@Moui
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ

สถานฑูตอเมริกา และ ร่างกฏหมายความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ...


Internation Cooperation v.s. Freedom of Speech

อยากบันทึกไว้ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในชีวิตที่ได้มีโอกาสเหยียบย่างที่สถานฑูตอเมริกา ถนนวิทยุ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1994 เมื่อไปขอวีซ่านักเรียน ครั้งที่สองเกิดขึ้นถัดมาไม่กี่วัน เมื่อไปรับหนังสือเดินทางที่มีแปะหน้าวีซ่าไว้ให้ เวลาล่วงผ่านไปเป็นสิบปี จึงได้มีโอกาสเข้าไปเหยียบย่างสถานฑูตอีกครั้ง

ในครั้งนี้ ไม่ได้ไปเพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศอเมริกาแต่อย่างใด แต่เข้าไปเพื่อร่วมงานสัมมนาในหัวข้อ "กฏหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และ นิติวิทยาศาสตร์อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์"  โดยมีคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร ์ เข้าร่วมอีกหลายท่าน อาทิเช่น

  • นายอัครวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (กฤษฎีกา)
  • พันตำรวจเอกญานพล ยั่งยืน (DSI)
  • นายสุเจตน์ จันทรังษ์ (CAT)
  • นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ (IT Lawer)
  • คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม (ธ.ไทยพาณิชย์)
  • นายทวี สุรฤทธิกุล (สุโขทัยธรรมาธิราช)

นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่

  • ดร.ดวงทิพย์ (โสมนะพันธุ์) สุรินทาธิป (ที่ปรึกษา)
  • ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ (ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี)
  • ดร. โกเมน พิบูลย์โรจน์ (ThaiCERT)
  • ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขออภัยที่จำนามของท่านไม่ได้ค่ะ แต่จำหน้าได้)
  • คุณสุรางคณา วายุภาพ (สำนักงานธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เนคเทค)
  • คุณมรกต กุลธรรมโยธิน (INET และนายกสมาคม ISP)
  • ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  • ผู้แทนสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
  • ผู้แทนกระทรวง ICT
  • และ อีกสามสี่ท่าน ที่ไม่ทราบชื่อ


ประเด็นของการสัมมนา ตามที่ได้รับแจ้งมานั้น จะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน ในประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหา ข้อแก้ไข ประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกาในการบังคับใช้กฏหมายทั้งในระดับประเทศ รัฐ และท้องถิ่น โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีการแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังด้วย  ระยะเวลาในการสัมมนา เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 น. และเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 12.30 น.

หลังจากเจ้าหน้าที่สถานฑูต ผู้เป็น moderator ทำการเปิดงานสัมมนา และแนะนำตัวผู้เป็น speaker ทั้งสอง (ชาวสหรัฐ) แล้ว ก็เริ่มสัมมนากันอย่างรวดเร็ว

ดิฉันจำไม่ได้ว่า speaker ท่านแรก ที่เรียกกันบน panel ว่า คุณ Chris นั้น มีตำแหน่งอะไรกันแน่ เพราะไม่ทันได้ขอนามบัตรไว้ แต่ speaker อีกท่านคือ คุณ Bill (William Matthews) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจสืบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (FBI)

วิทยากรทั้งสองท่าน มารับตำแหน่ง และทำงานในไทยมาเป็นระยะเวลา 18 เดือนแล้ว จึงพอจะเข้าใจคนไทยบ้าง (แต่ไม่ใช่จะเข้าใจทั้งหมด และในบางประเด็น ก็ยังไม่เข้าใจความเป็นคนไทย หรือการทำงานของคนไทยดีพอ)

คุณคริสเปิดประเด็นด้วยการเล่าความเป็นมาอย่างย่อ ของการออกกฏหมายเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime) ในอเมริกาให้ฟัง โดยเล่าว่า กฏหมายฉบับแรก ประกาศใช้ในปี 1994 (แหม เป็นปีที่เดินได้ไปเหยียบแผ่นดินอเมริกาเสียด้วยสินะ - เพิ่งทราบเหมือนกันว่า กฏหมายเขาออกมาเนิ่นนานแล้วจริงๆ) จากนั้นก็มีการออกกฏหมายเพิ่มเติมต่อเนื่องมาอีกหลายฉบับ จึงเรียกได้ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์อย่างมากเกี่ยวกับการออกกฏหมายเกี่ยวกับ Computer Crime รวมถึงการนำไปใช้จริง

คุณคริสยังอธิบายถึงสาระ และ เรื่องที่เป็นประเด็นที่น่าห่วงและความถูกรวมไว้ในกฏหมายด้าน Computer Crime ไว้หลายข้อ เริ่มต้นจากความผิดที่รับรู้กันทั่วไป เช่น การเจาะเข้าสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต (hack), การเข้าสู่ระบบเกินไปจากสิทธิที่ได้รับอนุญาต (มักเกิดกับคนในที่จ้องขโมย หรือทำลายข้อมูลขององค์กรที่ตนเองเคยทำงานได้), ไปถึง internet fraud, credit card fraud, can-spam,ฯลฯ

จากนั้น ก็ทำการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ได้มีการสืบสวน เพื่อจับผู้กระทำความผิด และที่สุดคือ การเน้นว่า computer crime นั้น ทำให้ขอบเขตของประเทศหมดไป หมายถึงว่า คนที่กระทำความผิดในประเทศ ก นั้น อาจจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศ ข ก่ออาชญกรรมในประเทศ ค ได้ ซึ่งการจะตรวจจับได้นั้น จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศ (international cooperation) คุณคริสยืนยันเรื่องของการให้ความร่วมมือระหว่างกันและกันเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลที่จะช่วยให้การจับผู้ร้ายนั้น ทำได้สำเร็จ

จากนั้นก็เป็นช่วงเวลาของคุณบิล คุณบิลก็มาเล่าเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และเนื่องจากในระหว่างการเล่าและเปรียบเทียบ ร่างกฏหมายของไทยและกฏหมายเกี่ยวกับ computer crime หลายๆ ฉบับที่สหรัฐอเมริกรได้เคยประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ทางฝ่ายไทย เริ่มมีคำถาม และมีข้อโต้แย้งต่างๆ ที่ทางเจ้าพนักงานฝรั่งตั้งประเด็นไว้ ทำให้บรรยากาศการสัมมนาเริ่มตึงเครียดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทางฝ่ายไทย เริ่มรู้สึกว่า่ เจ้าหน้าที่อเมริกันทั้งคู่ ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการออกกฏหมายไทยดีพอ (แต่ดันจะมาแสดงความเห็นให้เราขุ่นใจกัน) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อประเด็นการให้ความร่วมมือระหว่างกันและกัน ทางไทยเราก็ไม่ค่อยพอใจฝั่งอเมริกันเท่าที่ควร ซึ่งแม้แต่คุณบิล ยังต้องออกปากขอโทษที่ไม่สามารถหาข้อกฏหมายไปบังคับ ผู้ประกอบการในประเทศตนเอง (YouTube) ลบคลิปที่สร้างปัญหาให้กับคนไทยทั้งโลกได้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองออกจะไม่กล้าย้ำหนักนักในประเด็นการให้ความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่อง YouTube นั้น โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่า มันคือความอยุติธรรม ถ้า Google ยืนยันว่า คลิปล้อเลียนต่างๆ ที่ปรากฏในเว็บตนนั้น เป็นการแสดงออกอย่างเสรี (Freedom of Speech) ฉะนั้น Google จึงไม่ต้องการจะเป็นคนลบกฏข้อนั้น แต่หากทุกคนจะจำกันได้ Google ยอมที่จะ block content ตามที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่สั่ง มิฉะนั้นรัฐบาลจีนจะไม่อนุญาตให้ Google ได้เกิดในแผ่นดินจีน และมันเป็นเรื่องตลกหัวเราะไม่ออกที่ Google ก็ยอม block content ด้วยสิ Google มีปัญหาเกี่ยวกับการนิยาม Freedom of Speech โดยแน่แท้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แทบจะทุกคน ยืนยันว่า ร่าง พรบ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ของไทย ที่กำลังจะเข้าสู่สภาเดือนหน้านี้ มีสาระกว้างครอบคลุมกับสิ่งที่ทางสหรัฐเป็นกังวลได้นั้น (แต่ดูจากสีหน้า เจ้าหน้าที่อเมริกันดูจะไม่ค่อยเชื่อเท่าใดนัก) ดิฉันอดขำ แกมสะใจไม่ได้ที่ ดร.ดวงทิพย์ (หญิงเก่งในดวงใจดิฉัน) ก็ปิดท้ายฝ่ายไทย ด้วยการหยอดกลับว่า (ขอแปลตามความเข้าใจดิฉันนะคะ คงไม่สละสลวยนัก และอาจจะไม่ครอบคลุมความหมายที่ ท่านดวงทิพย์กล่าวทั้งหมด) ทางไทยขอน้อมรับต่อประเด็นต่างๆ ที่ทางสหรัฐชี้ให้เห็น และที่เพิ่มข้อเสนอแนะให้คณะทำงานนำไปปรับปรุง แต่เืนื่องจากไทยก็มีวิถีของไทย และมีวัฒนธรรมโครงสร้างกฏหมายแตกต่างไปจากของอเมริกัน เราก็จะมีวิธีออกกฏหมายตามวิธีของไทย ซึ่งสหรัฐอาจจะขัดใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐก็มีปัญหากับกฏหมายที่เคยออกไปแล้ว จึงพบว่า รัฐบาลต้องออกกฏหมายมาแก้ไขกฏหมายฉบับก่อนๆ ที่เคยประกาศใช้ไปแล้ว เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐต้องออกกฏหมายใหม่มาเพิ่มแทบทุกปี (ฝ่ายไทยนั่งฟังกัน แล้วหัวเราะกลิ้งกันทุกคน) และหวังว่า รัฐบาลสหรัฐ จะให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างดีอย่างที่เคยเป็นมา และขอบคุณที่เชิญฝ่ายไทยมาแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีวันนี้

ิโดยส่วนตัว ดิฉันอดสนุกและตื่นเต้นไปกับการแลกเปลี่ยน ความเห็นอย่างวันนี้เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันอดคันหัวใจ และออกมาเขีียนข้อสังเกตส่วนตัวใน blog วันนี้ว่า 

  • ทำไมฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องไปรายงานความคืบหน้าของกฏหมายฉบับนี้ ต่อรัฐบาลสหรัฐ (ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของสถานฑูต) ทั้งๆ ที่เราควรจะนำมาบอกเล่ากับสมาชิกสภานิติบัญญัติเสียมากกว่า ประเทศไทย ไม่ได้เป็นอาณานิคมนอกอาณาเขตใดๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกานะคะ
  • เจ้าพนักงานรัฐของฝ่ายอเมริกัน ทำไมกล้าจะมาวิพากย์วิจารณ์ข้อกฏหมาย และวิธีการออกกฏหมายของไทย รวมไปถึงเสนอว่า ไทยควรจะเขียนอะไรในกฏหมาย ... มันไม่ก้าวก่ายการบริหารงานของประเทศอื่นมากไปหน่อยหรือ? อเมริกา ไม่ใช่เจ้าโลกนะคะ
  • ความไม่สามารถด้านภาษาอังกฤษของไทย (แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงภาครัฐของไทย) ก็ทำให้ตอบโต้เจ้าของภาษาได้ไม่ถนัด .. ดิฉันหมายถึงว่า เจ้าของภาษาสามารถพูดจาเหน็บแนมได้เก่งกว่า แต่ฝ่ายไทยพูดไปได้แค่ทื่อๆ แต่หากเลือกพูดเป็นภาษาไทย จะสามารถใช้โวหารต่อกรได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า (แต่ประเทศไทยโชคดีที่ ดร.ดวงทิพย์ "ทันฝรั่ง")
  • ดิฉันกลัว ร่าง พรบ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ฯ นี้ไม่ผ่าน สนช. จัง !!! กลัวรัฐบาลขิงแก่ง่ะ

จริงๆ อยากเล่าบรรยากาศเปรี๊ยะๆ กว่านี้ค่ะ กลัวแต่ลายลักษณ์อักษรมันเป็นหลักฐานมัดตัว แฮะๆๆๆ มีอะไร ก็แอบถามมาละกันค่ะ

 

แล้วจะหาเวลามาปั่นเรื่อง censorship ในประเทศมาเลเซียและสิงค์โปร์แทนนะคะ (ติดการบ้านไว้ก่อน)    

หมายเลขบันทึก: 92295เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กรณีคลิปของ YouTube ที่ผิดกฏหมายไทยนั้น เราเองก็เล่นผิดเกมครับ ควรจะฟ้องร้องกับศาลให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายอาญาจริง (ไม่ใช่ผู้มีอำนาจคิดเอาเอง)

ขั้นต่อไปก็ดำเนินการให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

กรณีศึกษาการ block youtube ในตุรกี

อะไรคือจุดประสงค์หลักในการร่วม สัมมนา ระหว่างไทยกับ อเมริกา ในครั้งนี้ครับ

อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมฝรั่งมันมายุ่งอะไรกับคนไทยนักหนา

เวลาคนไทยมีปัญหาไม่เห็นมันจะช่วยอะไร

และถ้า ร่าง พรบ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ฯ ไม่ผ่านนี่ คงต้องมานั่งคิดใหม่ทำใหม่กันอีกมั้งครับ

ถ้าไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป
พี่หมวยช่วยหา ตัวอย่าง Computer Crime 
ของทาง อเมริกามาให้ดูหน่อยก็ดีครับ

 

 

เห็นด้วยในทุกประเด็นที่กล่าวมาใน ข้อสังเกตส่วนตัวใน blog ครับ

ผมคิดมาตลอดว่า ทำไมเราถึงต้องใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย ทั้งที่เราก็พยายามสร้างความภูมิใจในเอกราชของเราอยู่เสมอ ผมไม่เห็นว่าจีน หรือญี่ปุ่น จะใช้ภาษาต่างชาติในการสื่อสารเลย

ตัวอย่างง่าย และใกล้ คือ โอลิมปิกที่จัดในจีน พิธีกร พูดจีน การแสดงเป็นภาษาจีน เป็นต้น

ปล. ไม่ได้หัวรุนแรงนะครับ แต่ไม่เข้าใจว่าเราจะรักษาเอกราชได้อย่างไร หากเพียงแค่ภาษาของเราเรายังไม่ใช้ และเอาใจต่างชาติมาก ยังกับเป็นอาณานิคมของเขาเลย

จาก ข้าราชการไทย ซีน้อยด้อยขั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท