ภูมิคุ้มกันการล่อลวงบนอินเทอร์เน็ต


เมื่อไม่กี่วันก่อน มีงานวิจัยอันหนึ่ง ปรากฏเป็นข่าวว่า การแก้ไขปัญหาของการล่อลวงบนอินเทอร์เน็ตนั้น ควรจะเน้นที่ไปที่พฤติกรรมของผู้ใช้ (การสร้างภูมิคุ้มกัน) แทนที่จะเป็นเรื่องการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล

ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปอันนี้

ก่อนอื่นจะต้องยอมรับกันก่อน ว่าการล่อลวงบนอินเทอร์เน็ตนั้น มีอยู่จริง มีผู้เสียหายจริง และเป็นเรื่องที่ต้องจัดการ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นการล่อลวงนั้น ก็เป็นผู้เสียหายเองนั่นแหละ ที่เป็นผู้ทำให้การล่อลวงประสบความสำเร็จ จะเป็นด้วยความโลภ ความอยากรู้อยากเห็น ความอยากลอง ว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่ได้มีใครมาใช้กำลังบังคับผู้เสียหายให้กระทำการให้ตนเองเสียหาย

เรื่องการล่อลวงนั้น มักจะฟังดูมีเหตุผล เมื่อบวกกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นขาดคนปรึกษา เหยื่อก็จะกระทำการอันไม่มีเหตุผล -- และการจะมากล่าวโทษอินเทอร์เน็ตว่าเป็นต้นเหตุนั้น ก็ไม่มีเหตุผลพอๆ กัน เพราะ อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสาร ผู้ใช้เป็นผู้เลือกเองว่าจะทำอะไร จะไปไหน จะติดต่อกับใคร

คงไม่มีผู้ปกครองคนไหนที่นั่งเฝ้าได้ตลอด ว่าลูกหลานเมื่ออกจากบ้าน ไปแล้ว จริงๆ ไปไหนมาบ้าง ไปทำอะไรมาบ้าง แต่ผู้ปกครอง ต่างก็เคยเป็นเด็กมาก่อน (หวังว่า)เข้าใจเด็ก มีทักษะวิธีการในการดูแลอยู่บ้าง

เรื่องนี้ต่างกับอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยซึ่งค่อนข้างใหม่ โดยรวมอาจกล่าวได้ว่าผู้ปกครองรู้น้อยกว่าเด็ก จึงไม่สามารถให้คำแนะนำที่ดีได้ ความไม่เข้าใจนี้ กลายเป็นความกลัวเพราะความไม่รู้ และในเมื่อยิ่งปฏิเสธก็ยิ่งไม่รู้

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้จัดทำหนังสืออินเทอร์เน็ต...เข้าใจง่าย โดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน และคุณศรีดา ตันทะอธิพานิช เพื่อช่วยให้ผู้ปกครอง เข้าใจอินเทอร์เน็ต ตลอดจนภัยจากการล่อลวงผ่านสื่อนี้ เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว

บนอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยทางเลือก เต็มไปด้วยอิสระเหมือนการเรียนในมหาวิทยาลัย -- ทำอย่างไรประชากรอินเทอร์เน็ตของเรา จึงจะเลือกสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ แทนการเลือกอบาย

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นปัญหาสังคม เป็นปัญหาพฤติกรรม+ค่านิยม ทำไมเราจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยกฏ ระเบียบ และเทคโนโลยีครับ?

หมายเลขบันทึก: 111851เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

เรื่องนี้ ดิฉันขอให้ความเห็นเป็นกลางๆว่า ปัญหาเรื่องพฤติกรรมและค่านิยม เป็นเรื่องแก้ยาก เพราะมันโยงใยไปหลายส่วนด้วยกันมากๆ

การหันไปแก้ ทางด้านกฏระเบียบ แก้ง่ายกว่า

เหมือนงานราชการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อ การเบิกจ่าย มีขั้นตอนยุ่งยากมาก และช้า ก็เพราะจะป้องกันการรั่วไหล และทุจริต

เขาไม่สมารถไปแก้ที่นิสัย หรือพฤติกรรมของคนมากๆได้ค่ะ และมันเป็นเรื่องที่ใช้เวลามาก

ไม่ได้สนับสนุนการแก้ไขปลายเหตุแบบนี้นะคะ แต่บางที  ก็คงไม่ทราบจะทำอย่างไร ให้เป็นลักษณะการป้องปรามอย่างเร็วๆได้ 

ขอบคุณคุณศศินันท์มากครับ

ในเมื่อปัญหานี้ซับซ้อนและแก้ไขไม่ได้เร็ว ก็ไม่ควรออกระเบียบเพื่อแก้ปัญหาซิครับ ระเบียบนั้นไม่ได้สัมผัสกับตัวปัญหาเลย

ผมไม่ได้ต่อต้านกฏระเบียบหรอกครับ สังคมก็ต้องมีกฏเกณฑ์ ผมคิดว่าคุณศศินันท์เข้าใจลึกซึ้งที่สุดว่าไม่มีผู้บริหารคนไหน ที่ไม่เข้าใจความสำคัญของกฏเกณฑ์

ประเด็นที่ผมอยากชี้คือ มิจฉาทิฏฐิ (ทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง+ความไม่เข้าใจ+ความกลัว) บวกกับ ความซับซ้อนของปัญหา ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว แต่มาตรการป้องปราม ก็เพียงบรรเทาปัญหาครับ ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย -- ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับ ว่ายังไงก็ดีกว่าการปล่อยไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร หรือคิดไปเองว่าแล้วสถานการณ์ก็จะดีขึ้นเอง

เรื่องนี้เป็น uphill battle ครับ เป็นปัญหาสังคมซึ่งต้องใช้เวลานาน แล้วต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกันทุกส่วนของสังคม (เพราะเป็นปัญหาสังคม)

หนังสือที่แนะนำไปในบันทึก ก็แก้ปัญหาไม่ได้ครับ แต่น่าจะช่วยให้ผู้ปกครอง รู้เท่าทันภัยต่างๆ ได้บ้าง และช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นสำหรับสมาชิกในครอบครัว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท