เกินคาดกับ KM จ.สิงห์บุรี


โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรเรียนรู้อย่างมีความสุข

เกินคาดกับ KM  จ.สิงห์บุรี

          ที่ผมเกริ่นในหัวข้อว่าเกินคาด  คือ เกินความคาดหวังของตัวผมเองและทีมงานของกรมส่งเสริมการเกษตร(คุณศิริวรรณ  หวังดี, คุณอุษา  ทองแจ้ง และคุณยอดธงชัย  รอดแก้ว)ที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เวทีแรก  กับคณะทำงาน KM และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของจังหวัดอย่างน้อย 3 เวทีและการหารือกันทางโทรศัพท์บ้างกับคุณสิริกร(จากสาธารณสุขจังหวัด)ซึ่งเป็นทีมประสานของจังหวัดและจนมาถึงเวทีสรุปบทเรียนในวันที่ 23 สิงหาคม 2549 ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผมและคุณศิริวรรณ  หวังดี ได้มีโอกาสไปร่วมและเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

          ผมกับคุณศิริวรรณ  หวังดี เดินทางจากกรมฯตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า  แวะทานผัดไทที่ร้านมีชื่อเสียงที่บ้านปากบางจนอิ่ม  แล้วเดินทางต่อถึงสถานที่จัดประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุข ประมาณ 11 โมง อยู่นอกห้องสัมมนาคิดว่า อ.ประพนธ์  ผาสุขยืด    มาช่วยบรรยายเพราะได้ยินเสียงอาจารย์ออกมาจากในห้องประชุม เปิดเข้าไปดูจึงรู้ว่าคณะทำงาน KM จังหวัดได้เปิด VCD  ของอาจารย์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมดูอยู่ หลังจากนั้นผมก็ได้คุยกับผู้ที่จะขึ้นเวทีร่วมเสวนาในภาคบ่ายทั้ง 6 คน ร่วมกับคุณสิริกร  ก็รู้สึกทึ่งเหมือนกันกับข้อมูลที่ทำให้ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับที่ได้เจอกับทีม KM ของจังหวัดในเวทีแรก  ตอนนี้ทุกคนดูหน้าตายิ้มแย้มเวลาเล่าข้อมูลให้ฟังก็รู้ว่าเขาเต็มใจและมีควมสุขในการเล่า      คุยกันเสร็จประมาณเที่ยง

          ภาคบ่าย เริ่มต้นด้วยพิธีเปิดที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด นางอัจฉราภรณ์ ห่อทองคำ มาทำพิธีเปิดและท่านร่วมอยู่ในเวทีตลอดจนปิดการประชุมและต่อด้วยการเสวนาซึ่งผู้จัดได้จัดเวทีให้เป็นกันเองมากที่สุด  เราใช้เวลาเสวนากันประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ( 13.15 - 15.00 น. ) ผมประเมินจากการเล่าของทั้ง 6 ท่านซึ่งมีบทบาทที่ต่างกัน จากการที่จังหวัดได้กำหนด KV " การผลิตข้าวให้มีมาตรฐานและปลอดภัย" หลังจากเวทีสร้างความเข้าใจแล้วทีมและผู้เกี่ยวข้องได้มาวิเคราะห์/สังเคราะห์  แล้วสรุปกันว่าประเด็นหลักที่ต้องนำมาจัดการความรู้เพื่อให้งานบรรลุเป้าตาม KV ที่กำหนดมี 5 ประเด็น คือ

        - การจัดการด้านเมล็ดพันธุ์

        - การจัดการดิน

        - การจัดการเรื่องปุ๋ย

        - การจัดการศัตรูข้าว

        - การจัดการบัญชีครัวเรือน

           แต่ละกลุ่มก็จะมีคณะทำงานย่อยรับผิดชอบเพื่อทำการค้นหา  ประมวล สังเคราะห์/สกัดความรู้และนำความรู้ที่ได้ไปจัดการ (แลกเปลี่ยน ลองทำ  สรุปยกระดับความรู้ ) โดยความรู้เน้นทั้งความรู้ที่เป็นหลักวิชาการกับความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา  กระบวนการเริ่มมีการปรับเปลี่ยน  ในระดับหน่วยงานด้วยกัน เดิมถ้าประเด็นนั้นเกี่ยวกับหน่วยงานไหนหน่วยงานก็จะดำเนินงานไปตั้งแต่ต้นจนจบ วันนี้ท่านเกษตรอำเภอเมืองได้สะท้อนให้เห็นว่า คำว่า บูรณาการที่พูดกันมานานเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีการบูรณาการการทำงานกันอย่างเป็นรูปธรรมก็เรื่องนี้แหละ  ในระดับเกษตรกรหรือการทำงานกับชุมชน  คุณกิจตัวจริง( พี่ทองอุไร )หรือคุณอำนวยเมื่ออยู่ในวงเรียนรู้ของเกษตรกรสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลง  พี่ทองอุไรเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การทำงานเดิมที่เรามักจะเป็นคนสอน/ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรบางครั้งกระบวนการเรียนรู้กำหนดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ตลอดฤดูกาลผลิต ตอนเริ่มต้นมีเกษตรกรมาร่วม 30 ราย จนถึงสิ้นสุดฤดูกาลผลิตอาจเหลือเกษตรกรอยู่ 5 ราย เพราะเขาไม่ได้มีความสุขกับการเรียนรู้ เขาไม่เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น เราไปถึงเราก็ถ่ายทอดอย่างเดียว/สอนอย่างเดียว แต่วันนี้เมื่อเราเอาแนวคิด KM ไปใช้ โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรเรียนรู้อย่างมีความสุข พี่ทองอุไรปรับวิธีการทำงาน ในกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกร เน้นการเรียนรู้แบบสองทาง ค้นหา Best Practice จากเกษตรกรเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรคนอื่น ๆ เกษตรกรเขาได้ฝึกทักษะของเขาเองในการถ่ายทอดเรียนรู้ร่วมกัน  เราทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในกระบวนการเรียนรู้เป็นหลัก เขารู้สึกภาคภูมิใจหรือได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากร และยังมีอีกหลายท่านที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ( ผมจะเล่าต่อในตอนต่อไปนะครับ )

            ผมและทีมงานของกรมฯเราก็ถือว่าจังหวัดสิงห์บุรีเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เราเรียนรู้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใน 18 จังหวัดนำร่องของกรมฯ ก็ขอให้กำลังใจกับทีมงานทุกคนครับ

หมายเลขบันทึก: 46294เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สิงห์บุรีคึกคักดีมากครับ 
  • ขอบคุณ  คุณน้องสำราญมากครับที่บันทึกมาให้ทราบ
  • หวังว่าคงได้อ่าน บันทึกดี ๆ จากสิงห์บุรีมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ
หวัดดีครับ จากสิงห์บุรีแม้จะเริ่มต้นแต่ก็ได้รับกำลังใจจากพี่ทั้งสองทำให้อยากจะทำเรื่องนี้ต่อไป แต่ผมเองก็เสียดายโอกาสในวันนั้นต้องเข้าร่วมฝึกอบรมที่กรมฯจัดทำให้ไม่ได้อยู่ร่วมซึมซับบรรยายกาศในวันนั้น แต่เมื่อกลับมาก็ได้สอบถามถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้น และได้มีโอกาศได้อ่านบันทึกของพี่สำราญในวันนี้เองคือตอนพวกเล่าให้ฟังกันเองก็ไม่รู้สึกไรมาก แต่ตอนนี้ก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าจะทำกันมานานแล้ว คิดว่าสิงห์บุรีเริ่มมีคนเข้าใจ km บ้างแล้วคงไม่ยากที่จะร่วมมือกันในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในอนาคตนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท