จะยืนเอกาหรือว่าเครือข่ายดี? กับ พรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550


สวัสดีครับทุกท่าน

       ตามไปอ่านบทความที่คุณ Conductor เขียนไว้ เรื่องสำคัญมากสำหรับ "admin" + เตือนครั้งสุดท้ายเรื่องผลกระทบของ พรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อ่านแล้วคร่าวๆ พร้อมตามไปอ่านรากแขนงในลิงก์ต่างๆ ในบทความ ทำให้เอามาคิดถึงความเป็นจริง และแนวทางในการใช้งาน และข้อดีข้อเสียแล้ว ช่างน่าสนใจจริงๆครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมครับ

  • กฎหมาย ที่ร่างกันแบบไม่เร่ง แต่ผ่านกันแบบรีบ ๆ (อวสาน)http://www.biolawcom.de/blog/433

  • สมาคม eCommerce เรียกประชุมด่วนเรื่อง พ.ร.บ.

  • http://www.blognone.com/node/5144

  • ไอซีทีเตรียมยกเลิกประกาศ คปค. 5 ควบคุมเว็บhttp://www.blognone.com/node/5042

  • เยอรมันผ่านร่างกฏหมายเก็บข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตhttp://www.blognone.com/node/5037

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การเก็บรายละเอียดของผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันการกระทำผิดครับ โดยมีข้อบังคับให้เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เข้าใช้บริการ เช่น รหัสผู้ใช้ระบบ ชื่อสกุล อีเมล์ บัตรประจำตัวประชาชน และอื่นๆ (ตัดคำว่าอื่นๆ ออกไปก่อนก็ได้ครับ)

เพื่อให้คุณเข้าใจง่ายๆ ยิ่งขึ้น ผมจะยกตัวอย่างเพื่อให้ประยุกต์ใช้กับ GotoKnow ด้วยแล้วกันนะครับ เพื่อให้ง่ายและทำความเข้าใจกันไปด้วยกันครับ

จาก พรบ. นี้แสดงว่า

  • GotoKnow จะต้องไม่อนุญาตให้ขาจร หรือ ผู้ไม่แสดงตนลงความเห็นใดในบทความต่างๆ นั่นแสดงว่าท่านผู้นั้นที่ต้องการจะแสดงความเห็นต้องสมัครสมาชิกเป็นสมาชิกของ GotoKnow ก่อน พร้อมกับ กรอกรายละเอียดต่างๆ ในการเป็นสมาชิก

  • ระบบ GotoKnow จะต้องมีการรับข้อมูล เช่น ชื่อสกุล บัตรประจำตัวประชาชน อีเมล์ ที่อยู่ และอื่นๆ โดยที่แต่ละฟิลด์นั้น จะต้องเช็คว่าเป็นที่อยู่จริง และเป็นข้อมูลจริงเท่านั้นที่จะอนุญาตให้เป็นสมาชิกได้ นั่นหมายถึงว่า เมื่อสมาชิกใหม่กรอกข้อมูลลงไปแล้ว ระบบของ GotoKnow จะต้องไปตามหามาว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ นั่นแสดงว่า

  • หมายเลขประจำตัวประชาชน จะต้องถูกส่งไปถามเครื่องบริการของฐานข้อมูลประชากรของประเทศ ทะเบียนสำมะโนครัวแห่งชาติ โดยค้นหาว่ามีหมายเลขประจำตัวประชาชนนั้นไหม เมื่อเจอแล้วต้องเช็คก่อนว่าคนนี้ตายแล้วหรือยัง

  • หากยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องไปเช็คต่อว่า ชื่อ สกุล ที่อยู่ตรงกันไหม ในหมายเลขนั้น หากไม่ตรง หรือตรงกี่เปอร์เซนต์ถึงจะยอมให้การตอบรับในการเป็นสมาชิกว่า OK ก็ต้องจัดการครับ

  • นี่เอาแค่ GotoKnow ก่อนนะครับ แล้วหากมีเครื่องในประเทศไทยที่ให้บริการเว็บบอร์ด บล็อก และอื่นๆ จะต้องมีสิทธิ์เข้าไปล้วงข้อมูลในฐานข้อมูลกลางของชาติ เพื่อระบุว่าคนนี้เป็นคนนั้นจริงหรือไม่ นี่เอาแค่การสมัครสมาชิกกันก่อนนะครับ

  • แล้ววันๆ หนึ่ง เครื่องแม่ข่ายนั้นจะต้องทำงานหนักมากครับ ในการให้บริการถามตอบว่าข้อมูลตรงกันไหมให้อนุญาตหรือไม่ จะทำแบบอัตโนมัติได้หรือไม่ หรือว่าใช้คนทำประมวลผลเอง

  • ต่อมาหากสมาชิกใหม่ท่านนี้ ได้รับแจ้งว่าได้เป็นสมาชิกของ GotoKnow แล้ว ก็จะได้มีสิทธิ์ในการเขียนบทความต่างๆ และบทความต่างๆ เหล่านี้ ก็จะต้องเปิดให้กับคนที่ ล็อกอินเข้าใช้ระบบเท่านั้นครับ ที่จะแสดงความเห็นได้

  • สำหรับการเข้าใช้แต่ละครั้งจะต้องมีการเช็คจากระบบฐานข้อมูลสำมะโนครัวแห่งชาติทุกครั้งว่า คนนี้รหัสนี้ตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ เพราะหากเพิ่งเกิดอุบัติเหตุรถชนตายเมื่อคืนแล้วมีคนไปเจอข้อมูลหรือกระเป๋าเงินแล้วขโมยมาแล้วมาใช้เป็นข้อมูลในการโจรกรรม ก็จะต้องกระทำมิได้ด้วย นั่นหมายถึงว่า เมื่อมีการตายปั๊บ ข้อมูลสำมะโนครัวแห่งชาติจะต้องได้รับการอัพเดตทันที ไม่อย่างนั้นจะมีโอกาสเป็นช่องโหว่ในการกระทำความผิดได้ครับ โดยอาจจะต้องมีกฏหมายใหม่ออกมารองรับว่า เมื่อบุคคลใดตายจะต้องแจ้งบันทึกการตายภายในห้านาทีหลังจากพบเห็น หรืออย่างไรก็แล้วแต่ จะเห็นว่าตรงนี้ยังโหว่อยู่มากครับ

  • สรุปก็คือว่า การเข้าใช้ทุกครั้งจะต้องมีการเช็คข้อมูลการมีชีวิตด้วย โดยเครื่องบริการแม่ข่ายของ GotoKnow อาจจะต้องไปดึงข้อมูลของข้อมูลสำมะโนครัวแห่งชาติมาทุกๆ รายวัน เพื่ออัพเดตการมีชีวิตของสมาชิกครับ เพราะการมีชีวิตจะมีผลต่อการกระทำความผิดด้วยครับ

  • นั่นก็หมายความว่า ระบบฐานข้อมูลสำมะโนครัวแห่งชาติ จะต้องมีศักยภาพสูงมาก เครื่องบริการจะต้องบริการฉับไวในประเทศ ประมวลผลเร็วในการตอบรับเครื่องลูกข่ายอื่นที่ร้องขอข้อมูลอย่างฉับไว

  • และฐานข้อมูลสำมะโนครัวแห่งชาตินี้จะต้องเก็บข้อมูลติดตามคนตลอดเวลา ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรที่ไหนอย่างไร จะต้องแจ้งต่อระบบฐานข้อมูลนี้ทุกครั้ง เพื่อติดตามตัวคนด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถที่จะติดตามจับกุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีกฏหมายอีกแล้วครับ ในการบังคับให้ผู้ใดที่ย้ายสถานที่อยู่จะต้องแจ้งภายในกี่วัน ไม่อย่างนั้นถือว่ามีความผิด เผลอๆ ต่อไปอาจจะต้องฝังชิพไว้กับคนครับ เพื่อให้เกิดการติดตามตัวแล้วใช้ดาวเทียมในการอัพเดตด้วยนะครับ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูล อาจจะช่วยในการติดตามได้ดียิ่งขึ้นครับ เราจะสามารถทราบกันได้เลยว่า คนไหนอยู่ที่ ละติจูด ลองกิจูด ที่เท่าไหร่ในตอนนี้

  • ดังนั้นเมื่อฐานข้อมูลหลักในสำมะโนครัวแห่งชาติเปลี่ยนแล้ว ที่อื่นๆ จะต้องมีการอัพเดตตามด้วย นั่นคือ เครื่องแม่ข่าย GotoKnow ต้องทำการอัพเดตบัญชีรายชื่อผู้ใช้ด้วยครับ และเครื่องบริการที่อื่นๆ ทั่วประเทศต้องทำด้วยครับ

  • และอื่นๆ อีกมากมายครับ.....

  • สรุปว่า เครื่องแม่ข่ายที่ติดตั้งระบบบริการข้อมูลสำมะโนครัวแห่งชาติเราพร้อมแค่ไหนครับ แล้วพื้นฐานอื่นๆ เราพร้อมไหมครับ

  • การเก็บข้อมูลต่างๆ ในประเทศเราตอนนี้ จะเชื่อข้อมูลในเครื่องไหนดีครับ ในมหาวิทยาลัยหนึ่งยังเก็บข้อมูลแยกกันอยู่มากกว่าสองที่

  • ข้อมูลประชาชนเอง เก็บกันกี่ที่ครับ แล้วที่ไหนที่เป็นข้อมูลที่ทันสมัย ฉับไว ทันเหตุการณ์ แล้วคุณจะเชื่อว่าอันไหนถูกต้องครับ

  • เรื่องการเก็บ log ไฟล์ทั้งหลายในเครื่องแม่คงไม่ได้ยุ่งยากมากครับ เพราะเก็บเอาไว้ได้ เพียงแต่สิ่งที่บังคับให้เก็บเหล่านั้น จริงหรือเปล่า หากไม่จริง เก็บทำไม....

  • อื่นๆ เชิญคุณแสดงความเห็นตามหลักของเหตุและผลครับ ผมเองจะไม่ต่อว่าอะไรเลยหากเรามีทุกอย่างที่พร้อมในการจะป้องกันนะครับ

  • สิ่งที่ผมอยากจะเห็นและคิดว่าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือ

    การศึกษา ความรู้ คู่คุณธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี

  • เมื่อคนมีการศึกษาและเป็นคนดี กฏหมายก็ไม่ต้องร่างให้ถึงกับขั้นว่า ต้องบังคับให้คนทำบุญกันในตัวกฏหมาย หรือต้องบังคับการหายใจเข้าออกด้วยกฏหมาย ไม่งั้นจะไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของการใช้ออกซิเจน และการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดภาวะโลกร้อน

  • ผมเองไม่แน่ใจว่าเรากำลังเดินมาถูกทางหรือว่าหลงทางนะครับ เราจะยืนเอกา โดดเดี่ยวเดียวดาย อย่างเมื่อก่อนไหมครับที่เรียกว่า Stand alone หรือว่าเราจะยืนกันแบบเครือข่าย Network ก็ต้องคิดกันนะครับ

  • การมีข้อมูลติดตามการกระทำผิดได้เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ต้องมีความพร้อมในขั้นพื้นฐานที่ดีครับ เมื่อฐานที่ดีพร้อมจะต่อยอดก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ

  • คุณมีความเห็นอย่างไร เชิญบรรเลงครับ

หมายเลขบันทึก: 109237เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 03:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

โบราณว่าไว้ อย่าถือคนบ้าอย่าว่าคนเมาครับ

ตอนที่ผมได้อ่านเรื่อง พรบ. นี้ครั้งแรกที่  blognone สิ่งแรกที่ผมรู้สึกคือ ขำครับ  หากเวบไซท์ต่าง ๆ ต้องทำอย่างที่ พรบ. เขียนไว้ (และที่สำคัญ ภายใน 12 วัน) คนทำเวบไซท์คงต้องรื้อโปรแกรมกันใหม่หมด และอย่างที่พี่เม้งบอกครับ ข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบยังไม่มีเลย หากออก พรบ. แล้วแบบว่า มี api ผ่าน javascript ให้ใช้งานง่าย ๆ สามารถตรวจสอบได้รวดเร็ว อันนี้ความน่าขำก็จะน้อยลงมาหน่อยนึง (แต่ก็ยังน่าขำอยู่ดี) ออกกฏหมายอย่างนี้ะ ผมว่าออกกฏหมายห้ามแสดงความคิดเห็นผ่านอินเตอร์เนตจะดีกว่า ค่าเท่ากัน ไม่เปลืองงบประมาณในการพัฒนาโปรแกรมดีด้วย แถมแสดงจุดยืนได้อีกต่างหาก :P

งานนี้ตำรวจคงไล่จับกันเหนื่อยน่าดู  ผมยอมมอบตัวดีกว่า เพราะสงสารตำรวจ และรู้ว่ายังไงเสียมันก็ตรวจสอบ ID คนแสดงความคิดเห็นไม่ได้

 ประเทศไทย i love you

ไม่มีรูป
bow_der_kleine

สวัสดีครับน้อง

  • ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อคิดที่ดีครับ 
  • หากประกาศใช้จริง ก็คงสนุกครับ บอร์ดต่างๆ ของมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ ก็ต้องจัดการกันด้วย สนุกกันใหญ่ครับ
  • เอกชน การค้า และส่วนตัว ก็สนุกครับ ที่ให้บริการกันอยู่
  • ยังมีหลายๆ อย่างที่ผมว่า พัฒนาการยังไปไม่ถึงครับ เช่น
  • เชื่อไหมว่า เราสามารถเอาอีเมล์ใครมาก็ได้ แล้วส่งเมล์ไปด่าใครก็ได้ แค่อันนี้ก็จุกแล้วครับ ไม่ต้องถึงขั้นอย่างอื่นหรอกครับ ต่อให้ไม่ต้องเข้าไปล็อกอินเข้าระบบโดยมีรหัสผ่านก็ทำได้ ตรงนี้ยังโหว่มากๆ ครับ
  • คือว่า หากคนจะมาเล่นและใช้ระบบไอซีทีไปทำในสิ่งที่ไม่ดีนะครับ เค้าก็หาทางจนทำได้เสมอครับ ไม่มีทางที่จะตามจำได้นะครับ เว้นแต่คนประกอบกรรมนั้นไม่รอบคอบพอ
  • ดังนั้นการจะสร้างที่ยั่งยืนคือ การทำให้คนละอายต่อการทำความชั่ว กลัวต่อการทำบาป เหมือนอย่างน้องว่าครับ ยอมมอบตัวก็ดีกว่าครับ ลดงบประมาณประเทศชาติด้วยครับ
  • ผมว่าลองไปศึกษาทำระบบฐานข้อมูลของประเทศเรื่องคน เรื่องการจัดการบริหารฐานข้อมูลของระบบราชการกันให้แน่นก่อนแล้วค่อยๆ ต่อยอดไปครับ แน่นอนว่าจำเป็นจะต้องมีระบบป้องกันและติดตามได้ครับ แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปครับ อีกอย่างต้องเป็นอิสระทางความคิดด้วยครับ
  • ระบบ admin ที่ไหนก็ตามครับ ที่แก้ไขปัญหาด้วยการปิดพอร์ต port ช่องทางการสื่อสาร ผมจะถือว่า admin นั้นไร้ความสามารถ แล้วจะต่อคอมพ์ให้คุยกันได้ทำไมครับ แบบนี้ยืนเอกาก็น่าจะดีกว่าครับ
  • ระบบไอพีเอก ก็ใช่ว่าจะจับได้ง่ายๆครับ เพราะใครเป็นคนให้บริการ ภายในก็จะมีไอพีปลอมกระจายกันอยู่อีกครับ เพื่อออกติดต่อภายนอกด้วยไอพีจริง แล้วภายในหรือคับ ที่จะจับกันได้ว่ามาจากเครื่องไหน....
  • ว่าแล้วก็ขอถอนหายใจอีกรอบใหญ่ครับผม....
  • ขอบคุณมากครับ

กฎหมายนี้เทียบเท่ากับกฎหมายปิดอินเทอร์เน็ตครับ เพียงแต่ว่าไม่ได้ประกาศออกมาตรงๆ

ถ้าเดี๋ยวมีการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยการจับผู้ให้บริการเว็บรายใหญ่สักรายสองรายเป็นตัวอย่างที่ทำไม่ตรงกับกฎหมาย เว็บรายเล็กรายน้อยคงทยอยปิดตัวกันไป ในที่สุดก็จะเหลือแต่เว็บของภาครัฐเท่านั้นครับ

ดร. ธวัชชัย : ผมกลัวแต่ว่าคนเชือด ไม่โดนลิงก็ไก่ทำร้ายเอาสิครับ
เมื่อวานเพื่อนที่เป็นผู้ให้บริการ และผู้พัฒนาระบบก็มานั่งคุยกัน กลุ้มๆ ว่าจะทำยังไงกันต่อดี มันเป็นการผลักภาระมาที่ผู้ให้บริการ

ต่อไปคงเป็นอย่างที่อาจารย์ธวัชชัยว่า คือรายใหญ่โดนเชือดเป็นตัวอย่างให้เป็นข่าวสักรายสองราย แต่ที่เห็นต่างออกไปคือหลังจากนั้นจะมีการเรียกเก็บค่าปรับแบบไม่มีใบเสร็จแทน ถ้าเว็บไหนไม่มีกำลังปรับปรุงตามที่พรบ.กำหนด แต่ก็อยากเปิดต่อ อาจจะมีคนจากหน่วยที่มีหน้าที่ดูแลติดต่อมาว่า อยากปิดเว็บไหม อยากจ่ายค่าปรับเต็มไหม ถ้าไม่อยากก็ต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชาสักหน่อย แล้วก็จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไปตรวจจับเว็บอื่นต่อ มีให้เลือกเพียบ นี่เป็นช่องที่เปิดไว้ให้เจ้าหน้าที่อ้างเอาอำนาจไปทำการทุจริตได้
  • เห็นทีว่า เราต้องเข้าไปเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐนั้นแล้วกระมังครับ
  • อิสระน่าจะดีกว่าการถูกครอบงำนะครับ
  • ขอบคุณครับ
P

สวัสดีครับอาจารย์

  • อาจจะกลับไปอยู่ในระบบยืนเอกา โดดเดี่ยว เดียวดาย ไร้เพื่อน นะครับ
  • ทุกระบบมีข้อดีและข้อเสียผสมๆ กันไป คละคลุ้งเคล้าเข้ากันเสมอครับ เหมือนในสังคมก็มีคนมากมายหลากหลายเหลือเกิน
  • เมื่อสังคมมีปัญหามากขึ้น กฏหมายก็ต้องมีมาคุมคนมากขึ้น จนในที่สุด ก็ห้ามกระดุกกระดิกครับ นั่นคือนิ่งแล้วไม่ทำอะไรแล้ว
  • เรื่องนี้ผมว่า เมืองไทยเองยังไม่พร้อมครับสำหรับตอนนี้ จริงๆ ต้องเริ่มจากองค์กรราชการและรัฐก่อนครับ ต้องจัดการระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ให้ได้ก่อน แล้วชัดเจนก่อน ถึงจะเชื่อมโยงไปรวมกับอย่างอื่นได้ และที่แน่ๆ ต้องใช้เวลาในการปรับระบบ ไม่สามารถจะใช้วิธีการกำหนดวันเวลาได้ ว่าวันนี้เริ่ม แล้วระบบจะเป็นไปตามนั้น
  • น่าจะมีการประกาศ พรบ.คนดี บ้างนะครับ เผื่อจะได้มีคนดีเพิ่มขึ้นครับ
  • ตราบใดที่คนยังคิดว่าตัวเองขาด ไม่พอ ต้องขวนขวายหามาให้ได้เพื่อเป้าหมายของตัวเอง สังคมนี้ก็จะยังวุ่นวายต่อไปครับ
  • ผมเชื่อว่า หากบ้านหนึ่งเลี้ยงปลาดุก อีกหลายๆ บ้านข้างบ้านก็เลี้ยงปลาดุกเหมือนกัน คนก็คงไม่ไปขโมยปลาดุกเพื่อนบ้านเพราะบ้านตัวเองก็มีปลาดุก แต่ปัญหาเกิดเมื่อต้องการจะมีมากกว่าเพื่อนบ้าน ครอบครองมาก
  • อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่มีค่า อยู่ที่ว่าจะใช้ค่าในด้านใด อยู่ที่คนครับ อาจจะต้องจ้างตำรวจนับสิบล้านคนในการตามหาสืบสวนครับ ทำไมไม่สร้างให้ทุกคนเป็นตำรวจ เป็นพระหรือผู้เคร่งครัดในการทำดี เป็นครู เป็นพ่อแม่ เป็นคนขอทาน ในคนเดียวกันตั้งแต่เป็นคนเล็กๆ ครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P

สวัสดีครับคุณซูซาน

จริงๆ แล้วผมเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ ที่มีระบบ log ไฟล์ นะครับ เพียงแต่ว่า กระบวนการอ้างอิงถึงผู้ใช้จริงนั้น ไม่ง่ายสำหรับการปฏิบัติเพราะฐานของเราเองยังไม่พร้อม สำหรับการติดตามตัวผู้ร้ายหรืการทำโจรกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต หากมีข้อมูลครบก็นับว่าดีครับ แต่เพียงว่า แพะที่ได้มานั่นตัวจริงหรือเปล่าครับ หรือว่าจับมาแค่ร้องแบะๆ ก็จับแล้วครับ

สำหรับเรื่องการแสวงหาแนวทางเรื่องผลประโยชน์ใส่ตัวก็น่าเป็นห่วงครับ หากเปลี่ยนจากท้องถนนมาเป็นเป็นถนนบนเน็ต ก็น่ากังวลครับ แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ครับ

อย่างการคุยผ่านโปรแกรมต่างๆเช่น MSN, ICQ, IRC, GTALK และอื่นๆ ล้านแปด ไม่ทราบว่าจะมีกฏหมายมารองรับอย่างไรครับ เพราะเป็นเวทีในการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เช่นกันครับ หรือว่าห้ามใช้โปรแกรมนี้ โดยการปิด port การส่งข้อมูลบนระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย หรือว่าจะทำอย่างไร เพราะคนสร้างโปรแกรมก็ไม่ใช่คนไทย แล้วจะต้องเก็บล็อกไฟล์ลงเครื่องเรา หรือส่งไปเก็บไว้ที่ไหน แล้วจะต้องจ้างคนมาดูหรือตำรวจกี่คนมาประมวลผลแฟ้มนับพันล้านแฟ้มต่อวัน เอาเวลาไปนั่งสมาธิ ให้เวลากับครอบครัว สร้างครอบครัวอบอุ่นให้ลูกหรือคนในครอบครัวมีความสุข เป็นคนดีมีภูมิคุ้มกันไม่ดีกว่าหรือครับ

คือในอุดมคติผมว่าทำได้ครับ แต่ในความเป็นจริง ยังทำไม่ได้แน่นอนครับ เว้นแต่ค่อยเป็นค่อยไปครับ ธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีระบบการสั่งจองผ่านเน็ตได้ แบบนี้ ก็ต้องทำงานกับคนต่างชาติ จะมีมาตรการอย่างไรครับ ต้องขอวีซ่าของนักท่องเที่ยวหรือไม่ หรือว่าจะทำอย่างไร เพราะการท่องเที่ยวก็สำคัญกับประเทศไทย แล้วจะเกิดอะไรอย่างไรขึ้น มีปัญหาไหม คิดคำตอบไว้ตอบคำถามล้านแปดแล้วหรือยังครับ

อะไรก็ตาม ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งกดก็ยิ่งดันครับ อย่างเรื่องการป้องกันกรองเว็บโป๊ทั้งหลายก็เช่นกันครับ เทคโนโลยีเองก็ไม่สามารถแยกได้เลยว่าภาพไหนโป๊ไม่โป๊ ต้องใช้คนตรวจถามว่าจะตรวจกันไหวไหมครับ หรือว่าออกกฏหมายการห้ามใช้เนท ห้ามใช้กล้องถ่ายรูป ห้ามใช้มือถือ ห้ามมีคอมพิวเตอร์ ห้ามใช้อีเมล์ ห้ามเปิดเว็บกันเลยก็จะเป็นการปลอดภัยที่สุดครับ เพราะคนจะไม่รู้และรับรู้ข่าวสารอันใด วันๆ ก็ทำงานบ้าน อยู่กับบ้านกับไร่นา ปลาผัก

แล้วการศึกษาหล่ะครับ ก็อาจจะเปิดช่องทางเอาไว้ในเรื่องดีๆ แต่ก็เข้าสู่ระบบยิ่งห้ามยิ่งยุอยู่ดีครับ

คงมีปัญหาอีกมากมายที่จะเกิดตามมาต่อไปครับ ผมหวังว่าเราคงจะเข้าใจกัน พูดคุยกันได้ในสังคมไทย....

ขอบคุณมากครับ

5555  เจาะได้ถึงกึ๋นดีครับ


ก็เหมือนกับต้นไม้(คุ้นๆ ไหม?) เรามัวแต่ตัดกิ่ง  กำจัดแมลง กำจัดกาฝาก  แต่ไม่เคยสนที่จะรดน้ำใส่ปุ๋ย พรวนดินเลย  ไม่นานต้นไม้ต้นนั้นคงไม่รอดครับ
ถนัดกันแต่เขียนกฏหมาย  เขียนเสียหรูกว่าเจ้าตำหรับ  แต่ใช้สู้เขาไม่ได้ เผลอแผล็บเดียวฉีกทิ้งแล้ว

แม้แต่พุทธศาสนา ยังมีพระธรรม กับพระวินัย  ผิดวินัยสักหน่อยไม่เป็นไร  แต่ให้รักษาธรรมเอาไว้
แต่ของเรา สร้างกฏสร้างวินัย เข้มงวดเข้าไป  ผิดศีลธรรมยังไงไม่สน ถ้าไม่ผิดกฏที่เขียนไว้(คลุมเครือ)

มันเขี้ยวจริงๆ เดี๋ยวกันซะหรอก อิอิ

P

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณมากๆ นะครับสำหรับความเห็นนะครับ เรื่องเหล่านี้คงกระทบกันสำหรับ ชีวิตบนอินเทอร์เน็ตครับ เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อยกับแต่ละท่านนะครับ
  • บางทีหลักการดีแต่การปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ก็ลำบากเหมือนกันครับ ผมยังมองภาพไม่ออกว่าวันที่ 18 ก.ค. นี้แล้วจะเป็นอย่างไรครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

กราบสวัสดีท่านอาจารย์ และทุกท่านครับ

  • เรื่องการเก็บ log file คงไม่ใช่ประเด็นปัญหาในเรื่องหลักนะครับ เพราะเรียกถามเอาได้จากเครื่องที่ติดต่อกับเครื่องแม่ข่ายของ GotoKnow เพียงแต่ Admin จะต้องเขียนโปรแกรมและวางแผนเพิ่มเติมครับ เพื่อสอดรับกับข้อมูลตามที่กฏหมายกำหนดครับ
  • แต่ที่ผมสงสัยคือ เรื่องการตรวจสอบข้อมูลประจำตัวของสมาชิกนี่ซิครับ จะตรวจสอบได้อย่างไรว่าข้อมูลนี้ถูกต้อง ภาครัฐมีการเตรียมการตอบถามอัตโนมัติกับเครื่องแม่ข่ายของรัฐอย่างไร ในการตรวจสอบข้อมูลอัตโนมัติกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์แห่งชาติ ถามว่าตรงนี้พร้อมแล้วหรือยังในการจัดทำการถามตอบอัตโนมัติ เหมือนกับการถามตอบแบบการซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต คล้ายๆ กับการตรวจสอบบัตร VISA, MASTER CARD และอื่นๆ อัตโนมัติโดยตรง ได้อย่างไรให้รวดเร็วฉับไว ถามว่าตรงนี้ภาครัฐพร้อมแล้วหรือยังสำหรับบริการนี้ ที่จะต้องมีและประกาศออกมาก่อนก่อนจะประกาศใช้ พรบ.ฉบับนี้ และต้องใช้เวลาในและทดสอบในช่วงของการตรวจสอบข้อมูลระหว่างการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้
  • คราวนี้ หากคนนั้น กรอกข้อมูลลงไปแล้วเป็นข้อมูลจริง ที่ป้อนตรงกันกับข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์แล้ว จะทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงและตรงกันกับคนคีย์ข้อมูล จะต้องมีรูปภาพไปยืนยันด้วยหรือไม่ แล้วภาพอีกครับ มีหนวดไม่มีหนวด หน้าตาเปลี่ยนได้ ลายนิ้วมือเปลี่ยนได้ ต่อให้ระบบหนังสือเดินทางอิเลคทรอนิกส์ตอนนี้ก็ใช่ว่าจะร้อยเปอร์เซนต์ครับ แล้วเราจะตรวจสอบได้อย่างไร ใช้คนทำหน้าที่นี้หรือครับ จะต้องจ้างคนกี่พันคน เพื่อตรวจสอบตรงนี้
  • ทำได้ทางออกหลักๆ ที่ผมว่าทำได้แล้วเป็นจริงคือ ฝังชิพในตัวคนแล้วติดต่อผ่านระบบ GPRS ตรวจสอบกันไปเลยว่าคนนี้อยู่ตรงไหน แล้วเชื่อมต่อกับตามเทียมไปเลย เหมือน Navigator เท่านั้นครับ ที่จะทำได้ว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน เราจะพัฒนากันไปถึงไหนครับ
  • ดังนั้น ที่ทำได้ที่ผมเห็นคือ GotoKnow เก็บ log file เอาไว้ให้ ส่วนข้อมูลจะเป็นจริงหรือไม่ก็ผลักให้เป็นภาระของ ICT กลับไป ที่ ICT จะต้องจัดการในส่วนนี้เอง
  • คราวนี้ น่าจะมีระบบอื่นๆ ด้วยครับ โปรแกรมในการพูดคุยผ่านเน็ตทั้งหลาย ก็ต้องทำด้วยครับเช่น msn, icq, irc, gtalk, talk, wintalk, ytalk, .... อีกล้านแปดนะครับ เพราะนี่ก็เป็นช่องทางหนึ่งของการสื่อสารของคน ถามว่าใครจะเก็บ log file กระทรวง ICT พร้อมจะเปิดเครื่องแล้วรับเก็บ log file เหล่านี้หรือไม่ มีการวางแผนไว้อย่างไรครับ
  • อย่างที่ท่าน อ.จันทวรรณ บอกว่า gotoknow เก็บวันละ 1GB แล้วนี่เพียงเว็บเดียวต่อวัน แล้วหากเมืองไทย มีเว็บประมาณ ห้าหมื่นเว็บ ต้องเก็บเท่าไหร่ คูณกันไปกับ 90 วันครับ แล้วคุณคิดว่า กทม.ที่แน่นด้วยรถอยู่แล้ว การส่งข้อมูลในเมืองไทยที่ช้าอยู่แล้ว จะยิ่งมีข้อมูลที่วิ่งๆ อยู่เท่าไหร่ในแต่ละวัน จะผลักภาระให้เครื่องให้บริการเองทั้งหมด สมควรหรือไม่ครับ ก็คิดกันดูนะครับ
  • สำหรับผม..ทางออกง่ายๆ ตอนนี้ คือปิดบอร์ดทั้งหมด เว็บจะมีเพียงแค่เว็บรับข้อมูล คิดว่าน่าจะมีเว็บรายย่อยๆ ที่ไม่อยากมาวุ่นวายเรื่องเหล่านี้ คงปิดตัวกันเยอะมากครับ
  • ICT เองก็น่าจะจัดทำฐานระบบข้อมูลของราชการให้ชัดเจนด้วยครับ และออนไลน์ได้จริงในประเทศ ตอนนี้ก็ยังเก็บข้อมูลซ้ำซ้อนกันอยู่ครับ เอาง่ายๆ ลองถามตัวเรากันดูครับ ว่าข้อมูลของคุณถูกเก็บไว้ที่ไหนบ้างในโลกนี้ ตรงไหนใหม่ล่าสุด แล้วที่ใหม่หน่ะ เชื่อถือได้ไหม
  • กราบขอบพระคุณมากครับ ผมตอบและนำเสนอส่วนที่มองเห็นได้แค่นี้ครับ คิดว่าเจ้าหน้าที่ใน ICT จะชัดเจนและรอบรู้กว่าผมเยอะ อยากให้มีการพูดคุยและให้ความรู้และแนวทางกับประเทศชาติมากๆ นะครับ ผมเห็นด้วยกับการหากแนวทางป้องกันเรื่องการกระทำความผิดนะครับ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน่าจะต้องเข้าใจกันจริงๆ เอาความเห็นของทุกฝ่ายมารวมกันเพื่อหาแนวทางร่วมกันนะครับ
  • อย่างกรณีของพันทิพเองก็ได้เปิดใช้มานานแล้วในเรื่องการส่งข้อมูลหมายเลขประจำตัวประชาชนก่อนการเป็นสมาชิก อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ายุ่งยาก ดังนั้น ไม่ขอเป็นสมาชิกครับ ง่ายที่สุดครับ จริงๆ แล้วในเรื่องนี้ น่าจะรวมไปถึงการแสดงความเห็นในสาธารณะด้วยนะครับ นอกจากอินเทอร์เน็ตแล้ว เช่นการพูดคุยให้ความเห็นต่างๆ สัมมนาวิชาการ และอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากบอร์ดหรือบล็อก น่าจะมีการอัดไว้ในช่วงเวลา 90 วันไว้ด้วยเช่นกันครับ เพราะมีโอกาสในการกระทำผิดผ่านการแสดงความคิดเห็นได้เช่นกันครับ ไม่ว่าจะเรื่องการดูหมิ่นหรืออื่นๆ
  • กราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ
มองดูดีๆ กฎหมายนี้เอื้อกับธุรกิจในหลายๆด้าน โดยเฉพาะผู้ผลิตและจำหน่ายฮาร์ดดิส เครื่องเก็บสำรองข้อมูลในแบบต่าง database server และ datacenter  ธุรกิจด้านหนึ่งจะโตมาก แต่ในขณะเดียวกันอีกฝากก็ล้มลง ... เมื่อมีเงื่อนไขในการใช้งานยากขึ้น ผู้คนก็จะหันไปหาทางออกทางอื่น รััฐก็ต้องตามไปปิดช่องโหว่ใหม่ ...

ตามนั่นครับ...
P

สวัสดีครับน้องเทพ

งานนี้ พุทธะ นะปลงฯ ครับผม

แต่ต้องพูดคุยเพื่อความถูกต้องนะครับ ไม่ใช่ปลงแล้วปล่อยให้เหี่ยวเฉานะครับ

ผมรู้สึกว่านับวันคนชักจะไม่ไว้ใจคนด้วยกันแล้วครับ น่ากลัวจริงๆ ครับ แล้วให้การศึกษากันไปทำไมหนอ...

ขอบคุณมากครับ

P

สวัสดีครับ

ยินดีต้อนรับครับ ขอบคุณมากครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ จริงๆ รัฐควรจะมีการพูดคุยปรึกษากับทั้งผู้เชี่ยวชาญถึงความเป็นไปได้ครับ เพราะเป้าหมายคือการหาคนกระทำความผิด และป้องกันไว้ก่อน

จริงๆ แล้วเป้าหมายของการป้องกันไม่ให้คนทำผิด ต้องปลูกกันให้รู้จักบาป บุญ ความดีความชั่ว รู้จักความละอายต่อบาปต่อความชั่วร้าย ปลูกกันมาตั้งแต่เด็ก แล้วสั่งสมมาเรื่อยๆครับ แล้วต้องใช้ได้จริงในสังคมที่ออกมาครับ

การเปลี่ยนแปลงในตัวบทกฏหมาย แน่นอนว่ามีคนกระทบแน่นอนครับ ไม่มากก็น้อย เพราะสังคมมีความหลากหลายครับ

หากคิดไม่รอบคอบ ก็จะทำให้คนวางแนวทางไม่รอบคอบ และอาจจะมีปัญหาต่อผลกระทบเหล่านั้น ถามว่าใครเดือดร้อน ท้ายที่สุดก็เดือนร้อนร่วมกันครับ

ขอบพระคุณมากครับ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนกันครับ

  • อ่านแล้วรู้สึกกังวลจังค่ะ
  • ขอบคุณที่เล่าสู่กันฟังค่ะ

สวัสดีครับคุณ

P

 เรื่องนี้คงกระทบแน่ๆ นะครับ ผมไม่แน่ใจว่าเรากำลังสร้างจุดเปลี่ยนไปในทางไหนนะครับตอนนี้ แต่ผมก็ยังหวังว่าเราจะก้าวไปในทางที่ดีนะครับ

เหมือนกับวันนี้เลยครับ 07.07.07 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงครับ  คงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก ระหว่าง ทุนนิยมกับสังคมนิยมครับ ไม่รู้เมื่อไหร่เราจะอยู่ตรงกลางสักทีครับ จะได้เจอกับเศรษฐกิจพอเพียงครับ

ขอบคุณมากครับ ที่ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ ด้วยความยินดียิ่งนะครับ

 

P มงคลชีวิตว่า อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม?


P

กราบสวัสดีทุกท่านครับ

ขอบพระคุณคุณ kapook นะครับที่เอามาเล่ากันต่อนะครับ

".....ทาง ICT บอกว่าไม่ได้ต้องการตรวจสอบจนถึงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ก็ได้! (แต่หากไม่ต้องทำขนาดนั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลจริง แปลกจริงๆ)  อย่างไรก็ตาม หากตำรวจต้องการเพื่อสืบหาร่องรอยการกระทำความผิด  การบันทึกเวลาเข้า หมายเลข IP ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับ website  เพราะเมื่อตำรวจได้หมายเลข IP ก็สามารถนำไปหาต่อได้ว่ามาจากผู้ให้บริการรายไหน จากนั้นก็ตามไปหา log data ของผู้ให้บริการรายนั้นต่อไป  เพราะในที่ประชุม ฟังตำรวจเอง เค้าก็ไม่ได้คาดหวัง 100% ว่าจะได้ข้อมูลจาก log file แล้วจะจับตัวคนร้ายได้หมด เพราะในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ ยังมีเทคนิดพรางตัวอีกเยอะ  อาจจะจับได้แค่ตัวเล็กๆหรือ hacker สมัครเล่นเท่านั้น"

ในความเห็นของผมผมคิดว่าหากจะทำควรจะทำให้ครบไปถึงระดับผู้ปฏิบัติการได้นะครับ นั่นคือ จะลงไปถึงระดับผู้ให้บริการในร้านคอมพ์ ร้านเกมส์ ร้านบริการเน็ตไปด้วยเลยครับ เพราะหากจะทำเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ ผมว่ามันก็ไปไม่ถึงไหนสักทีครับ

เช่น สำหรับร้านบริการให้ใช้เครื่องคอมพ์ ก็อาจจะต้องมีการมาสมัครเป็นสมาชิกกับร้านคอมพ์ก่อน โดยใช้หลักฐานให้เต็มที่ไปเลยครับ ตามที่ต้องการ โดยร้านคอมพ์ จะต้องมีระบบที่ดีพอในการที่จะจัดเก็บข้อมูลสมาชิกผู้ใช้บริการ โดยระบบโปรแกรมนี้ ICT จะต้องเป็นผู้ทำออกมาแจกเพื่อให้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศครับ ให้เป็นรูปแบบเดียวกันในการจัดเก็บไฟล์และ log file ต่างๆ ทุกๆ ระบบปฏิบัติการครับ

แค่นี้ยังไม่พอ จะต้องมีการเก็บภาพวีดีการเข้าใช้บริการเครื่องคอมพ์เอาไว้ด้วยครับ กรณีที่เหตุที่มีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องมีระบบวีดีโออัดเอาไว้ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ดูแล้วอาจจะดูยุ่งยากมาก แต่หากจะทำจริง ก็ต้องลงถึงในระดับนี้ครับ และให้ใช้กันทั่วประเทศไปเลยครับ

ต่อมาในเรื่องโปรแกรมต่างชาติ เป็นโปรแกรมการสื่อสารเช่น MSN, ICQ, IRC, TALK, SKYPE, YAHOO,...อีกล้านแปด ก็ต้องมีระบบการจัดทำ log file ด้วยครับ เพราะโปรแกรมเหล่านี้ ก็มีส่วนในการทำให้เกิดการนำไปใช้ในทางอื่นได้เช่นกันนะครับ การล่อลวงคนทางอินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ตรงนี้ ICT ก็ต้องเตรียมในเรื่องมาตรฐานจัดการไว้ให้กับผู้ให้บริการด้วยครับ อาจจะติดต่อไปยังโปรแกรมเหล่านั้น ประเทศผู้สร้างให้มีการทำ option การสร้าง log file ครับ แล้วจากนั้น log file ทั้งหลาย ก็โอนอัตโนมัติไปยังเครื่องบริการเก็บ log file แห่งชาติ ของ ICT ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เพราะว่าไม่งั้น log file ที่เก็บในเครื่องผู้ให้บริการอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ลบทิ้งได้ โดยผู้ใช้ ซึ่งผมคิดว่าหากทำได้ระดับนี้จะเป็นการดีเลยครับ

ส่วนการติดตาม สืบสวน เรื่อง IP กับผู้ให้บริการ ผ่าน Provider โดยใช้เครื่องที่บ้านหรือสายโทรศัพท์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ICT ก็ต้องประสานงานไปยังทุกองค์กรในโลกนี้ เช่นกันครับ จริงๆ ระบบนี้ หากทำต้องทำร่วมกันทั้งโลกครับ เพราะอินเทอร์เน็ตไม่มีเขตแดนกั้นอยู่ครับ แม้ว่าจะกรองได้ในระบบไอพีภายในประเทศก็ตามครับ ไม่งั้น ICT จะต้องมีการตรวจจับ แพคเก็ตที่วิ่งในสายข้อมูลเลยครับ เหมือนตำรวจทางหลวงครับ คราวนี้เมื่อโยงมาถึงแหล่งหรือเบอร์โทรศัพท์ที่หมุนเข้าใช้บริการได้แล้ว ก็จะอ้างถึงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือ การสมัครใช้มือถือ หรือเบอร์บ้าน ก็ต้องอ้างอิงผู้รับผิดชอบได้ด้วยเช่นกันครับ

แล้วจะครบวงจรครับ.... ที่นำเสนอมานี้ เพื่อจะบอกว่า ระบบนี้ หากจะทำให้เต็มที่ก็น่าจะดีไม่น้อยครับ ในทางกลับกัน เป็นการจำกัดสิทธิ์คนใช้อินเทอร์เน็ตอยู่มากเหมือนกันครับ มีทั้งทางดีและทางไม่ดีครับ

ผมถึงอยากจะถามว่า ICT พร้อมแล้วหรือยังในส่วนตัวที่จะเปิดสิ่งเหล่านี้ให้ใช้จริง หากกระทรวงพร้อมก็ทำและทำให้ผู้ให้บริการพร้อมด้วยครับ แต่ไม่ใช่เป็นการผลักภาระครับ เช่น คนที่ให้บริการคอมพ์ในร้านเน็ตจะต้องมีการเก็บข้อมูลภาพวีดีโอ เป็นเวลา 90 วันเอาไว้ ตรงนี้ ICT จะรองรับอย่างไร

ผมเห็นด้วยหากจะทำแล้วทำให้ครบวงจรนะครับ แต่หากจะทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ ผมไม่แน่ใจว่าจะได้ผลดีอย่างไรบ้าง เพราะท้ายที่สุดแล้วก็อาจจะจับไม่ได้อยู่ดีครับ ดังนั้น หาก ICT จะเอื้อเรื่องนี้เพื่อให้สะดวกและง่ายในการตรวจสอบ สอบสวนในด้านความผิดก็ต้องทำให้ครบวงจรไปเลยครับ โดยที่ ICT จะต้องเป็นเจ้าภาพในการช่วยดูและและให้คำแนะนำในเรื่องด้าน IT กับทุกองค์กรไม่ว่าหน่วยงานของรัฐและเอกชนนะครับ เพื่อนำไปสู่การป้องกันร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่า หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยและอื่นๆ รับทราบและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ

ICT จะต้องช่วยปูพื้นฐานการจัดการฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ให้พร้อมที่จะเชื่อมต่อด้วยครับ โดยเฉพาะเรื่องการอ้างอิงถึงตัวบุคคล.... ส่วนจะจริงหรือไม่จริงนั้น ก็ตำรวจรับเรื่องไปต่อไปครับ

คราวนี้ ผมก็คิดไปต่อว่า... การสร้างคนให้เป็นคนดี มีความละอายต่อความชั่ว กลัวต่อการคิดกระทำผิด รู้จักผิดชอบชั่วดี เราต้องเน้นตรงนี้ให้มากๆ เด็กที่เรียนในระดับ ประถม มัธยมมาแล้ว ต้องให้เค้าพร้อมที่จะทำดีในสังคมได้ด้วย ไม่ใช่เรียนมาว่าจะต้องเข้าแถว แต่ออกมาในสังคมยังมีการแซงคิว คือความเห็นแก่ตัวยังมีอยู่มาก ดังนั้นการเรียน การศึกษาไม่ได้นำมาใช้จริง จริงๆ แล้วก็คือในทุกๆ ด้าน ตรงนี้รัฐบาลจะมีแนวทางร่วมกันอย่างไร ทั้งโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง และตัวเด็ก

ผมยังเชื่อว่าคนยังเป็นผู้ที่รักอิสระ ไม่อยากให้ใครควบคุม แต่เราจะสร้างให้คนควบคุมตัวเอง แทนที่เราจะเอากฏหมายที่แน่นด้วยมาตราต่างๆ ไปควบคุมคนจนอึดอัด จะดีกว่าไหมครับ แน่นอนว่าในสังคมย่อมมีคนหลากหลาย แต่หากสังคมส่วนใหญ่ดีได้ แล้วช่วยกันดู เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ เราก็ลดภาระให้กับประเทศชาติได้เยอะครับ ผมยังเชื่อว่าประเทศไทยยังมีคนมีน้ำใจและมีคนดีอยู่มากครับ

ดังนั้นหากจะทำ ก็ต้องทำให้จริง และจริงจังครับ ในส่วนตัวผม เพียงกังวลว่าจริงๆ แล้วเราพร้อมแล้วหรือยัง.....พร้อมในที่นี้คือ มีพื้นฐานที่พร้อมแล้วหรือยังที่จะต่อยอดในส่วน พรบ. นี้ นะครับ

ลองคิดๆ กันดูครับ

คัดลอกในความเห็นจาก http://gotoknow.org/blog/thaikm/109264

กราบขอบพระคุณมากครับ

  สำหรับท่านที่ออกความเห็นว่า "อีกหน่อยคงต้องไป ฯลฯ ในภาครัฐแล้ว" 

  ขอแสดงความเสียใจครับ

 

  ใน พรบ.ตัวหลัก ... admin ของภาครัฐ ตายทรมาณ

 

ตายเร็ว ตายเร็ว ตายอนาถกว่าภาคเอกชนเยอะ

 

  admin ของหน่วยงานภาครัฐ ... หาคนเป็น admin ก็ยากแล้ว .. เพราะมันเป็นงานเสริม   ไม่ใช่งานหลัก

  งานที่ทำก็โหดร้ายพอแรง

 

  ยังต่อมารับผิดชอบ กับการ"บังคับ" ให้เจ้านายต่างๆ ต้องลงทะเบียน ต้องบันทึก ฯลฯ

  เพราะไม่งั้น ข้อมูลของราชการ รั่วไหลออกสู่ภายนอก (คนเป็นพันๆคน .. จะไปคุมอยู่ได้ยังไง?) 

 

  พุดจริงๆ ผมเตรียมยื่นใบลาออก จากกการเป็น admin แล้วครับ 

ไม่มีรูป
คุณปาปา  

สวัสดีครับคุณปาปา

ขอบคุณมากครับ สำหรับความเห็น

ผมได้ลองเช็คหลายๆ ที่ ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ทราบเรื่องนี้ เท่าที่ควรครับ กำลังคิดว่า มันจะกระจายให้ทั่วถึงกันได้อย่างไรหนอเนี่ย.....

น่าจะเปิดถกกันเลยในทีวี ให้เป็นรูปแบบ แล้วส่งเรื่องให้ทุกๆ มหาวิทยาลัยรับทราบ... ที่ผมถาม ผมถามคนในระดับที่ทำงาน

เดี๋ยวผมจะคัดลอกข้อมูลจากประชาไทยมาเปิดให้อ่านกันนะครับ

ของคุณมากครับ ผมเข้าใจและเห็นใจทุกคนครับ คงต้องหาและหาจุดร่วมในการช่วยกันตรวจสอบนะครับ เพราะเราไม่เคยทำและวางรากฐานที่ดีมากก่อนครับ ทุกๆ อย่างเลยหนักครับ สำหรับ admin เป็นงานปิดทองหลังพระครับ ทำดีเสมอตัวครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ ทุกท่าน

เอาลิงก์จากประชาไทมาฝากครับ

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8843&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ขอบคุณเว็บประชาไทย  http://www.prachatai.com

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท