี่คนในการมีน้ำใจยิ่ง.....
  • อาจารย์หมอคะ  หนูได้ไปบริจาคเลือดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ 3 ครั้งแล้วค่ะ
  • เลือดหนูออกค่อนข้างดี  คือ ครบตามที่ต้องการเร็วมาก  เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนอีกคนที่ไปบริจาคในครั้งแรกด้วยกัน  เพราะเพื่อนเลือดออกมาในสายยางค่อนข้างช้า  และได้ไม่ครบตามที่เค้าต้องการเพราะเลือดหยุดไปเองไม่ทราบสาเหตุค่ะ
  • ตั้งใจว่าจะไปบริจาคอีกเรื่อยๆ ค่ะ 
  • มีคนเคยบอกว่าบริจาคเลือดจะทำให้อ้วนจึงมีสาวๆ หลายคนที่ไม่กล้าบริจาคด้วยเหตุผลนี้
  • และมีคนเคยพูดว่าบริจาคบ่อยๆ จะทำให้เส้นเลือดเปราะต้องเปลี่ยนจุดหาไปเรื่อยๆ
  • 2 ข้อสุดท้ายจริงมั้ยคะอาจารย์

ขอขอบคุณอาจารย์จีรศักดิ์ คำฟองเครือ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขออนุโมทนาที่บริจาคเลือดได้มากถึง 6-7 ครั้ง... สาธุ สาธุ สาธุ
  • เลือด 1 ถุงอาจช่วยคนหลายๆ คนให้มีชีวิตรอด หรือมีส่วนทำให้โรคที่เป็นอยู่ทุเลา เบาบางลงไป

ถ้าแยกเลือดเป็นส่วนๆ โดยการนำไปปั่น... อาจจะให้คนไข้ได้หลายคน เช่น

  • เม็ดเลือดแดง (packed red cell)
  • น้ำเลือด (plasma)
  • เกล็ดเลือด (platelet)

ตัวอย่าง เช่น

  • ตอนที่คุณโนรีไปบริจาคเลือด ฯลฯ มีคนไข้ต้องการเม็ดเลือด 1 คน ต้องการเกล็ดเลือด 1 คน... ทางคลังเลือดได้ปั่นแยกเลือดให้คนไข้ 2 คน
  • โรงพยาบาลหลายแห่งนำน้ำเลือดไปใช้ด้วย เช่น ให้คนไข้ที่เป็นโรคไข้เลือดออก แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก ฯลฯ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเลือด

การบริจาคเลือดก็คล้ายกับการทำความดีอย่างอื่นๆ ตรงที่ว่า "การให้ครั้งแรกยากที่สุด"...

  • ถ้าผ่านการให้เลือดครั้งแรกได้... การให้ครั้งต่อๆ ไปจะทำได้ง่ายกว่าครั้งแรกมาก
  • ผมเองขออนุโมทนาสาธุกับการบริจาคเลือดของอาจารย์จีรศักดิ์ทุกครั้งครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

ขอให้อาจารย์จีรศักดิ์ และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความเจริญ มีสุขภาพดี และมีโอกาสบริจาคเลือดครั้งต่อไปได้นานๆ...

 

 

ขอขอบคุณอาจารย์เจนจิต รังคะอุไร (ตูน) และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขออนุโมทนาสาธุที่อาจารย์บริจาคเลือดได้มากถึง 3 ครั้ง... สาธุ สาธุ สาธุ

การที่เลือดไหลออกดีน่าจะมาจาก...

  • (1). การรับเลือดบริจาคจากเส้นกลาง(เส้นเลือดดำที่อยู่กลางท้องแขน)... เส้นนี้มักจะไหลเร็ว และแรงกว่าเส้นข้าง
    (2). เส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นเลือดใหญ่ (แรงต้านทานการไหลแปรผกผันกับรัศมียกกำลังสี่ - ดูจะเป็นไปตามกฏของปัวแซล)
    (3). ผู้บริจาคช่วยบีบลูกบอล หรือที่บีบมือดี (hand grip)
    (4). ระบบไหลเวียนเลือดดี เช่น กินน้ำมาพอ ทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ (ไม่มี dehydration) ฯลฯ

ท่านผู้บริจาคที่เส้นเลือดเล็ก หรือเลือดไหลช้าเวลาบริจาคอาจจะลองออกกำลัง...

  • (1). ใช้ที่บีบแขน (hand grip)
    (2). ยกของบ้าง เช่น รดน้ำต้นไม้ด้วยถังน้ำแทนใช้สายยางฉีด ฯลฯ

เรื่องบริจาคแล้วอ้วนนี่... ไม่แน่นอนครับ

  • คนส่วนใหญ่มักจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามอายุอยู่แล้ว... ถึงไม่บริจาคก็มักจะอ้วนขึ้นเรื่อยๆ
  • ผู้บริจาคบางคน (รวมทั้งผม) จะมีความรู้สึกหิวมากขึ้นหลังบริจาค อาจทำให้กินอะไรมากขึ้นด้วย
  • วิธีป้องกันง่ายๆ คือ หลังบริจาคไม่ต้องกินอาหารเพิ่ม และควรออกกำลัง เช่น เดินเร็วเพิ่มจากวันละ 30 นาทีเป็นวันละ 60 นาที (ถ้าน้ำหนักเกิน) ฯลฯ

จากการศึกษาทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่พบว่า อาหารไทยมีธาตุเหล็กไม่ค่อยพอ... ควรกินยาบำรุงเลือดเพิ่มอย่างนี้...

  • (1). ผู้ชาย 15 เม็ด / การบริจาค 1 ครั้ง
    (2). ผู้หญิง 30 เม็ด / การบริจาค 1 ครั้ง

สถิติโลกที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานพบมีผู้บริจาคท่านหนึ่งให้เลือดมาแล้ว 295 ครั้ง

  • ท่านเป็นชาวอาฟริกาใต้... ข่าวว่า ที่นั่นบริจาคเลือดได้ทุก 8 สัปดาห์ ตั้งแต่อายุ 17-79 ปี ถ้าแข็งแรง และไม่มีข้อห้ามตามเกณฑ์

การบริจาคเลือดเป็นประจำไม่ทำให้เส้นเลือดเปราะ ทว่า...

  • (1). บริเวณที่เจาะเลือดไปจะเกิดแผลเป็นขนาดเล็ก (ขนาดเท่าเข็มโดยประมาณ)
    (2). ผู้รับบริจาค หรือผู้เจาะจะพยายามหลีกเลี่ยง หรืออ้อมไปข้างๆ ไม่เจาะผ่านรูเดิม เนื่องจากการเจาะผ่านแผลเป็นอาจทำให้ผู้บริจาคเจ็บเพิ่มขึ้นได้

การบริหารแขน โดยเฉพาะการยกของ ออกแรงบีบมือ (hand grip) มีส่วนช่วยให้เส้นเลือดดำโต และแข็งแรงเพิ่มขึ้น

  • ขอให้อาจารย์เจนจิต และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความเจริญ มีสุขภาพดี และมีโอกาสบริจาคเลือดเป็นประจำ เพื่อสร้างสมบุญ บารมี และความรู้สึกดีๆ ครับ...

 

          คุณหมอวัลลภ อุตสาห์มาแจ้งข่าวถึงที่  ขอขอบพระคุณมากนะคะ  นอกจากจะได้เห็นหน้าลูกศิษย์แล้ว  ยังได้เห็นลูกศิษย์ทำความดีด้วย ปลื้มใจจังค่ะ

          เราเพิ่งเสียลูกศิษย์ สาขากายภาพบำบัด ไปหนึ่งคน ด้วยโรค Aplastic anemia น่าสงสารจริงๆ  เขาเป็นผู้ชาย  ร่างกายก็แข็งแรงดีมาตลอด  เรียนจนถึงปี 4 จบเทอมต้นแล้ว  กำลังจะไปฝึกงานเทอมปลาย ก็ต้องล้มป่วยอย่างกระทันหัน

          พวกเราพยายามช่วยเหลือกันเต็มที่แล้ว  จนได้ไปรักษาที่ กทม. (รพ.รามาฯ) เตรียมปลูกถ่ายไขกระดูก  แต่เพราะร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ ปอดจึงติดเชื้อรา และเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง

          เรื่องเลือดนี่  เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ นะคะ

  • อรุณสวัสดิ์ค่ะ อาจารย์หมอ
  • ติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์เสมอค่ะ
  • บริจาคเลือดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชอบเนื่องจากตอนสาวๆ อยากบริจาคมาก....แต่ไม่ได้เนื่องจากน้ำหนักไม่ถึง 45 กิโล....ทำให้ความอยากบริจาค ทวีคูณค่ะ....
  • หลังจาคมีลูกคนแรก....น้ำหนักเกิน 45 กิโล จึงบริจาคได้เรื่อยมา....ทุก 3 เดือนค่ะ
  • ดิฉันมีหมู่เลือด โอ...จึงเป็นที่ต้องการ
  • ที่ มอ.ห้องบริจาคเลือด เขาจัดดีค่ะ อบอุ่นไม่น่ากลัว...คนที่เขาเลือกมาอยู่ห้องนี้ที่นี่อัธยาศัยดี พูดเก่ง....บริจาคพลางฟังเพลินค่ะ
  • รอบสุดท้ายที่บริจาคจนถึงวันนี้เป็นเวลา 5 เดือนแล้ว...เนื่องจากกินยาแก้หวัดอยู่ ครึ่งเดือนจึงต้องงดเว้นกิจกรรมบริจาคเลือดไป....
  • พรุ่งนี้....วันนี้ซินะ...เกือบเช้าแล้ว...หนูจะไปบริจาคเลือดค่ะ...จำขึ้นมาได้จากบันทึกนี้ของท่าน....ขอบคุณค่ะ
  • อ้าว!.....แต่หนูตื่นเช้าขนาดนี้....จะถือว่านอนพอเพียงหรือเปล่า....คืนนี้หนูหลับประมาณ 4 ทุ่มตื่นนอน ตี 3.20 น.นอนไป 5.5 ชม.เอง จะถือว่านอนพอสำหรับการบริจาคเลือดหรือเปล่าคะอาจารย์
  • นอนต่ออีก 2 ชม.ดีกว่าจะได้มีชั่วโมงการนอนเพิ่ม เป็น 7.5 ชม. พอเพียงสำหรับการบริจาคเลือด
  • ไม่ทราบจะหลับได้อีกหรือเปล่า
  • พรุ่งนี้จะส่งข่าวนะคะ ว่าได้บริจาคตามที่คิดหรือเปล่า
  • เท่าที่กล่าวหนูมีประเด็นอะไร ที่เข้าใจผิดสำหรับการบริจาคเลือด บ้างไหมคะอาจารย์
  • ราตรีสวัสดิ์ค่ะ อาจารย์

ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ความรู้สึกปลื้มใจที่ลูกศิษย์ทำดีนี่... ส่วนใหญ่เกิดกับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์
  • ความรู้สึกอย่างนี้คล้ายๆ กับเป็นการถ่ายทอด merit DNA ทีเดียว (พันธุกรรมแห่งคุณความดี)
  • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ และนิสิต มน. ทุกท่าน

อาจารย์คลังเลือด มน. ท่านเล่าให้ฟังว่า

  • เด็ก มน. นี่ช่วยงานคลังเลือดดีมากๆ เลย... มีชมรม มีกลุ่มกิจกรรมตามเพื่อนๆ มาบริจาคเลือด
  • วันพฤหัสบดีเห็นนิสิตใส่บาตรตอนเช้า มีการตั้งพระพุทธรูปแก้วใส ใส่บาตรต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย... ดูแล้วขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ

ชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอนครับ...

  • ขณะที่คณะสหเวชฯ เพิ่งสูญเสียนิสิต
  • วัดท่ามะโอก็เพิ่งสูญเสียสามเณร ท่านป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวตอนปลายพรรษานี้
  • ขอแสดงความเสียใจกับทุกท่านในคณะสหเวชฯ ด้วย และขออุทิศบุญกุศลทั้งหมดที่ผมได้ทำไว้แล้วให้นิสิตที่เสียชีวิตนี้ด้วย...

ขอให้อาจารย์ และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความเจริญ มีสุขภาพดี มีโอกาสทำบุญทุกๆ ประการโดยเร็ว...

  • คุณลุงผมเป็นมะเร็งตับ ก่อนเสียท่านบริจาคดวงตา(มีผู้รับ 2 ท่าน... cornea เป็นอวัยวะที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยงจึงบริจาคได้ง่าย ทว่าเสียดาย... ไม่ค่อยมีคนบริจาคกัน)

ขอขอบคุณอาจารย์เมตตา...

  • เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ... ห้องบริจาคเลือด มอ. มีความเป็นมิตรกับผู้บริจาคสูง (user-friendly)
  • ผมเองมีประสบการณ์บริจาคเลือดที่ มอ. เป็นประจำตอนเป็นนักศึกษา

ครั้งที่ประทับใจมากคือ อาจารย์ที่เจาะเลือดท่านบอกว่า ตอนนี้ขาดเกล็กเลือด... คราวนี้ขอแถม(เก็บเลือด)ไปมากหน่อย > มากจนถุงพองกลมเลย

  • ห้องบริจาคเลือดที่ดีเยี่ยมในทัศนะของผมคือ โรงพยาบาลลำปาง... เปิดบริการทุกวัน รับเลือดถึง 5 ทุ่มทุกวัน

พยาบาลศูนย์มะเร็งลำปางบริจาคเลือดเป็นประจำกันมาก... ท่านเหล่านี้อุตส่าห์นั่งรถไปประมาณ 9.5 กิโลฯ ไปให้ที่โรงพยาบาลลำปาง

  • เพราะที่นั่น...
    (1). เจ้าหน้าที่พูดจาดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งที่บ่อยครั้งผู้บริจาคมากจนเลยเวลาอาหารเที่ยง
    (2). บริการเร็วแบบ ATM... ทุกขั้นตอนเร็ว และมีระบบ
    (3). เจาะเร็วมาก ครั้งเดียวได้ เจ็บน้อยมาก (อาจจะนับเป็นระดับ 400-600 มิลลิวินาที เพราะเข็มผ่านผิวหนังเร็วมาก)...

การนอนก่อนบริจาคเลือด... คำแนะนำของไทยแนะนำให้นอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

  • ช่วงเวลาที่เรานอน โดยเฉพาะ 0.30-02.00 น. จะมีการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโต (growth hormone) ทำให้ร่างกายสร้างเลือดได้เต็มที่
  • การอดนอนอาจทำให้เสี่ยงต่อความดันเลือดต่ำ หรือเป็นลมหลังบริจาคเลือดได้ง่าย

วิธีป้องกันเป็นลมหลังบริจาคเลือดง่ายๆ ได้แก่

  • การดื่มน้ำให้พอ 24 ชั่วโมงก่อนบริจาค สังเกตสีปัสสาวะ... ควรจะไม่เห็นสี หรือสีเหลืองจาง ไม่ใช่เหลืองเข้มทั้งวัน
  • หลังบริจาคให้ดื่มน้ำมากหน่อยไป 2 วัน (48 ชั่วโมง) เพื่อให้ปริมาตรเลือดไม่ตกลงไปมาก (ช่วงแรกปริมาตรเลือดจะลดลง ซึ่งชดเชยได้ด้วยการดื่มน้ำ)

ขอกราบอนุโมทนาสาธุการกับอาจารย์ และท่านผู้อ่านทุกท่านที่บริจาคเลือด อวัยวะ หรือสนับสนุน เช่น บริจาคของว่าง เครื่องดื่ม พลาสเตอร์ยา ฯลฯ ให้ผู้บริจาคเลือด... สาธุ สาธุ สาธุ

เพิ่งกลับมาจากบริจาคเลือดค่ะอาจารย์ สำเร็จและสบายดีค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์เมตตา และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอกราบอนุโมทนา... สาธุ สาธุ สาธุ
  • ขออนุโมทนากับท่านผู้อ่านทุกท่านที่บริจาคเลือดครับ

ถ้าอาจารย์เมตตามีภาพห้องบริจาคเลือด มอ.มาฝากบ้างก็น่าจะดีมากๆ เลย...

  • ห้องบริจาคเลือดที่อื่นจะได้ขอนำไปปรับปรุงบ้าง

วันนี้[4/04/52]ไปบริจาคเลือดมา เป็นครั้งที่ 11 แล้ว ต่างกรรม ต่างวาระกันไป ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีประสบการณ์ต่างๆนาๆ แต่วันนี้เป็นอะไรที่ feel bad มาก เป็นรถเคลี่อนที่ของโรงพยาบาลขอนแก่น มาจอดที่หน้าโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น เราตั้งใจมาตามประกาศที่ติดประชาสัมพันธ์ไว้ สิ่งที่ได้พบ เขา treat เราแย่มาก ตั้งแต่เจ้าหหน้าที่คัดกรอง หมอ (หมอเอาหูฟังมาตรวจฟังปอด เราถามเขาตรงๆว่าหมอพูดได้มั้ย เพราะเขาไม่สื่อสารกะเราเลย ไม่ว่าด้วยภาษาพูดหรือภาษากาย) คนเจาะเลือด เขาทำเหมือนเรามาขายเลือด ไม่ได้มาบริจาค ทุกครั้งระหว่างที่ให้เลือด เราจะแผ่เมตตา คราวนี้นอนทำใจอยู่นาน ไม่อยากจะสรุปว่าบุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่นไร้หัวใจ แต่เขาทำให้เรารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็จะบริจาคต่อไป ไปที่อื่นที่เราอยากได้เลือดเราจริงๆ ไม่ใช่มา moblie เพราะว่าเป็นนโยบาย

ผมเองก็รู้สึกเสียใจที่ได้ยินเรื่องนี้เช่นกัน...

  • ผมเชื่อมั่นว่า ผู้บริจาคเลือดเป็นคนที่จิตใจสูงส่ง และมีความมุ่งมั่นแรงมาก

เร็วๆ นี้ผู้สื่อข่าว BBC ท่านหนึ่งบอกว่า ไขมันในเลือด (ไตรกลีเซอไรด์) สูง ทนกินน้ำต้มผักลูกเดียว 3 วัน ให้ไขมันลด และก็ได้บริจาคจริงๆ

  • สภากาชาดไทยทำการศึกษาผู้บริจาคเลือดคนไทยที่ไขมันในเลือดสูง
  • ผลการศึกษาพบว่า เกือบทั้งหมดลดไขมันในเลือดได้ เพื่อให้ได้บริจาคเลือดอีกครั้ง...

ตรงกันข้าม...

  • คนไข้ในโรงพยาบาลมากกว่า 80% (ประมาณการณ์) ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ไม่ได้ ใช้ยาคุมไว้ลูกเดียว
  • นี่ต่างกันที่ "ใจ"

ผมขอร่วมเสียใจกับคุณด้วย...

  • และเรียนเสนอให้หาที่รับบริจาคเลือดดีๆ
  • เราเป็นคนดี ตั้งใจจะทำดี อย่าไปยอมแพ้กับเรื่องร้ายๆ อย่างนี้
  • ผมเคยไปบริจาคเลือดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หมอที่นั่นไม่สำรวมวาจาเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่า ผมเป็นหมอ...
  • ผมตั้งใจทันทีว่า ถ้ามีทางเลือกจะต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล และเปลี่ยนมาจนทุกวันนี้

ที่ลำปางนี่...

  • โรงพยาบาลลำปางรับบริจาคเลือดถึง 5 ทุ่มทุกวัน ไม่มีวันหยุดใดๆ ทั้งสิ้น นับเป็นบริการอันดับ 1 ของประเทศเลยก็ว่าได้)

อย่ายอมแพ้ถ้าเราจะทำดี...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท