ปลาทะเล มีดีอีกแล้ว


เราๆ ท่านๆ คงจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าปลาทะเลมาแล้วไม่มากก็น้อย วันนี้มีข่าวดีสำหรับท่านที่ชื่นชอบปลาทะเลครับ…

 Reef  

เราๆ ท่านๆ คงจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าปลาทะเลมาแล้วไม่มากก็น้อย วันนี้มีข่าวดีสำหรับท่านที่ชื่นชอบปลาทะเลครับ…

ท่านอาจารย์เจนิซ เค. คีโคลท์-เกลเซอร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยแพทย์โอไอโอ สเทท สหรัฐฯ ทำการศึกษาสัดส่วนของไขมันชนิดโอเมกา-3 (มีมากในปลาทะเล) และไขมันชนิดโอเมกา-3 (มีมากในน้ำมันพืช)

ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 43 คน ซึ่งเป็นคนสูงอายุพบว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า 6 คนมีสัดส่วนของการกินไขมันชนิดโอเมกา-6 (มีมากในน้ำมันพืช)ต่อโอเมกา-3 (มีมากในปลาทะเล)สูงเป็น 18 เท่า มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 13 เท่า

คนโบราณสมัยที่ยังไม่มีการทำไร่ทำฟาร์มกินอาหารที่มีสัดส่วนโอเมกา-6 (มีมากในน้ำมันพืช) ต่อโอเมกา-3 (มีมากในปลาทะเล) ค่อนข้างต่ำคือ 2-3 ต่อ 1

คนตะวันตก(ฝรั่ง)ทุกวันนี้กินอาหารประเภททอด ผัดด้วยน้ำมันพืชมากขึ้น และกินอาหารจากการทำไร่ทำฟาร์มมากขึ้น เช่น สัตว์ที่ขุนด้วยโปรตีนถั่วเหลือง ฯลฯ ทำให้ได้รับไขมันชนิดโอเมกา-6 จากพืชบนบกมากขึ้นเป็น 15-17 เท่า(เทียบกับโอเมกา-3 ที่มีมากในปลาทะเล)

อาหารทะเลมีสัดส่วนโอเมกา-3 สูง เนื่องจากสัตว์ทะเลหรือสัตว์น้ำมีวัฏจักรอาหารมาจากสาหร่ายทะเล ซึ่งมีสัดส่วนโอเมกา-3 สูง

วัฏจักรอาหารทะเลเริ่มจากสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น กุ้ง ตัวเคย แพลงค์ตอน ฯลฯ กินสาหร่ายทะเล ปลาเล็กกินสัตว์เล็กสัตว์น้อย และปลาใหญ่กินปลาอีกต่อหนึ่ง

อาจารย์เจนิซกล่าวว่า การกินอาหารที่มีสัดส่วนไขมันโอเมกา-6 จากพืชบก และน้ำมันพืชมากขึ้นมีส่วนทำให้เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า และโรคที่มีความสัมพันธ์กับการอักเสบ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ข้ออักเสบ ฯลฯ เพิ่มขึ้น

วิธีง่ายๆ ที่จะเพิ่มไขมันชนิดดีมาก (โอเมกา-3) ซึ่งมีมากในปลาทะเล และลดไขมันชนิดไม่ค่อยดี (โอเมกา-6) ซึ่งมีมากในน้ำมันพืชได้แก่…

  • การกินอาหารประเภทผัดๆ ทอดๆ ให้น้อยลง โดยเฉพาะอาหารนอกบ้าน และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากส่วนใหญ่ทอดด้วยน้ำมันพืช ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง (น้ำมันปาล์ม) หรือไขมันชนิดไม่ค่อยดี (โอเมกา-6) สูง เช่น น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย ฯลฯ
  • กินอาหารทำเองให้มากขึ้น โดยใช้น้ำมันที่มีโอเมกา-6 น้อยหน่อยได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง(มีจำหน่ายในพม่า) ฯลฯ
  • กินปลาทะเล เช่น แซลมอน แมคเคอเรล ซาร์ดีน ฯลฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในกระป๋อง
  • ถ้ารวย... อาจจะหาพืชที่มีไขมันชนิดดีมาก (โอเมกา-3) มากิน เช่น แฟลกซีด (flax seed), วอลนัท ฯลฯ ขออภัยครับ... ไม่รวยก็กินได้ ถ้าคิดว่า "คุ้ม"…

สรุปง่ายๆ คือ

  • กินอาหารผัดๆ ทอดๆ ให้น้อย
  • ทำกับข้าวกินเองบ้าง แนะนำให้ใช้น้ำมันรำข้าวผสมกับน้ำมันถั่วเหลือง ถ้าผัดทอดด้วยความร้อนสูง... ให้ผสมน้ำมันรำข้าวมากหน่อย น้ำมันถั่วเหลืองน้อยหน่อย ถ้าผัดทอดด้วยความร้อนต่ำ... ให้ผสมน้ำมันรำข้าวน้อยหน่อย น้ำมันถั่วเหลืองมากหน่อย
  • กินปลาทะเลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเราทุกท่านทุกคนมีความสุข มีสุขภาพดี และมีโอกาสกินอาหารที่ดีกับสุขภาพครับ...

    หมายเหตุ:     

  • น้ำมันถั่วเหลืองมีสัดส่วนโอเมกา-3 และโอเมกา-6 ผสมกันอยู่ประมาณอย่างละครึ่ง นับเป็นน้ำมันที่ค่อนข้างดี (ถ้าไม่กินปลา และน้ำมันปลา)

    แหล่งที่มา:     

  • ขอขอบพระคุณ (thank / courtesy of) > Anne Harding. Fatty acids tied to depression and inflammation. > [ Click - Click ] > http://today.reuters.com/news/articlenews.aspx?type=healthNews&storyid=2007-04-17T171024Z_01_COL761581_RTRUKOC_0_US-FATTY-ACID.xml&src=nl_ushealth1400 > April 17, 2007. // source: Psychosomatic Medicine, online March 30, 2007.
  • ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี + อาจารย์เทวินทร์ IT + พต.ศรัณย์ มกรพฤฒิพงษ์ โร > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.
  • ขอขอบพระคุณ > ศูนย์มะเร็งลำปาง + อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และคุณเบนซ์(ชื่อรวย ตัวจริงไม่รวย) IT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๑๘ เมษายน ๒๕๕๐.
  • เชิญอ่าน "บ้านสาระ" ที่นี่ > http://gotoknow.org/blog/talk2u
หมายเลขบันทึก: 90910เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2007 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ขอบคุณ คุณหมอวัลลภที่นำเสนอสิ่งดีดี  ทุกวันนี้ก็พยายามรับประทานปลาทะเลพร้อมกับความกังวลว่าอาจไดก้รับสารอันตรายที่ผู้ค้าใช้แช่ปลาให้สดอยู่เสมอ

ขอขอบพระคุณอาจารย์จิดาภา...

  • ปลาทะเลที่น่าจะปลอดภัยที่สุดตอนนี้... คงเป็นปลากระป๋อง รองลงไปเป็นปลาอะไรก็ได้ที่ไม่แพงมากเกิน และเป็นปลาสด เช่น ปลาทู ฯลฯ
  • ปลาตากแห้ง หรือปลาเค็มน่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหน่อยจากการได้รับเกลือมากเกิน

เหตุผลที่น่าทานปลากระป๋องมีอย่างนี้...

  1. ปลากระป๋องชนิดกินกระดูกได้มีแนวโน้มจะมีราคาถูก + มีแคลเซียม แมกนีเซียม และแร่ธาตุต่างๆ สูงมาก ปลากระป๋องชนิดมีแต่เนื้อมีแคลเซียมต่ำ
  2. ไขมันโอเมกา-3 ในปลากระป๋องอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าปลาทั่วไป ซึ่งจะถูกออกซิเจนในอากาศทำลาย (และเกิดกลิ่นเหม็นหืน หรือเหม็นคาว) ทำให้เกิดไขมันเสื่อมสภาพ
  3. โอกาสเกิดอาหารเป็นพิษน้อยมาก เนื่องจากการผลิตมีมาตรฐานสูง และมีการแข่งขันด้านคุณภาพสูง

ข้อควรระวังในการกินปลากระป๋องมีอย่างนี้...

  1. ปลากระป๋องมีเกลือค่อนข้างสูง... วันไหนกินปลากระป๋องควรลดอาหารเค็ม อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูปชนิดอื่น และควรลดเกลือ+น้ำปลา+ซอส+ซีอิ๊วอื่นๆ ลงไป
  2. วิธีลดปริมาณเกลือง่ายๆ... ถ้าเป็นปลากระป๋องแบบแพงที่มีแต่เนื้อปลา ควรเลือกซื้อชนิดไม่ผ่านการทอด และไม่แช่น้ำมันพืช > ให้ใช้น้ำสะอาดรินผ่านกระป๋อง เพื่อให้น้ำเกลือไหลออก
  3. วิธีลดประมาณเกลือง่ายๆ... ถ้าเป็นปลากระป๋องที่มีน้ำปน เช่น ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ ฯลฯ ให้กินซอสไม่เกิน 1/2 ของทั้งหมด
  4. ปลากระป๋องที่เปิดแล้ว ให้ถ่ายใส่ภาชนะอื่น เพื่อป้องกันการละลายดีบุกจากกระป๋อง (เกิดขึ้นเมื่อด้านในกระป๋องสัมผัสกับอากาศ หรืออกซิเจน)

 แล้วปลาดิบในอาหารญี่ปุ่นหล่ะครับ ทานมากจะดีมั้ยครับ

  แล้วก็เรื่องพยาธิในปลาทะเล จะเป็นพยาธิในร่างกายเราได้มั้ยครับ

  ขอบคุณอาจารย์วัลลภ ครับ

ขอขอบคุณ... คุณนักลงทุนเงินน้อย

  • ปลาดิบในอาหารญี่ปุ่นทานมากคงจะไม่ดีครับ เพราะแพง
  • ความจริงการกินเนื้อสัตว์น่าจะถือหลัก "น้อยไว้ละดี"

ปลาทะเล...

  1. กินพอประมาณ (2-5 ครั้ง / สัปดาห์) น่าจะดี เพราะการกินโปรตีนมากเกินจะทำให้เกิดกรดมากขึ้น ไตทำงานหนักขึ้น
  2. การกินอาหารทะเลมากเกินทำให้มีโอกาสได้รับสารพิษ เช่น ปรอท ฯลฯ เพิ่มขึ้น ปลาตัวโต+อายุยืนมีสารพิษสูงขึ้น เช่น หูฉลาม ฯลฯ (คนท้องควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่าน เช่น พยาบาล แพทย์ อนามัย ฯลฯ)

ที่มา:

พยาธิ:

  • เท่าที่ทราบ... ปลาทะเลน้ำลึกไม่มีพยาธิที่ติดต่อมาถึงคนครับ...

ชอบที่อ.หมอตอบมากเลยค่ะ

  • "ปลาดิบในอาหารญี่ปุ่นทานมากคงจะไม่ดีครับ เพราะแพง" : )

ส่วนเรื่องพยาธิที่ทำให้คนป่วยได้นั้น สามีมัทเป็น fish biologist ฝากมาบอกว่า ในปลาทะเลก็มีค่ะ แต่ถ้าเตรียมปลาดีๆก็จะสามารถกำจัดพยาธิตัวกลม ตัวแบนเหล่านั้นได้

เช่น ในกรณีปลาดิบ ต้องแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20°C อย่างน้อย 24 ชม.

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ 

ขอขอบพระคุณอาจารย์มัทนา...

  • ขอขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และให้ข้อมูลที่สำคัญมากๆ
  • พี่ชายผม (รังสรรค์ พรเรืองวงศ์ - วิศวกร) เพิ่งถามในช่วงสงกรานต์ (16 เมษายน 50) นี่เองว่า ปลาทะเลมีพยาธิหรือไม่

ขอขอบพระคุณ...

  • การมีท่านผู้รู้ชี้แนะเช่นนี้มีคุณค่าต่อองค์ความรู้ของประเทศมากทีเดียว
  • ผมเพิ่งทราบเป็นครั้งแรกว่า ต้องแช่แข็งที่ -20 องศาเซลเซียส นานถึง 24 ชั่วโมง...
  • ทีนี้ถ้าร้านอาหารนำปลาที่ไม่ได้มาตรฐานมาล่ะ... คิดแล้วกลัวเลย
ขอบคุณอาจารย์ครับ ทั้งอาจารย์วัลลภ และอาจารย์มัทนาครับ

ขอขอบคุณ... คุณนักลงทุนเงินน้อย

  • เรื่องนี้ขอขอบพระคุณอาจารย์มัทนามากเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อมูลที่ทรงคุณค่าต่อพวกเรามากครับ... สาธุ สาธุ สาธุ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท