มหัศจรรย์ "สีสันวัยเยาว์" (๑)..เราไปดูนกกันเถอะ


ทักษะการเรียนรู้ จากสิ่งแวดล้อม เด็กๆใช้ “ใจ” ในการเรียนรู้ จึงไม่มีกรอบความคิด ไม่สนใจว่าผิดหรือถูก ทุกอย่างดูจะเป็นสิ่งที่น่าพิศวงยิ่งนัก พร้อมตอบสนองในความอยากรู้อยากเห็น ทำไมสิ่งที่ดีๆเหล่านี้ได้ถูกลดทอนลงไปมาก เมื่อเด็กๆเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียน ?? และเมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย ดูราวจะลดลงไปอย่างน่าเป็นห่วง..การศึกษาเราเป็นอย่างไร??

มหัศจรรย์ "สีสันวัยเยาว์"(๑) ..เราไปดูนกกันเถอะ


 

เสียงใสๆ ระคนความตื่นเต้นของสมาชิกวัยเยาว์ 3 คน  บ่งบอกถึงความสนุกที่จะได้สัมผัส ใกล้ชิดกับนกและธรรมชาติอีกครา เด็กน้อยมาร่วมกิจกรรมด้วยพลังเหลือเฟือ วิ่งไปดูนกได้หลายรอบไม่เบื่อ....ฐานกายพรั่งพร้อมลุยได้ทุกสถานการณ์ นำเอาความมีชีวิตชีวา สีสันแห่งวัยมาสร้างความสดใสให้กับทีม

 

การสร้างโอกาสร่วมปลูกฝัง เรียนรู้  สัมผัส เข้าใจธรรมชาติ โดยใช้กิจกรรม “ดูนก และใส่ห่วงขานก (bird ringing)” เป็นการบ่มเพาะความรักธรรมชาติ รัก “ชีวิต” และ รักโลกในที่สุด  เป็นสิ่งที่  “ครูพื้นที่” และน้องๆทีมงานมีความตั้งใจและยินดี ที่เด็กน้อยสนใจ มาสังเกตและร่วมสนุกในกิจกรรมเช่นนี้ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา ขณะที่ทีมเราเก็บข้อมูล/วิจัยเกี่ยวกับนก ทั้งนกชายเลนอพยพ และนกป่าในมอ.ปัตตานีเป็นประจำทุกเดือนต่อเนื่องมา  5 ปี ..ตั้งแต่ได้ผ่านการฝึกปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักสากล..

 

ชีวิตวัยเด็ก..เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ลองดู ไม่มีคำว่า..น่ากลัว.. ธรรมชาติเป็นสิ่งที่น่าพิสมัย น่าค้นหา น่าสัมผัส ... ถุงผ้าใส่นกจะถูกเลือกจับจองไว้คนละใบ สองใบ  ปลิวไสวในมือขณะวิ่งไปที่ตาข่าย (mist nets)  หากมีนกติดตาข่ายก็จะรีบวิ่งมาบอก และต่างก็ช่วยเป็นลูกมืออย่างกุลีกุจอ  มองด้วยใจจดจ่อ รอด้วยความใจเย็น ส่งสายตาด้วยความสงสัยว่า..พี่ๆจะแกะนกที่ติดตาข่ายได้ยังไง ??

 

เมื่อได้นกที่ปราศจากพันธนาการแล้วเด็กๆก็จะนำมาใส่ถุงผ้า พร้อมกับส่งเสียงบอกด้วยความดีใจขณะที่วิ่งกลับมา แขวนเรียงไว้ตามลำดับ ดังที่แนะนำไว้ บางครั้งก็รู้จักชื่อนกมาก่อน หรืออาจจะมีคำถามที่ตื่นเต้นว่า.. นกอะไรเหรอ?? เราก็ได้ใช้โอกาสนี้ให้น้องฝึกเปิดดูคู่มือดูนกเมืองไทยให้ถูกวิธี ทั้งการใช้ภาพและใช้ดัชนี...หากไม่มีนกก็จะเดินกลับมา หน้าตาหงอยเหงา เงียบไปเพียงชั่วขณะ.. พี่ๆก็จะเชิญชวนให้สังเกตอย่างอื่น เช่นรู้จักพืชใกล้ตัวได้แก่ ต้นสาบเสือ กระทกรก และพืชสมุนไพรในเ้ส้นทางฯ หรือที่มีปลูกไว้ข้างแฟลต

 

 

ครั้นเวลาล่วงผ่าน..ความร้อนระอุ จากการวิ่งไป/มาหลายครั้ง ท่ามกลางฟ้าใสไร้เมฆปิดบัง ความร้อนแรงแห่งแสงสุรีย์ แก้มเริ่มแดงเรื่อ มีเหงื่อไหลซึมตามไรผมที่หน้าผาก  ร้อนจนต้องรีบถอดถุงเท้า หรือถอดหมวกออก ใช้มือปาดเหงื่อจากใบหน้า เป็นภาพที่เด็กๆได้เรียนรู้ที่จะสนุกและผ่อนคลาย   มองภาพเบื้องหน้า แล้วนั่งอมยิ้มอิ่มใจกับภาพชีวิตใสๆ  หลากอารมณ์ของเด็กน้อย… ชวนให้คิดถึงวันวานเมื่อนานมากับชีวิตวัยเด็กของตัวเองและเข้าใจว่าของใครๆส่วนใหญ่ รสชาติความซน ความสนุกสนานก็ไม่ต่างกัน..

 

ทักษะการเรียนรู้ จากสิ่งแวดล้อม เด็กๆใช้ “ใจ” ในการเรียนรู้  ฐานใจมาก่อนเสมอ จึงไม่มีกรอบความคิด ไม่สนใจว่าผิดหรือถูก ทุกอย่างดูจะเป็นสิ่งที่น่าพิศวงยิ่งนัก พร้อมตอบสนองในความอยากรู้อยากเห็น และเป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยว่า..ทำไมสิ่งที่ดีๆเหล่านี้ได้ถูกลดทอนลงไปมาก เมื่อเด็กๆเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียน ?? ระบบการศึกษาเราเป็นอย่างไร ?? และเมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย ความอยากรู้อยากเห็นหรือความคิดสร้างสรรค์ส่วนนี้ ดูราวจะลดลงไปอย่างน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกวัน!! 

 

ประจักษ์พยานในสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ในวันนี้นั้น นอกจากพ่อแม่จะสนับสนุนให้มาร่วมกิจกรรมแล้ว พี่ๆจะช่วยชี้แนะเมื่อเด็กๆแสดงความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามชวนคิด ชี้ชวนดู รู้จักเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆที่ใช้ อีกทั้งแนะนำวิธีการเปิดคู่มือดูนก เพื่อจะฝึกการจำแนกนก และบอกได้ว่านกที่ได้มา เป็นนกชนิดใด ?? น้องๆก็ทำได้ เรียนรู้ได้ดี และทุกเดือนจะรอถามว่าเราจะมีกิจกรรมเช่นนี้วันไหน และบอกให้คุณพ่อคุณแม่พามาส่ง หาโอกาสมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง..มี attitude ที่ดีเต็ม..100%


 

ณะที่ใช้ทักษะการสังเกต น้องๆระดับอนุบาลก็บันทึกไว้เป็นภาพวาด มีลักษณะเด่นของนกชนิดนั้น ทั้งลวดลายและสีสัน วาดได้ดั่งที่เห็น ใช้สมาธิขณะบรรจงลากเส้น และแต้มแต่งสีสัน  หากเป็นนกตัวที่ไม่รู้จัก จะให้ช่วยเขียนชื่อนก หรือพยายามเขียนชื่อเอง เป็นคุณสมบัติของ ..นักวิทยาศาสตร์/ นักอนุรักษ์รุ่นจิ๋ว..ที่เริ่มตั้งแต่อนุบาล 3 และชั้น ป 6 ..ถึงพร้อมซึ่งการสังเกตและบันทึกข้อมูล ..มี field note..ปากกา ดินสอ สีไม้. ขนมและน้ำเตรียมไว้ในเป้สะพาย.. พร้อมเลยทีเดียว....


 

นกอีเสือสีน้ำตาล (Brown Shrike)

ความอ่อนโยน นุ่มนวลในสัมผัส การดูแล เอาใจใส่ “ชีวิต” ผู้อื่น เด็กๆ เรียนรู้จากการได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนกที่อยู่ในมือของผู้ใหญ่ ขณะที่ชั่งน้ำหนักหรือวัดรายละเอียดประจำตัวนก โดยยื่นมือมาลูบหัว บ้างก็ลูบที่ขนคลุมตัว ขนปีก หรือกล่าวเปรียบเทียบความชอบของตนเอง เมื่อนกแต่ละชนิดที่ร้องเสียงดังและไม่ร้องเลย เช่นนกกาเหว่าร้องเสียงดัง ขณะที่นกชายเลนอพยพ (waders) ..กลับเงียบไม่ได้ยินสียงร้องเลย  ..และยังสังเกตได้ว่าเมื่อนกกาเหว่าที่ถูกจับมาส่งเสียงร้อง เพื่อนๆ นกกาเหว่าที่อยู่บริเวณต้นไม้ในละแวกนั้นก็จะร้องตอบ
 

ครั้นสิ้นสุดขั้นตอนต่างๆ ก็ขอเป็นผู้ปล่อยนกกลับคืนสู่ธรรมชาติ  เราสอนการจับนกให้ถูกวิธี  ซึ่งเด็กๆเรียนรู้ได้เร็ว อีกทั้งปล่อยนกได้ถูกต้อง ขณะที่ปล่อยก็บอกว่า “จะได้กลับไปหาพ่อ แม่ พี่ น้อง” เด็ก ๆ เรียนรู้และแสดงออกถึงมิติ.. “ครอบครัว” ได้ดี ความเหมาะสมแห่งวัย ถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นผู้นำและผู้ตามในบริบทต่างๆที่ร่วมกิจกรรม


 

         นกกาแวน (ซ้าย) และนกบั้งรอกใหญ่ (ขวา)


เมื่อถูกถามและให้แสดงความเห็น..เด็กน้อยบอกว่า ชอบนกกาแวน (Racket-tailed Treepie) เพราะมีสีม่านตาสีฟ้าใส ตัดกับขนสีดำกำมะหยี่ที่หัว ส่วนอีกตัวเป็นนกบั้งรอกใหญ่ (Green-billed Malkoha) มีปากสีเขียว ขอบตาที่มีสีแดงสีสันตัดกันสวยงาม ส่วนนกอีเสือมีลายสวย.. มหัศจรรย์ธรรมชาติ..ช่างรังสรรค์ และมหัศจรรย์แห่งวัย..ช่างสดใส...  รอวันผลิบานเติบใหญ่ ...ทั้งคนและธรรมชาติ ต่างดำรงอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยตลอดไป


อ่านบันทึกเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/626

และที่นี่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/381


รำพึงรำพัน ฝันๆ.. AAR..

*การเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย เริ่มต้นจากที่บ้าน จากสิ่งใกล้ตัว ผู้ปกครองปลูกฝังทีละน้อย บางช่วงอายุ มีคำถามมากมาย.. อะไร?? ทำไม??  

*หากมีโอกาส  การเข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฝึกการเรียนรู้  ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะด้านอารมณ์ สังคม (social skills) ความอดทน และระเบียบวินัย เด็กๆ ปรับตัวและเรียนรู้ได้ดี ตามธรรมชาติแห่งวัย

*ถึงแม้การเรียนรู้ในทักษะที่ซับซ้อนขึ้น หากได้รับการชี้แนะก็จะทำได้ ฝึกคิด สังเกต สร้างทางเลือก เพื่อนำไปสู่คำตอบได้ดี..อย่างมีสุข :-))

 

...๑๕ กรกฏาคม ๒๕๕๕..

..pax vobiscum... (๑๖)

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 494904เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

อ่านแล้วมีความสุขตามหลานๆ ทั้งสามคนไปด้วยค่ะ การปลูกฝังความรักในธรรมชาติ เห็นคุณค่าของชีวิตตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าในอนาคตเราจะมีนักอนุรักษณ์ธรรมชาติเพิ่มขึ้นแน่นอนค่ะ

ขอปรบมือดังใจ สนับสนุนกิจกรรมดีดีนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

กิจกรรมดีๆ ได้ประโยชน์หลายอย่าง การรับรู้จากการได้เห็น ได้ทำ ได้คิด ได้สัมผัส เกิดการเรียนรู้ ปรับความรู้สึก ให้อ่อนโยน

น้องปริม และ น้องชลัญธร ค่ะ..ขอบคุณค่ะ:-)) ด้วยเพราะปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม หากเราให้คนรุ่นใหม่สัมผัสความรัก ความเข้าใจชีวิต และ ความอ่อนโยน เข้มแข็ง ที่เรียนรู้ได้จากธรรมชาติ ตั้งแต่เล็กๆ หวังว่าสิ่งเหล่านี้คงติดตัวไปจนโต ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่น่าทะนุถนอม ปลูกฝังอะไรได้ดีมากทีเดียว เพียงแต่บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำ...กลุ่มที่พวกเรามีอยู่เห็นความสำคัญส่วนนี้ จึงเชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรม ใกล้ชิดใช้ธรรมชาติ ใช้นกเป็นตัวเพิ่มสีสัน ให้ได้ประสบการณ์สัมผัสได้ด้วยตนเอง...ในขณะที่เราทำวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนกค่ะ สนุกกับเด็กๆทุกครั้งค่ะ บางครั้งก็มีการทำขนมไทยๆ ได้ชื้อกระต่ายขูดมะพร้าวไว้หนึ่งตัว พอถึงวันใส่ห่วงขานก ก็มีกิจกรรมหลากหลาย ส่งเสริมทั้งการเรียนรู้ธรรมชาติ และทำขนมจากธรรมชาติ เก็บดอกอัญชัญข้างแฟลต คั้นกระทิที่ร่วมกันขูด จากมะพร้าวข้างแฟลต การนวดแปัง ปั้นขนมไปฝากผู้ปกครอง นี่ถ้าอยู้ใกล้ๆ จะไปรับหมวยน้อยใจ ใจ๋ มาร่วมสนุกด้วยแล้วหล่ะค่ะ น้องชลัญ :-))

ขอบคุณ.. ดอกไม้ ทีฝากไว้ให้ค่ะ คุณสันติสุข คุณหนูรี คุณมะเดื่อ และ อ. นุค่ะ :-))

อะไรเอ่ย.......

"ต่ำเตี้ยเลี้ยต้อย คอลายพร้อลูกเท่าแม่ขัน"

นกคูดบุรี งอกขนรูขี้สองเส้น

นกคูดบุหลัน ผลัดปีกทุกวัน ขึ้นหวันไม่รอด

นกคูดตาแดง น้ำแห้งตาย

แฮ่ๆ บังวอญ่า ค่ะขา...ขอบคุณสำหรับคำถาม "อะไรเอ่ย" ...แล้วน้องจะตอบได้ไหม๊ละค่ะเนีย??? จนปัญญานะ อืมม์ ...บรรทัดสุดท้าย พอจะเดาได้ค่ะ ..รอมาเฉลยให้ด้วยนะค่ะ..เผื่อจะเอาไปถามเด็กๆ แล้วจะบอกว่า เป็นคำถาม จากภูมิปัญญา ถ่ายทอดมาจากบัง ที่ปากยูน... ฟังดูแล้วคำถามก็น่ารัก ...ภาษาปักษ์ใต้บ้านเรา...:-))

น้องแอ๊ดค่ะ...ขอบคุณที่แวะมาทักทาย...เที่ยงวันหรรษา :-)) แถมด้วยฝีมือภาพวาด บันทึกของเด็กๆ และภาพถ่าย กิจกรรมที่เด็กๆร่วมสนุกค่ะ.ชื่นชมกิจกรรมดีๆ ที่น้องแอ๊ดได้ร่วมทำด้วยค่ะ. น้องแอ๊ดค่ะ .. รอเชียร์พี่เขียนเป็นตอนๆ เลยหรือค่ะ ?? จริงๆ ตั้งใจไว้เหมือนกันค่ะ เรื่องที่จะเขียนก็มีมากมาย แต่เวลาที่จะนั่งลงเขียนนะซิค่ะ ต้องจัดสรรกันหน่อย...เขียนก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไหร่...เลยต้องใช้ความพยายามมากหน่อย..

น้องแอ๊ดค่่ะ ในความโชคดี ที่ตัวพี่เอง สอน/วิจัย ทางด้าน ชีวภาพนะค่ะ ทำให้ใช้สื่อใกล้ตัว จากธรรมชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าได้ไม่หมด เรียกได้ว่า ชนิด.. all in one ..วิัจัยไปด้วยก็เอาสิ่งที่ได้ไปสอนด้วย และจัดกิจกรรมต่างๆ แบบให้เปล่า ด้วยอยากปลูกฝังให้คนเห็นคุณค่าของธรรมชาติ จะได้ช่วยกันรักษาไว้ค่ะ ต้องปลูกฝังให้เข้มข้นขึ้นในคนรุ่นใหม่ จริงๆ สิ่งที่ได้จากการวิจัย เรียนรู้ นำไปปรับใช้ แบบ ครบ loop เลยค่ะ แถม loop นี้ก็หมุนด้วยค่ะ เลยมีเรื่องสนุกสนานกันไม่รู้เบื่อ 555 ... อย่างเรื่องนกที่น้องแอ๊ดเห็นว่า พี่ชอบ จริงๆไม่ได้ถูก trained มาด้านนี้เลยนะค่ะ แต่เมื่อชอบก็หาเวลาว่างได้เสมอ เราออกไปทำงานไป วิจัยเล็กๆ ..เงินทุนก็ไม่มีหรอกนะค่ะ สมัยแรกๆ ออกเงินกันเอง จนเดี่ยวนี้ปีกกล้า ขาแข็ง ( อืมม์..ยืมสำนวนของนก..มาใช้หน่อย ) เลยขอทุนเล็กๆได้บ้าง องค์ความรู้ที่ได้ เป็นเรื่องราวจากท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะนกอย่างเดียว นกนำไปหาอะไรๆ มากมายค่ะ ...สิ่งเหล่านี้ที่ได้เรียนรู้ ค้นคว้า นำมาใช้อบรมครูบาอาจารย์ ทำ workshop สอนนักศึกษา ทำกิจกรรม ยุววิจัย ในพื้นที่ เป็นหัวหน้าเด็กๆ /พี่เลี้ยงเด็กๆ ลูกหลานแถวๆ แฟลตอาจารย์ และผู้สนใจ...เลยได้เกีียวข้อง มองเห็นการศึกษาทุกระดับ ทั้งใน/นอกระบบ แบบครบวงจรเลยทีเดียว

น้องๆและทีมงานต่าง รู้สึกยินดีที่เห็นเด็กๆ เค้าสนใจ จึงทำกิจกรรมอย่างที่นำเสนอในบันทึกได้ เด็กๆสนุกสนานกับการเรียนรู้ที่ ไม่มีรูปแบบ..นึกถึงว่า ถ้ามีจำนวนมากขึ้น ต่อไปจะจัดเป็นห้องเรียนได้ซะแล้ว เพราะเด็กๆชอบ สงสัยเจอผู้ใหญ่ทุกคนใจดี ไม่ถูกดุ ได้รับการตามใจ แต่เค้าก็มีวินัย เพราะถ้าไม่เชื่อฟัง ในเดือนถัดๆไปก็จะไม่ได้รับอนุญาิตให้เข้าร่วม บางทีพ่อแม่ที่สนิทๆกัน ก็เอาลูกมาส่งไว้ ให้อยู่กับพี่ ๆ และ ป้าๆ จนกว่าเสร็จกิจกรรมก็มารับกลับ . สนุกสนานกับวัยสดใส ก็ทำให้ผู้ใหญ่สดใสตามไปด้วยค่ะ น้องแอ๊ด...โปรดติดตาม ตอนต่อไป..จัดให้ ..ตามทีร้องขอค่ะ...

สวัสดีค่ะคุณครู  Blank kwancha  

มาดูกิจกรรมดีๆ ค่ะ  สนุกไปด้วย

คุณครูทิพย์ค่ะ.. ขอบคุณคุ่ะ.... กิจกรรมที่เด็กน้อยได้ลงมือสัมผัสด้วยตนเอง ร่วมกับเพื่อน โดยมีผู้ใหญ่ช่วยเหลือเมื่อต้องการ ... สนุกและท้าทาย...เห็นได้ชัดว่า น้องๆเค้ามีพัฒนาการในหลายๆด้านเลยทีเดียวค่ะ .:-))

นกสวย ๆ ...ธรรมชาติสดใส ...กับวัยอยากรู้...การสังเกต เป็นครูที่ดีที่สุด สวัสดีครับ

คุณครูแว่นธรรมทองคะ ... ใช่ค่ะ วัยเยาว์ เป็นวัยที่เต็มไปด้วยความอยากรุ้ อยากเห็น การได้สังเกต สัมผัส และบางครั้งก็ค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง ขณะที่บางครั้งในความซับซ้อนของข้อสังเกต ก็มีคำถาม จึงเป็นช่องทางที่ผู้ใหญ่จะช่วยให้เค้าสนุกขึ้น ใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมไปกับความสนุก แถมน่าสงสัยไปซะหมด..เราจึงใช้ "นก" เชิญชวนให้เด็กสังเกตและใกล้ชิดธรรมชาติค่ะ ..ขอบคุณค่ะ

บันทึกเรื่องนกเหมือนกันแต่ความรู้สึกต่างกันค่ะ...

  • อ่านแล้ว..ผมเกิดปิติยินดีและมีความสุขมากจริงๆ ครับ

ขอบคุณค่ะ ...คุณครู krugui...เรื่องราวของนก นำไปสู่ความรู้สึกและการเรียนรู้จากธรรมชาติที่หลากหลายมิติในบริบทต่างๆกันนะค่ะ ...และคุณสามสักค่ะ..ดีใจที่คุณสามสักชอบและมีความสุขไปกับกิจกรรมของเด็กน้อยเช่นนี้ ....โปรดติดตามตอนต่อไปนะค่ะ เพราะเรามีกิจกรรม เช่นนี้ทุกเดือน.. . มีสีสัน มีเด็กน้อยผู้เข้าร่วมที่แสดงออกในพฤติกรรม ใสๆไม่ซ้ำกันเลยค่ะ บางครั้งชวนหัวเราะ เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ ท่ามกลางความสุขของทุกคนค่ะ :-))

เห็นแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กอีกจังเลยครับ 555

ขอบคุณ คุณอักขณิช ที่แวะมาทักทายค่ะ...อืมม์..ความเป็นเด็กยังคงมีอยู่ในตัวทุกคนนะค่ะ...แต่ถูกบดบังด้วยอะไรๆหลายๆอย่าง แสดงออกมาเป็นครั้งคราว เช่น นึกถึง...เวลากลับไปเยี่ยมบ้านเมื่อได้อ้อนแม่...ก็รู้สึกว่าเป็นเด็กอีกครั้ง แ่ต่อย่างของคุณอักขณิช ก็คงมีทั้งอ้ออนศรีภรรยา หรือลูกๆอ้อนคุณพ่อ ก็คงจะได้นึกถึงความเป็นเด็กอีกครา...:-))...ว่าแล้วก็รีบกลับเข้าสู่สาระ หน่อย หลังจากทักทายไร้สาระเล็กน้อยนะค่ะ...

วันนี้ก็เพิ่งเสร็จกิจกรรมที่คล้ายๆกัน เนื่องจากเรามีทุกเดือน สัปดาห์ปลายเดือน. เช่นเคยค่ะ ...สนุกกับสีสัน วัยเด็ก ของเด็กน้อย 8 คน ...รู้สึกสมาชิกจะเพิ่มขึ้นทุกวัน..ได้อรรถรส ของสีสันสำหรับเดือนนี้ ระหว่างการใส่ห่วงขานก ทั้งเสาร์และอาทิตย์ เรามีกิจกรรมสนุกๆ ด้วยการเผาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ กระเทาะเปลือก เพื่อให้ได้กินเมล็ดอันแสนมันอร่อย เด็กๆชอบทุกคนค่ะ แม้เพียงก่อไฟกับเตาถ่าน ก็สนุกสนานไม่เบาหล่ะค่ะ...แถมเห็นเทคนิคการเผาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีน้ำมันช่วยให้ไฟลุกโชน ซึ่งทีมงานน้องๆผู้ชายนำเสนอ เ็ด็กๆช่วยเป็นกองเชียร์ และฝึกกระเทาะเปลือก เลือกเอาส่วนที่กินได้... เป็นของธรรมดาสำหรับสมัยก่อน แต่ไม่ธรรมดาเลยนะค่ะ.สำหรับเด็กๆยุคนี้..เอาไว้ค่อยเขียนเล่าให้ฟังนะคะ :-))

...อ่านแล้ว มีความสุขมากครับ
หวนคิด ถึงเรื่องราววัยเด็ก ..
และเห็นคุณค่าของอดีตที่ทำให้มีวันนี้เป็นที่สุด

ขอบคุณครับ

 

คุณแผ่นดินคะ....ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทาย ...ดีใจที่ได้ร่วมเป็น "สะพาน"..ส่งความสุขกัน..จากสีสัน วัยเยาว์ ... วัยที่ไม่มีการเสแสร้ง ไม่มีผลประโยชน์ เป็นโลกที่สดใสจริงๆ ช่วยจรรโลงใจผู้ใหญ่ๆ มีความสุข ...นึกถึงชีวิตที่ผ่านวัยนั้นมา...คุณค่ามีมากมาย. ทำให้วันนี้ เวลานี้..มีความหมาย เช่นเดียวกับที่คุณแผ่นดิน ส่งลูกๆไปอยู่กับคุณปู่ คุณย่า ร่วมเรียนรู้ เล่นๆ กับชีวิตในแปลงนา นั่นแหล่ะค่ะ ..อารมณ์เดียวกันกับเด็กน้อยซนๆ ที่นี่ค่ะ เพียงแต่ไม่มีนาให้เล่น ก็ใช้การดูนก/ใส่ห่วงขานก เป็นกิจกรรมฝึกการเรียนรู้ ใกล้ชิดธรรมชาติ และฝึกทักษะชีวิตด้วยค่ะ :-)) ....

คุณครู ภาทิพ ค่ะ ..ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือน...ดีใจค่ะ..ที่ทราบว่า น้องภาทิพชอบเรื่องราวในบันทึก..เด็กๆ กับธรรมชาติและการเรียนรู้จากปัตตานี ได้แบ่งปันความสุขไปถึงสุราษฏร์ค่ะ . .พี่ก็ชอบอ่านบทกลอนของน้องครูภาทิพนะค่ะ :-))

  • ย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นค่ะว่านี่คือคำตอบการมองแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ สังคม ธรรมชาติและเทคโนโลยี ซึ่งสามารถอยู่ร่วมด้วยกันหากใช้ "ใจ" ขับเคลื่อน
  • หากเรามุ่งเน้นเทคโนโลยีจนหลงลืมธรรมชาติ การลดทอนความเป็นมนุษย์จะเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว เทคโนโลยีย่อความจริงเหลือบางส่วน แต่เข้าหาธรรมชาติทำให้เห็นความจริงอย่างที่มันเป็น
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับการเล่าเรื่องในบันทึกนี้ที่ให้แง่คิดดี ๆ มีความหมายแต่เยาวชนไทยค่ะ

คุณSila ค่ะ..ขอบคุณค่ะ...ดีใจจังเลย ที่ชี้ประเด็นสนับสนุนแนวคิดนี้ค่ะ...เพราะตัวพี่เองสนใจศึกษา ทำความเข้าใจเรียนรู้ holistic science โดยการฝึกปฏิบัติ จึงหาโอกาสในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดรับกัน ซึ่งจากการประเมินผลแบบ informative ก็เป็นที่น่าพอใจไม่น้อย พยายามทำแบบฝึกหัดไปเรื่อยๆค่ะ คงช่วยส่งเสริมให้สังคมดีขึ้นได้บ้าง ถึงแม้จะสเกลเล็กๆนะค่ะ :-))

มาสวัสดีวันหยุดที่เป็นกุศล พร้อมทั้งมาเฉลยปัญหาว่าดังนี้

ต่ำเตี้ยเลี้ยต้อย คอลายพร้อลูกเท่าแม่ขัน" ตอบ นกเขา

นกคูดบุรี งอกขนรูขี้สองเส้น ตอบ เข็บเย็บผ้า

นกคูดบุหลัน ผลัดปีกทุกวัน ขึ้นหวันไม่รอด ตอบ ปลีกล้วย

นกคูดตาแดง น้ำแห้งตาย ตอบ ตะเกียงน้ำมัน แล้วยังต่อได้อีกประโยค คือ อะไร กิน ด้าย ตอบ คือตะเกียง เวลาทายมันจะพ้องเสียง ว่าได้

ด้วยความคิดถึง

ค้วยความคิดถึงเช่นกันค่ะบัง....ขอบคุณค่ะ ที่เข้ามาบอกคำเฉลย...อืมม์.. ข้าน้อยตอบถูกเีพียงข้อเดียว เท่านั้นคือ ข้อสุดท้าย :-(( แถมมี trick ให้ถาม ชวนสนุก ด้วยคำถามพ้องเสียงอีก ด้าย-ได้...ชอบๆชอบๆค่ะ ....แ้ล้วจะเอาไว้ถามสมาชิกฝึกเล่นกัน ก่อนที่จะไปทายเด็กๆค่ะ ดูว่าจะมีใครตอบได้บ้าง...มีข้อสังเกตว่า... เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน คำถามอะไรเอ่ยก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย.:-)).

ชีวิตวัยเด็ก..เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ลองดู ไม่มีคำว่า..น่ากลัว.. ธรรมชาติเป็นสิ่งที่น่าพิสมัย น่าค้นหา น่าสัมผัส

ครับ  ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
วัยเด็ก เสริมสร้างจินตนาการ
ผมชอบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม หรือการลงมือทำ
มันทำให้เห็นวิกฤตและโอกาสไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งตอนเด็กเราไม่รู้หรอกว่าอะไรคือวิกฤต อะไรคือโอกาส
แต่เรารู้แต่เพียงว่า ชอบ-ไม่ชอบ
สุข-ไม่สุข

ทุกวันนี้ ยังหวนคิดถึงเรื่องราวในวันเด็กเสมอ ครับ

คุณแผ่นดินค่ะ...ขอบคุณที่แวะมาเยือนอีกครา...เช่นกันค่ะ ชอบและพยายามสร้างโอกาส ..ให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ผ่านการลงมือทำ ปฏิบัติ เรียนรู้เป็นองค์รวม ใช้ทั้ง กาย ใจ ความคิด ..ถึงแม้ว่าไม่เห็นผลทันควัน แต่ระยะยาวส่งผล นะค่ะ ...

สังเกตดูว่า ..เวลาโตๆขึ้น เราเดินไปเที่ยวป่า ชี้ ชวน ดู โน่น นี่ นั่น แล้วแต่บริบท ...เจ้าตัวเล็ก ก็รับรู้ได้น้อย ส่วน พี่ๆ น้าๆ ป้าๆ เวลาเจออะไรก็หยุดพูดคุย จัดเต็มชุดใหญ่ แสดงความเห็นนานตามความชอบ/ถนัด ขณะที่ผู้ใหญ่คุยกัน เด็กๆก็ไม่ฟังละ ไปสนใจอย่างอื่น ..สักประเดี่ยวมีเรื่องใหม่ก็เข้ามาฟังอีก ...ดูแล้วคล้ายๆกับศึกษาธรรมะ เช่นกัน.. รับรู้ เรียนไ้ด้..ต่างกัน ก็เลือกความยาก ง่าย..ให้เหมาะสม

บางครั้งผู้ใหญ่ เปลี่่่่ยนรูปแบบ ชื่นชมธรรมชาติ ด้วยการท่องกลอน อาขยานชมนกชมไม้ สมัยก่อนที่ถูกบังคับให้ท่องตอนเด็กๆ ...อย่างเ่่ช่น ...เห็นกวาง ย่างเยื้องชำเลืองเดิน....(บทนี้ คุณแผ่นดิน เคยท่องไหม๊ค่ะ?? ) ...แหม ก็เพราะเห็น ต้น "ยูง" .ทำให้นึกถึง อาขยานบทนี้ และเข้าใจว่า " ยูง" นั้นเป็นเพียงนก "นกยูง" ส่วน ยางก็เช่นกัน มีทั้ง นกยาง และต้นยาง....เหล่านี้ก็จะเกิดการประติดประต่อได้เมื่อตอนโตๆขึ้น รู้สึกว่า ความรู้เป็นอะไรต้องค่อยๆ ซึุมๆ ทีละน้อย ตอนมีความสุข และจะต่อยอดได้ในที่สุด ..เมื่อถึงตอนนั้นก็จะร้อง ว๊าว..ประหลาดใจอยู่เรื่อยๆ .แถมมองเป็นองค์รวมได้ด้วย...อืมม์....ตอบเีสียยืดยาว ....ถูกใจที่มีใครชอบคล้ายๆกันค่ะ :-))

ขอบคุณกัลยาณมิตร ทุกท่านที่เข้ามาเยือน และฝากดอกไม้ไว้ใน สวนแห่งนี้...สีสันวัยเยาว์:-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท