ภูมิปัญญาท้องถิ่น 1


ความหมาย

ภูมิปัญญาไทย

ความหมายของความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา

ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนา และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญาไทยนี้มีลักษณะเป็นองค์รวม มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการและการปรับตัวในการดำเนินวิถีชีวิตของคนไทย ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม และหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรมด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ

คำว่า “ภูมิปัญญา” ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom ซึ่งมีความหมายว่า ความรู้ ความสามารถ
ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรม และความสามารถในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์
(อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า)

ปรีชา อุยตระกูล (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ภูมิปัญญา
เป็นเรื่องที่สั่งสมกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน
คนกับธรรมชาติแวดล้อม คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีตประเพณี วิถีชีวิต การ
ทำมาหากินและพิธีกรรมต่าง ๆเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์เหล่านี้เป้าหมายก็คือเพื่อให้เกิด
ความสุขทั้งในส่วนที่เป็นชุมชนหมู่บ้านและในส่วนที่เป็นปัจเจกของชาวบ้านเองถ้าหากเกิดปัญหา
ทางด้านความไม่สมดุลกันขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความไม่สงบสุขเกิดปัญหาในหมู่บ้านและชุมชน

“ภูมิปัญญา ยังหมายถึง ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพในการศึกษาเล่าเรียน การที่ชาวบ้านรู้จักวิธีการทำนา
การไถนา การเอาควายมาใช้ในการไถนา การรู้จักนวดข้าวโดยการใช้ควาย รู้จักสานกระบุงตะกล้า เอาไม้ไผ่มาทำเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันรวมทั้งรู้จักเอาดินขี้กระทามาแช่น้ำ ต้มให้เหือดแห้งเป็นเกลือสินเธาว์ ก็เรียกว่าภูมิปัญญาทั้งสิ้น” (ธวัช ปุณโณทก, 2531. หน้า 40-42)

ภูมิปัญญาเป็นเรื่องที่สั่งสมมาแต่อดีต เป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติแวดล้อมคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีตประเพณี วิธีชีวิต การทำมาหากินและพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์เหล่านั้น (พัชรา อุยตระกูล, 2531. หน้า 9)

ประเวศ วสี (เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในการจัดงานมหากรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย '33
ณ. จังหวัดนครราชสีมาเรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้าน, 2533. ไม่มีเลขหน้า)กล่าวไว้ว่าภูมิปัญญาเกิดจากการสะสม
ประสบการณ์และการเรียนรู้มายาวนานความรู้ด้านต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกันไปหมด ไม่ได้แยกออกเป็นวิชา ๆ
ตามที่ร่ำเรียนกัน ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อาชีพ ความเป็นอยู่ การใช้จ่าย การศึกษาและวัฒนธรรม
มันผสมกลมกลืนหรือเชื่อมโยงกัน บางทีแยกไม่ออกว่าเป็นวิชาอะไรไม่ว่าจะจบวิชาอะไร มันจะเห็นความเชื่อมโยง

ดังนั้น ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา จึงหมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความ-สามารถทางพฤติกรรมและความสามารถในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ ที่สั่งสมกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวกับจารีตประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากินการศึกษาเล่าเรียน พิธีกรรมต่าง ๆ การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิต

ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดเฉพาะท้องถิ่นหนึ่ง อาจเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เราเรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอาจมีชื่อ เรียกได้หลายอย่าง เช่น ภูมิปัญญาพื้นบ้าน, ภูมิปัญญาชาวบ้าน, ทรัพยากรท้องถิ่น, แหล่งความรู้ท้องถิ่นหรือแหล่งวิทยาการในชุมชนซึ่งนักการศึกษาได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ยิ่งยง เทาประเสริฐ (2537, หน้า 20) ได้ใช้คำว่า “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน” โดยให้ความหมายว่า เป็นองค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา อันเป็นความสามารถและศักยภาพ ในเชิงแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้และสืบทอดไปสู่คนรุ่นใหม่เพื่อการดำรงอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เผ่าพันธุ์หรือเป็นวิถีของชาวบ้าน

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

วิชิต  นันทสุวรรณ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึงแกนหลักของการมองชีวิต การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งมีความหมายทั้งในแง่ปัจเจกบุคคลและในแง่ของสังคมหมู่บ้าน

เสรี พงศ์พิศ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า) ปัญญาหรือภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เรียก หมายถึง พื้นเพรากฐานของความรู้ชาวบ้าน

จากการสัมมนาของนิสิตภาควิชาบริหารการศึกษา สาขานิเทศการศึกษาและพัฒนา
หลักสูตร คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2534) เรื่อง “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” มิติจรัสแสงต่อการจัดการเรียนการสอน ระดับประถมศึกษา” ได้สรุปความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง องค์ความรู้ของชาวบ้าน หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นทำขึ้นจากสติปัญญาและความสามารถของตนเอง เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับสมัยโดยมีกระบวนการสั่งสมสืบทอดและกลั่นกรองมายาวนานและมีการประสมประสานกันเป็นเหลี่ยมมณีที่จรัสแสงคงทนและท้าทายตลอดกาลเวลา

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2534) ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความสามารถในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของชุมชน ปัญหาในการดำรงชีวิต และปัญหาในการประกอบอาชีพ โดยที่ปราชญาชาวบ้านเหล่านี้ได้มีกระบวนการวิเคราะห์ และสั่งสมประสบการณ์มาเป็นเวลานานเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป

อังกูล  สมคะเนย์  (2535. ไม่มีเลขหน้า)  ภูมิปัญญาชาวบ้าน  หมายถึง  มวลความรู้และมวลประสบการณ์ของชาวบ้าน ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นสุข โดยได้รับการถ่ายทอดสั่งสมกันมาโดยผ่านกระบวนการพัฒนาให้สอดคล้องกับกาลสมัย

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

กองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการ (อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2541. ไม่มีเลขหน้า)
ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Popular Wisdom) เป็นองค์ความรู้ความ
สามารถของชาวบ้านที่สั่งสมสืบทอดกันมา อันเป็นศักยภาพความสามารถที่จะใช้แก้ปัญหา ปรับตัว เรียนรู้ และมีการสืบทอด ไปสู่คนรุ่นใหม่หรือแก่นของชุมชน ที่จรรโลงชุมชนให้อยู่รอดจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์พัฒนาการหลักสูตร กรมวิชาการ (ม.ป.ป.) ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน
(Popular Wisdom) คือ ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของคนเรา ผ่านกระบวนการศึกษา สังเกต
คิดวิเคราะห์จนเกิดปัญญา และตกผลึกมาเป็นองค์ความรู้ที่ประกอบกันขึ้นต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นจัดเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้สมัยใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการและ
การปรับตัวในการดำเนินชีวิตของคนเรา ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม ชุมชนและในตัว
ผู้รู้เอง หากมีการสืบค้นหาเพื่อศึกษาและนำมาใช้ ก็จะเป็นที่รู้จักกัน เกิดการยอมรับ ถ่ายทอดและพัฒนาไปสู่
คนรุ่นใหม่ตามยุคตามสมัยได้

ทรัพยากรท้องถิ่น

นิพนธ์ ศุขปรีดี (2528. หน้า 185) ให้ความหมายว่า ทรัพยากรท้องถิ่น หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในชุมชน ซึ่งครูหรือนักเรียนอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ เช่น พิพิธภัณฑ์ สถานที่ราชการ โบราณสถาน
โรงภาพยนตร์ แม่น้ำลำธาร และบุคคลที่โรงเรียนอาจจะเชิญมาเป็นวิทยากร หรือครูออกไปสัมภาษณ์เยี่ยมเยียนเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เช่น บุรุษไปรษณีย์ ตำรวจ ชาวสาน พ่อค้า หรือเจ้าหน้าที่ทางราชการ เป็นต้น

แหล่งวิทยาการในชุมชน

จิราวรรณ ช้างสำลี (2530. หน้า 67) ให้ความหมายไว้ว่า แหล่งวิทยาการในชุมชน หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มี                  อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ สถานที่ บุคคล กิจกรรมในชุมชน รวมทั้งสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีคุณค่าทางการศึกษาและสามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้

จากความหมายของความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาดังกล่าวข้างต้น การศึกษาภูมิปัญญาของตำบลนาขุม อำเภอบ้านโคก
จังหวัดอุตรดิตถ์ ในครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาจึงให้ความหมายของคลังภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง แหล่งรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลทางภูมิปัญญาซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยการรวบรวมจัดเก็บในรูปแบบเอกสาร
ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อรักษาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าไว

หมายเลขบันทึก: 356026เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2019 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดี ครับ

ขอบพระคุณ ภูมิความรู้ที่นำมาฝากให้ อ่าน นะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท