ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

คนเทคโนฯ ยุค 2000


เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "วิสัยทัศน์เทคโนโลยีการศึกษาในทศวรรษหน้า" ณ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม, 30 มกราคม 2543

           คนเทคโนฯ หรือเรียกเต็มๆให้ยืดยาวว่า บุคลาการทางเทคโนโลยีการศึกษา หรือ นักเทคโนโลยีการศึกษา  จะต้องเป็นอย่างไรในยุค 2000?   คือคำถามที่น่าวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ          

ปรับคลื่นให้ตรงกัน         
ก่อนที่จะมีคำตอบ  จำเป็นต้องพิจารณาตีความคำที่เป็นหัวใจของคำถามนี้ก่อนคือ   "คนเทคโนฯ"  กับ  "ยุค 2000"         

          คนเทคโนฯ ในที่นี้ขอให้ความหมายกว้างๆ ว่า  "คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัสดุ  อุปกรณ์    และวิธีการทางเทคโนโลยีที่นำใช้ในการศึกษา"   และเป็นที่คาดหวังของสังคมว่า คนเทคโนฯ นี้จะมีความชำนาญ และมีความสามารถที่จะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาช่วยให้การศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สูงสุด โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดหรือลงทุนอย่างคุ้มค่า          

          ยุค 2000  คือเวลานับจากปี พ..2543 หรือ ปี ค.. 2000 เป็นต้นไปอีกหนึ่งพันปี  ในที่นี่ขอกำหนดไว้แค่ไม่เกิน 10 ปีก่อนก็แล้วกัน   ที่ใช้เลข 10 ก็เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา   การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในประเทศไทย  หากผู้เขียนคาดการณ์ไว้จะพบว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม  (อ่านเพิ่มเติม "ครูคือใครในยุคสารนิเทศ", 2532)    ยุค 2000 ที่ว่านี้จะมีสภาพที่ผู้เขียนเรียกเองว่า "พายุข้อมูล"  กล่าวคือ ข้อมูลจะมีมากมาย และโหมกระหน่ำเข้ามาสู่คนเราอย่างรุนแรงโดยอาศัยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง   ที่เรียกว่าพายุก็เพราะว่า ถึงเราจะอยู่เฉยๆ  ไม่อยากข้องแวะ  มันก็จะพัดผ่านเข้ามากระทบกระแทกเอง 

สภาพสังคมของผู้ที่กระหายข้อมูล  แย่งชิงข้อมูล  และผลิตข้อมูลเพื่อหาผลประโยชน์   จะเกิดขึ้นจนมีสภาพที่ว่า   ใครเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า  จะกลายเป็นกลุ่มชนชั้นที่เหนือกว่าผู้อื่น   เพราะมองเห็นโอกาสและช่องทางมากกว่า    ทำให้สามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเองได้มากกว่า   

สภาพการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  คือสิ่งที่เข้ามาเป็นวิถีชีวิต  หากไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่สามารถอยู่รอดในสังคมยุคนี้ได้อย่างมีความสุข          

เมื่อรวมคำทั้งสองเข้าก็จะได้  คำว่า  "คนเทคโนฯ ยุค 2000"          คนเทคโนฯ  ในภาพพจน์ของผู้เขียน  ต้องมีสองร่างรวมอยู่ในคนคนเดียวกัน  กล่าวคือมีร่างของ "คนยุค 2000" เป็นหลัก  และมีร่างของ "นักเทคโนโลยีการศึกษา ยุค 2000"  สวมเข้าไปอย่างกลมกลืน          

คนยุค 2000 เป็นอย่างไร?          
คนยุค 2000 ของผู้เขียน   น่าจะมีคุณลักษณะ 4 ประการต่อไปนี้เป็นพื้นฐาน
         

          ประการแรกคือ   มีจุดยืนของตนเอง  
ไม่ต้องเกเรว่ามีแล้ว อยู่ใต้สองเท้าไง 
จุดยืนที่ว่านี้ หมายถึง  การกำหนดสิ่งที่ตนเองมีความเชื่อว่าเป็นคุณค่า เป็นแก่นแท้ของชีวิต           

คุณค่าที่ว่านี้ต้องเป็นเรื่องดี  ตัวอย่างเช่น  ความสำเร็จ  ความรับผิดชอบ  ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ  การเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น  ความมีชื่อเสียง  ความสงบและสันติสุขของจิตใจ  ความท้าทาย ฯลฯ         

การจะพัฒนาคุณลักษณะนี้ได้  ต้องเริ่มด้วยการทำบัญชีรายการคุณค่าทีพึงประสงค์ของตนเอง  เลือกเฉพาะสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญอย่างแท้จริงกับตัวเอง        จะได้เพียงข้อเดียวหรือหลากข้อก็แล้วแต่      เมื่อชัดเจนแล้ว   ก็จะได้เป้าหมายเด่นชัดในการดำเนินชีวิต   รู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ตนเองจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะผสมผสานสอดแทรกเข้าไปในทุกอณูของการดำเนินชีวิตและการทำงาน  จากนั้นก็วางแผนที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามที่กำหนด         

การดำเนินชีวิตโดยมีคุณค่าหลักของตนเองในใจ  จะทำให้สามารถประเมินได้ว่าสิ่งใดสำคัญต่อตนเองอย่างแท้จริง   และนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้

          ประการที่สอง คือ เป็นคนสองภาษา  
การอยู่ในโลกไร้พรมแดนนั้น การสื่อสารด้วยภาษาที่เป็นกลาง อย่างเช่นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ที่สอดคล้องกับการทำงานของตนเอง  คือความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้      การไม่พัฒนาตรงจุดนี้  จะเป็นข้อด้อยของตนเองในยุคที่มีการแข่งขันสูง

          ประการที่สาม คือ เป็นคนรักการเรียนรู้ 
กฎทองคำของความสำเร็จในการทำงานคือ   ความรักการเรียนรู้   สามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง   สำหรับผู้ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า  "ผู้พบทางตันในการเรียนรู้ "  ซึ่งหมายถึงคนที่พบว่าตนเองตกอยู่ในภาวะที่การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ กลายเป็นเรื่องยากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเนื่องจากความก้าวไกลของเทคโนโลยีนานาชนิด 

การจะหลุดพ้นปัญหาตรงนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ทำได้ด้วยการเสาะหาการสนับสนุน คำแนะนำ หรือความช่วยเหลือจาก "คู่คิด" "ผู้รู้"  หรือบุคคลอื่นๆ  การอยู่อย่างโดดเดี่ยวจะทำให้สูญเสียโอกาสของการพัฒนาตนเอง

คุณลักษณะของการเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) จะต้องประกอบด้วย

  • การเรียนรู้ผ่านวิธีการที่หลากหลาย  อาทิ หาความรู้พิเศษใหม่จากงานการกุศล   การฝึกอบรม การศึกษาต่อ และอื่นๆ   วิธีการที่หลากหลายช่วยให้เกิดความผสมผสานขององค์ความรู้ในตนเอง  ช่วยเพิ่มพูนสิ่งต่างๆ ที่ขาดหายไปในชีวิตให้สมบูรณ์
  • การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ลงมือแก้ไขจุดอ่อน  ข้อด้อยและสร้างจุดแข็งให้ตนเอง  ใช้วิธีการดูและฟังตลอดเวลา  เพื่อทำให้สมองทำงาน จะโดยการอ่าน  สังเกต ลงมือปฏิบัติไปด้วย  เพื่อให้สมองได้ใคร่ครวญไตร่ตรอง  จะช่วยให้เกิดการย่อยความรู้สำหรับให้ร่างกายได้ดูดซึมไปใช้
  • การเรียนรู้เทคโนโลยี  การเรียนรู้ในยุค 2000 อาศัยเครื่องช่วยทางเทคโนโลยี ได้แก่  คอมพิวเตอร์  CD-ROM  และเครื่องมือสื่อสารต่างๆ  รวมทั้งการทำงานในยุคนี้ก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ด้วย   จำเป็นที่คนยุค 2000 ต้องมีทักษะในการใช้เครื่องช่วยเหล่านี้ 

          ประการที่สี่คือ   พัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้ตนเอง         
การมีความรู้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำงานในยุค 2000 ต้องมีทักษะเฉพาะด้วย  ทักษะที่ว่านี้  มิใช่ทักษะเฉพาะวิชาชีพแต่เพียงอย่างเดียว  แต่หมายถึงทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต อาทิทักษะในการสื่อสารได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ  ทักษะการคิดที่สุขุมหรือสร้างสรรค์ภายใต้สถานการณ์ที่มีความกดดัน  ทักษะการจูงใจผู้อื่น ทักษะความผู้นำ ฯลฯ 

ทุกวันนี้ มีการจัดการฝึกอบรมมากมาย ที่มีหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะดังกล่าว  คนยุค 2000 ต้องใฝ่หาความรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ  โดยเลือกพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างทุกวันนี้   

นักเทคโนโลยีการศึกษา ยุค 2000 เป็นอย่างไร?
เมื่อพิจารณาบทบาทของ "ครูในยุคสารนิเทศ" ตามที่ผู้เขียนเสนอวิสัยทัศน์ไว้เมื่อ ปี พ.. 2532จะเห็นว่า การศึกษาตลอดชีวิตที่กล่าวถึง การที่ครูต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และอื่นๆ ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้นลำดับ  เริ่มจาก พ... การศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542  มีเนื้อหาสาระหลักๆ สอดคล้องตรงตามแนวคิดดังกล่าว

ดังนั้น ก้าวแรกในเบื้องต้นของนักเทคโนโลยีการศึกษาของยุค 2000  คือ จะต้องสามารถช่วยให้ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  ของการจัดการศึกษาในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กล่าวคือ

  • มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์    ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย   เพียงพอที่จะเสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการนำไปใช้เพื่อการสอนของครูได้
  • มีทักษะความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องมือเทคโนโลยีเฉพาะด้าน  อย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะสามารถช่วยครูในการผลิตหรือดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องมือนั้นๆ ในลักษณะของการทำงานแบบประสานกัน
  • มีทักษะและความสามารถในการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้  อย่างน้อยประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยเน้นสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง  เพื่อให้มีสื่อจำนวนมากและหลากหลายสำหรับครูจะได้มีตัวเลือกในการนำไปวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน

ก้าวต่อไป  คือการมีบทบาทในการศึกษานอกระบบ ซึ่งเน้นการใช้เครื่องมือสื่อสารมวลชน และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่เน้นการฝึกอบรม การศึกษาด้วยตนเอง  ซึ่งทั้งสองด้านนี้ ต้องการผู้มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี  และมีความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้โดยอาศัยเทคโนโลยี 

งานเทคโนโลยีการศึกษาในยุค 2000 เป็นงานที่ต้องการการมีความรู้พื้นฐานทางหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา พร้อมความรู้อย่างลึกซึ้ง  การผลิตบัณฑิตเทคโนฯ ที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านต่างๆ อย่างผิวเผิน  ดังที่เรียกกันว่า "รู้อย่างเป็ด"  เพื่อจะได้มีทางเลือกหลายๆ ทางในการทำงาน  น่าจะไม่เพียงพอต่อการทำงานยุค 2000   เพราะสังคมไม่ต้องการเสียเวลาในการพัฒนาบุคลากรซ้ำอีกโดยไม่จำเป็น

การผสมผสานร่างของ "คนยุค 2000" ให้เข้ากับ "นักเทคโนโลยีการศึกษา" ของแต่ละสถาบัน  ถือเป็นเรื่องของตัวใครตัวมันแล้วที่นี้ 

หมายเลขบันทึก: 122706เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2007 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยนะคะ  ชอบอ่านบทความท่านมากๆ

แต่ 

ขออนุญาตเพิ่มคุณลักษณะพื้นฐานของคนยุค 2000 เพิ่มเติมอีก  1 ลักษณะนะคะ  สิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนอีกเรื่องหนึ่งคือ ด้านคุณธรรมจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ 

ท่านคิดเห็นว่าอย่างไร

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยกับป้าเจี๊ยบทุกประเด็นค่ะ

แต่ขอขยายความอีกนิดในความเห็นของดิฉันว่า......

IT (INFORMATION TECHNOLOGY ) จะช่วยการบรรยายให้เห็นวิธีการทำในระดับหนึ่ง แต่คนที่เรียนต้องเห็นของจริงและต้องทำด้วยตนเองจริงๆ จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

เทคโนโลยีคือสไตล์(STYLE) หรือรูปแบบให้เกิดการเรียนรู้เท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเนื้อหา(SUBSTANCE) ที่ใส่เข้าไป 

ตอนนี้ เท่าที่ดู  อยากให้ทางด้านวงการศึกษาดูเรื่องเนื้อหาของการเรียนรู้จริงๆ  รวมทั้งเรื่องคุณภาพ และขั้นตอน ของการนำเสนอความรู้ ในทุกระดับการศึกษาด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท