การกู้พลังภูมิปัญญาท้องถิ่น


การกู้พลังภูมิปัญญาท้องถิ่น

2 พฤศจิกายน 2562  

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]   

โรงเรียนและวัดเป็นของคู่กัน

โรงเรียนและวัดในท้องถิ่นเป็นของคู่กันมาแต่อดีตกาล ล้วนเกิดจากการผลักดันโดยคนท้องถิ่นทั้งนั้น เป็นแหล่งสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นมานานแล้ว ต่างกันที่ว่าคนในโรงเรียน คนในวัด และ คนใน อปท. ไม่ได้สวมมงกุฎหัวโขนอันเดียวกันเท่านั้น เพราะต่างคนอยู่ต่างสังกัด ต่างกติกา ต่างกฎระเบียบกันเท่านั้น จึงไม่แปลกใจว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หมอสมุนไพรพื้นบ้าน ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เหล่านี้ต่างล้วนเกิดมาจากวัดที่ถือเป็นโรงเรียนของชุมชนมานั่นเอง

ภูมิปัญญาเป็นส่วนประกอบของท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Wisdom) [2] ถือ “เป็นส่วนประกอบ” เป็นภาพสำคัญส่วนหนึ่งของท้องถิ่น ในกรณีของไทยไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นไป “เป็นโครงสร้างหลัก” เป็นเศรษฐกิจใหญ่เหมือนเช่น ญี่ปุ่น อเมริกัน อิตาลี สวิส เยอรมัน หรือที่อื่นใด ที่เขาเอาภูมิปัญญาดี ๆ แบบนี้ไปผลิตเป็นสินค้าเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นยา เบียร์ ไวน์ วิสกี้ เครื่องมือเกษตร ยานยนต์ เสื้อผ้า เครื่องใช้สอย อาวุธ มีดพับ นาฬิกา เซรามิกส์ ฯลฯ รวมวัฒนธรรมพื้นเมือง ส่งขายไปทั่วโลก เป็นความหลากหลายทางทักษะภูมิปัญญาที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เช่น เยอรมันถึงมียี่ห้อเบียร์ถึง 200 กว่าแบรนด์ เป็นต้น

ทางตันภูมิปัญญาไทย

ศ.ศ.ป. กระทรวงพาณิชย์ หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) [3]ผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง ทักษะภูมิปัญญา และความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจ “ชุมชนหัตถกรรม”  (Craft Communities) ให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน และต่อยอดเชิงการตลาด อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยนั้นมีมากมาย ล้วนเจอวิกฤตปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ลองมาดูสภาพปัญหาที่พบ

ความสามารถส่วนบุคคลก็เป็นภูมิปัญญาไทยได้

ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่เห็นจะเป็นเรื่องของ “ความสามารถเชิงบุคคล” เช่น ศิลปินพื้นบ้าน ลำตัด หมอลำ ช่างซอ(ภาคเหนือ) ที่ขยับตัวไปเป็น เพลงลูกทุ่ง แต่ก็ถูกกีดกันด้วยระบบนายทุน และลิขสิทธิ์ ในส่วนของการผลิตสินค้าใหญ่ ยุทโธปกรณ์ เช่น เรือตรวจการณ์ รถหุ้มเกราะ คนไทยก็ผลิตได้ แต่ส่งขายให้แก่ต่างประเทศเพื่อนบ้าน ในผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ยารักษาโรคพื้นบ้าน ยาสมุนไพร ยาปราบศัตรูพืช ก็พอมี แต่กว่าจะจดทะเบียนถูกต้องได้แสนยาก ดูเพียงแค่นี้เห็นว่ารัฐมาผิดทางเพราะไม่ส่งเสริมยึดติดชาวบ้านพื้นถิ่น กว่าจะหวนคิดกลับมาส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านได้ทัน หน่วยราชการต่างๆ ก็สูญเสียงบประมาณมากไปศึกษาวิจัยและดูงานต่างประเทศ

เศรษฐกิจพอเพียงร้างๆ

การนำปรัชญาเศรษฐิกิจพอเพียงมาใช้เมื่อหลายปีก่อน พบว่าท้องถิ่นบ้านนอกปัจจุบันหลายแห่ง มีโครงการกิจกรรมของชุมชน เช่น โรงสีข้าวหลวงร้าง เครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพชุมชนร้าง เครื่องทำอาหารสัตว์ชุมชน กลายเป็นเศษเหล็ก ทิ้งร้าง มากมาย หมาด ๆ ก็คือ “ตลาดชุมชน” ที่สร้างเสร็จแล้วร้างไม่มีชาวบ้านมาขายสินค้า สาเหตุหลักสำคัญคือ สู้ระบบทุนที่มาจากต่างชาติไม่ได้ และสินค้าจากนายทุนยังจำเป็นต่อเกษตรกรท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยเคมี เคมีปราบศัตรูพืช ยาแผนปัจจุบัน ฯลฯ รวมถึงสินค้าจำเป็นใหญ่ เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรกล อาวุธยุทโธปกรณ์ ก็สั่งนำเข้าทั้งสิ้น เมื่อคราวยุคฟองสบู่แตก รัฐบาลมีความพยายามหันมาหาท้องถิ่นช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2541 เริ่มมีการกระจายอำนาจทะยอยเกิด อปท.ขึ้นทั่วประเทศ แต่แล้วต่อมาท้องถิ่นกลับถูกดึง “อำนาจไปรวมศูนย์” ดังเดิม สภาพท้องถิ่นบ้านนอกจึงเป็นดังที่เห็น

สินค้าขยะมากขึ้นสินค้าใหม่ไม่มี

ในบรรดา ”สินค้าขยะ” ที่ประเทศอุตสาหกรรมเขาใช้แล้วทิ้ง ไทยจึงเป็นแหล่งรวมของสินค้าวัสดุอุปกรณ์มือสอง (Second hand) [4] ที่คนประเทศอุตสาหกรรมเขาทิ้งไม่ใช้แล้ว แต่ยังพอมีสภาพที่ใช้ได้ในประเทศอย่างเรา เป็นสินค้าที่ใช้แล้ว รวมทั้ง อาวุธยุทโธปกรณ์มือสอง เครื่องจักรกลรถยนต์มือสอง เสื้อผ้ามือสอง (สินค้าโรงเกลือ ตลาดคลองถมฯ) สินค้าเหล่านี้ทำได้แค่การซ่อม ดัดแปลงฯ ไม่สามารถคิดใหม่ทำสินค้าขึ้นใหม่แบบจีนได้

ทุกอย่างต้องกินแบ่ง

คน อปท.เจอสภาพแบบ “กินแบ่ง” เฉพาะในครั้งแรกเท่านั้น ที่เหลือต่อมาถูก “กินรวบ” คนท้องถิ่นถูกโจษขานว่าทุจริต ยักหัวคิว ซิกแซกผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจ แถมหลายคนมีบาปชนักติดตัว เพราะคดีทุจริตถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และสิทธิทางราชการหมดแล้ว แต่ ณ เวลานี้ ทุกอย่างที่อยู่ตรงข้ามกันได้เดินทางมาชนกันแล้ว ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือจงใจก็ตาม เช่น สูงมาชนต่ำ ดำมาชนขาว ศีลธรรมมาชนบาป เมกกะโปรเจกต์มาชนรากหญ้า กฎหมายมาชนกฎหมู่ ชนชั้นมาชนรากหญ้า เศรษฐีมาชนยาจก รวมศูนย์มาชนพื้นบ้าน สูงมาชนต่ำ ฟ้ามาชนเหว หนังโรงมาชนหนังตลุงพื้นบ้าน ชาวฟ้าชนชาวดอย ฯลฯ เป็นความหมายว่า สิ่งที่ตรงข้ามกันได้โคจรมาพบกันเสมือนมาปรองดองกัน “ภูมิความรู้ระดับปรัชญาที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นจะนำพาชาติให้รอดวิกฤติได้” มันคงไม่ใช่การเฝ้ารอโชคลาภ หรือรออิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ สังกรณีตรีชวา ยาอายุวัฒนะ ที่เกิดตามซอกผาในวรรณคดี นิยาย การ์ตูน แต่ต้องเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง   

พลังสามสิ่ง “ศาสตร์พระราชา-ภูมิปัญญาท้องถิ่น-จิตอาสา”

ข้อเสนอการนำ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Wisdom) [5] มาพัฒนาเป็น “วิสาหกิจชุมชน” (Small and Micro community Enterprise-SMCE) [6] จนถึง สามารถเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวม ที่มีปริมาณมากพอ ตาม “แนวทางพอเพียงตามศาสตร์พระราชา” (Sufficiency Philosophy) [7] และผนวก “จิตอาสา” (Volunteer Mind) [8] ที่เน้นความอุทิศร่วมมือเสียสละ สำนึกรักในชุมชนบ้านเกิด ผสมผสานกันไป โดยทั้งสามแนวทางนี้น่าจะกอบกู้วิกฤตของคนท้องถิ่นได้ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างไม่ยาก เพราะ มวลชนชาวบ้านในพื้นที่หากเขาเห็นเป็นเรื่องปากเรื่องท้อง และ รัฐบาลมีความจริงใจช่วยเหลือ ชาวบ้านต้องตอบรับแน่นอน

ข้อจำกัดการตรวจสอบของ อปท.

ข้อเสนอให้มี “การตรวจสอบของภาคประชาชน” [9]แทน สตง. และ ป.ป.ช. ฟังดูดี มีข้อแย้งว่า (1) การมีส่วนร่วมของประชาชน มีการเลือกตัวแทนจากที่ประชุมหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นเรื่องดี แต่ในเรื่องงบประมาณ อปท.และงบหมู่บ้านที่ผ่านมา บางแห่งยังมี “รั่วซึม” เพราะการซิกแซกในผลประโยชน์ทับซ้อน การพบว่ามีความผิดพลาดก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว (2) การมีส่วนร่วมควรมีเฉพาะ “ระดับการตัดสินใจเลือกโครงการและกิจกรรม” แต่ไม่ควรให้มีส่วนร่วมใน “ระดับการบริหารจัดการ” เช่น เรื่องการจัดซื้อจ้างและการเบิกจ่ายเงิน เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ขายเอง ซื้อเอง ตรวจรับเอง (3) อิทธิพลอำนาจมืด การชี้นำ เกิดความรู้สึกพวกมากลากไป ไม่คำนึงถึงเรื่องความถูกผิด หรือความเหมาะสม ยังคงมีอยู่มาก (4) ผู้มีหน้าที่ควบคุมระเบียบ กำกับดูแล ต้องมีความรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบได้ โดยประชาชน (5) การวัดความโปร่งใส คุ้มค่า ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ควรวัดแยกกลุ่มวัดตามช่วงเวลาของ “การมีส่วนร่วมรับผิดชอบของประชาชน” ตามข้อ 2 ควรมีการประกาศผลการติดตามภาคประชาชนเผยแพร่เป็นประกาศในเวบไซต์ / ประกาศในชุมชนและหน่วยงาน โดยเฉพาะห้วงเวลาหลังจากการดำเนินการโครงการเสร็จสิ้น เพราะ มักเกิดอาคารร้าง ตลาดร้าง กิจกรรมโครงการขาดความต่อเนื่อง โครงการล้มเหลว ฯลฯ เป็นต้น

ท้องถิ่นต้องมีสมรรถนะสูงด้วย

ที่ต้องกล่าวก็คือ ในเป้าหมายการปฏิรูปราชการนั้น “องค์กรสมรรถนะสูง” [10]ที่จัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องคัดสรรเอา “นักการเมืองน้ำดี” เป็นคนดีมีฝีมือมีความรู้ความสามารถ คนกล้าตัดสินใจในความถูกต้อง มีความมุ่งมั่น มิใช่พวกนักเลงหัวไม้ พวกโกงกิน หากมาเพราะการซื้อเสียง เล่ห์เหลี่ยม อิทธิพล หลอกลวง ฯลฯ ผลเสียก็ตกแก่คนท้องถิ่น เกิดปัญหาทางตัน มีความสับสนของชาวบ้านว่า จะคัดสรรคนดีได้อย่างไร ในช่วงบรรยากาศทางการเมืองระดับชาติที่ไม่ค่อยเป็นใจนัก หากได้กลุ่มคนมีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับที่ชาวบ้านคาดหวัง ก็ไม่อยากคาดเดาว่าบ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น หรือว่า ยังไม่ต้องไปใส่ใจในเรื่อง “คุณภาพหรือสมรรถนะสูง” ใด ๆ เลย เลือกคัดสรรไปตามทางตามอารมณ์ไปก่อน ฉะนั้น เราต้องมาพิจารณาเรื่องสำคัญ องค์ประกอบคุณสมบัติบุคคลก่อนการเข้าสู่ตำแหน่งว่าควรเป็นอย่างไร องค์ประกอบตุณสมบัติระหว่างการดำรงตำแหน่ง ว่าควรเป็นอย่างไรบ้าง

ข้อสำคัญปัจจุบันทุกองค์กรทุกสังกัดต้องมีระบบ “การคัดกรองเอาคนเข้าสู่ตำแหน่ง” ต้องได้คนดี มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม เรียกว่า “เข้ายาก ออกง่าย” โดยเฉพาะการปลดบุคลากรที่เสื่อมเสียคุณธรรมจริยธรรม หรือ เสื่อมคุณภาพ (กำลังพลเสื่อม) ที่การคัดกรองนี้ หมายรวมทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำด้วย

ในอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่นเมื่อมีกลุ่มเกิดขึ้นหลากหลายกลุ่ม สิ่งติดตามมาหนีไม่พ้นก็คือ ต้องมีกลุ่มอำนาจจากข้างนอกติดตามมาด้วย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่ต้องมาแยกแยะดู “เนื้องานของ อปท.ที่แท้จริง” ที่ควรต้องดำเนินต่อไปมีงานสำคัญใดบ้าง การบริหารจัดการ 4 M ในพื้นที่ อปท. จึงจำเป็น รวมทั้งการใช้เงินบริจาค เสียสละ “จิตอาสา” ร่วมกันของคนท้องถิ่นที่มีมาแต่อดีตแล้ว ในชั้นนี้ “ชุมชนชาวบ้าน” ควรจะได้เป็นเจ้าของโรงเรียน สถานีอนามัย (รพ.สต.) ตัวจริงเสียที เพราะ เชื่อว่า เนื้องานในหน้าที่นี้ คือ การศึกษา และ การดูแลสุขภาพอนามัยเบื้องต้น ต้องเป็นหน้าที่ร่วมกันของคนชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งก็คือ ภารกิจสำคัญของ อปท. นั่นเอง

จุดอ่อนภายในของ อปท. ด้านการศึกษา

ข่าวการยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก [11]ในภารกิจการปฏิรูปประเทศสำคัญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือ ด้านการศึกษาในการถ่ายโอนภารกิจการศึกษาให้แก่ อปท. การเสนอให้มีการยุบรวมโรงเรียน สพฐ. ขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120  คน เพื่อไปรวมกับโรงใหญ่ข้างเคียง ด้วยจำนวนทื่มากถึง 1.5 หมื่นแห่ง เกิดคำถามว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพจริงหรือ มีเสียงต่อต้านว่าไม่จำเป็น แต่อีกฝ่ายเห็นว่าหากไปไม่ไหว ก็ควรยุบและถ่ายโอนภารกิจทรัพย์สินฯ โรงเรียนเหล่านี้ลงสู่ อปท. หรือ การนำโรงเรียนมาให้ อปท.ไปบริหารได้หรือยัง

ภารกิจการศึกษาที่สอดรับกับภารกิจเดิมของวัดก็คือโรงเรียน การหันกลับมาของท้องถิ่นจะส่งผลไปถึง “องค์ความรู้เดิมๆของชาวบ้าน” มีจุดอ่อนปัญหากระทบต่อการจัดการศึกษาที่ควรคำนึง เป็นปัญหาดังเช่นองค์กรอื่น บางกรณีเป็นเพียงพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่หากเป็นข่าวจากท้องถิ่นแล้วจะดังขึ้นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ หรือข่าวออนไลน์ไปนาน อาทิปัญหาเรื่อง [12](1) คุณภาพของฝ่ายการเมืองผู้บริหารท้องถิ่น (2) คุณภาพของฝ่ายประจำข้าราชการที่มากำกับดูแลโรงเรียน ที่มีระบบอุปถัมภ์มาก และที่ขาดคุณธรรมจริยธรรม มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการศึกษา (3) การคัดเลือกครูท้องถิ่นขาดมาตรฐาน เป็นที่ครหาของหน่วยงานข้างเคียง อาจไม่ได้คนดีมีความสามารถมากพอ (4) ข่าวคราวบุคลากรท้องถิ่นมีพฤติกรรมไปในทางทุจริต มีประโยชน์ทับซ้อน เหล่านี้เป็นปัญหาที่มีผลต่อ “คุณภาพการศึกษา” ได้

ที่กล่าวมาตั้งใจจะพูดถึง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ว่ายังสามารถพัฒนานำมากู้วิกฤตเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้ แต่ส่วนกลางรัฐบาลต้องให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่นด้วย

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 7  วันเสาร์ที่ 2 - วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2562, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 2 พฤศจิกายน 2562, https://siamrath.co.th/n/112441 

[2]ภูมิปัญญา ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdomหมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะความเชื่อและศักยภาพในการแก้ปัญหาของมนุษย์ที่สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไม่ขาดสายและเชื่อมโยงกันทั้งระบบทุกสาขา

ภูมิปัญญาไทย (Thai wisdom) หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะและเทคนิคการตัดสินใจผลิตผลงานของบุคคล อันเกิดจากการสะสมองค์ความรู้ทุกด้านที่ผ่านกระบวนการสืบทอดพัฒนาปรับปรุง และเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom ) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เองและนำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นเทคนิควิธีเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้าน ทั้งทางกว้างและทางลึกที่ชาวบ้านคิดเอง ทำเองโดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยความเหมือนกันของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ เป็นองค์ความรู้ และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ซึ่งได้สืบทอดและเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน, https://poungthong.files.wordpress.com/2011/10/e0b8a0e0b8b9e0b8a1e0b8b4e0b89be0b8b1e0b88de0b88de0b8b2.pdf 

[3]ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. หรือ SACICT : The Support Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีการบริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542, https://www.sacict.or.th/th/about-sacict

[4]ในอีกมุมมองหนึ่ง สินค้ามือสองไม่ใช่สินค้าขยะที่ทิ้งแล้ว เรียกว่า “เศรษฐกิจมือสอง” ที่เกิดจากสินค้ามือสองทั่วโลก หรือ “Second Hand Economy” หรือ “เศรษฐศาสตร์มือสอง” เช่น  แบรนด์เนมมือสอง มีหลายเหตุผลที่เราเลือกใช้ของมือสองแทนที่จะใช้สินค้าใหม่ บ้างเพราะราคา บ้างเพราะลักษณะเฉพาะที่หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน บ้างเพื่อการสะสม แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากโลกนี้พูดได้ เขาคงเอ่ยคำว่าขอบคุณ เพราะทุกครั้งที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามือสอง เท่ากับช่วยลดการผลิตซึ่งอาจสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมตามมา ในทางกลับกันด้วยการผลิตเพียงครั้งเดียวนี้ สามารถทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นอีกหลายรอบ ทั้งยังกระจายรายได้ไปยังผู้คนอีกหลายกลุ่ม ซึ่งบางครั้งสิ่งนั้นอาจจะไปไกลกว่าสิ่งที่ผู้ผลิตคาดหวังไว้ ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ได้ยกเว้นการรวมเอาการซื้อขายสินค้ามือสองออกจากการคำนวณ เนื่องจากไม่ได้เป็นการเพิ่มผลผลิตในปัจจุบัน แต่ให้นับรวมเฉพาะค่าคอมมิชชั่นที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ดู Second Hand Economy, TCDC (Thailand Creative & Design Center), 1 สิงหาคม 2562, http://www.tcdc.or.th/articles/others/23143/#Second-Hand-Economy

[5]อ้างแล้ว & ดู ว่าด้วยท้องถิ่นนิยม (Localism), 25 มิถุนายน 2558,  https://www.gotoknow.org/posts/591617 & สุนทร ลิ้มวรรณเสถียร, มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น, 4 สิงหาคม 2555, https://www.gotoknow.org/posts/497162

& สกุลทิพย์ ทิพย์ทำมา, ภูมิปัญญาท้องถิ่น 1-2, 4 พฤษภาคม 2553, https://www.gotoknow.org/posts/356026

https://www.gotoknow.org/posts/356027

[6]พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548

วิสาหกิจชุมชน หมายความว่า “กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้าการให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรูปนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนประกาศกำหนด”

[7]“Sufficiency Economy” is a philosophy introduced by King Bhumibol Adulyadej. For over three decades, through his countless addresses and remarks, His Majesty offered his insight into a sustainable way of life to his people. And this was well before the major economic crisis in Thailand. Subsequently, more emphasis was given to survival solutions that were both stable and sustainable under the currents of globalisation and changes.

“เศรษฐกิจพอเพียง”เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

Philosophy of Sufficiency Economy หรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข หลักสำคัญคุณลักษณะ 3 ประการ  คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี และ อาศัยพื้นฐาน 2 เงื่อนไข ทั้งความรู้ และคุณธรรม

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการเชิดชูสูงสุด จากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ โดยที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ : วิกิพีเดีย

วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Agenda 2030) ได้รับการรับรองโดยสหประชาติ (UNCTAD) แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช

ดู บทความวิชาการ : Thailand Sufficiency Economy and Agenda 2030 Showing the way forward for sustainable development, ดร. ศุภชัย พาณิชภักดิ์ บรรยายพิเศษ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559, ใน กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ, 13 มิถุนายน 2561, http://www.mfa.go.th/europetouch/th/articles/8332/90488-Thailand-Sufficiency-Economy-and-Agenda-2030-Showi.html

[8]“จิตอาสา” หรือ Volunteer Spirit อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ถึง 10 ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย

“จิตอาสา” คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม…อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัว เป็นตนของตนเองลงได้บ้าง

ดู ความหมายของจิตอาสาหรือจิตสาธารณะ, 26 ธันวาคม 2559, http://www.volunteerspirit.org/?p=30162 

& 27 ธันวาคม เป็นวัน ”จิตอาสา”ดู ความจริงวันนี้ วันจิตอาสา, 27 ธันวาคม 2551, http://www.oknation.net/blog/thanomwong/2008/12/27/entry-1

[9]สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.): Thai civil society

 ปี 2558 เกิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีคณะกรรมการ เรียกว่า “คสป.” และอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมาย แผนยุทธศาสตร์ และระบบฐานข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคม

คณะกรรมการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย ได้แบ่ง “ภาคประชาสังคม” ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ (1) องค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนทั้งหมด 8,903 องค์กร (ข้อมูล สกว.) (2) องค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวนทั้งสิ้น 3,654 องค์กร (ข้อมูล พม.) (3) องค์กรสวัสดิการชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 3,593 องค์กร (ข้อมูล พม.) (4) องค์กรชุมชน ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 (5) องค์กรภาคประชาชนไม่แสวงหากำไร จำนวน 76,685 แห่ง (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

ดู องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย, http://thaicivilsociety.com/?p=content&id_content=250

[10]องค์กรสมรรถนะสูง  : HPO (High Performance Organization) คือ การเป็นองค์กรที่เก่ง มีแผนรองรับกับสภาวะต่าง ๆ อย่างชัดเจน มีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่สามารถกระทบต่อการทำงานจากรอบด้านทุกมุมมอง ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเวลา และคุณภาพของผลงานดีเยี่ยม ประกอบไปด้วย 7 มิติ ดังนี้ (1) การนำองค์กร (2) การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ (3) การให้ความสำคัญกับผู้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) การวัด การวิเคราะห์ การจัดการการความรู้ (5) การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล (6) การจัดการกระบวนการ (7) ผลลัพธ์การดำเนินการ

ดู รู้จัก HPO (HighPerformance Organization), ใน องค์กรแห่งการเรียนรู้ การประปาส่วนภูมิภาค เขต 1, 22 มิถุนายน  2555, https://reg1.pwa.co.th/km/?p=33 

[11]ผิดด้วยเหรอที่อยู่บ้านนอก! ครูหนุ่มค้าน สพฐ. ล้างบางโรงเรียนขนาดเล็ก แนะควรถามความสมัครใจ, 24 พฤษภาคม 2562, https://today.line.me/th/pc/article/ผิดด้วยเหรอที่อยู่บ้านนอก+ครูหนุ่มค้าน+สพฐ+ล้างบางโรงเรียนขนาดเล็ก+แนะควรถามความสมัครใจ-lz2Y90

& กพฐ.ชงยุบรวม 1.8 หมื่นร.ร.เล็ก แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา, Matichon, 1 สิงหาคม 2562, https://www.matichon.co.th/education/news_1606007

& “โรงเรียนขนาดเล็ก” ปัญหาเรื้อรังที่เกี่ยวพันกับเด็กไทยเกือบล้านคน, 26 สิงหาคม 2562, https://workpointnews.com/2019/08/26/news-77/

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่าปีการศึกษา 2561 ไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,089 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 50% ของโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ 30,112 แห่ง ซึ่งตามนิยามของ สพฐ. “โรงเรียนขนาดเล็ก” หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน

& “สมพงษ์” ค้านยุบร.ร.เล็ก 1.5 หมื่นโรง ถาม เด็กชนบทจะไปเรียนที่ไหน?, 25 กันยายน 2562, https://www.thansettakij.com/content/410538

& กสม.ค้านยุบ ควบรวม รร.ขนาดเล็ก กระทบสิทธิเด็ก : คมชัดลึกออนไลน์, 2 ตุลาคม 2562, https://www.komchadluek.net/news/edu-health/391472

& 'ครูมานิตย์' วอน รมว.ศธ. อย่ายุบโรงเรียนขนาดเล็กตามชนบท พบมีเสียงสะท้อนแล้วจาก ร.ร.ที่ศรีสะเกษ, 20 ตุลาคม 2562, https://news.bectero.com/news/153635

& จันทร์นี้ ครูทั่วประเทศ ดีเดย์ แต่งดำไว้ทุกข์ กระทรวงศึกษาธิการปรับโครงสร้างใหม่, 27 ตุลาคม 2562, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1153876   

[12]“เพื่อไทย” ชี้จะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จต้องกระจายอำนาจ, 2 พฤศจิกายน 2562, https://www.matichon.co.th/education/news_1737169

ปัญหาการศึกษาไทยและแนวทางการแก้ไข, pattarawadee blog, 9 มกราคม 2556, http://pattarawadee2526.blogspot.com/

(1) ปัญหาด้านคุณภาพของครู (2) ปัญหาหนี้สินครู (3) ปัญหาการขาดแคลนครูสะสม สรุป ปัญหาของครูผู้สอนนับเป็นประเด็นเร่งด่วนที่อยู่ในขั้นวิกฤติซึ่งภาครัฐและทุกภาคส่วนต้องประสานพลังในการแก้ไขและต้องดำเนินการอย่างจริงจัง รอบคอบ และต่อเนื่อง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องพิจารณาในลักษณะองค์รวมตั้งแต่สถานภาพครู ทิศทางการผลิตครูในอนาคต รวมถึงการประกันคุณภาพของครูเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าครูจะมีศักยภาพเอย่างพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไปสู่เยาวชนของชาติตามเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

& ปัญหาหลักของการศึกษาไทย ในปฏิรูปประเทศไทย, รศ.วิทยากร เชียงกูล อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, 17 มิถุนายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647483

(1) ด้านการบริการจัดได้ไม่ทั่วถึง ประสิทธิภาพต่ำ รัฐบาลไทยใช้งบประมาณการศึกษาสูง (2) ด้านคุณภาพ การกระจายและคุณภาพการศึกษาที่จัดให้ประชาชนทั้งประเทศยังแตกต่างกันสูง และคุณภาพการศึกษาถัวเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (3) ด้านระบบบริหารการจัดการศึกษา (4) การเปลี่ยนแปลงในรอบ 2 ปี เป็นแค่รูปแบบการบริหาร แต่บุคคลากรยังคงเป็นชุดเดิมที่คงทำงานแบบเดิม ต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่เนื้อหาสาระ คือการพัฒนาครูและกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนในแนวใหม่ ต้องสร้างและว่าจ้างครูที่ใฝ่การเรียนรู้ รักการอ่าน คิดวิเคราะห์เป็นเท่านั้น พวกเขาจึงจะสามารถสอนให้นักเรียนนักศึกษาใฝ่การเรียนรุ้ รักการอ่าน อ่านเองเป็น คิดวิเคราะห์ วิจัย แก้ปัญหา ทำโครงการเป็น ฯลฯ ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และวิธีการวัดผลหรือสอบด้วย  ถ้ายังเน้นแต่เรื่องการจำข้อมูล เพื่อไปสอบแบบกาผิดกาถูก ทั้งครูและนักเรียนก็ยังต้องติดยึดวิธีการสอนการเรียนแบบเก่าที่ล้าสมัย

หมายเลขบันทึก: 672363เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2019 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท