สร้างความเข้มแข็งทางปัญญา สู่ภูมิคุ้มกันทางสังคม


ความสำเร็จในวันนี้ ไม่ได้สิ้นสุด ณ จุดที่แก้ปัญหาได้คลี่คลาย แต่ทว่าเป็นจุดเริ่มในการพึ่งตนเองได้

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับการแก้ปัญหายาเสพติด

 

 

วิธีการแก้ปัญหาแบบวิจัยชาวบ้านเปรียบเสมือน เวทีสงครามเย็นที่ตัดสินใจกันด้วยข้อมูล ความรู้ และด้วยอารมณ์ของความเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เพราะมีเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันว่าการแก้ปัญหาจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ภายใต้ความรุนแรงของกระแสทุนนิยมที่กำลังก่อให้เกิดสงครามทำลายโลก ความพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้นรวมถึงในแง่ของความเป็นมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ

แต่ถ้าเป็นในแนวพุทธ พระพุทธเจ้าได้สอนให้คนตื่นรู้จากปัญหาด้วยการดับทุกข์ ด้วยหลัก อริยสัจ สี่ คือ ทุกข์ หมายถึง เราต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือทุกข์ (การเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร เป็นอย่างไร) สมุทัย หมายถึง อะไรคือที่มาแห่งทุกข์ (ปัญหามีสาเหตุมาจากอะไร มีเงื่อนไข ปัจจัยอะไร) นิโรธ หมายถึง หนทางแห่งการดับทุกข์ (แนวทางการแก้ปัญหา มีหลายทาง)    พระพุทธองค์ได้สอนว่าให้เน้นแนวทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา และทั้ง ๓ อย่างจึงนำมาสู่ มรรค หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ขั้นตอนการดำเนินงาน การสรุปผล รับผล และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) หมายถึงการเรียนรู้และปรับตัวเป็นเนืองนิจนั่นเอง

ปัญหายาเสพติดที่นี่เป็นปัญหาที่แก้ไขกันไม่รู้จบ ผู้เสพยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาครั้งแล้วครั้งเล่าจากหน่วยงานของสาธารณสุขและการปราบปรามอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานปกครอง แต่ทั้งหมดไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของชุมชน และชุมชนไม่ได้ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง

กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่แม่ฮ่องสอน จึงเป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในชุมชน โดยใช้กระบวนการวิจัย สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อนำปัญญามาพัฒนาท้องถิ่น ทำให้คนเก่งขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาที่ประดังเข้ามาในชุมชน

กระบวนการวิจัย ช่วยทำให้ชุมชนเข้ามา  

ร่วมกันคิด เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา"

กระบวนการวิจัย ตามชุดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด แม่ฮ่องสอน  เป็นประเด็นนำในการศึกษาวิจัย โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น มาใช้ในรูปแบบของการวิจัยแบบมีส่วนร่วม(Participatory Action  Research) สร้างนักวิจัยชาวบ้าน เปิดเวทีให้ชุมชนเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ แลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่วิถีชีวิตตนเองและชุมชน ในที่สุดผลจากกระบวนการวิจัยดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านเก่งขึ้น และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ปัญหาที่เกิดขึ้นปัญหาแล้วปัญหาเล่าในชุมชนเป้าหมาย ปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนอ่อนแอลงทุกขณะ หากชุมชนไม่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง ปัญหานั้นยากที่จะสำเร็จได้โดยง่าย

ยอดชาย  เปรมวชิระนนท์ ผู้ช่วยนักวิจัยบ้านกึ้ดสามสิบ เล่าว่า การที่ได้เข้ามาร่วมทำงานวิจัย ทำให้ตนเองได้เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพตนเอง ได้กระบวนการต่างๆ เพื่อหาแนวทาง หนทางในการทดลองแก้ไขปัญหา และสรุปบทเรียน เป็นประโยชน์แก่ชุมชนโดยรวม เพราะตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาของชุมชน คือ ตำแหน่งผู้นำชุมชน เป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยได้รับการคัดเลือกจากชุมชนเมื่อกลางปี ๔๖ เป็นต้นมา ยอดชาย  เชื่อว่า การเข้ามาร่วมทำกิจกรรม และร่วมกันในกระบวนการวิจัยของชาวบ้านทำให้ชาวบ้านได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหา และเกิดความผูกพันรักชนเผ่า ทำให้งานพัฒนาชุมชนในภาพรวมง่ายมากขึ้น

สุเมธ แซ่หย่าง หนุ่มใหญ่ชาวจีนฮ่อ ผู้ช่วยนักวิจัยบ้านรุ่งอรุณ พูดถึงกระบวนการศึกษา วิจัยไว้อย่างน่าฟัง เขาบอกว่า งานวิจัยช่วยให้ชาวบ้านชุมชน ได้คิดอย่างเป็นระบบ และได้เรียนรู้วิธีการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร ขอเพียงให้เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์ ร่วมใจกัน หาทางเลือกที่ดีที่สุด และสามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ที่ผมได้จากงานวิจัย

ปัญหายาเสพติดที่ได้รับการแก้ไขและแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่ชุดโครงการวิจัยหวังให้ปัญหานี้หมดไปจากหมู่บ้าน

ความสำเร็จในวันนี้ ไม่ได้สิ้นสุด ณ จุดที่แก้ปัญหาได้คลี่คลาย แต่ทว่าเป็นจุดเริ่มในการพึ่งตนเองได้  กระบวนการทำงานลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีคนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการปัญหา จากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้กระบวนการศึกษาวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็น การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านรักไทย,บ้านรุ่งอรุณ อ.เมือง และบ้าน   กึ้ดสามสิบ อำเภอปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน นักวิจัยชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนในชุมชน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังทั้งหมดผมได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งจึงเสมือนสื่อที่ทำหน้าที่  ถ่ายทอดเรื่องราว ถอดประสบการณ์ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ทราบว่าชุมชนคิดอะไร?  ทำแบบไหน?  และชุมชนก้าวเข้าสู่เป้าหมายการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้อย่างไร?  ภายใต้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น  

 ถอดบทเรียนกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก้ไขปัญหายาเสพติด จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ ๔ ชุมชนแม่ฮ่องสอน

·         บ้านรักไทย (จีนยูนนาน) อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

·         บ้านรุ่งอรุณ (จีนยูนนาน) อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

·         บ้านกึ้ดสามสิบ (ลีซู) อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

·         บ้านสันติชล (จีนยูนนาน) อ.ปาย จ. แม่ฮ่องสอน 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :  ผู้ประสานงานโครงการวิจัย, ที่ปรึกษา และผู้ถอดบทเรียน

เชียงใหม่



ความเห็น (6)

ถึงพี่จตุพร

  • เข้ามาอ่านโครงการดีๆ ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของการสร้างความรู้ครับ
  • นอกจากชุมชนจะติดอาวุธทางความคิดเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติดได้แล้ว ภาครัฐก็เป็นองค์กรที่สำคัญที่จะสนับสนุน ส่งเสริม อีกทางหนึ่ง
  • อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าถ้าแนวนโยบาย ทิศทางจากภาครัฐ ชัดเจน ก็จะทำให้ชุมชนเดินได้อย่างถูกทางเช่นกันครับ

ขอบคุณครับ

กัมปนาท

น้อง กัมปนาท อาชา (แจ๊ค)

ขอบคุณครับที่มาติดตามอ่าน...งานเขียนออกแนววิชาการบ้างครับ แต่ก็บันทึกลงไปเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ที่แม่ฮ่องสอนเชื่อมั้ยครับว่า ถอดบทเรียนแล้ว ชาวบ้านบอกว่าขอความ "จริงใจ" ของคนของรัฐ จะช่วยพัฒนาชุมชนได้ดียิ่งๆขึ้นไป

จริงๆชุมชนมีศักยภาพสูง แต่จุดสำคัญหน่วยงานรัฐเข้าใจกระบวนการส่งเสริมศักยภาพชุมชนหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ทำกันมาก็ติดกับกรอบงบประมาณ และระยะเวลา การย้ายไปมาของผู้รับผิดชอบ

ชุมชนที่พึงตนเองไม่ได้ด้วยยังไม่วิเคราะห์ตนเอง ก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่

ขอบคุณน้องกัมปนาทมากครับ

 

  • ได้วิธีคิดหลายเรื่องครับ
  • ชาวบ้านบอกว่าขอความ "จริงใจ" ของคนของรัฐ <<<<เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง มิใช่เข้าไปเอาเพื่อเป็นฐานส่งให้ตนขึ้นสู่ที่สูงทางสังคมโดยมิเหลียวแลฐานล่างเลยว่าเขาจะอยู่กันอย่างไร
  • คิดไปคิดมา ผมน่าจะปลีกตัวออกไปเป็นนักวิจัยซะเลยดีไหมครับ อ.จตุพร :-) แต่นั่นแหละประสบการณ์ยังด้อยนัก คงต้องเรียนรู้จากblog นี้อีกมาก
  • มัชฌิมา ปติปทา” <<<<ขอเปลี่ยนเป็น "มัชฌิมาปฏิปทา" นะครับ มิฉะนั้นอาจส่งผลให้ผู้ยึดตัวบทเดือดร้อนใจได้ (เหมือนนักกฎหมายที่ยึดหลักโดยไม่ใส่ใจสาระเบื้องหลังหลัก)
  • ถ้าเขียนงานวิจัยได้อย่างนี้ก็ดีนะครับ เขียนได้น่าติดตามทีเดียว ชาวบ้านก็เข้าถึงข้อมูลนี้ได้ด้วย นักวิชาการก็เข้าถึงได้ด้วย
  • ขอ add mail ไว้ประดับ MSN หน่อยนะครับ

อาจารย์ นม.

ผมพยายามถอดบทเรียนออกมาเหมือนการเล่าเรื่องครับ มีเนื้อหาเชิงวิชาการที่แทรกสอดข้างในนั้น

เขียนยากมากสำหรับมือสมัครเล่นเหมือนผม เพราะรูปแบบหากจะนำเสนอออกทางอ่านง่ายๆ อ่านสนุก แล้วพยายามเติมงานวิชาการก็ดูสะดุด ก็พยายามเขียนแล้วปรับบ่อยๆ เหมือนที่อาจารย์อ่านบันทึกผมที่ผ่านมานั่นหละครับ  เป็นการแปลงงานวิจัยออกมาเป็นเรื่องเล่า แนวถอดบทเรียน

ซึ่งตอนนี้ผมก็เป็นนักวิจัยอิสระครับ freelance  ก็สุขบ้าง(ส่วนใหญ่สุข) เพราะผมคนอิสระ เหมือนนกที่บินไปในท้องฟ้า ตรงไหนวิวสวยก็อาจบินเอื่อยๆชมทิวทัศน์ ที่ไหนร้อน แห้งแล้ง ผมก็จะบินผ่านไปเร็ว ไม่แลตาดู(ในบางครั้ง)

ขอบคุณครับ ที่เปลี่ยนศัพท์ให้ผม ผมเองก็พร่องเรื่องนี้ไป อาจหลุดตา หลงไปบ้าง ขอช่วย Comment แบบนี้ผมขอบคุณมาก

หนังสือของผม(แนวที่ว่านี้)ที่จะออกไม่กี่สัปดาห์ คิดว่าอีก เดือนหนึ่งหรือประมาณนี้นะครับ (ช่วงเคี้ยวหมากแหลก) ผมจะส่งไปกำนัลอาจารย์ถึงที่สถาบันเลยครับ

แสดงว่าEmail ที่ Add มาใหม่เป็นของอาจารย์ใช่มั้ยครับ งั้นผมขอเข้าไปทักทายหน่อย...พอดีหาก Add ผมแล้ว...ผมไม่กล้าทักครับ

ผมคิดว่า Social capital ก็เป็นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง และความเข้มแข็งก็เปนทุนทางสังคมอีกทางหนึ่ง

รวๆแล้วก็จะเป็นภูมิคุ้มกันได้อีกเช่นกับ

ผมว่าเรามีประเด็นต้องถกกันอีกมากเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง และยั่งยืนครับ

เรียน  

P

น่าจะเป็นทั้ง วิธีการ และ เป้าหมาย คล้าย การมีส่วนร่วมที่พูดถึงกันเยอะนะครับ

ความเป็นจริง Social capital มีมาหมายเมื่อเราเปิดใจ เรียนรู้กับชุมชน งานวิจัยหากได้ลงไปคลุกคลีในระยะเวลาที่นานพอ + ความจริงใจ  ของนักพัฒนา เราเหมือนพบขุนทรัพย์เลยหละครับ ก็เหลือแต่ว่า เราจะทำยังไงให้ขุมทรัพย์ที่ว่า ใช้เป็นศักยภาพต่อ เคลื่อนชุมชนไป

การละเลย social capital น่าเห็นใจที่สุดสำหรับนักพัฒนาที่ฉาบฉวย เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังเรียนรู้ได้ไม่เท่าทันชาวบ้าน

และ มีประเด็นอีกมากครับ เช่นที่ อ.ดร.แสวง ได้เขียนไว้ ต้องได้คุยกันยาวๆ

ภูมิคุ้มกันก็เหมือน Anti virus นะครับ ต้อง อัพเดตกันสม่ำเสมอ มี Virus ตัวใหม่ๆเพิ่มขึ้นทุกวัน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท