หยิบความฝันอันเลือนรางมาวางใกล้มือ : ห้องสมุดในฝันของน้องดาว alphabet (๕) การสร้างวิสัยทัศน์ของน้องดาว


การรู้ตนให้ถ่องแท้เกี่ยวกับความมุ่งหมายในชีวิตของตัวเรานี้

จากคำพูดของน้องดาวครับ

…ตอนนี้ความฝันก็ยังไม่หายไป…ความตั้งใจที่มีก็ไม่เปลี่ยนแปลง…
…รอจังหวะ โอกาส สถานที่ และงบประมาณ… มั่นใจว่าต้องได้ทำ…”

วันเวลาที่ผ่านไป หน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบเยอะขึ้น แล้วจะต้องรอไปอีกนานแค่ไหน ที่จะให้ความฝันนั้น เกิดขึ้นจริง

เมื่อมีความตั้งใจมั่น มีเป้าหมายที่อยากทำ แต่การเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นล่ะ
น้องดาวมีเส้นทางอยู่แล้วในใจ แต่ตอนนี้ รอจังหวะเท่านั้น

ในปี พ.ศ.๒๕๔๙  นี้ ต้องยอมรับกันแล้วล่ะว่า  เรากำลังอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันด้วยภูมิปัญญาอันเป็นสากล ทุกคนควรจะมีวิสัยทัศน์ส่วนตน เหมือนที่ทุกองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์องค์กร เพราะวิสัยทัศน์เปรียบได้กับเป้าหมายภายใต้ความมุ่งมั่นของทุกคนและทุก องค์กร

ลองย้อนนึกไปถึงวันที่น้องดาวจบการศึกษา ก้าวเข้าสู่โลกของอาชีพ ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงาน น้องดาวย่อมจะมีความมุ่งมั่นในอาชีพ มีความหวังว่า ในอนาคตอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า เราจะอยู่ในตำแหน่งไหน หรืออีก 15-20 ปีข้างหน้า อยากจะมีธุรกิจส่วนตัวของตัวเองหรือ อยากทำสิ่งที่ฝันไว้ให้เป็นความจริง

สำหรับความฝันห้องสมุดในฝันของน้องดาว

ดาวอยากให้ความฝันนี้เป็นอย่างไร หรือก้าวไปอยู่ ณ จุดไหนในอนาคต 1 ปี 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี นับจากวันนี้ไป?

คำถามข้อนี้ ตอบได้ยาก และคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวของน้องดาวเอง

อีก 1 ปีข้างหน้า จะมีแนวทางที่เป็นรูปร่างออกมาแล้ว หรือยังเป็นแค่ความนึกคิดในสมอง เหมือนเมื่อปีที่แล้ว??

การที่จะรู้ให้ได้ว่า น้องดาวนั้นต้องการอะไร? และเมื่อใด? ในชีวิตจริงของดาวนั้น  มันอยู่ที่คุณค่า ที่เจ้าของความฝัน จะมุ่งมั่นสร้างสม

ความต้องการที่แท้จริงของดาว หรือ การพัฒนาวิสัยทัศน์ส่วนตนของน้องดาว จึงต้องควบคู่กันไปกับคุณค่าที่ได้มุ่งหมายเอาไว้ ในระดับต่างๆกัน ทั้งคุณค่าต่อตัวเอง คุณค่าต่อครอบครัว ต่อสังคมและประเทศชาติ

และสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลย เพราะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้งปวง นั่นคือ

“ความเพียรพยายามที่ยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แล้วโลกทั้งโลกก็อาจเปลี่ยนแปลงได้”

เมื่อนายบอนมีโอกาสได้พบกับน้องดาว จึงจะมีโอกาสได้เจาะลึกในรายละเอียดต่างๆของวิสัยทัศน์นั้น แต่ในเวลานี้ วิสัยทัศน์ส่วนตน ของดาวนั้น สามารถเตรียมการได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้วิสัยทัศน์ควบคู่ไปกับคุณค่าที่ได้มุ่งหมายเอาไว้

ทำตามขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
(อ้างอิงจาก Peter M. Senge, The Fifth Discipline : Strategic and Tools for Building a Learning Organization, Doubleday, 1994)

1) เตรียมสถานที่ที่สงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอื่น หรืออุปกรณ์สื่อสารใดๆ

2) เตรียมตัว- ด้วยการนั่งในอิริยาบทที่สบายสัก 10 นาที ทำจิตใจให้สงบ เพื่อให้เกิดสมาธิและปัญญาในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจในวิสัยทัศน์ที่ต้อง การ

3) กำหนดวิสัยทัศน์ขั้นต้น - เริ่มถามตัวของดาวเองว่า ความมุ่งหมายที่แท้จริงในอนาคตของเรานั้นคืออะไร?

4) เน้นความมั่นใจ - พยายามคิดทบทวนถึงสิ่งที่เรามุ่งหวังนั้นอีก 2-3 รอบว่า แน่ใจ? มั่นใจ? (ถ้าไม่มั่นใจให้กลับไปเริ่มกำหนดวิสัยทัศน์ขั้นต้นอีกครั้ง)

5) วิเคราะห์ผลต่อเนื่อง - เมื่อถึงวันที่เราได้ประสบผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์นั้นแล้ว จะมีสิ่งอื่นใดหรือเรื่องอื่นใดซึ่งเป็นผลข้างเคียงติดตามมาด้วยหรือไม่ ? ถ้ามี - แล้วเรายังอยากจะได้ในผลข้างเคียงนั้นด้วยหรือไม่ ?

6) สรุปผลและตัดสินใจ - พยายามคิดทบทวนในข้อที่ 5) สัก 2-3 รอบ ถ้าเราไม่มีความต้องการผลข้างเคียงที่เกิดตามมาก็คงต้องกลับไปเริ่มต้นที่ ขั้นตอนที่ 3) กลับมาใหม่อีกรอบหนึ่ง

ขั้นตอนข้างต้นนี้หากพิจารณาดูเพียงผิวเผินก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย หากแต่ใครได้ลองปฏิบัติดูแล้ว ก็จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า คำตอบที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเราเองว่า

- ที่สุดแล้วน้องดาวต้องการอะไร ?
- วิสัยทัศน์ส่วนตนของน้องดาว คืออะไร ?

คำตอบตรงนี้เกิดได้ยากที่สุด แต่การรู้ตนให้ถ่องแท้เกี่ยวกับความมุ่งหมายในชีวิตของตัวเรานี้
จะทำให้ทุกคนมีเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจนในทุกๆสิ่งที่จะลงมือทำ…

หมายเลขบันทึก: 46298เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท