4. กลุ่มเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ


เรียนรู้เพื่อชุมชนของเยาวชนจิตอาสา

4. กลุ่มเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ

             กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ มีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียนรู้ร่วมกันกับผู้รู้ในชุมชน ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการสิทธิชุมชนศึกษา ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กรณีศึกษาลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ  ตั้งแต่ปี 2546 การดำเนินการวิจัยของโครงการเน้นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้เกิดการตระหนักถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร และหนุนเสริมการปฏิบัติการการมีส่วนร่วมของชุมชนในด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างทางเลือกในการจัดการทรัพยากรที่เป็นมิติการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ   ภายใต้โจทย์ที่กำหนดเป้าหมายร่วมกัน คือ ทำอย่างไรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบที่เป็นแบบองค์รวม เกิดการเชื่อมโยง เหมาะสมกับนิเวศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ และเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ของลุ่มน้ำอื่น  เนื่องจากพื้นที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์  ระบบการผลิต  ทั้งระบบการจัดการน้ำเหมืองฝายของชุมชนพื้นราบ  การจัดการป่าชุมชนร่วมกับระบบการเกษตรท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของกลุ่มป่าเมี้ยง และการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงของกลุ่มชาติพันธ์ กว่า 10 ชุมชน  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,250 ไร่  มี  ประกอบด้วย 

            ชุมชนชาติพันธ์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ    บ้านป่าโหล (ลาหู่) มีชุมชนอาศัยอยู่กว่า 40 ครอบเรือน บ้านสันป่าเกี๊ยะ (ม้ง) มีชุมชนอาศัยอยู่กว่า 100 ครัวเรือน อาศัยอยู่ในพื้นที่มากว่า 40-50 ปี ชุมชนทำการเกษตรลักษณะเชิงเดี่ยว จาการส่งเสริมตามโครงการพัฒนาของรัฐ และตอบสนองความต้องการของกลไกตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าและชุมชนใกล้เคียงในบริเวณป่าต้นน้ำแม่แมะ-แม่นะ 

            ชุมชนป่าเมี้ยง   เป็นชุมชนพื้นราบที่ขึ้นไปอาศัยอยู่บนดอย (พื้นที่กั้นระหว่างชุมชนชาติพันธ์และกลุ่มเหมืองฝาย ) ได้แก่ บ้านปางฮ่าง บ้านปางมะโอ บ้านแม่ซ้าย บ้านแม่แมะ ทำอาชีพสวนเมี้ยง เป็นระบบการเกษตรที่เกื้อกูลระหว่างพื้นที่ป่า พื้นที่สวนเมี้ยง และพื้นที่ป่าใช้สอยของชุมชน ที่อยู่ในระดับความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าสน มีความหลากหลายของพืช เช่น ไม้ยาง ไม้ก่อ และสัตว์ที่หายาก เช่น กวางผา เลียงผาเป็นต้น 

            ชุมชนพื้นราบ เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม ได้แก่    บ้านป่าบง บ้านแม่นะ บ้านจอมคีรี บ้านห้วยโจ้ เป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานมาไม่น้อยกว่า 200-300 ปี มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พึ่งพิงทรัพยากรในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิน น้ำ ป่า โดยเฉพาะจาก น้ำ 

          ทั้งนี้ภายใต้การทำงานร่วมกับผู้รู้ได้มีการเชื่อมโยงกิจกรรมไปยังองค์กรชุมชน และกลุ่มต่างในชุมชน รวมทั้งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่โครงการฯ โดยในช่วงแรกเป็นการเรียนรู้คู่ขนานกับผู้รู้ และต่อมาได้มีการก่อตั้งเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ โดยแยกออกเป็นสองส่วน คือ คณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ (ผู้รู้ ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน) และเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะแม่นะ ในปี 2547 โดยเครือข่ายเยาวชนได้ทำกิจกรรมเพื่อขยายเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษาและนอกระบบการศึกษากลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ   เน้นการดำเนินการเชิงปฏิบัติในการเรียนรู้ ระหว่างเยาวชนและชุมชน เช่น ค่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ การจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม ในส่วนของแผนเยาวชนเข้าสู่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ การทำฝายแม้ว ปลูกป่า ร่วมกับชุมชนเป็นต้น  

          วัตถุประสงค์ขององค์กร 

           1.   สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ ในการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วม ทั้งทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ และเพื่อสร้างการตระหนักในการหวงแหนทรัพยากรฯ เข้าใจวิถีชุมชน และรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์

           2.    พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน และสมาชิกเครือข่ายฯ ทั้งทางด้านการสันทนาการ การจัดการ การวางแผน วิชาการ นักสื่อสาร เพื่อเป็นกลไกในการขยาย /เชื่อมร้อยเครือข่ายและขยายการเรียนรู้ไปยังกลุ่มเยาวชนฯในพื้นที่ และขยายสู่เยาวชนพื้นที่ลุ่มน้ำใกล้เคียง 

           3.    หนุนเสริมระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ และเกิดการเชื่อมสายสัมพันธ์ ความใกล้ชิดของสังคมการเรียนรู้ระหว่างผู้รู้และเยาวชนในการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เกิดการเชื่อมถ่ายระหว่างคนต่างรุ่น อันจะเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทางสังคมของเยาวชนรุ่นใหม่  

          ผลงานขององค์กรเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา 2547-2549) 

           1.   เวทีวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะร่วมกับเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ และเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่ปิง ตอนบน พร้อมจัดทำร่างแผนการจัดการทรัพยากรของเครือข่ายเยาวชนฯเสนอสู่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ

           2.   กิจกรรมรณรงค์การท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวอย่างยั่งยืน   เนื่องจากตระหนักว่าดอยหลวงเชียงดาวไม่ใช่เพียง แหล่งที่สำคัญเท่านั้น แต่ดอยหลวงเชียงดาวยังมีความสำคัญมิติต่างๆที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่โดยรอบดอยหลวงเชียงดาว ทั้งเป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารและยา พื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญทางด้านการผลิต การเมือง เป็นต้น 

           3.   กิจกรรมสำรวจความหลากหลายในพื้นที่ป่าและน้ำ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการระหว่างเยาวชนและผู้รู้ในชุมชน ในการศึกษาความหลากหลายของระบบนิเวศน์ป่าและน้ำ ความหลากหลายของพรรณไม้ท้องถิ่น คุณค่า ความสำคัญ และข้อบ่งชี้ธรรมชาติ และความหลากหลายของพรรณสัตว์น้ำในลำน้ำแม่แมะ

            4.   กิจกรรมปลูกป่า และฝายแม้ว โดยทำร่วมกับชุมชนทั้งในพื้นที่และในส่วนของอำเภอในวันสำคัญๆต่างๆ  

            5.  ค่ายสิ่งแวดล้อมเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ผ่านชุดประสบการณ์และภูมิปัญญาองค์ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการและเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ ว่ามีความสัมพันธ์กับการพึ่งพิงฐานทรัพยากรอย่างไร 

           6.  กิจกรรมบวชป่า สืบซะตาน้ำแม่   โดยใช้ประเพณีและพิธีกรรมเป็นตัวเชื่อมร้อยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และตระหนักในคุณค่าและความสำคัญ โดยเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ และเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะเป็นผู้ดำเนินการ 

           7.  กิจกรรมการเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น เป็นกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2549   เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าการปัญหาไฟป่า และการบุกรุกทำลาย  การปลูกต้นไม้ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพป่าต้นน้ำ เช่น ป่าสน ป่ายูคาลิปตัส เป็นต้น อีกทั้งเล็งเห็นว่าการนำกล้าไม้มาแจกจ่ายในแต่ละปีมีพรรณไม้หลายชนิดที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการพึ่งพิงของคนและสัตว์ในพื้นที่ จึงได้ร่วมกับผู้รู้และชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ศึกษาพรรณไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละส่วน และเป็นพรรณไม้ที่ก่อให้เกิดความหลากหลายแก่ระบบนิเวศน์ เพื่อทำการค้นหาพรรณไม้ ในการเพาะและปลูกคืนสู่ผืนป่า  โดยดำเนินการในช่วงต้น คือในส่วนของการศึกษาพรรณไม้และจัดเก็บเมล็ดพรรณ 

           จุดเด่น /จุดแข็ง (ด้านองค์กร) 

1.    การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา การคิดกิจกรรม การจัดวางกระบวนการ และการบริหารจัดการงบประมาณ การระดมทุนด้วยตนเองของเครือข่ายเยาวชนฯกลายเป็นจุดแข็งประการหนึ่งของเครือข่ายเยาวชนที่ทำให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของเครือข่าย และทำเป็นการทำกิจกรรมที่มาจากความต้องการของกลุ่ม   

2.     การขยายเครือข่าย จากพ่อสู่ลูก (พ่อในที่นี้ คือคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ) จากเพื่อนสู่เพื่อน จากพี่สู่น้อง ทำให้การดำเนินกิจกรรมเครือข่ายมีความเข็มแข็งและเยาวชนมีความสนุกสานในการทำกิจกรรม  

3.  เครือข่ายเยาวชนแม่นะ เป็นเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน ทั้งจากชุมชน ทั้งจากผู้นำ ผู้รู้ ครูชาวบ้านในชุมชน และจากผู้ปกครองของกลุ่มเยาวชน    

4.  ได้รับการหนุนเสริมและสนับสนุนกิจกรรมจากหน่วยงานองค์กร ในพื้นที่ ทั้งภาคส่วนเอกชน องค์การบริหารส่วนตำบล สถานศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน  

          จุดเด่น /จุดแข็ง  (ด้านกิจกรรม หรือผลงาน)

          ผลงาน การดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนฯ  คือ ค่ายสิ่งแวดล้อมเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ  ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี และ โครงการเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น เพราะเป็นโครงการที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะการวางแผนการดำเนินการกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ของเครือข่ายที่จะต้องมีการประสานงาน การวางแผน การดำเนินกิจกรรมที่และเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้วยตนเองและการเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน ทั้งกลุ่มผู้นำ  กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้รู้ โดยใช้ฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชุมชนได้มีการจัดการอยู่แล้ว ทั้งดิน น้ำ ป่า ระบบเหมืองฝาย วัฒนธรรมชนเผ่า  

           เนื่องจากกลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะเป็นกลุ่มเยาวชนอิสระในการดำเนินการกิจกรรมภายใต้องค์กรเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มจะใช้วิธีการระดมทุนในการทำกิจกรรมเป็นครั้งๆไป  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สถานศึกษาในพื้นที่  องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมานองค์กรพัฒนาเอกชน  เงินปันส่วนจากการทำกิจกรรมของเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ          ทั้งนี้การขอรับการสนับสนุนจากขอรับทั้งงบประมาณ   วัสดุอุปกรณ์    สถานที่  ยานพาหนะ ตามที่และองค์กรจะสะดวกในการสนับสนุน   ที่สำคัญทางกลุ่มที่ได้ทำกิจกรรมเพื่อระดมทุนโดยตัวของเยาวชนเอง เช่น การทำกล่องบริจาคไปวางตามห้างร้าน ธนาคารในพื้นที่   รับบริจาคในชุมชน และแสดงกิจกรรมละครใบ้  หุ่น บริเวณลานถนนคนเดิน (ในตัวเมืองเชียงใหม่) หรือกิจกรรมการออกร้าน เช่น สอยดาว ขายอาหาร น้ำ ในงานบุญประเพณีของชุมชน เช่น งานปอยหลวง  เป็นต้น         รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานองค์กรภายนอก ที่เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเยาวชนในการทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เช่น   กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และงบสนับสนุนโครงการเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่นจาก มูลนิธิกองทุนไทย เป็นต้น

               ตัวแทนเยาวชน  1. นายชัยวัตร  คำมา                                           2. นางสาวอำพร  กันทา

                พี่เลี้ยงกลุ่ม     1. นางสาวกิติมา ขุนทอง  

http://www.tff.or.th

ย้อนอ่านรายละเอียดของกลุ่มที่  2  3  และติดตามความเป็นมาเวทีเยาวชนจิตอาสาเพื่อพัฒนาตนเอง  ตอนที่ 1  ตอนที่ 2  ตอนที่ 3

หมายเลขบันทึก: 86689เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท