อะไรก็ตามที่มาจากของจริง สิ่งนั้นดีเสมอ


ประสบการณ์ตรงของคนทำงานวิจัย
จากการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R ครั้งที่ 1 และ 2 (วันที่ 1 มีนาคม และ 9 พฤษภาคม 2550) ที่ผ่านมา การใช้แนวทางของเรื่องเล่าความสำเร็จ ช่วยได้มากในการสกัดความรู้จากตัวจริงของผู้ทำงานวิจัยทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม CCU/ICCU กลุ่ม Siriraj Leg Lock และกลุ่มเจลลี่ในยุคน้ำมันแพง ก่อนอื่นขอเล่าลักษณะโครงการวิจัยของแต่ละกลุ่มเพื่อทำความรู้จักกันในเบื้องต้น   
      
กลุ่ม CCU/ICCU: การศึกษาอุบัติการณ์การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ประจำวัน ในหอผู้ป่วย CCU และ ICCU ผู้วิจัยตั้งคำถามกับงานประจำที่ต้องทำอยู่ทุกวัน คือการตรวจ ECG เพื่อดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยแต่ละโรคว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากการตรวจแต่ละครั้งยังต้องมีค่าใช้จ่าย และใช้เวลาตรวจคิดเป็น 3-4 ชั่วโมงต่อวัน จึงต้องการศึกษาหาแนวทางที่จะทำให้ผู้ป่วยในหอผู้ป่วย CCU และ ICCU ได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสม
      
กลุ่ม Siriraj Leg Lock: การศึกษาประสิทธิผลของ Siriraj Leg Lock ที่มีต่ออาการปวดหลัง ผู้วิจัยสังเกตอาการเจ็บปวดจากการปวดหลังของผู้ป่วยที่มารับการตรวจสวนหัวใจ เนื่องจากภายหลังการตรวจสวนหัวใจ ผู้ป่วยจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ต้องนอนราบไม่งอขาเป็นเวลา 6-10 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เลือดออกจากแผลได้ ผู้วิจัยจึงทดลองคิดค้นอุปกรณ์ผูกตรึงขาที่กลุ่มตั้งชื่อว่า Siriraj Leg Lock
      
กลุ่มเจลลี่ในยุคน้ำมันแพง: การพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิริราชเจลลี่แพค ก็เช่นเดียวกับอีกหลายกลุ่มที่งานวิจัยนั้นมาจากการตั้งคำถามกับงานที่ต้องทำอยู่ทุกวัน ผู้วิจัยพัฒนา ศิริราช เจลลี่แพ็ค ขึ้น ด้วยข้อจำกัดของเจลลี่ที่ใช้ในการประคบร้อน-เย็น ซึ่งวางจำหน่ายในท้องตลาดนั้น มีราคาแพง อีกทั้งยังมีขนาดและน้ำหนักไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็ก หรือผู้ป่วยที่ต้องการประคบที่บริเวณใบหน้า และตา ผู้วิจัยจึงเริ่มคิดค้นเจลลี่ตำรับของศิริราชขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
      
หลังจากแต่ละกลุ่มเริ่มเล่า Success Story และกลุ่มผู้ฟังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์แล้ว ทีมงานพยายามสกัดประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยหน้าใหม่ ดังนี้
*       ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานวิจัย
1. ทุกอย่างต้องมีการลองผิดลองถูก จึงห้ามท้อ
2. การทำงานวิจัย ช่วยให้คิดอย่างเป็นระบบ นำไปใช้กับเรื่องอื่นๆได้
3. ได้กัลยาณมิตรจากการทำงานกลุ่ม
4. ฝึกการแก้ปัญหาใหม่ๆ
5. คนทำวิจัย ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ เพียงแค่มองเห็นปัญหา แล้วพยายามแก้ไขเท่านั้น
*       การเลือกคำถามวิจัย
1. เลือกจากปัญหาที่พบเจอเป็นประจำ และเป็นปัญหาของหน่วยงานจริงๆ
2. เป็นเรื่องที่ทำแล้วได้ช่วยผู้ป่วย
3. หากมองไม่เห็นทาง อาจปรึกษาผู้รู้เพื่อค้นหาคำถามวิจัย
4. เลือกปัญหาที่ทำแล้วได้ประโยชน์ ไม่ต้องลงแรงมาก เพราะเชื่อมโยงกับงานที่ต้องทำอยู่แล้วทุกวัน
*       การเขียนโครงร่างงานวิจัย
1. เริ่มต้นเขียนจากบทนำ จากนั้นจึงแตกประเด็นในส่วนอื่นๆ
2. หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามผู้รู้
3. ลองเขียนตามแบบฟอร์มขอรับทุนของ R2R
*       การบริหารเวลา
1. ใช้เวลาว่าง หรือวันหยุด เพื่อทำงานวิจัย
2. ใช้โทรศัพท์แทนการนัดประชุมกลุ่ม
*       Key Success Factor ของการทำงานวิจัยให้สำเร็จ
1. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว (Team Work)
2. กำลังใจจากคนรอบข้าง
3. คิดอะไรให้คิดออกมาดังๆ อย่าคิดคนเดียว แล้วจะพบว่ามีคนคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ
4. หาแนวร่วมมาช่วยทำงาน
5. หัวหน้าหน่วยงานให้การสนับสนุนและช่วยผลักดัน
6. มีความกล้า กล้าที่จะถาม หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ
7. การมีหน่วยงานคอยสนับสนุนในด้านระเบียบวิธีวิจัย ทุน กำลังใจ ฯลฯ
         
สุดท้าย คงบอกได้แต่เพียงว่าการจะทำงานวิจัยให้สำเร็จได้ ขอเพียงมีความกล้า คือ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะถาม และกล้าที่จะพลาด อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะมันเป็นบทเรียนที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จค่ะ  
หมายเลขบันทึก: 112490เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท