โครงการสมองไหลกลับ


คิดว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของการศึกษาไทยที่ไม่สามารถชี้ให้เด็กเห็นถึงโจทย์ของประเทศ เด็กๆจึงไม่รู้ว่า ประเทศชาติต้องการพวกเขาอย่างไร

สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังสนับสนุนโครงการให้นักวิชาชีพไทยที่อยู่ต่างประเทศกลับมาร่วมพัฒนาอุดมศึกษาไทย  (โครงการสมองไหลกลับ) ประจำปีงบประมาณ 2550  โดยการสนับสนุนครอบคลุมค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าที่พัก และค่าสมนาคุณ

 


สาขาสังคมศาสตร์ที่ครอบคลุม คือ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเกษตร  พลังงานทางเลือก  โลจิสติกและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน   การจัดการสมัยใหม่ และ การเกษตร



ผู้เข้าร่วมโครงการต้องกลับมาปฏิบัติงานในระยะสั้น  โดยอาจมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน  เป็นวิทยากรในการฝึกอบรม หรือประชุมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี หารือแนวทางทำวิจัย และร่วมทำวิจัย หรือเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

 

**************

ความรู้สึกแรกที่เห็นข่าวนี้  คือ สะดุดกับสาขาการเกษตร  ซึ่งเดาว่า  คงหมายถึงการจัดการเกษตรสมัยใหม่   เราขาดแคลนคนด้านไหน? เรื่อง การจัดการเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร?  การจัดการฟาร์มสมัยใหม่?  การทำบัญชีฟาร์ม?  การตลาดสินค้าเกษตร?

  

เรื่องขาดแคลนบุคลากรในสาขานี้อาจจะจริง  เพราะเด็กสมัยนี้เบือนหน้าหนีการเรียนอะไรที่เกี่ยวกับ การเกษตร เสียแล้ว เพราะคิดว่าเป็นเรื่องล้าสมัย   หารู้ไม่ว่า ประเด็นร้อนในเศรษฐกิจสังคมโลกที่ส่งผลมาสู่สังคมไทย หรือโจทย์ใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตกในสังคมโลกและสังคมไทย  ยังวนเวียนอยู่ที่ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม และชนบท  ไม่ว่า จะเป็น เรื่องการเปิดเสรีทางการค้า   การลงทุนข้ามชาติทั้งในด้านอุตสาหกรรมเกษตร  การค้าสินค้าเกษตร  ระบบเกษตรพันธะสัญญา  สนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายๆเรื่อง

  

คิดว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของการศึกษาไทยที่ไม่สามารถชี้ให้เด็กเห็นถึงโจทย์ของประเทศ   เด็กๆจึงไม่รู้ว่า ประเทศชาติต้องการพวกเขาอย่างไร

  

....นักเรียนท่องจำว่าสหกรณ์ดีอย่างไร แต่ไม่เคยได้ข้อมูลว่า สหกรณ์ไม่สำเร็จในประเทศไทยเพราะเหตุใด 

 

....นักศึกษาตั้งหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่เป็นเพราะไม่รู้โจทย์  เรียนเครื่องมือการวิเคราะห์ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้วิเคราะห์อะไร   เหมือนมีแว่นขยายก็เลยเอาแว่นไปส่องก้อนหิน ไปส่องใบไม้เรื่อยเปื่อย  เป็นการทดลองใช้แว่น มากกว่านำแว่นนั้นมาใช้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง 

....เราเคยเรียนเกษตรมา 4 ปีแต่อธิบายไม่ได้ชัดว่า ทำไมเกษตรกรจน  เพราะครูสอนแต่ว่า เพราะ จนเพราะผลิตภาพต่ำจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่  ซึ่งตอนนั้นฟังแล้วก็ยังไม่เชื่อ..

  

ขาดคน แล้วเอาคนนอกเข้ามาจะช่วยตอบโจทย์ของประเทศได้จริงหรือ ?

 

ภาคเกษตรอ่อนไหวต่อภูมินิเวศและการตัดสินใจของเกษตรกรอ่อนไหวต่อข้อจำกัดทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม    เมื่อเป็นเช่นนี้   ผู้มีประสบการณ์การเกษตรในต่างประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจสังคมแบบหนึ่ง จำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างมากต่อสภาพการเกษตรและวิถีเกษตรกรไทย

  

ความรู้ที่ ผู้เป็นสมองไหลกลับ มีติดตัวมาย่อมมีประโยชน์อย่างแน่นอน  แต่ภายในขอบเขตหนึ่ง และอาจจะเป็นประโยชน์กับรูปแบบการพัฒนาการเกษตรแบบหนึ่ง  (ไทยมีลักษณะผสมของเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรยังชีพ)  ซึ่งเกี่ยวพันกับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น (และอาจหมายถึงธุรกิจเกษตร)

  

สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาน่าจะมีอีกโครงการหนึ่งที่ส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา  พัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดจากภูมิปัญญาไทย   เรียกว่า โครงการสร้างเซลล์สมองให้สังคมไทย ก็อาจจะดี  

งบประมาณคงไม่สูงเท่าโครงการสมองไหลกลับ  เพราะการที่รัฐไทยจะดึงท่านที่อยู่ต่างประเทศให้สละเงินเดือนสูงๆมาช่วยเมืองไทย  คงต้อง จ่าย ท่านแพงอยู่ไม่น้อยให้คุ้มกับค่าเสียโอกาส  ยังไม่นับค่าเครื่องบิน และค่าที่พักที่คงต้องดีพอสมควร

หมายเลขบันทึก: 99289เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน อาจารย์ปัทมาวดี 

เห็นแล้วก็อนาจใจ อาจจะเป็นการโยนหินถามทางของรัฐ ให้กับพวก ด็อกอินเทอร์ ที่ลืมบ้านเกิดเมืองนอน ละมั้งครับ แต่เราต้องจ่ายแพงเกินไปหรือเปล่ากับคนพวกนี้ เพราะในเมื่อคนที่เขาอยู่สูงสุด เขาจะหวนกลับมาเอง ถ้าเขาเข้าใจธรรมะ คือเป็นไปตามธรรมดา

ที่สำคัญ หากเขาเข้าใจ หรือ ถึงแก่นแท้ของการศึกษาจริง เขาจะกตัญญูเอง เขาอาจจะไม่ต้องการเงินของรัฐบาลก็ได้ เพราะเกรงใจกลัวจะเปลืองเงินภาษี

เมื่อพิจารณาในแง่บวกแล้ว ผมเห็นว่ามีประโยชน์ดีสำหรับโครงการนี้ และต้องคัดคนที่สมบุกสมบันอย่างแท้จริง จะทำให้เป็นแรงบันดาลใจแก่เด็ก และด็อกอินเทอร์ท่านอื่นๆ ให้กลับคืนสู่คุณะรรมขั้นพื้นฐาน จนพบกับความสุขจริง ครับผม

ขอบคุณครับ

ประเด็นที่อาจารย์วิเคราะห์การศึกษาด้านเกษตรที่จริงแล้วสอดคล้องกับประเด็นการศึกษาด้าน IT เช่นกันครับ ด้วยสาเหตุที่คล้ายคลึงกันนั้นทำให้การพัฒนาด้าน IT ของไทยไม่ค่อยไปไหน ทั้งๆ ที่การศึกษาด้าน IT ได้รับการส่งเสริมในลักษณะตัวเงินมากแล้วนะครับ

คนเราเกิดมามีเซลสมองเท่าๆกัน เมื่อเติบโตผ่านการเรียนรู้จึงเกิดการเชื่อมโยงเซลสมองเป็นร่างแห ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนไม่ดีก็จะมีเซลสมองจำนวนมากไม่ได้รับการเชื่อมโยง กลายเป็นเซลเดี่ยวที่ขาดการเรียนรู้กับเซลอื่นๆ ถ้ามีเซลเดี่ยวมากๆสมองก็จะปะติดปะต่อเรื่องราวหรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเรื่องราวต่างๆให้มีความหมายขึ้นมาได้น้อย ที่เรียกกันว่า "ฉลาด" น้อย
ผมไม่ทราบว่ามีเซลสมองในส่วนของคุณธรรม     หรือไม่ แต่ทราบว่ามีส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ด้วย ที่เขาแบ่งเป็นด้านซ้ายด้านขวา

ที่อาจารย์เสนอให้ ส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา  พัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดจากภูมิปัญญาไทย เรียกว่า โครงการสร้างเซลล์สมองให้สังคมไทยนั้น ความหมายน่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับเซลสมองส่วนนี้ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเท่าที่ควร ตอนนี้สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังให้การสนับสนุนศูนย์เรียนรู้ชุมชน กระทรวงศึกษาก็มีโครงการครูภูมิปัญญาไทย
สกอ.ควรทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ตามทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผมเห็นว่าผู้กำหนดนโยบาย ยึดกุมงบประมาณของประเทศไม่ได้จริงจังกับเป้าหมายและแนวทางหลักที่แผน10ระบุไว้ คนทำแผน/สร้างภาพฝันก็ทำกันไป ฝ่ายนโยบาย/การเมืองก็ว่ากันไป กลไกปฏิบัติที่คุ้นชินกับระบบงานประจำก็ทำกันไป เป็นสภาพของโมบายปลาตะเพียนที่ว่ายกันไปคนละทิศละทาง
ผมเห็นว่าสาขาที่ขาดแคลนจริงๆคือสาขาการจัดการแบบองค์รวม ซึ่งก็ทำได้ยาก เพราะอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สมองไหลออก
แล้วเราจะให้สมองไหลออกมาแก้ปัญหาเหตุที่ทำให้สมองไหลออกได้อย่างไร?

ขอบคุณทุกความเห็นค่ะ

ดิฉันเห็นว่า การตั้งโจทย์ หรือตั้งคำถามเป็น มีความสำคัญมากสำหรับการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ในทุกระดับ  การตั้งโจทย์เป็นแปลว่า ต้องรู้ ทุกข์และสาเหตุของทุกข์

จากข้อมูลที่คุณภีมบอก   ถ้ากระทรวงเกษตรมีเป้าหมายที่ชุมชน   กระทรวงศึกษามีเป้าหมายที่โรงเรียน  สกอ.ควรมีเป้าหมายที่สร้างงานวิจัยและนักวิจัยที่ต่อยอดภูมิปัญญาเดิมได้ค่ะ   อาจเป็น "โครงการสร้างเครือข่ายเซลสมอง"  ก็ได้ค่ะ :) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท