ชีวิตที่พอเพียง : 288. SR กับความอยู่รอดของบ้านเมือง


         คนเราต้องมี SR - Social Responsibility (ความรับผิดชอบต่อสังคม)      ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งต้องมี SR สูง     แต่วันนี้ (๑๗ พ.ค. ผมพบผู้ใหญ่ของบ้านเมืองท่านหนึ่ง      ท่านบอกว่าเวลานี้ขั้วอำนาจต่างๆ ไม่มีคนเห็นแก่บ้านเมือง     เห็นแต่แก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง      กลายเป็นการเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตนและพวกตน      สภาพเช่นนี้คือสภาพที่ SR หย่อนกันทั้งสังคมในส่วนผู้บริหารบ้านเมือง    

         มอง SR อีกมุมหนึ่ง      มันคือคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐาน     อยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัว หรือความเห็นแก่ตัวเบาบาง     ความโลภเบาบาง     ความโกรธเบาบาง     มองรวมๆ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบาง     แต่โลกและสังคมในเวลานี้ สมาทานเป้าหมายที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ      และเร่งการเติบโตนั้นด้วยการเร่งโลภะ โทสะ และโมหะ     ใช้พลังแห่งตัณหาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

         ในลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยมสุดขั้ว      เขาเร่งเร้าตัณหากันอย่างสุดขั้ว     หาประโยชน์จากการกระตุ้นตัณหา      จนในที่สุดผู้คนมีชีวิตอยู่โดยมีตัณหาเป็นเจ้าเรือน     และมีความสุขความพึงพอใจจากการได้ขยายตัณหาและสนองตัณหาที่เพิ่มพูนนั้น      โดยแนวทางนี้ SR ก็จะหายไปจากสังคม    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้มีอำนาจทางการเมือง     อย่างที่เห็นกันในเมืองไทยขณะนี้    นับเป็นช่วงอันตรายยิ่งของบ้านเมือง

         ท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นบอกผมว่า เวลานี้การเมืองแบ่งออกเป็น ๔ ขั้ว     แต่ละขั้วต่างก็มุ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตน     ไม่มีใครเห็นแก่บ้านเมือง     เป็นช่วงวิกฤตสุดขีดของบ้านเมือง     ผมจึงมองว่าเวลานี้เรื่อง CSR แคบไป     ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งของ SR   

         จะมี SR ได้ ผู้คนต้องมีสำนึกร่วมทางสังคม     มีความรักความหวงแหนสังคมหรือบ้านเมืองของตน     ไม่ใช่รักแต่ตัวเอง      ต้องเชื่อมั่นว่าความรักสามัคคีกัน เป็นลู่ทางแห่งความสุขในการอยู่ร่วมกัน     ต้องเชื่อมั่นในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติปรองดอง     ต้องไม่ยกย่องหรือให้อำนาจแก่คนที่เห็นแก่ตัว หรือบ้าคลั่งอำนาจ บ้าคลั่งผลประโยชน์

         ที่จริงผมมีความเชื่อว่าการใช้ KM แบบเน้นกระบวนการ (process) จะช่วยให้คนเพิ่ม SR ได้     เพราะกระบวนการ KM ช่วยให้คนเห็นคุณค่าของคนอื่น     เห็นประโยชน์ของความแตกต่างหลากหลาย     และการนำเอาความแตกต่างหลากหลายมาสร้างคุณค่าและมูลค่า     โดยที่ทุกคนมีจุดมุ่งร่วมกัน     จุดมุ่ง คือ "บ้านเมือง" ที่สมาชิกทุกคนจะต้องมี SR

วิจารณ์ พานิช
๑๗ พ.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 99654เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท