ภูมิปัญญาท้องถิ่น 2


ลักษณะ - ประเภท

ลักษณะของภูมิปัญญาไทย มีดังนี้

๑. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
๒. ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
๓. ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคน
๔. ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
๕. ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
๕. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
๗. ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคม

ประเภทของความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น

นักการศึกษา และสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ได้แบ่งประเภทของความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา และภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ ดังนี้

สถาบันการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ได้กำหนดการศึกษาเกี่ยวกับความคิดและภูมิปัญญาไทยออกเป็น 7 โครงการ ดังนี้

1. ความเชื่อ
2. ความเป็นอยู่และการทำมาหากิน
3. การศึกษา
4. การเมืองการปกครอง
5. การดูแลสุขภาพ
6. ดุริยางศิลป์
7. นาฎศิลป์

เอกวิทย์ ณ ถลาง และคณะ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ได้ศึกษาภูมิปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านไทยในโครงการ กิติ เมธี ได้กำหนดหัวข้อในการศึกษาภูมิปัญญาเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

1. ความเชื่อ โลกทัศน์ที่บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
2. วิถีการดำรงชีวิต การแก้ปัญญา การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
3. ศิลปหัตถกรรม ประดิษฐกรรม ในรูปเครื่องมือของใช้ ศิลปวัตถุ ที่มีแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมตามพื้นภูมิที่หลากหลายระหว่างภูมิภาค
4. กระบวนการและพฤติกรรมการเรียนรู้ การถ่ายทอดภูมิปัญญา ประสบการณ์ การใช้ศึกษาอบรม และการแก้ปัญหาตามพื้นฐานวัฒนธรรมและปรีชาญาณของชาวบ้าน

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการ
ศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ได้กำหนดสาขาย่อยของภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทำการคัดเลือกและเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม 5 สาขา ดังนี้

1. ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการเกษตร เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิต (เช่น การแก้ไขโรคและแมลง) และรู้จักปรับใช้เทคโนโลยี ฯลฯ
2. ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร การรักษาการถ่ายทอดความรู้ดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์เช่น การเคารพแม่น้ำ แผ่นดิน พืชพันธ์ธัญญาหาร และโบราณสถานโบราณวัตถุ ฯลฯ
3. ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจัดการ สวัสดิการและธุรกิจชุมชน ได้แก่
   3.1 กองทุนต่าง ๆ ในชุมชน เช่น สหบาลข้าว (ธนาคารข้าว) สหกรณ์ ร้านค้า กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ฯลฯ
   3.2 กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ฯลฯ
4. ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการรักษาโรค และการป้องกัน เช่น หมดพื้นบ้าน หมอธรรม และผู้รอบรู้เรื่องสมุนไพร
5. ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการผลิตและการบริโภค เช่น การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้สามารถบริโภคได้โดยตรง ได้แก่การใช้เครื่องสีมือ และครกตำข้าว การรู้จักประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แปรรูปผลผลิตเพื่อชะลอการนำเข้าตลาด

สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ได้กำหนดประเภทและลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนี้

1. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบการผลิต หรือการประกอบอาชีพ ซึ่งมีลักษณะประกอบอาชีพแบบพุทธเกษตรกรรม หรือการประกอบอาชีพที่มีลักษณะจัดความสมดุลสอดคล้องกับธรรมชาติ มุ่งการพึ่งพาตนเองเป็นกระแสหลักมากกว่าการพึ่งพอปัจจัยการผลิตจากภายนอก ได้แก่ การทำการเกษตรการทำเกษตรผสมผสาน และการทำเกษตรแบบธรรมชาติ
2. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบสังคม หรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ได้แก่ ความเชื่อ คำสอน ค่านิยม ประเพณี ที่แสดงออกในแบบแผนการดำเนินชีวิต
3. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรักษาป่าไม้ชุมชน การรักษาโรคร้ายด้วยสมุนไพร

กรมวิชาการ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า)ได้กำหนดประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ ดังนี้

1. คติความคิด ความเชื่อ หลักการ ที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมสืบทอดกันมา
2. ศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เป็นแบบแผนการดำเนินการปฏิบัติสืบทอดกันมา
3. การประกอบอาชีพในท้องถิ่นที่ยึดหลักการพึ่งตนเอง และได้รับการพัฒนาให้เหมาะกับกาลสมัย
4. แนวความคิดหลักปฏิบัติ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ชาวบ้านนำมาดัดแปลงในชุมชน อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่

จากการจำแนกประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาชาวบ้านของนักการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น สรุปเป็นองค์ความรู้จำแนกได้ 4 ประเภท คือ

1. องค์ความรู้ทางธรรมชาติ เช่น ดิน หินแร่ ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง น้ำตก พืช สัตว์ ฯลฯ
2. องค์ความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานที่ราชการ สถานประกอบการ สถานประกอบอาชีพอิสระ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ศูนย์วัฒนธรรม วัด โบสถ์ มัสยิด ฯลฯ
3. ทรัพยากรทางสังคม เช่น ประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน กิจกรรม
ต่าง ๆ ในชุมชน ฯลฯ
4. ทรัพยากรทางบุคคล เช่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียนที่มีความรู้ความสามารถ อาจารย์ ครู นักวิชาการ โรงเรียน อื่น ๆ ฯลฯ

คณะผู้ศึกษาได้กำหนดหัวข้อความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลนาขุม อำเภอเมืองบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ออกเป็นหมวดหมู่ได้ 3 หัวข้อ ดังนี้

1. สภาพทั่วไปของตำบลนาขุม
   1.1 สภาพทางภูมิศาสตร์
   1.2 การเมืองการปกครอง
   1.3 สถานที่สำคัญ
   1.4 การศาสนา
   1.5 เศรษฐกิจ
   1.6 การศึกษา
2. ประวัติและความเป็นมาของหมู่บ้าน
3. ความรู้ท้องถิ่นของตำบลนาขุม
   3.1 ประเพณีพื้นบ้าน
   3.2 ความเชื่อพื้นบ้าน
   3.3 อาหารพื้นบ้าน
   3.4 สมุนไพรพื้นบ้าน
   3.5 นิทานพื้นบ้าน
   3.6 การละเล่นพื้นบ้าน
   3.7 ดนตรีและเพลงพื้นบ้าน
   3.8 หัตถกรรมพื้นบ้าน

หมายเลขบันทึก: 356027เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2019 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท