เราจะช่วยกันแก้การศึกษาไทยที่เดินผิดทางได้อย่างไร



          เย็นวันที่ ๑ ส.ค. ๕๔ ผมไปร่วมระดมความคิดเรื่องแนวทางการประเมินรอบ ๔ ของ สมศ.  โดยที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินรอบ ๓   เราคิดล่วงหน้าไปหลายปี   โดยตัวการคือ คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร ผู้ถนัดเรื่องการจัดการประชุมระดมความคิดหาแนวทางใหม่ในเรื่องต่างๆ   และเป็นผู้จัดการประชุมระดมความคิดเรื่องการปฏิรูปอุดมศึกษาทุกเช้ามืดวันพฤหัสแรกของเดือนที่ สกอ.

          คุณศุภชัยได้ปรึกษาผมล่วงหน้า ว่าควรคุยกันอย่างไรดี   ผมให้ความเห็นว่า ให้หาทางทำให้การประเมินเป็นประโยชน์แก่โรงเรียน และแก่นักเรียน   โดยให้หาผู้อำนวยการโรงเรียนดีๆ สัก ๒ – ๓ คน มาให้ความเห็น

          วันนี้เราจึงได้ ผอ. โรงเรียน ๔ คน มาร่วมระดมความคิด  โดยคุณศุภชัยได้ให้โจทย์ล่วงหน้าไว้ ๓ ประเด็นคือ (๑) ที่ผ่านมา การประเมินของ สมศ. ได้ทำประโยชน์แก่โรงเรียนอย่างไร   ทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่โรงเรียนสูงสุด  (๒) สิ่งที่ควรปรับปรุงมีอะไรบ้าง   (๓) มีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง

          ผอ. ๔ ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร. บาทหลวง ไพยง มนิราช ผู้ประเมินภายนอก สช.  ผู้อำนวยการ รร” คาทอลิก จ ราชบุรี,  นายสะอาด มัตราช ผอ. รร. บ้านห้วยยาง ขอนแก่น เขต ๔,  ดร. อัญชลี ประกายเกียรติ ผอ. รร. สตรีวัดอัปสรสวรรค์,  และนางปรีดาวรรณ อินทวิมลศรี  ผอ. รร. พิชัยพัฒนา (สังกัด กทม.)

          ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมระดมความคิด ได้แก่ ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สมศ., คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร (ทำหน้าที่ประธานการประชุม), ศ. สุมน อมรวิวัฒน์, ดร. คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, ศ. ดร. ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ. สมศ.,  นายนาวิน วิยาภรณ์  รอง ผอ สมศ.,  ดร. คมศร วงษ์รักษา รอง ผอ สมศ.,  คุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส (มสส.), และผม   

          ผมฟัง ผอ. ทั้ง ๔ ท่านพูดแล้ว ก็สรุปได้ว่า การประเมินก่อความทุกข์ยากแก่โรงเรียนมาก  และมองไม่ออกว่ามีผลเพิ่มคุณภาพของ learning outcome ของนักเรียน   ผมสรุปอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ก็ไม่ทราบ  แต่เมื่อสรุปแก่ที่ประชุม ก็ไม่มีใครแย้ง

          หลังจากระดมความคิดกันเรื่องการประเมิน คุณภาพของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน  คุณภาพชีวิตครู  กิจกรรมที่โรงเรียน  ผมจึงฟันธงว่าการศึกษาของเราเดินผิดทาง   ไม่เดินไปในทางที่จะให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ   ยังหลงงมงายอยู่กับการสอน ไม่เน้นที่การเรียน  ยังเอาใจใส่เพียงเนื้อวิชา ไม่ได้เอาใจใส่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกฝน 21st Century Skills  และใช้การประเมินแบบผิดๆ มีทัศนคติเชิงลบต่อการประเมิน  เพราะเน้นที่การประเมินแบบ summative ที่มุ่งผลลัพธ์ได้-ตก   ไม่เน้นการประเมินแบบ formative ที่มุ่งกระตุ้นการพัฒนา   วงการศึกษาของเราใช้ formative evaluation ไม่เป็น

          ใครอยากรู้วิธีการใช้ formative evaluation อย่างชาญฉลาด ให้อ่านหนังสือ Teach Like Your Hair’s On Fire  ในหนังสือเล่มนี้ ทั้งครูและนักเรียนใช้ formative evaluation เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง และการสอนของตนเอง อยู่ทุกขณะ   คือการประเมินเป็นเครื่องมือของการเรียนการสอน   ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือกดขี่บังคับบัญชาโดยหน่วยเหนือ

         ศ . สุมน อมรวิวัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า สภาพความทุกข์ยากขัดแย้งที่มากับการประเมินของ สมศ. เกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ   เพราะใช้การประเมินเป็นเครื่องมือเชิงอำนาจ   และต้องทำความชัดเจนว่าการประเมินภายนอกนั้นเน้นประเมินอะไร   ควรประเมินที่ (๑) คน (นักเรียน ครู)  (๒) งาน คือกระบวนการเรียนการสอน  และ (๓) สถานศึกษา   แต่เวลานี้เราเน้นประเมินที่สถานศึกษา

          อคติของผม ทำให้ผมกลับมาคิดที่บ้านว่า การประเมินแบบ summative evaluation ของ สมศ. ที่เป็น External QA ควรให้น้ำหนักของการประเมิน ที่ คน : งาน : สถานศึกษา เท่ากับ ๕๐ : ๓๐ : ๒๐  โดยที่ต้องยกเครื่องเป้า Learning outcomes ใหม่หมด   ให้มีทั้งสาระวิชา และทักษะของมนุษย์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills)   และการประเมินงาน (กระบวนการเรียนรู้) ให้รวมการประเมินการใช้ formative evaluation เป็นเครื่องมือกระตุ้นหรือช่วยการเรียนรู้ด้วย

          ความสำเร็จของ สมศ. ควรดูที่ความสำเร็จในการแสดงบทบาทเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน หรือ Learning Outcomes  ไม่ใช่แค่ความสำเร็จในการจัดการประเมินภายนอกเป็นรอบๆ อย่างที่ผ่านมา

          คือ ต้องเป็นกลไกขับเคลื่อน Quality Education in the 21st Century ในสังคมไทย   ไม่ใช่แค่จัดการประเมินคุณภาพภายนอก

          Keyword ที่แท้จริงคือ คุณภาพการศึกษา  ไม่ใช่หยุดอยู่แค่การประเมินคุณภาพภายนอก

          การศึกษาไทยต้องมีเป้าหมายที่ถูกต้อง คือจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน เยาวชน นักศึกษา และทุกคนในประเทศไทย ให้มีทั้งความรู้ และ 21st Century Skills   เป้าหมายที่ใช้กันในปัจจุบันยังไม่ถูกต้อง ยังล้าหลัง 

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ส.ค. ๕๔
         
               

หมายเลขบันทึก: 452168เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

May I repeat your evaluation (with my higlighting):

"...ฟันธงว่า

    การศึกษาของเราเดินผิดทาง

    ไม่เดินไปในทางที่จะให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

    ยังหลงงมงายอยู่กับการสอน ไม่เน้นที่การเรียน

    ยังเอาใจใส่เพียงเนื้อวิชา ไม่ได้เอาใจใส่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกฝน 21st Century Skills และ

    ใช้การประเมินแบบผิดๆ

      มีทัศนคติเชิงลบต่อการประเมิน

         เพราะเน้นที่การประเมินแบบ summative ที่มุ่งผลลัพธ์ได้-ตก

         ไม่เน้นการประเมินแบบ formative ที่มุ่งกระตุ้นการพัฒนา

     วงการศึกษาของเราใช้ formative evaluation ไม่เป็น..."

Now let us see if we can learn from these important points (please re-read). We are looking for a formative remedy for our children ;-)

จำไม่ได้เหมือนกันครับว่าผมเคยให้ความเห็น"ประมาณ"นี้ที่ไหน :

การศึกษาของเราวันนี้ถ้าเปรียบเป็นการสร้างรถยนต์สักคันหนึ่ง

เราคงเลือกให้ speed meter เท่านั้น..

..ที่มากำหนด typical และ specifications

*ขอบคุณค่ะ..จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา..การประเมินเชิงบวก..เป็นการหวังผลสูงสุดพื่อหาช่องว่าง สำหรับเติมเต็มศักยภาพและพัฒนาผู้ถูกประเมิน..

*วิธีการประเมินจึงทำร่วมกันระหว่าง ผู้ประเมิน และ ผู้ถูกประเมิน บนปัจจัยของความสำเร็จตามเป้าหมายงานที่มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้า..และสนับสนุนปัจจัยเหล่านั้นตามที่ผู้ถูกประเมินต้องการอย่างเต็มที่..ทั้งงบประมาณ และการพัฒนาทุกรูปแบบของคนและกระบวนการทำงาน

*สร้างกลไกการประเมินภายในโดยตนเอง ( self- assessment ) เพื่อสะท้อนจุดอ่อน-จุดแข็ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ถูกประเมิน..เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองต่อไป..

*ผู้ประเมินภายนอกจึงทำหน้าที่เหมือนที่ปรึกษา ในการชี้แนะ ให้กำลังใจ และสรรหาตัวอย่างความสำเร็จที่พึงประสงค์ มาเสนอเป็นบทเรียนรู้ร่วมกัน.. 

ขอบคุณมากค่ะท่านอาจารย์ สำหรับบทความ และ แนวคิดทีดีๆ ...

ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ.. เพราะจากประสบการณ์ทั้งการเป็นนักศึกษา (ผู้เรียน) และ การเป็นครู (ผู้สอน) ทั้งในระบบ และ นอกระบบ เห็นว่า "การศึกษาไทยกำลังวิกฤต" แต่เพราะเป็นคนตัวเล็กๆ ตำแหน่งเล็กๆ โอกาสจึงมีเพียงเล็กๆ ในการที่จะนำเสนอ หรือแสดงความคิดเห็นให้มีการปรับเปลี่ยนระบบ....มีความหวังเล็กๆ ว่าสักวันหนึ่ง ระบบการศึกษาไทยคงจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้องดีงาม

อันที่จริงแล้ว  ผู้เรียนที่ขยันเรียนรู้ยังมี ครูที่ดีที่ตั้งใจทำงานยังมี นโยบายที่ดีดีก็มีมาก
แต่แนวทางปฏิบัติโดยภาพรวมแล้วนั้น   ดัชนีชี้วัด  วุฒิการศึกษา เป็นเพียงหัวโขนที่มาสร้างขอบเขตความจำกัดคุณค่าของคนหรือไม่?   การศึกษาสร้างคน  ให้เห็นแก่ตัวหรือไม่?  กับอีกหลากหลายปัญหา....

วันนี้มีโอกาสดีได้อ่านข้อความที่โดนใจที่คิดว่า น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จุดประเด็นให้มีการทบทวนเรื่องของการจัดการศึกษาไทย...

"การประเมินก่อความทุกข์ยากแก่โรงเรียนมาก และมองไม่ออกว่ามีผลเพิ่มคุณภาพของ learning outcome ของนักเรียน"

"การศึกษาของเราเดินผิดทาง ไม่เดินไปในทางที่จะให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ยังหลงงมงายอยู่กับการสอน ไม่เน้นที่การเรียน ยังเอาใจใส่เพียงเนื้อวิชา ไม่ได้เอาใจใส่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกฝน 21st Century Skills และใช้การประเมินแบบผิดๆ มีทัศนคติเชิงลบต่อการประเมิน เพราะเน้นที่การประเมินแบบ summative ที่มุ่งผลลัพธ์ได้-ตก ไม่เน้นการประเมินแบบ formative ที่มุ่งกระตุ้นการพัฒนา วงการศึกษาของเราใช้ formative evaluation ไม่เป็น" ....

หากการประเมินเน้นแค่ตัวชี้วัด ที่มีแต่กฏเกณฑ์มากมายตามผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานระหว่างการผลิต ซึ่่งดิฉันคิดว่า คุณธรรมจริยธรรม และ การสร้างคนให้เป็นคนใฝ่รู้ สู้งานยาก และทำงานร่วมกันได้ด้วยความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่่ง.

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท