Work Shop เก่ง ดีและมีความสุขในตน: (3) เรื่องเล่าประทับใจ


เรื่องเล่าประทับใจ จาก Work Shop เก่ง ดีและมีความสุขในตน

          ความจริงอยากให้ได้ยินเรื่องเล่านี้มากกว่าการได้รับรู้เรื่องราวจากการอ่าน แต่ด้วยเรื่องนี้ประทับใจจริงๆ จึงอยากเขียนเล่า 

          เรื่องนี้ได้มาจากการเข้าร่วม Work Shop เก่ง ดีและมีความสุขในตน ของสภาการศึกษา เป็นเรื่องเล่าของ อาจารย์วิภาพร นิธิปรีชานนท์ จาก สำนักงานพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึคกษา สำนังานการศึกษาพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเริ่มตรงที่ว่า......

          อ.วิภาพร ได้เคยใช้ชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ในการรับราชการเป็นครู ที่จังหวัดนครราชสีมา อยู่ประมาณ 11 ปี และอยากย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ จึงได้ทำเรื่องขอย้าย ปรากฏว่าไม่มีอัตราว่างในกรุงเทพฯ อาจารย์เลยขอลงในพื้นที่ใกล้เคียง ผลปรากฏว่าได้รับการย้ายไปโรงเรียนวัดทุ่งยายชี ตำบลเขาตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา


          ลองคิดภาพย้อนกลับไป เมื่อหลายสิบปีก่อน แน่นอนถนนดินลูกรัง ข้ามเขาเป็นภาพที่ต้องมีให้เห็นแน่นอน และก็ไม่ต่างจากสิ่งที่คาดไว้ โรงเรียนตั้งอยู่กลางป่า เวลากลับบ้าน อาจารย์บอกว่าต้องอาศัยรถที่ขนซุงออกจากป่า นั่งมาพร้อมกับอาจารย์ผู้หญิงท่านอื่น โดยอาจารย์ใหญ่ก็จะค่อยขับรถมอเตอร์ไซด์ตาม และจะคอยจนกว่าอาจารย์ผู้หญิงทั้งหมดจะได้ขึ้นรถบัสเพื่อเดินทางต่อเรียบร้อยแล้ว จึงขี่มอเตอร์ไซด์กลับโรงเรียน ระหว่างทางที่นั่งรถขนซุงออกมาจากโรงเรียนนั้น ก็จะมีเสียงปืนดังตลอดเวลา เพราะอยู่ในแหล่งที่เมื่อก่อนมีการตัดไม้กัน จึงมีการยิงปืน เพื่อแย่งไม้กัน


          สภาพความเป็นอยู่ในโรงเรียนตอนนั้นค่อนข้างลำบาก ห้องนอนของอาจารย์เป็นห้องว่างๆ โดยจะนอนเรียงกันเป็นหน้ากระดาน กั้นระหว่างกันด้วยตู้เสื้อผ้าพลาสติก ถ้าจะอาบน้ำก็ต้องเดินไปที่ลำคลอง อาจารย์บอกว่า เช้าคนอาบ กลางวันควายอาบ เย็นคนอาบ แต่ถ้าหน้าแล้งก็ต้องอาบน้ำโยก ซึ่งมีสนิมอยู้ด้วย ก็จะได้เสื้อผ้าชุดออกเหลืองๆโดยไม่ต้องย้อม


          เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ค่อนข้างไกล (แต่ใกล้ความลำบาก) อาจารย์วิภาพร จึงต้องทำหน้าที่ทั้ง ครูประจำชั้น ครูคณิตศาสตร์ ครูเกษตร และอื่นๆ อีกหลายอย่างไปพร้อมๆกัน เพื่อไม่ให้คิดถึงบ้าน และความยากลำบาก ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน อาจารย์เสริมว่าในการเป็นครูอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ก็ไม่ได้ทำงานหนักมากขนาดนี้ ทำให้ตอนมาใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนวัดทุ่งยายชีแห่งนี้ใหม่ ก็ร้องให้เป็นประจำและแทบจะทนไม่ได้ถึงความยากลำบาก จึงชดเชยด้วยการทำงานหลายๆ อย่างเพื่อให้ลืมความเหงา


          ในขณะนั้นอาจารย์ก็ได้พบกับเรื่องราว ที่ทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้จากเด็กนักเรียน โดยอาจารย์ยกตัวอย่างการปลูกพืชในวิชาเกษตรเนื่องจากเริ่มต้นลงเมล็ดพร้อมกันกับแปลงของเด็กๆ แต่แปลงที่อาจารย์ปลูกกลับไม่ขึ้น แต่ของเด็กๆขึ้น ทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้จากเด็กๆ มากขึ้น ด้วยการสอบถามเด็กๆถึงการปลูกพืช ให้เด็กสอน ให้เด็กอธิบาย โดยไม่ยึดติดว่าตนเป็นครู เช่นเดียวกับ การทำหน้าที่ โค้ชกีฬาของโรงเรียน อาจารย์ก็ต้องให้เด็กช่วยกันสอน ช่วยกันแนะนำ เนื่องจากอาจารย์ไม่ถนัดในเรื่องกีฬา และไม่รู้ว่าจะต้องเล่นอย่างไร


          จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องอยู่ที่อาจารย์ได้รู้จัก เด็กนักเรียน คนหนึ่งซึ่งเป็นนักกีฬาของโรงเรียนด้วย เป็นนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ของอาจารย์ด้วย แต่นักเรียนคนนี้มักขาดเรียนเป็นประจำ อาจารย์ก็คิดว่านักเรียนคนนี้ เกเรไม่ยอมเข้าเรียน ไม่ยอมทำงานส่ง อาจารย์ก็จะทำโทษด้วยการตี หน้าชั้นเรียน ต่อมาปรากฏว่านักเรียนคนนี้ขาดเรียนไปนาน อาจารย์ต้องการที่จะไปตามนักเรียนคนนี้ที่บ้าน จึงได้ชวนนักเรียนคนอื่นในชั้นไปเป็นเพื่อน อาจารย์เล่าว่า ออกเดินทางหลังจากเลิกเรียนประมาณ บ่ายสามโมงเย็น ต้องเดินข้ามเขาไปหลายลูก จนถึงบ้านนักเรียนคนนั้นประมาณ ห้าโมงครึ่ง สิ่งที่อาจารย์เห็น และได้พบคือ บ้านที่มุงสังกะสีอยู่เพียง ครึ่งเดียว มีแม่อยู่ หนึ่งคน ที่ต้องเลี้ยงลูกทั้งหมด 7 คน คนโตเรีนอยู่ ประถม 6 (นักเรียนคนที่กำลังเรียนอยู่กับอาจารย์) คนเล็กประมาณ สองขวบครึ่ง อาหารในแต่ละมื้อเป็นข้าวที่ปลูกไว้กินเอง พร้อมกับ กะปิ วันละ 2 ขีด รายได้ของแม่มาจากการไปรับจ้างตัดอ้อย ซึ่งต้องอาศัยลูกชายคนโตไปช่วย


          จากภาพที่เห็นและสิ่งที่ได้รับฟังทำให้อาจารย์ คิดย้อนกลับไปถึงการทำโทษ นักเรียนคนนี้ พร้อมกับคิดว่า นักเรียนและครอบครัวนี้ ลำบากมากกว่าอาจารย์หลายเท่า อาจารย์จึงตั้งใจที่จะชดเชยสิ่งที่ทำลงไปให้กับนักเรียนคนนี้ด้วยการ พยายามช่วยเหลือในสิ่งที่จะพอช่วยเหลือได้ อาจารย์เล่าว่าทุกครั้งที่ได้กลับมาบ้าน จะต้องขอให้ทางบ้านรวบรวม เสื้อผ้า อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำไปให้เด็กที่โรงเรียน ดังนั้นทุกครั้งที่กลับเข้าโรงเรียนจะเดินทางมาพร้อมด้วยสิ่งของมากมายเพื่อนำมาให้กับเด็กนักเรียนเหล่านั้น


          จนกระทั้งปัจจุบันอาจารย์ยังบริจาคเสื้อผ้า และรับอุปการะให้ทุนการศึกษาตามโครงการต่างๆอยู่เป็นประจำ ก่อนที่อาจารย์จะย้ายออกจากโรงเรียนนั้น กลุ่มนักเรียนก็เลี้ยงส่งอาจารย์ด้วยอาหารที่ทำขึ้นด้วยความตั้งใจ คือ ยำกระป๋อม (นำมาย่างแล้วลอกหนัง) พร้อมกับมะขามเปียก อาจารย์เล่าว่า อาจาย์ทานทุกคำด้วยความอร่อยถามกลางสายตาของเหล่านักเรียนที่คอยจ้องอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้อาหารที่ธรรมดา แต่ป็นอาหารที่เต็มไปด้วยความตั้งใจและจริงใจของลูกศิษย์ อาจารย์บอกว่าทานอาหารจานนั้น จนหมดเลย 


เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า

  • ความยากลำบากที่เราได้รับ ที่คิดว่าลำบากแล้ว แต่ก็จะมีความลำบากที่หนักกว่าเสมอ
  • ไม่ควรตัดสินใครจากการคิดเองฝ่ายเดียว ควรต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดก่อน
  • การคิดเชิงบวก และการไม่จมตัวเองอยู่กับปัญหา มองปัญหาเป็นหินลับมีด เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ
  • ความอยากลำบาก ความอดทน มีส่วนสำคัญมากในการสร้างคน
  • แม้เรื่องนี้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี แต่ความแตกต่างเช่นนี้ของระบบการศึกษาไทยยังมีอยู่ในปัจจุบัน

ท่านใดอยากจะสะท้อน ความคิดจากเรื่องเล่านี้ ก็เชิญเลยครับ


 onec3
อ.วิภาพร ขณะกำลังเล่าเรื่อง



ความเห็น (5)

เรียนท่านอาจารย์มณฑล

  • ประเด็นแรกเรื่องนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างในการทำงานให้เด็กรุ่นใหม่ เช่นตัวผม ที่สมัยนี้การคมนาคม ความสะดวก สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอด การสื่อสาร ทำให้การทำงานไม่ค่อยยุ่งยากลำบาก สบายมากจนไม่ค่อยมีปัญหา แต่เมื่อเกิดความท้อ แก้ปัญหาไม่ได้ ความอดทนก็จะน้อย ส่งผลต่อการงาน คงต้องเอาตัวอย่างการต่อสู้ อย่างท่าน "อาจารย์วิภาพร"
  • สำหรับระบบการศึกษาไทยนั้น ผมก็ไม่ใช่นักวิชาการศึกษาที่มีประสบการณ์ครับ แต่เคยได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ คือ ศ กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สมหวัง ท่านกล่าวว่า "ระบบการศึกษาไทยเดินทางผิดมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ว่า คนที่จะมาเป็นครูนั้น จบ แค่ ปกศ.สูง ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องถึง ป.ตรี" ซึ่งทำให้ระบบการศึกษาอ่อนแอมาโดยตลอด เพราะตัวป้อนอุดมศึกษา นั้นก็เป็นผลผลิตมาจากขั้นพื้นฐาน
  • สำหรับข้อคิดเห็นข้างต้น เป็นความคิดของแทรกส่วนตัวบ้างนะครับ ผมอาจจะมองในมุมแบบของผม

ขอบคุณครับ

กัมปนาท

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ขอบคุณที่เอาเรื่องราวดีๆ แบบนี้มาแบ่งปันครับ

ขอบคุณ

P
 และ คุณ วรเทพ ว่องสรรพการ ที่เข้ามาช่วย comment ปัจจุบันความเจริญมากขึ้น คุณภาพชีวิตโดยส่วนใหญ่ก็ดีขึ้น แต่ก็มีคนชายขอบเสมอครับที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจ หากเราคิดมองเชิงบวกก็จะเป็นกำลังใจให้ตนเองให้ทนต่อความลำบากได้

การศึกษาไทยก็ต้องพัฒนาต่อไป ผมเองก็อยู่ในระบบการศึกษาและตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเหมือนกันครับ

อ่านแล้วน้ำตาไหลเลยคะ 555 แต่มีความสุขดีนะคะ

อยากมีเงินมากๆนำไปช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในถิ่นลำบากและการศึกษาห่างไกลคะ

อ่านแล้วมีกำลังใจขึ้นเยอะเลยค่ะ กำลังหาอ่านเรื่องประทับใจเพื่อให้เกิดกำลังใจที่จะทำงานได้อย่างภูมิใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท