น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย (2) ... "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"


หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง น่าจะอยู่ที่วิธีการคิดของคน อาจจะมองว่าเป็นเรื่อง ค่านิยมของคน วิธีการดำเนินชีวิตของคนไทย ว่าเดิมเคยเป็นอย่างไร พระองค์ท่านจึงอยากเสริมว่า จากเดิมที่เคยมีวิธีการดำเนินชีวิตแบบนี้ แบบนั้น ลองนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ดู น่าจะทำให้สังคมไทย มั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น

 

"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นคำดั้งเดิมที่พระราชทาน โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ... อ.อดิสร์ เล่าต่อค่ะ ... มีหนังสือทางราชการที่มีความสำคัญ เพราะว่าเป็นจุดเริ่มของนิยามเศรษฐกิจพอเพียง ที่พวกเราใช้กันอย่างเป็นทางการ ลงวันที่เมื่อ 2542

แต่ที่จริงแล้ว ถ้าจะเล่าความเป็นมาก็คือว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่านได้รับสั่งมานานแล้ว ถ้าจะย้อนวันที่กัน ก็จะย้อนไปถึง ราวๆ ปี 2517 ได้ บางคนก็จะพูดถึงว่า ในโอกาสที่พระองค์ท่านไปในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ 2517 เป็นต้นมา พระองค์ท่านจะรับสั่ง หรือมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด
มาถึงช่วง 2539-2540 ที่ประเทศไทยมีวิกฤติเศรษฐกิจ พระองค์ท่านก็จะเน้นย้ำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น และช่วงนั้นเองประมาณ ปี 40 พวกเราก็จะได้ยิน และรู้จักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น พวกเราก็คงนึกออกนะครับ

  • พอช่วงประมาณปี 40 หลังจากที่พวกเราได้ยินพระองค์ท่านรับสั่งแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น หลายส่วนก็อยากจะนำไปใช้ ... แต่ว่า ณ วันนั้น หลักฐาน คำนิยมต่างๆ ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ ไม่ค่อยจะมี ทำให้ทางหน่วยงานหนึ่ง คือ ทางสภาพัฒฯ ที่อยากนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงของการร่างแผนฯ 9 ทางสภาพัฒฯ เขาก็มีความคิดว่า อยากจะเขียนแผนฯ 9 ให้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี เพราะไม่มีนิยามที่เป็นลายลักษณ์อักษร
  • ... ก็เลยระดมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้ใหญ่ในสภาพัฒฯ ร่วมกันยกร่างนิยามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไปสังเคราะห์มาจากพระบรมราโชวาท ตามโอกาสต่างๆ ร่างขึ้นมาเป็นข้อความ 1 ย่อหน้า และจดหมายกราบทูลไปยังสำนักราชเลขาฯ เพื่อขอพระบรมราชานุญาติให้พระองค์ท่านวินิจฉัยว่า ที่พวกเราพสกนิกรได้ให้ความหมายว่า เศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร เราวิจัยกันถูกแล้วหรือยัง
  • พระราชเลขาฯ ก็เสนอกราบพระบังคมทูล พระองค์ท่านก็ได้พิจารณาข้อความดังกล่าว และทรงแก้ไขลงมาให้ ว่าที่นำเสนอมา ได้ปรับแก้ให้แล้วนะ และส่งกลับไปยังสภาพัฒฯ ว่า ให้เอาไปใช้ และเผยแพร่ต่อไปได้
  • จดหมายฉบับนี้จะเป็นจดหมายที่ทางสำนักพระราชเลขาฯ ทำตอบกลับมายังท่านประธานคณกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ... เป็นเรื่องของบทความชื่อ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คำว่า "ของ" ผมเองบางครั้งก็ใส่ บางครั้งก็ไม่ได้ใส่
  • ถ้อยคำในจดหมายก็จะมีรายละเอียด คือ ...
  • ... ตามที่ท่านได้นำความพราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย บทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ในทางเศรษฐกิจ และสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวล และกลั่นกรองพระราชดำรัส เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำบทความดังกล่าวไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป นั้น
  • หนังสือได้สรุปว่า ... ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงกระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานญาต ตามที่ขอพระมหากรุณา
  • จากจดหมายนี้ ก็เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้มีนิยาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมิต้องไปเดาสุ่มอะไร
  • สิ่งที่สำคัญตามมาคือ เอกสารแนบท้ายฉบับนี้ ก็คือ "บทความเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเราจะมาดูกันว่า แล้วเศรษฐกิจพอเพียง เกี่ยวข้องกับอะไรกันแน่
  • เวลาใช้งานกลุ่มผู้ใช้จะนำข้อความมาแยกเป็นส่วนๆ ก็จะนำมาสู่ประโยคที่มีลักษณะเป็นอย่างนี้ คือ
  • เริ่มต้น “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด นานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
  • จุดที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ 2 ข้อความ คือ
  • แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด นานกว่า ๒๕ ปี  ... ผมเน้น เพราะอยากให้พวกเราที่มีความประสงค์จะน้อมรับ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปใช้นี้ แล้วจะได้นำหลักปรัชญานี้ไปใช้อย่างถูกจุด
  • ยกตัวอย่าง ผมสอนที่คณะฯ สอนทฤษฎีเศรษฐศาตร์เยอะ Demand Supply อุปสงค์ อุปทาน ส่งออกต่างๆ แล้วคณาจารย์ในคณะ มีความสนใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • และเมื่อช่วงก่อนๆ ที่เราศึกษากัน ก็พยายามเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเทียบเคียงกับหลักเศรษฐกิจอื่นๆ ว่าสอดคล้องกัน หรือขัดแย้งกันอย่างไร ก็ทำกันอยู่พักหนึ่ง แต่ละคนก็ยังหาข้อยุติไม่ได้
  • ผมเองกับคณาจารย์กลุ่มหนึ่งที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่ มาถึงข้อสรุปอย่างหนึ่ง คือ เราคิดว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ไม่น่าจะเอาไปใช้กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เพราะว่ามันเป็นคนละเรื่อง คนละอย่างกัน ถามว่า ทำไมเพราะว่า ถ้าเราอ่านบรรทัดที่สอง จะเห็นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ พระองค์ท่านไม่ได้พระราชทานเรามา เพื่อไปใช้แทนหลักการลงทุน หลักทฤษฎีการส่งออก แต่พระองค์ท่านพระราชทานมาเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ... เพราะฉะนั้น ใครก็ได้สามารถเอาหลักการตรงนี้ไปใช้ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงกับทฤษฎี หลักเศรษฐศาสตร์เสรีทุนนิยมอะไร คิดว่า จะไม่ตรงกัน
  • เพราะฉะนั้น หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง น่าจะอยู่ที่วิธีการคิดของคน อาจจะมองว่าเป็นเรื่อง ค่านิยมของคน วิธีการดำเนินชีวิตของคนไทย ว่าเดิมเคยเป็นอย่างไร พระองค์ท่านจึงอยากเสริมว่า จากเดิมที่เคยมีวิธีการดำเนินชีวิตแบบนี้ แบบนั้น ลองนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ดู น่าจะทำให้สังคมไทย มั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น นี่เป็นจุดที่หนึ่ง
  • ... เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในหน่วยงาน จุดที่ควรจะลง ถ้าถามผม ... ควรจะอยู่ที่การพัฒนาบุคคล การพัฒนาบุคลากร เป็นจุดที่เศรษฐกิจพอเพียงจะเข้าไป และไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตรงจุดมากขึ้น ให้คนในองค์กร คนในหน่วยงาน มีความคิดอ่านอย่างเศรษฐกิจพอเพียง
  • อีกประโยคหนึ่งที่จะเป็นปรัชญา เอกลักษณ์ของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเป็นจุดที่จะทำให้เศรษฐกิจพอเพียงมีความแตกต่าง ก็เรื่องของการให้ความสำคัญกับ ความมั่นคง และโดยเฉพาะ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
  • ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์จะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในตัวนิยามนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านเล็งเห็นแล้วว่า ในอนาคต สังคมไทยคงหลีกเลี่ยงกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้
  • เศรษฐกิจพอเพียงส่วนหนึ่งก็คือ มีความประสงค์ที่อยากให้สังคมไทยอยู่ร่วมในกระแสโลกภิวัฒน์ได้ เพราะฉะนั้น ภายใต้ภูมิคุ้มกันก็ดี โลกาภิวัตน์มีผลกระทบจากภายนอกก็ดี นี้เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านอยากเพิ่มเติมให้กับพวกเรา ให้พวกเราได้รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกัน
  • ในอดีตเราอาจอยู่แบบไม่ต้องมีภูมิคุ้มกันมากนักได้ เพราะสังคมในอดีตอาจจะห่างๆ กัน แต่โลกทุกวันนี้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น การสร้างภูมิคุ้มกันจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • ในตัวนิยาม เศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่านรับสั่งว่า เป็นปรัชญาชี้ถึงการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีลักษณะของแนวพุทธสอดแทรกเข้ามา
  • โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ... ประโยคนี้เอง บางทีจะช่วยตอบคำถามเราบางอย่าง
  • หลายท่านคงจะนึกออก ว่า เมื่อประมาณปีที่แล้ว จะมีชาวต่างชาติ ที่เขาได้ยินว่า ประเทศไทย หรือรัฐบาลชุดนี้ ได้น้อมนำ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
  • ... ชาวต่างชาติเขาก็สงสัย ว่า เอ แล้วเราจะอยู่ร่วมในโลกโลกาภิวัตน์หรือเปล่า เราจะไม่พัฒนาประเทศแล้วหรือ ที่ว่าเราจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงนี้
  • ประโยคนี้ก็จะตอบคำถามนั้นได้ว่า ที่เข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่ จะตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ ... เพราะว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียง นี้จะบอกว่า เราต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกภิวัฒน์ 
  • เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูตามนิยามอันนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าหน่วยงานของเรามีการดำเนินงานที่ทำให้สภาวะสุขภาพของคนไทย ก้าวทันต่อโลกโลกาภิวัตน์ นั่นคือ เศรษฐกิจพอเพียง แต่ถ้าอะไรที่ทำแล้ว ไปสู่การถอยหลัง หรืออยู่กับที่ ก้าวไม่ทันคนอื่นเขา อันนั้นก็ไม่ใช่หลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • ... ก็เป็นการตอบคำถามที่ชาวต่างชาติสงสัย เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในโลกโลกาภิวัฒน์ได้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ
  • ถัดมาเป็นตัวนิยามความหมายความพอเพียงคืออะไร
  • ความพอเพียง หมายถึง ความพอ ประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร สะท้อนถึงเรื่องโลกาภิวัฒน์ ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
  • ถัดมาเป็นเรื่องของเงื่อนไข มี 2 ส่วน ส่วนแรกก็คือ
    ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ... เพราะฉะนั้น ท่านทำงานในหน่วยงาน ท่านนึกภาพเอา
  • บางท่านอาจเรียน ป.ตรี ... บางท่านจบโทจากต่างประเทศ ... บางท่านไปมีความรู้มาจากที่ต่างๆ ... ถ้าท่านได้ความรู้ที่มีประโยชน์มาแล้ว ท่านได้สามารถนำมาใช้ในการวางแผนในการดำเนินงาน ท่านได้ทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • แต่ถ้าท่านทำงานแบบเดิมๆ ไม่เคยนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ ไปเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียง คือ อยู่อย่างสมถะ อยู่อย่างง่ายๆ ไม่ปรับปรุงพัฒนาไป อันนั้นไม่น่าจะใช่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ประโยคจึงถือว่า เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน
  • ส่วนที่จะเป็นเงื่อนไขอันที่ 2 และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ นี้ก็เป็นเรื่องของหลักคุณธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกคุณธรรมความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมให้ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
  • เป็นการเน้นให้พวกเราใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์
  • และท้ายที่สุดก็มาจบที่เราต้องมีระบบที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านก็จะนึกถึงหลักของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเสมอกับสังคมไทย บางส่วนก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีสาเหตุมาจากภายใน บางส่วนก็มีสาเหตุมาจากภายนอก ก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นการสร้างเกราะคุ้มกันตัวเราในภารกิจต่างๆ ที่เราทำในหน้าที่การงานก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ
  • ทั้งหมดนี้ เป็นหัวใจของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเราจะได้นำไปใช้เป็นเหมือนปรัชญา หรือคู่มือ ในการดำเนินชีวิตก็ว่าได้

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ... คลิ๊กอ่านได้ค่ะ

รวมเรื่อง น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย

 

หมายเลขบันทึก: 92565เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
มีคุณหมอนน ช่วยสกัดความรู้แบบนี้ สบายใจไปแยะกับการจัดการความรู้กรมอนามัย  หายเหนื่อยไปเลย ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วเป็นกำลังใจให้ตัวเองดีค่ะ เคยมั่นใจตัวเองว่า ได้ใช้ความรู้ ความคิดและสิ่งที่ตัวเองมี สิ่งที่ได้รับจากการไปเรียนต่อด้วยทุนที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของคนไทยให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และพอเพียงตามสมรรถนะที่ทำได้ แม้จะมีคำพูดมาเข้าหูบ้างว่า จบปริญญาเอกมาทำอะไรที่ไม่คุ้มค่ากับความรู้ที่ไปร่ำเรียนมา ไม่เห็นมีความก้าวหน้าอะไรชัดเจน ก็พยายามไม่หวั่นไหวไขว่คว้าไปทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ บันทึกนี้และปรัชญาของทฤษฎีนี้ช่วยยืนยันว่า เราเชื่อมั่นศรัทธาและปฏิบัติตนได้ถูกทางแล้วค่ะ แม้จะไม่ได้"วัตถุพยาน"อันใดมายืนยัน ก็ไม่หวั่นไหวค่ะ

ขอบคุณคุณหมอนนท์จริงๆค่ะ ที่สละแรงกำลังเก็บเกี่ยวมาฝากได้ละเอียดละออเช่นนี้

  • บทบรรยายของอาจารย์น่าถ่ายทอดมากเลยค่ะ อ.โอ๋
  • อดไม่ได้ค่ะ ต้องนำมาบอกกล่าวให้ทุกคนได้รับรู้ โดยเฉพาะชาว G2K ค่ะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ทรงเป็นห่วงพสกนิกรของพระองค์ แม้กระทั้งฝนตก แดดออก หรือแม้ถิ่นทุรกันดารเพียงใด พระองค์ท่านทรงเสด็จไปทั่วทุกหนแห่ง ไม่มีความเหนื่อย ฉะนั้นพวกเราจงเทิดทูนพระองค์ท่านไว้จนกว่าชีวิตจะหาไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท