เรื่องเล่าจากดงหลวง 87 เที่ยวป่าช้าผู้ไทย


แรกสุดทีเดียวเห็นไม้กากะบาดแล้วก็แปลกในว่าทำไมต้องทำแบบนี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนามากกว่าพุทธศาสนา หรือว่าบ้านแก่งนางนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่ง ก็ไม่ใช่ แล้วทำไมต้องไม้กากะบาดเหมือนไม้กางเขน

 

เที่ยวป่าช้า.... 

คงไม่น่าพิศวงหรอก..ที่เที่ยวอื่นๆมีตั้งมากมาย ไปทำไมป่าช้า ที่ไปเพราะเป็นงานน่ะซี..... 

เอ้า งานอะไร...สัปปะเหร่อหรือ...  

ไม่ใช่ผู้บันทึกยังไม่ได้เปลี่ยนอาชีพ แต่เนื่องจากป่าช้าบ้านแก่งนางตำบลกกตูมอำเภอดงหลวงเป็นเขตป่าชุมชนด้วย ผมถึงต้องมานี่ไง เพราะเรามีกิจกรรมสนับสนุนให้ชาวบ้านพัฒนาป่าชุมชน...  

 ไม้หลัก แสดงชื่อผู้ตาย แบบดั้งเดิม

วันนี้เป็นครั้งที่สองที่มาเที่ยวป่าชุมชน ป่าช้าแห่งนี้ เพราะว่าในทัศนะของผู้เขียนว่า แปลกไปกว่าป่าช้าอื่นๆ ผู้เขียนเห็นเป็นครั้งแรกที่ป่าช้ามีลักษณะต่างจากที่อื่นจึงมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำไมถึงแปลกไปจากที่อื่นๆ

ท่านผู้อ่านไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรก็ได้ หากถือสาว่าไม่อยากพูดอะไรที่เกี่ยวกับป่าช้า ความตาย ที่สิ้นสุดของชีวิต ที่.....  

แรกสุดทีเดียวเห็น"ไม้กากะบาดแล้วก็แปลกใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนา" มากกว่าพุทธศาสนา  หรือว่าบ้านแก่งนางนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่ง ก็ไม่ใช่ แล้วทำไมต้องไม้กากะบาดเหมือนไม้กางเขน   

ประธานสภาตำบลกกตูมกล่าวว่า ไม่มีความหมายอะไรเกี่ยวกับศาสนาคริสต์เลยแม้แต่น้อย เดิมทีชาวบ้านนิยมเขียนชื่อผู้วายปราณลงบนต้นเสาที่ปักไว้ตรงที่เผาร่างนี่ จะเห็นว่าหากเขียนชื่อลงบนเสา ลักษณะตัวอักษรก็จะต้องเอาหัวทิ่มดินหางชี้ฟ้า หรือหัวชี้ฟ้า หางทิ่มดิน อ่านยาก ด้วยเหตุผลง่ายๆจึงเอาไม้อีกแผ่นมาตีในแนวนอนแล้วเขียนชื่อ ก็จะทำให้อ่านง่ายขึ้น เหตุผลแค่นี้เอง แต่บังเอิญไปพ้องกับลักษณะเครื่องหมายทางศาสนาคริสต์เข้า...  

 มีด ลวด เสียมและอื่นๆที่เป็นของใช้ของผู้ตาย

ป่าช้าแห่งนี้จึงมีกองดินและไม้กากะบาดนี้เต็มไปหมดทั้งเก่าและใหม่บางกองดินจะมีเครื่องมือทำมาหากิน เช่น มีด เสียม ลวด ฯลฯ ถูกเผารวมไปด้วยช่วงที่เผาร่าง  แล้วก็เอามากองรวมไว้ด้วยกัน  

ลูกหลานเอากระติบข้าวมาวางไว้ให้ 

บางกองดินลูกหลานก็เอากระติบข้าว ถาดกับข้าว มาวางให้ผู้เฒ่าผู้ล่วงลับได้กินด้วย  ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน  

ผู้บันทึกถามว่า  เวลาเอาร่างมาเผานั้นเลือกที่เผาอย่างไร ประธานสภาตำบลกล่าวว่า ผู้ทำพิธีจะเสี่ยงทายโดยใช้ไข่ไก่สด 1 ฟอง โยนไปในที่ที่ผู้ทำพิธีเห็นว่าเหมาะสม หากไข่แตก ก็ถือว่าผู้ตายเลือกเอาตรงนั้นเป็นที่เผาร่างและตั้งกองดินปักไม้กากะบาด  หากไข่ไม่แตก ก็ต้องหาที่โยนไข่ใหม่  ชาวบ้านบอกว่า ก็มีเหมือนกันที่โยนแล้วไข่ไม่แตก แม้จะโดนลงบนหินก็ตาม.... 

ผู้วายปราณรายล่าสุด 

ผู้บันทึกแปลกใจว่าบ้านแก่งนางแห่งนี้เป็นบ้านใหญ่ มี 4 หมู่รวมกันอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นชาวผู้ไทย ที่เหลือเป็นชาวไทยอีสานที่อพยพเข้ามาทำกิน และเป็นเขย เป็นสะใภ้บ้านนี้ แม้แต่ฝรั่งต่างชาติก็มี  อำเภอดงหลวงมีหมู่บ้านที่เป็นผู้ไทยหลายหมู่บ้าน แต่ป่าช้าไม่เป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ใส่กระดูก หรือทางนี้เรียกธาตุตั้งเรียงกันที่วัด หรือที่ป่าช้าใกล้บ้าน  ไม่ใช่กองดินแล้วมีไม้กากะบาดเช่นนี้ 

ข้อที่น่าสังเกต คือ ป่าช้าแห่งนี้ไม่มีการเอาสัตว์เข้ามาเลี้ยง  ไม่มีการเข้ามาเก็บของป่าทั้งเพื่ออาหารและเอาไปขาย เช่น เห็ด หรือพืชผักป่า 

แต่ป่าช้าแห่งนี้ถูกบุกรุกเพื่อเอาที่ดินปลูกพืชไร่และทำนาข้าวในทุกด้าน จากเดิมมีขนาดพื้นที่เป็นหลายร้อยไร่ เดี๋ยวนี้เหลือไม่ถึงร้อยไร่ ??? 

คณะกรรมการป่าชุมชนจึงเสนอให้ทำแนวรั้วให้ชัดเจนเสียที...

นี่แหละที่ผู้บันทึกต้องมาเที่ยวป่าช้าแห่งนี้แหละครับ....

หมายเลขบันทึก: 93972เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2007 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อ่านตอนต้นแล้วอมยิ้มว่าพี่บางทรายไปเที่ยวป่าช้า พออ่านต่อไปก็เฉลย เลยนั่งยิ้มคนเดียว แหมอ่านใจออกด้วย อิ อิ ตอนอ่านยังไม่มีรูป แต่เห็นในไฟล์รูปบ้างแล้วค่ะ อยากถามว่าที่นี่เขาไม่เผาหรือค่ะ ทำไมใช้ฝังค่ะ แล้วมีชุุมชนอยู่ใกล้ ๆ ไหมค่ะ

สวัสดีครับน้องราณี

แหมมาเร็วจัง 

เผาครับ เผาตรงนั้นและเอากระดูกบางส่วนกลับบ้าน และเอาที่เหลือฝังตรงนั้นเลย

มีชุมชนอยู่ใกล้ๆครับสัก 500 เมตร ตอนนี้มีพระธุดงค์มาจากจังหวัดสุรินทร์มาปักกรด แล้วท่านตั้งใจจะสร้างเมรุเผาให้เป็นถาวร คุยกับท่านแล้ว ดูท่านจะมีโครงการใหญ่โตจัง  แต่ก็ดีที่มีพระมาอาศัยป่าช้า จะทำให้การบุกรุกหยุดลงไป เพราะท่านช่วยดูแลให้ และการพัฒนาป่าช้า ป่าชุมชนแห่งนี้ก็คงจะดีขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

 สวัสดีครับ

ในเมือง Boston  สหรัฐอเมริกา ก็มีป่าช้าใหญ่มากๆอยู่ในเมืองและเป็นสวนสาธารณะด้วยครับ(ผมเคยพาคุณแม่ไปเดิน แม่ยังถามเลยว่าพามาทำไม)...ตันไม้ใหญ่มากๆ เป็นธรรมชาติมากๆ...คงไม่มีใครกล้าตัด...รวมถึงมีทางเดินที่ร่มรื่น...ตอนบ่ายๆไปเดินเล่นสบายเลยครับ...แต่พอใกล้ค่ำก็ตัวใครตัวมันครับ... :-)

การรักษาป่าโดยใช้ความเชื่อน่าจะดีกว่ากฎหมายนะครับ...

โอชกร

สวัสดีครับ

พี่เห็นด้วยจริงๆ เรื่องความเชื่อนี่เป็นสิ่งพิเศษสำหรับสัตว์เผ่าพันธุ์มนุษย์  นอกเหนือเหตุผล ความเชื่อกับศรัทธา เป็นสิ่งวิเศษ ตรงข้ามในทางที่ไม่ดีก็เป็น ซาตานไปเลย

ป่าช้าฝรั่งมันน่าเดินเที่ยวอยู่ครับ  แต่อย่างว่าแหละค่ำๆมาก็ตัวใครตัวมัน

ขอบคุณครับ

  1. ก่อนหน้านี้หลายคนกลัวป่าช้า ไม่อยากย่างกราย ไม่อยากเกี่ยวข้อง
  2. แค่ไปทำบุญที่วัดป่า เมื่อรู้ว่า บริเวณข้างๆที่จอดรถ เป็นเมรุเผาศพ เผากันสดๆตรงนั้น ก็ทำเอาผู้ได้ยินขวัญผวา เมื่อรู้ว่า ถัดออกไปคือป่าช้าเก่า ต่างหาเส้นทางกลับที่จะเลี่ยงช่องทางนั้น
  3. แต่ยุคนี้ หลายคนเฉยๆกับป่าช้าแล้วครับ เข้าไปทำอะไรในป่าช้ามากมาย
  4. ส่วนหนึ่งอาจเพราะอิทธิพลของภาพยนตร์ไทย ที่เกี่ยวกับเรื่องผี ที่กลายเป็นหนังตลกโปกฮา จากน่ากลัวกลายเป็นเรื่องน่าขำไปเสียแล้ว
  5. ป่าช้าบ้านแก่งนาง ดูแปลกจริงๆครับ ดูรกๆยังไงชอบกล กับการนำสิ่งต่างๆไปวางใกล้ไม้กากะบาด
  6. ถ้าเอาไม้กากะบาดออก ไม่ต่างอะไรกับกองฟืนที่สุมให้ความอบอุ่น
  7. ภาพล่างที่ทำป้ายติดชื่อไว้ ถ้าไม่บอกว่านี่คือป่าช้า และมองไกลๆ นึกว่าเป็นสถานที่ปลูกต้นไม้ และชื่อที่เขียนนั้น นึกว่า เป็นชื่อต้นไม้และชื่อคนปลูกต้นไม้
  8. ดูเป็นป่าช้าที่ไม่ค่อยขลัง เลยอาจทำให้มีผู้บุกรุกมากยิ่งขึ้น
  • คุณบอนครับ
  • คนเราสมัยนี้ ความต้องการเงินตรา มันมีมากจนข้ามสิ่งอื่นๆไปหมด ดูข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ก็บ่งบอกสิ่งเหล่านี้
  • เลยทำให้ ป่าช้าคือสิ่งที่คนหมดความยำเกรงลงไปมากทีเดียว  และกล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น โดยเฉพาะการบุกรุกเพื่อเอาที่ดินทำกิน ครับ
  • ใช้ครับความขลังมันลดลง และไม่เหลือเลยสำหรับบางคนที่กล้าบุกรุก
เป็นวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้พบเห็นเลยค่ะ ต้องขอบคุณพี่บางทรายที่นำความรู้ดี ๆ และน่าสนใจ มาบอกกล่าวกัน...

หากไข่แตก ก็ถือว่าผู้ตายเลือกเอาตรงนั้นเป็นที่เผาร่างและตั้งกองดินปักไม้กากะบาด  หากไข่ไม่แตก ก็ต้องหาที่โยนไข่ใหม่  ชาวบ้านบอกว่า ก็มีเหมือนกันที่โยนแล้วไข่ไม่แตก แม้จะโดนลงบนหินก็ตาม.... 

แปลกมากๆค่ะ!!!!

สวัสดีครับพี่บางทราย

  • พื้นที่ป่าสุสาน จะเป็นแหล่งอนุรักษ์สายพันธุ์ของพืชและสัตว์ได้ครับ ให้บรรพชนช่วยดูแล
  • ของที่อยู่ในป่าสุสานจะไม่มีใครนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว (คิดว่าน่าจะกลัวตามมาทวงคืน) แต่ปัจจุบันคนกลัวผีกันน้อยลง ครับ
  • ได้ความรู้ว่าทำไมต้องทำเป็นแบบไม้กางเขน ที่แท้ก็ทำเพื่อให้อ่านได้ง่ายนั่นเอง

ขอบคุณครับ 

  • สวัสดีน้องPhiangrutha
  • พี่ก็ได้พบครั้งแรกนี่แหละครับ ความจริงเราทำงานที่ชุมชนนี้มาก็หลายปี แต่เราไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกิดการตายนี่เลย พอมาแล้วก็ ทึ่ง แปลกแปลกดี แต่ก็น่าเรียนรู้ครับ
  • ขอบคุณครับน้องสาวPhiangrutha
  • สวัสดีครับท่านsasinanda
  • ตอนแรกๆผมไม่คิดว่าจะพบสิ่งเหล่านี้ ป่าช้าธรรมดาทั่วไปก็เป็นเพียงที่เผาแล้วก็เอากระดูกกลับบ้าน จบ 
  • แต่นี่มีการฝังส่วนที่เหลือและปักไม้กากะบาดไว้อีก  ก่อนเผาก็ทำพิธีโยนไข่ดังกล่าว
  • ผมพยายามถามว่า ไข่เป็ด ไข่นกได้ไหม  เขาตอบว่าไม่ได้  ต้องเป็นไขไก่  แล้วเอามาต้มก่อนหรือเปล่า  ก็ไม่ได้ต้มก่อน เอาไข่สดๆมาโยนกันเลยครับ แล้วที่ชาวบ้านบอกว่าที่โยนไม่แตกก็มีจริงๆ ?? ผมก็ งง ไปเลย เพราะในใจเราไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น แต่ชาวบ้านยืนยันเช่นนั้นเราก็รับฟังน่ะครับ
  • ประเด็นของผมก็คือ พิธีแบบนี้มันมีส่วนทำลายป่าหรือเปล่า  เพราะ หากโยนไข่ไปตรงไหนแล้วไข่แตก ตรงนั้นจะเป็นที่เผาและทำกองดิน นั่นหมายความว่าจะต้องฟันต้นไม้ ถากถางสถานที่ให้กว้างพอสมควรเพื่อจัดทำที่เผาและกองดิน  แล้วหากมีร้อยศพ ก็ต้องร้อยที่ ต้นไม้ก็ต้องถูกตัดไปไม่รู้กี่ต้น....???
  • ดีที่ปัจจุบันมีพระธุดงค์หนุ่มจากจังหวัดสุรินทร์มาปักกรด และดำริจะทำเมรุเผาศพ จึงบอกกล่าวญาติโยมให้มาร่วมกัน ช่วยกัน  ดังนั้นต่อไปคงไม่มีกองดิน และการตัดต้นไปเพื่อทำสถานที่เผาศพอีก ก็มาเผาที่เมรุแห่งเดียว
  • ผมพบพระท่านครั้งแรก ยังไม่ได้สนทนากันลึกซึ้งมากนักครับ แต่เพียงเบื้องต้นก็อนุโมทนาแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับภูคา

  • ตอนแรกพี่ก็งง งง ว่าทำไมต้องเป็นไม้กากะบาด พอประธานสภาตำบลอธิบายก็ว่า อ๋อ....แค่นั้นเอง  ไปพ้องสัญญลักษณ์เข้าพอดีกับทางคริสต์
  • ป่าช้าหลายแห่งเป็น "ดอนปู่ตา" ทางอีสานจะให้ความเคารพปู่ตามาก แม้ว่าปัจจุบันจะคลายตัวลงมามากในหลายชุมชนก็ตาม แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนยังทำพิธีทุกปีต่อ ปู่ตา  แม้คนที่เดินทางไปทำงานกรุงเทพ หรือกลับมาบ้านก็ต้องไปบอกปู่ตา ตอนไปก็บอกให้ไปดี ไปพบแต่สิ่งดีๆ ผุกข้อมือข้อไม้กัน ส่งขวัญไป  ตอนกลับมาบ้าน ก็ไปบอกปู่ตา บอกว่าลูกหลานหลับมาแล้ว มารับขวัญลูกหลานหน่อย ก็ผูกข้อไม้ข้อมือ กันอีก  รายละเอียดแต่ละชุมชนจะแตกต่างกันออกไปครับ
  • หลายแห่งดอนปู้ตาคือแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพจริงๆ พี่เห็นด้วยครับ เพราะไม่มีใครไปแตะต้องเลย ต้นไม้ก็ใหญ่โตจริงๆ นั่นคือส่วนที่เหลือของป่าจริงๆ
  • คิดแล้วก็อยากจะขยายขอบเขตป่าดอนปู้ตาให้ครอบคลุมทั้งป่า ทั้งภูเขาไปเลยครับ
  • แต่นั่นแหละ  ก็เคยพบว่า แม้จะเป็นดอนปู่ตา คนจะเอาไม้สักอย่างก็ทำพิธีขอไม้จากปู่ตาเหมือนกัน  เอาซะเกือบเหี้ยนเตียนไปเลย  คนหนอคน.....

ตามมาอ่านครับ...ได้ความรู้ใหม่ ๆ ครับ...

ขอบคุณครับ...

         ผู้ไท ( ย้อผู้ไท) มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับงานศพที่น่าสนใจมาก    แต่ปัจจุบันได้ถุกกลมกลืนด้วยยุคสมัย
         ในกลุ่มย้อผู้ไท  บ้านท่าขอนยาง  อ.กันทรวิชัย  จ.มหาสารคาม   บริเวณด้านหน้า  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   ยังคงมีประเพณีการฝังศพอยู่บ้าง  โดย  ต้องฝังเอาด้านหัวไปทางทิศตะวันออก  และปัจจุบันป่าช้าเหลือนิดเดียว  
           น่าจะมีบทบัญญัติในการรักษาอาณาเขต ป่าช้า อย่างจริงจังซักที   ( ไม่ใช่ในชื่อ  ป่าสาธารณ์ประโยชน์)

           ป่าช้า  เป็นป่าๆ หนึ่งที่น่าสนใจ  ดิฉัน  เป็นคนนึงที่พิศมัย  ป่า  และ ป่าช้ามาก 

 

 

 

 

 

 

สวัสดีครับคุณพี่องุ่น

  • น่าสนใจครับ ผมเองก็สนใจ การมีอยู่ การคงอยู่ การเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยน มันเกิดขึ้นท่ามกลางยุคสมัยที่เราเป็นรอยต่อ ทำไมเป็นอย่างนั้น  อาจจะมีคำตอบคร่าวๆในใจ แต่ลึกๆแล้วมันมีแรงผลักข้างในทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับบางคน  แล้วมันจะเป็น โดมิโนไหม คือคนอื่นๆก็ตาม ดังเป็น Critical Mass ไรทำนองนั้น 
  • ความเชื่อของคนเป็นที่ต้องกระทำกับผู้ตายอันเป็นคนที่เขารักใคร่นั้นย่อมทำในสิ่งที่ดีที่สุดอันสุดท้ายให้เขา  แต่ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นเฉพาะคนแต่ไม่ได้ถ่ายความรู้สึกนี้ออกไปทั่วทั้งชุมชน  หรือว่าแต่ก่อนมี แต่ปัจจุบันไม่มี หรือลดลง
  • ผมเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง  แต่ผมก็คิดว่าเราสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้ หากทุกคนช่วยกัน ร่วมกันเพื่อให่การเปลี่ยนแปลงนั้นไปในทางที่พึงประสงค์ได้
  • ผมคิดมากไปหรือเปล่าไม่ทราบครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย คอมพิวเตอร์ลาป่วยเกือบอาทิตย์กว่าจะได้หลานที่กทม. มาช่วยดูเครื่องตั้งโต๊ะให้ และทำให้โน๊ตบุคต่ออินเตอร์เน็ตได้ ฮือๆ ไม่อยากบ่น เลยไม่ได้อ่านไม่ได้เขียนบล็อกเสียนาน

ไล่อ่านเรื่องที่ไม่ได้อ่าน ว่าจะข้ามๆบ้างแล้วเชียวนา แต่มันน่าสนใจทุกเรื่อง และชอบอ่านข้อคิดเห็นด้วยค่ะ ได้ความรู้เยอะ อย่างในเรื่องสดุดีแรงงานไทย และเรื่องการขุดบ่อน้ำของชุมชน คนขับรถน้องคุณนายฯ ก็เป็นคนอีสาน บางทีเราก็เอาเรื่องที่อ่านคุยกับเขาเช่นการทำบ่อน้ำ การทำปุ๋ยจากมูลวัว การทำนาฯลฯ เขาพูดมาประโยคหนึ่งว่า "ที่จริงชาวบ้านอย่างพวกผมเป็นคนที่ปรับตัวอยู่เสมอ แก้ปัญหาไปตามที่มันเกิด"

เรื่องการตาย พิธีกรรมและ ป่าช้า เป็นเรื่องน่าสนใจในทุกวัฒนธรรม อย่างน้อยเป็นการให้สติคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ขนาดป่าช้าไทยๆ น่ากลัวและรกๆคนยังมาตัดไม้รุกล้ำพื้นที่ป่า หรือว่าเดี๋ยวนี้คนน่ารังเกียจจนผีไม่อยากยุ่ง ไม่มาแสดงอิทธิฤทธ์ รีบๆไปเกิด คนเลยได้ใจ ภาวนาขอให้เขตุป่าช้าผีดุดีมั้ยคะ

ตัวเองก็เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงค่ะ ซึ่งพบความจริงว่าต้องเริ่มที่ตัวเราหากเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

สวัสดีครับ คุณนายดอกเตอร์

นั่นนะซีหายหน้าไป คิดว่าเดินทางไปธุระที่อื่นๆครับ

คอมฯ หายป่วยแล้วซินะครับ

เป็นเรื่องน่าสนใจถึงบทบาทของป่าช้า และวิถีชีวิต พี่เชื่อว่ามีความหลากหลายในแต่ละชุมชน แต่ละเผ่า แต่ละท้องถิ่น เพราะป่าช้าคือสถานที่สุดท้ายของคน และอดีตที่ผ่านมาก็เป็นที่พิเศษ เช่น จะไม่มีใครไปแตะต้อง แม้การล่าสัตว์ ก็เลยกลายเป็นแหล่งขยายพันธุ์พืช สัตว์ป่าไปด้วย ในถาคกลางและเข้าใจว่าอีสานก็น่าจะใช่คือ ป่าช้าเป็นแหล่งที่พระจะมา "อยู่กรรม" กิน นอนในป่าช้าแต่รูปเดียวเป็นเวลานานเป็นเดือนทีเดียว  ปัจจุบันไม่ได้ยินเรื่องนี้แล้ว

ขอบคุณครับ

สาวผูไทเมืองกุดสิม

ดงแฮ้ว  เป็นชื่อที่ชาวผู้ไทใช้เรียกป่าช้า   การจัดการศพของชาวผู้ไทนั้น  ส่วนมากแล้วจะเป็นการเผาและถ้าเผาตรงไหนก็จะขุดหลุมฝังไว้ตรงนั้น  นอกจากจะเป็นการตายที่ฉับพลัน  ก็คือผีตายโหงนั้นเอง  ก็จะฝังไว้ก่อนประมาณ2-3ปีแล้วก้จะขุดขึ้นมาเผา  การเลือกที่เผาศพโดยการโยนไข่นั้น  คนแก่จะบอกว่าส่วนมากแล้วถ้าเป็นครอบครัวหรือว่าญาติพี่น้องกันจะเลือกที่ใกล้กันหรือบริเวณเดียวกัน  และเมื่อฝังกระดูกแล้ว  ก็จะเอาท่อนไม้มาปัก  และเอาสิ่งของที่คิดว่าผู้ตายจะได้ใช้มาวางไว้ให้   แต่ในปัจจุบันนั้นจะมีการใช้เมรุเผาศพ   จึงทำให้ความขลังของป่าช้าลดลง  อีกทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาและการเปลี่ยนไปของความเชื่อของชาวผู้ไทด้วย

พี่ทามงานรายอ่ะคร้า

เว็บน้องทิวอ่ะคร้า น่ารักดี

สวัสดีสาวภูไทแก้งนาง

เอ เราเคยเจอะกันไหมน้อ  ไปที่นั่นบ่อยๆ รู้จักสารวัตรแว้นไหม  รู้จักตลาดชุมชนหลังวัดไหม รู้จักแปลงปลูกผักปลอดสารพิษไหม  นั่นแหละงานของพี่ แต่มาบ้างไม่มาบ้าง ส่วนเพื่อนร่วมงานมาบ่อย เพราะเขารับผิดชอบงานเกษตร

พี่แหรอ  ทำงานอยู่กับ สปก.ไง..

เล่น เนท จากร้านหน้าโรงเรียนหรือ...

 

ทราบว่าท่านรู้จักดงหลวงมาหลายปี รู้จักดีกว่าคนดงหลวงบางคนด้วย อยากจะขอรบกวนท่านคะ อยากทราบจริงๆคะว่าแต่ละตำบลของอำเภอดงหลวงมีดอนปู่ตากี่แห่ง ที่ไหนบ้าง  จะหาข้อมูลได้ที่ไหนคะ ขอบคุณมากค่ะ

จ๊ากสสส์ babbab ไม่ทราบละเอียดขนาดนั้นครับ แต่มีแน่นอน เอางี้ ที่ตำบลพังแดงนั้น ทุกบ้านมีดอนปู่ตา แต่ทั้งหมดขึ้นกับปู่ตาใหญ่ที่อยู่บ้านหนองหมู ตรงป่าทางเข้าหมู่บ้านนั่นแหละ มีพ่อเกี้ยง เป็นเฒ่าจ้ำใหญ๋ ท่านเป็นผู้ทำพิธีครับ หากต้องการทราบเรื่องไปคุยท่าน ท่านจะอธิบายละเอียดยิบ ที่ตำบลนี้แปลกคือ จะมีการประชุม หมุนเวียนกันมาทำพิธีไหว้ปู่ตาใหญ่ที่บ้านหนองหมูนี่ การหมุนเวียนคือหมุนเวียนกับล้มหมู ล้มไก่เอามาประกอบพิธี ประวัติศาสตร์นั้นทราบว่า ไทโซ่เคร่งครัดเรื่องการทำพิธีไหว้เจ้าปู่มาก ก่อนลงนาก็ทำพิธี ก่อนเกี่ยวข้าวก็ต้องทำพิธี เมื่อสังคมสมัยใหม่เข้ามาดงหลวง การใช้พันธุ์ข้าวเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง หลายบ้านหลายครอบครัวก็ยังให้พันธุ์ข้าวเดิม ทำให้ข้าวสุกไม่พร้อมกัน คนที่มีนาที่ข้าวสุกก่อนก็ต้องการเกี่ยวก่อน คนที่ใช้พันธุ์ข้าวเดิมก็สุกมีหลังก็เกี่ยวทีหลัง ก็เกิดปัญหาเรื่อง อ้าวงั้นเมื่อไหร่จะทำพิธีไหว้เจ้าปู้เพื่อขอเกี่ยวข้าวล่ะ เมื่อเกิดขัดข้องกันก็เลยมีการขอแยกเจ้าปู่ไป เช่นบ้านพังแดง บ้านติ้ว .. แต่การทำพิธีใหญ่รวมก็ยังทำร่วมกัน

ตำบลดงหลวงน่าจะอยู่ที่ป่าช้าบ้านเลื่อนเจริญ ต.กกตูมน่าจะอยู่ที่นาหินกอง ต.หนองแคนน่าจะอยู่ที่ บ้านหนองแคน หรือบ้านก้านเหลืองดง

การหาข้อมูลนั้น หาก Babbab อยู่ดงหลวงก็ถามผู้สูงอายุทุกท่านตอบได้ครับ ส่วนหากจะหาข้อมูลทาง internet ไม่น่าจะมีนะครับ เพราะน่าจะยังไม่มีใครเขียนแล้วเอามาลงครับ  แต่หากไปถามพ่อเกี้ยงที่บ้านหนองหมูท่านจะอธิบายละเอียดยิบ  ทราบว่าเคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาสัมภาษณ์พ่อเกี้ยงด้วยครับ

ขอให้โชคดีนะครับ

สาวแก่งนาง เด้อจร้า

เว็บไซต่น้อง ทิว น่ารักมาก

เป็นเพื่อนบ้าน น้องทิวนะ

พอดีบ้านอยู่ติดกันจร้า

สวัสดีจ้าสาวแก่งนาง ที่น่ารักทุกคน

คิดถึงแก่งนางจริงๆ คิดถึงตลาดชุมชน และน้ำใจชาวบ้าน หากมีเวลาก็จะแอบมาเยี่ยมตลาดชุมชน ขอบคุณครับที่แวะเข้ามา มีอะไรก็เล่าให้ฟังบ้างนะครับว่าแก่งนางก้าวไปถึงไหนบ้างแล้วครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท