พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ... พฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับสติปัญญา


พฤติกรรมการศึกษา ได้จำแนกออกเป็นหมวดหมู่ (Domain) ซึ่ง บลูม (Bloom) และคณะ ได้แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ  เรียกว่า หมวดการเรียน คือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และ ทักษะพิสัย

 

ในบันทึกนึ้ ขอกล่าวถึง พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ก่อน

 

เวลาเรียนหนังสือ ครูมักจะบอกกับนักเรียนว่า หลังจากนักเรียนเรียนเรื่องนี้แล้ว นักเรียน ....

  • สามารถ "รู้และจดจำ" เรื่องนี้ ได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถ "เข้าใจ" เรื่องนี้ ได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถ "นำความรู้" เรื่องนี้ไปใช้ ได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถ "วิเคราะห์" เรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถ "สังเคราะห์" เรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถ "ประเมินค่า" เรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง

 

คำว่า "รู้และจดจำ" , "เข้าใจ" , "นำความรู้" , "วิเคราะห์" , "สังเคราะห์" และ "ประเมินค่า" คือระดับการเรียนรู้ของสติปัญญาผู้เรียนที่ครูอยากให้ถึงเป้าหมายในระดับต่าง ๆ

 

พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด หรือพฤติกรรมทางด้านสมองของบุคคล ในอันที่ทำให้มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา การเรียนการสอนในปัจจุบันยังเน้นในด้านนี้มากพฤติกรรมทางพุทธิพิสัย แบ่งได้เป็น 6 ระดับ ได้แก่

 

1. ความรู้ความจำ  เป็นความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่าง ๆ จากการที่ได้รับรู้ไว้และระลึกสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการ เปรียบดังเทปบันทึกเสียงหรือวีดิทัศน์ที่สามารถเก็บเสียงและภาพของเรื่องราวต่าง ๆ ได้ สามารถเปิดฟัง หรือ ดูภาพเหล่านั้นได้ เมื่อต้องการ

 

2. ความเข้าใจ เป็นความสามารถในการจับใจความสำคัญของสื่อได้ และสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความ หรือ การกระทำอื่น ๆ

 

3. การนำความรู้ไปใช้  เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้ เช่น นำหลักของการใช้ภาษาไทยไปใช้สื่อความหมายในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องและเหมาะสม

4. การวิเคราะห์  เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถคิด หรือ แยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน เช่น

คน 2 คน มองดูต้นไม้ต้นเดียวกัน

คนแรก วิเคราะห์ต้นไม้ ออกเป็น 4 ส่วน คือ ราก ลำต้น ใบ และ ดอก

คนที่สอง วิเคราะห์ต้นไม้ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนดิน และ ส่วนใต้ดิน

5. การสังเคราะห์  ขั้นนี้เป็นความสามารถในการที่ผสมผสานย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย การกำหนดวางแผนวิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือ อาจจะเกิดความคิดในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบ หรือ แนวคิดใหม่

 

6. การประเมินค่า  เป็นความสามารถในการตัดสิน ตีราคา หรือ สรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรืออาจเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้ เช่น

การสรุปว่า งูเห่ามีประโยชน์ในวิชาทางการแพทย์

แต่สังคมโดยทั่วไปจะสรุปว่า งูเห่านั้นมีโทษ เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

 

นี่เป็นการวางลำดับขั้นการเรียนรู้ให้กับนักเรียนก่อนสอน ... มักจะเป็นการวางไว้ในสิ่งที่เรียกว่า "แผนการสอน" เมื่อนักเรียนเรียนรู้เรื่องนี้แล้ว นักเรียนควรจะมีความสามารถทางสติปัญญาถึงขั้นไหนดี แน่นอนว่า ขั้นที่ครูอยากให้ถึงมากที่สุด คือ การประเมินค่า ... ซึ่งต้องขึ้นอยู่เนื้อหาวิชา ความรู้นั้น ๆ ว่า ควรจะเป็นขั้นนี้หรือไม่ เนื้อหาบางเนื้อหาอาจจะถึงแค่ ความรู้ความจำ หรือ ความเข้าใจ ก็ยังได้ แล้วแต่ธรรมชาติของเนื้อหาเอง

 

การนำเสนอเรื่องราวของ พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) นี้ มีสาเหตุมาจากคำว่า "วิเคราะห์" หรือ "สังเคราะห์" ... ผู้ที่มิได้ศึกษาทางวิชาชีพครู อาจจะงงว่า เอะ คำสองคำนี้ต่างกัน หรือ เหมือนกัน อย่างไร ... ดังเช่น เรามักพบในข้อคำถาม ดังต่อไปนี้

  • จง วิเคราะห์ บทความต่อไปนี้ ..................... แล้วเขียนลงในสมุดคำตอบ
  • จง สังเคราะห์ บทความต่อไปนี้ .................. แล้วเขียนลงในสมุดคำตอบ

 

เห็นแล้วก็งง ตกลงว่า "วิเคราะห์" คืออะไร หรือ "สังเคราะห์" คืออะไร

วิเคราะห์ คือ การแยกแยะเรื่องราวออกเป็นส่วนย่อย

สังเคราะห์ คือ การผสมผสานส่วนย่อยเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างระบบ

 

อีกประการทำให้เราทราบที่มาว่า คำว่า วิเคราะห์ สังเคราะห์ มาจากทฤษฎีหมวดการเรียนของ บลูม และคณะ นั่นเอง โดยอยู่ที่ เรื่องของสติปัญญา หรือ พุทธิพิสัย

 

อ๋อ ... เนื้อหาวิชาที่จัดอยู่ในเรื่องของการวัดทางสติปัญญา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น

 

อ่านผ่านไป ... ไม่ทราบว่า ผมเขียนพอจะอ่านรู้เรื่องและสร้างความเข้าใจให้ผู้อ่านบ้างหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความรู้ที่นักการศึกษา และ ครู หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรทราบนะครับ

 

ขอบคุณครับ :)

 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง ... 

หมายเลขบันทึก: 173824เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2008 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นอย่างไรบ้างค่ะ อากาศเชียงใหม่ร้อนเท่าแม่ฮ่องสอนไหมค่ะ

แม่ฮ่องสอนร้อนมาก หมอกควันเยอะมากทำให้มีแต่คนไม่คอยสบาย

เข้ามาอ่านของอาจารย์แล้วได้รับความรู้มากขึ้นค่ะ เพราะเรียนมาแล้วอาจลืมต้องทบทวนใหม่

สวัสดีครับ คุณครูวันดี ผักกาด

  • อากาศร้อนจนไม่อยากออกไปไหนเลยล่ะ
  • ใจยังสู้อยู่ใช่ไหมตอนนี้ ...
  • หมอกควันเกิดจากคน ... คนฆ่าพี่น้องตัวเอง และตัวเอง ยังไงล่ะ ... ไม่ไหวเลย
  • เรียนมาแล้วลืม ก็ตก อ่ะสิ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีครับอาจารย์

ตอนเรียนมัธยมคุ้นแต่คำว่า...คะแนนจิตพิสัย ครับ

ขอมาตามติดตอนต่อไปนะครับ แต่ขอคิดเล่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาจารย์

พุทธิพิสัย ; ความเป็นผู้มีเหตุ มีผล สนใจใฝ่รู้แล้วน้อมมาสู่ตน (กาลามสูตร 10 และสัปปุริสธรรม 7)

จิตพิสัย ; ความเป็นผู้มีจิตใจเอื้อเฝื้อ เผื่อแผ่ มีจิตอาสา ทำอะไรด้วยความมุ่งมั่น (พรหมวิหาร4 และ อิทธิบาท 4)

ทักษะพิสัย ; ความเป็นผู้รู้จริงจากการปฏิบัติ(PDCA วิมังสา)

สวัสดีครับ คุณ ข้ามสีทันดร

  • เปรียบเทียบกับหลักธรรมได้งดงามมากครับ ผมสนใจศึกษาต่อเลยนะนั่นน่ะ :)
  • ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

ขอบคุณครับ :)

ขอบคุณครับอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณมากนะคะ

ที่ให้ความรู้

ตอนนี้กำลังเรียน จิตวิทยาพื้นฐานการศึกษาอยู่ค่ะ

ยินดีครับ น้องสุดารัฐ ;)

สู้ สู้ ครับ

หลักธรรมที่ใช้กับ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และ ทักษะพิสัย เป็นเรื่องที่น่าจะต่อยอดในหน้านี้ให้ชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างมั่นใจ ขอเชิญ ผู้รู้ ผู้ช่ำชองประสบการณ์ทั้งหลาย ได้กรุณาโพสเข้ามากันมาก ๆ จะเป็นกุศลอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณมากครับ ท่านถาวร ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท