KM Workshop กลุ่มเภสัชกรภาคเหนือตอนล่าง (๒)


แต่ละกลุ่มมีวิธีการทำงานตรงนี้แตกต่างกัน บางกลุ่มใช้ mind map บางกลุ่ม list ประเด็นสำคัญๆ ที่ต้องมีไว้ก่อน แล้วจึงค่อยเรียบเรียงออกมาเป็นเกณฑ์ระดับต่างๆ

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ เริ่มการประชุมของวันที่ ๒ ตามเวลา ๐๙ น.ที่กำหนดไว้ เปิดตัวด้วยกิจกรรมของคุณพรรณอีกเช่นเคย

ดิฉันฉายภาพรวมของตลาดนัดความรู้อีกครั้งว่าเวลานี้กิจกรรมอยู่ที่จุดไหน นำเสนอ “แก่นความรู้” ที่มาที่ไป วิธีการจัดทำ และกิจกรรมต่อไปที่ต้องการให้แต่ละกลุ่มช่วยกันสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จ อธิบายสิ่งที่ต้องการจะได้ แสดงตัวอย่างเกณฑ์ระดับความสำเร็จของกลุ่มทีมเบาหวาน ๓ ตัวอย่าง แล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกแก่นความรู้ไปทำเกณฑ์กลุ่มละ ๒ เรื่อง

ระหว่างที่คุณพรรณและทีมงานกำลังทำฉลากมาให้จับนั้น ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งก็บอกว่าให้เอาหัวข้อแก่นความรู้ที่เราเย็บติดกับ card ไว้เป็นชุดๆ คว่ำหน้าลงแล้วให้เลือกหยิบก็ได้ วิธีนี้รวดเร็วดีไม่ต้องมาจับฉลากอะไร วางกระจายๆ สับไป-สับมา ก็ไม่รู้แล้วว่าเป็นหัวข้ออะไร

ทุกกลุ่มทำงานแบบเอาจริงเอาจังมาก ดิฉันเข้าไปอธิบายในกลุ่มอีกทีแล้วคอยสังเกต พบว่าแต่ละกลุ่มมีวิธีการทำงานตรงนี้แตกต่างกัน บางกลุ่มใช้ mind map บางกลุ่ม list ประเด็นสำคัญๆ ที่ต้องมีไว้ก่อน แล้วจึงค่อยเรียบเรียงออกมาเป็นเกณฑ์ระดับต่างๆ

 

 กลุ่มนี้ช่วยกัน list ประเด็นก่อนเขียนบรรยาย

 กลุ่มนี้ต้องใช้กระดาษ ๒ ชุด

 แบบนี้เรียกว่าเอาจริงขนาดไหน

ใช้เวลาไปกว่า ๑ ชม.ครึ่ง คุณพรรณทำหน้าที่พิมพ์เกณฑ์แต่ละเรื่องจนเสร็จพร้อมๆ กับกิจกรรมกลุ่ม

เราจัดให้ผู้ที่มาจากจังหวัดเดียวกันรวมเป็นทีม ประเมินตนเองตามเกณฑ์ระดับความสามารถที่สร้างขึ้น ทุกจังหวัดรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว ประเมินตนเองแบบเอาจริงเอาจังอีกแล้ว ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง ได้ข้อมูลมาให้คุณพรรณทำแผนภูมิแม่น้ำและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสร็จก่อนรับประทานอาหารกลางวัน

 

 พิจารณาเกณฑ์อย่างตั้งใจ

 กลุ่มนี้ลงมติกันด้วยวิธีชูนิ้วให้คะแนนตามเกณฑ์

หลังรับประทานอาหารกลางวัน ดิฉันนำเสนอให้เห็นว่าข้อมูลการประเมินตนเองของแต่ละทีมถูกนำมาดำเนินการต่ออย่างไร แสดงภาพแผนภูมิแม่น้ำ บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราไม่ได้ให้จับคู่แลกเปลี่ยนกันระหว่างจังหวัด แต่ให้ตัวแทนแต่ละจังหวัดมาให้ comment เกณฑ์ที่สร้างขึ้น

ดิฉันเล่าประสบการณ์ของเครือข่าย KM เบาหวานว่าหลังจากตลาดนัดความรู้แล้วเราทำอะไรอีกบ้าง แนะนำเครื่องมือ Peer Assist และ Weblog GotoKnow และเปิดวีดิทัศน์เครือข่าย KM เบาหวานให้ชม

ได้เวลา ๑๔ น.ภก.นพคุณ เอกวรธนานนท์ บรรยายเพิ่มเติม ให้มุมมองและจุดประกายในการขยายกรอบการทำงานให้กว้างขึ้น เช่น จากระดับบุคคลก็ขยายไปสู่ระดับครอบครัว กลุ่ม และชุมชน เป็นต้น ภก.นพคุณย้ำให้เห็นว่าทุกคนมีทุนที่ดีอยู่แล้ว ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาทีเท่านั้น

สุดท้ายเป็นกิจกรรม AAR ทีมผู้จัดมีแบบฟอร์มให้ผู้เข้าประชุมเขียนตามหัวข้อที่ให้อยู่แล้ว ดิฉันขอให้ตัวแทนแต่ละจังหวัดที่ยังไม่ได้พูดในที่ประชุมรวมเลยได้พูดบ้าง ใช้เวลาเหมือนกันในการหาคนขันอาสา

สิ่งที่ทุกคนได้พูดออกมานั้นน่าจะทำให้ทีมจัดงานยิ้มได้ เพราะผู้เข้าประชุมบอกว่าได้รู้จัก KM และได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเพื่อนมากกว่าความหวัง บางคนเสนอแนะให้เอาทีมวิชาชีพอื่นมาร่วมด้วย แม้แต่การจัดกิจกรรมของคุณพรรณช่วงสั้นๆ ผู้เข้าประชุมก็ได้ไอเดียที่จะเอาไปใช้ต่อ

ที่อยากให้ปรับปรุงคือเวลา อยากให้มีเวลามากกว่านี้ เรื่องการประสานงานให้ชัดเจนจะได้เอาผลงานมาแสดงด้วย เป็นต้น

ภก.นพคุณกล่าวแสดงความรู้สึกชื่นชมผู้เข้าประชุมที่อยู่ร่วมกิจกรรมตลอดการประชุม บอกว่าการประชุมที่ผ่านๆ มามักมีคนหายไป ๑/๓-๑/๒ ขอบคุณทุกคนและขอให้เดินทางกลับโดยปลอดภัย

ช่วงสายๆ วันนี้คุณหมอนิพัธและคุณโต้งแวะมาสังเกตการณ์จัดกิจกรรมการประชุม ซักถามรายละเอียดเพื่อขอเรียนรู้ กลับไปตอนก่อนเที่ยง ตอนเย็นคุณโต้งแวะมาอีกครั้ง เอาไฟล์ที่คุณหมอนิพัธจะใช้ที่กระบี่มาให้ดูและมาเรียนรู้วิธีการทำแก่นความรู้ การใช้โปรแกรมที่ทำแผนภูมิแม่น้ำและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดิฉันมอบไฟล์ที่ใช้ในการประชุมครั้งนี้ให้ไว้ด้วย

น้องเภสัชกรที่เข้าประชุมคนหนึ่งมาขอ copy วีดิทัศน์เครือข่าย KM เบาหวาน บอกว่าจะเอาไปให้ทีมที่ รพ.ดู เพราะพูดเล่าบอกอย่างเดียวไม่ดีเท่าเห็นภาพด้วย ความอ่อนหัดทำให้ดิฉันคิดว่า copy จาก DVD ไม่ได้ แต่น้องเขาใช้คอมพิวเตอร์คล่องแคล่วมาก จริงๆ แล้วทำได้ง่ายนิดเดียว วันหลังใครจะขอก็ทำได้แล้ว เรื่องนี้ไม่มีการหวง แต่ถ้าอยากได้ VCD ที่แก้ไขสมบูรณ์แล้ว รอซื้อที่ สคส.นะคะ

เสร็จงานได้มาพักผ่อนที่ห้องพักในโรงแรมต่อเพราะกว่าเครื่องบินจะออกก็ตั้งสามทุ่มกว่า จึงมีเวลาพิมพ์บันทึกเรื่องนี้ อาศัยเส้นคุณโต้งขอ check out ในตอนเย็นได้

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 151647เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2007 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เข้ารับการอบรมกับอาจารย์ด้วยค่ะ ตอนนี้กำลัง review ความรู้ทั้งหมด ก่อนจะประชุมทีม ภก.รพช. ของ จ.อุทัยธานี เพื่อจัดทำโครงการจัดการความรู้ด้านความเสี่ยงด้านยา เสนอของบ จาก สสจ.แพร่ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยน กันอีกครั้งในเดือน มี.ค. ค่ะ ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับ KM ขออนุญาตสอบถามอาจารย์ทาง Web.นี้ได้ไม๊คะ

เรียน ภก.จินตนา

ดีใจที่คุณจินตนาจะเริ่มงาน KM ของอุทัยธานี ได้ตอบคำถามของคุณจินตนาทาง e-mail ไปแล้ว ขอ copy มาไว้ที่นี่ด้วย เผื่อเพื่อนๆ จะได้รู้ด้วย

 ขอตอบเป็นข้อๆ หากยังสงสัยสามารถถามมาได้เสมอ
1. ความจริง KM ไม่จำเป็นต้องทำกับกลุ่มคนวิชาชีพเดียวกัน อย่างเรื่องความเสี่ยงด้านยา มีผู้เกี่ยวข้องหลายคนที่ทำงานร่วมกันไปจนถึงชาวบ้าน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะยิ่งมีพลังมากยิ่งขึ้น
2. KM เริ่มจากเรื่องดีๆ ขยายความสำเร็จ แต่ไม่ได้ละเลยปัญหา เพราะในที่สุดปัญหาจะค่อยๆ ลีบเล็กลง
3. ในฐานะที่คุณจินตนาอยู่ สสจ. เป็นจุดที่เหมาะมากที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายทีมทำงานด้านยาของจังหวัด ควรเริ่มต้นด้วยการเสาะหาว่าในจังหวัดของเรามีใคร/ทีมไหนที่ผลงานดีๆ บ้าง เอามาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันแบบพบหน้า หรือจัดให้มีเวทีเสมือนอย่างบล็อกใน GotoKnow หรืออาจเริ่มเล็กๆ ก่อนก็ได้โดยใช้วิธีการแบบ "เพื่อนช่วยเพื่อน"
4. คุณจินตนาไปเจอที่ใครที่ไหนที่ทำอะไรดีๆ ก็คอยเอามายกย่องชื่นชม การใช้บล็อกจะทำให้คุณจินตนาทำหน้าที่ของ "คุณประสาน" ได้ง่ายยิ่งขึ้น และเครือข่ายจะมีมากกว่าในจังหวัดของเราเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท