ของตายที่ไม่ตาย


คุณค่าของของตาย

 

                                    

                       Aunt2

 


    คำว่า “ ของตาย ” มักใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบ เมื่อใครคนหนึ่งเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในบางสิ่งบางอย่าง หรือในคนบางคนว่า จะอยู่ข้างกายเสมอ ไม่สูญหายไปไหน ปรากฏให้เห็นอยู่จนชินตา หยิบฉวยหรือพึ่งพาเพื่อสนองความต้องการของตนได้ตลอดเวลา และบางกรณี อาจบ่งชี้ถึงประเภทบุคลที่ “ ไปไหนไม่รอด ” ไม่ต้องออกแรงยึดยื้อฉุดไว้ดังเช่นของหายากที่ต้องแย่งกันไขว่คว้ามาครอบครอง

 

    ในความเข้าถึงได้ง่ายๆเช่นนี้ “ ของตาย ” ตามความหมายดังกล่าว บางครั้งบางคราว จึงมักได้รับการปฏิบัติในลักษณะขาดการเอาใจใส่ดูแล ไม่ยกย่อง ไม่ทะนุถนอม ไม่พัฒนาปรับปรุง และไม่ให้คุณค่าเท่าที่ควร ซึ่งในไม่ช้าอีกไม่นานนัก “ ของตาย ” อาจจะตายจากไปแล้วจริงๆ ครั้นเมื่อถึงเวลานั้น กลับกลายเป็นความเสียดาย การเสียโอกาส และความเสียใจที่ไม่อาจปลุกสภาพความตายนี้ ให้ฟื้นคืนสู่ “ ของตาย ” ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งได้อีกต่อไป

 

     “ ของตาย “ นี้ หลายคนอาจคุ้นเคยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และอาจโชคดีที่มี “ ของตาย” ไว้ครอบครองตั้งแต่กำเนิดเกิดมาลืมตาดูโลก ที่หมายถึง พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ญาติสนิท ทั้งหลายที่ดูแลรักเราอย่างใกล้ชิดแท้จริง เป็นผู้ที่ไม่เคยทอดทิ้งเราให้ต้องตกระกำลำบาก เป็นน้ำแห่งชีวิตที่ดื่มกินได้อย่างอุดมสมบูรณ์ เมื่อเติบโตพอสมควร

 

     วงจรเคลื่อนต่อไปให้ได้พบ “ ของตาย ” อีกประเภทหนึ่ง คือ ครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้อันเป็นรากฐานในการประกอบอาชีพอย่างเป็นปึกแผ่น เพื่อนำพาเข้าสู่สถานที่ทำงานซึ่งมีความสุขสบายกับ “ ของตาย” ที่เป็นระบบการทำงานและสิ่งตอบแทนที่มั่นคงเพียบพร้อม ไม่ลำบากกายใจ

 

    จวบจนถึงวัยมีครอบครัวที่อบอุ่น เป็น “ ของตาย ” คือ ภรรยา /สามี/บุตรธิดาที่รับผิดชอบ น่ารัก เชื่อฟังอยู่ในโอวาท มีความกตัญญูรู้คุณ และไม่เคยนำความเดือดเนื้อร้อนใจให้เป็นภาระแต่อย่างใด

 

     ลึกยิ่งไปกว่านั้น หากมองในเชิงคุณภาพชีวิต “ของตาย” ที่เป็นของร่วม เป็นของส่วนรวมที่ทุกคนสามารถตักตวงไว้หล่อเลี้ยงจิตใจโดยไม่ถูกหวงห้ามกีดกัน คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ผู้ใดเข้าถึงแก่นแท้นำไปประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง อย่างรู้แจ้งแล้ว ย่อมบรรลุสู่บันใดสูงสุดแห่งความหลุดพ้นจากเครื่องยึดเหนี่ยวที่ไม่เที่ยงแท้ทั้งหลาย ตามหลักแห่ง ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแห่งสังขาร) ทุกขัง (ความทุกข์โทมนัสอาลัยอาวรณ์) และ อนัตตา (ความไม่ตั้งอยู่ ไม่มีตัวตน และดับไป )

….

   เราทั้งปวงจึงพึงพิจารณาที่จะรู้จักและรักษาคุณค่า “ ของตาย ที่ไม่ตาย “ เหล่านี้ ก่อนที่จะสายเกินไป

                                                      

                   

                                                                 

  

 

หมายเลขบันทึก: 236749เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ

ติดตามสำนวน  ของตาย  ที่ไม่ตาย..มักใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมค่ะ ได้ข้อคิด ได้ความรู้

สวัสดีค่ะ

ดีค่ะได้แง่คิดดี ไม่อยากเป็น "ของตาย" ของใครเลยค่ะ น่าสงสาร

ครูแป๋ม

สวัสดีค่ะ มาอ่านข้อคิดดีๆ ค่ะ

จะรู้ค่า ของตาย ก็เมื่อไม่มี ของตาย ให้ครอบครองด้วยนะคะ

แต่ในทางศาสนา อ่านแล้วได้คิดจริงๆ ค่ะ

"หากมองในเชิงคุณภาพชีวิต “ของตาย” ที่เป็นของร่วม เป็นของส่วนรวมที่ทุกคนสามารถตักตวงไว้หล่อเลี้ยงจิตใจโดยไม่ถูกหวงห้ามกีดกัน คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ผู้ใดเข้าถึงแก่นแท้นำไปประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง อย่างรู้แจ้งแล้ว ย่อมบรรลุสู่บันใดสูงสุดแห่งความหลุดพ้นจากเครื่องยึดเหนี่ยวที่ไม่เที่ยงแท้ทั้งหลาย ตามหลักแห่ง ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแห่งสังขาร) ทุกขัง (ความทุกข์โทมนัสอาลัยอาวรณ์) และ อนัตตา (ความไม่ตั้งอยู่ ไม่มีตัวตน และดับไป ) …. "

ขอบคุณค่ะ (ขอ Copy วางในกล่องความเห็นนี้อีกครั้งค่ะ)

ขอบคุณความจริง ซึ่งสามารถเตือนตนได้เป็นอย่างดีครับ..

มีโอกาสได้มาดูกรุบันทึก :-) พี่ใหญ่เขียนบันทึกชีวิตได้ลึกซึ้ง น่าอ่าน น่าคิด คะ

  • ชอบเรื่องนี้จังเลยครับ
  • ของตายที่ไม่ตาย
  • ได้ศึกษาธรรมมะไปด้วย
  • เอาเรื่อง 21 Century skills จากNarrated Ppt ของคุณหมอวิจารณ์ พานิช  ที่นี่ มาฝากพี่ใหญ่
  • ผมเพิ่งมาจากเกาะช้าง ครับ

* น้อง MSU-KM ขอบคุณมากค่ะที่เห็นการเปรียบเทียบในสำนวนชวนให้คิดนี้ค่ะ

* น้อง Mena ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาเยี่ยมเพื่อช่วยกันดูแลเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆใกล้ตัว

* น้องครูแป๋ม ขอบคุณมากค่ะที่อ่านแล้วย้อนคิดถึงความน่าเสียดาย "ของตาย" ที่ไม่สมควรถูกทอดทิ้ง และมาคิดได้ก็อาจสายเสียแล้ว

* น้องดาวลูกไก่ ขอบคุณมากค่ะที่เห็นคุณค่าของการเร่งทำความเพียรปฏิบัติตามพุทธวิถีเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์แห่งวัฏสงสาร..เวลาพวกเราเหลืออีกไม่มากนักนะคะ

* น้อง รศ.เพชรากร ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาเยี่ยมอ่านแนวคิดที่พี่ใหญ่ได้เตือนตนเองตลอดเวลา เพื่อจัดลำดับความสำคัญให้แก่สิ่งใกล้ตัวที่มีคุณค่าอยู่มากมาย

* น้องครู ที่เห็นประโยชน์ของการพิจารณาในเรื่องเช่นนี้ มีตัวอย่างอีกมากมายที่เป็น "ของตาย" ควรค่าแก่ความใส่ใจนะคะ..

* น้อง CMU pal ขอบคุณมากค่ะที่มาเปิดกรุสมบัติทางความคิดที่พี่ใหญ่ ได้เคยบันทึกไว้ที่ "วารสารพระสยาม" ของ ธปท. บ้านเก่าของพี่ เพื่อฝากให้รุ่นน้อง ได้อ่านเป็นประสบการณ์..

* น้อง ดร.ขจิต ขอบคุณมากค่ะที่มาช่วยกันดูแลของตายใกล้ตัวเรา ที่สมควรให้การใส่ใจดูแลมากๆนะคะ

.. ชอบใจลิ๊งกิจกรรมของน้องๆที่เกาะช้าง..ได้ไปเยี่ยมอ่านด้วยความประทับใจแล้วค่ะ..เป็นแบบอย่างที่ดีจริงๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท