BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดต้องการสิ่งใด ?


วัดต้องการสิ่งใด ?

ในบันทึก รวย - เหลือ - สร้างวัด  ผู้เขียนได้ตั้งประเด็นว่า บรรดาญาติโยมมักจะคาดหวังว่า วัดควรจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ... ไม่ค่อยจะมีใครคาดหมายว่า วัดต้องการสิ่งใด ? ... ดังนั้น ผู้เขียนจะตั้งตัวเองเป็น วัด และพิจารณาว่า ต้องการสิ่งใดบ้าง ....

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นอื่น ก็ต้องให้ความหมายคำว่า วัด เป็นเบื้องต้น .... โดยรูปธรรม วัดคือศาสนสถาน ซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ ดังนั้น นัยนี้ วัดจึงไม่สามารถมีความต้องการได้ ... ฉะนั้น จึงต้องค้นหาสิ่งที่เป็นจิตใจของวัด...

สิ่งที่เป็นจิตใจของวัด อาจจำแนกได้หลายนัย อย่างแรกก็คือ พระ-เณร ที่อยู่ภายในวัด... จริงอยู่ ว่าพระ-เณรแต่ละรูป อาจมีความคิดเห็นเป็นอิสระ แต่เมื่อค้นหาลักษณะร่วมที่มุ่งหวังสำหรับวัดแล้ว ก็อาจกำหนด ลักษณะร่วม นั่น เป็นจิตใจของวัดได้....

เจ้าอาวาสวัด เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่โดยถูกต้อง ดังนั้น ความคิดเห็นของท่านเจ้าอาวาส ก็อาจกำหนดเป็น จิตใจของวัด ได้อีกนัยหนึ่ง....

แต่บางวัด แม้เจ้าอาวาสจะมีอำนาจและหน้าที่ตามบัญญัติ แต่ผู้ใช้อำนาจและหน้าที่จริงๆ ได้แก่กรรมการวัด ดังนั้น สำหรับบางวัด จิตใจของวัด อาจเป็นกรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือคณะกรรมการ ของวัดนั้นๆ ก็ได้ ....

สำหรับผู้เขียน คิดว่า จิตใจของวัด มุ่งหมายเอานัยแรก กล่าวคือ ลักษณะร่วมของพระ-เณรภายในวัด ซึ่งเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างเพื่อวัด มิใช่เพื่อตัวเอง.... และผู้เขียนก็จะนำเสนอความคิดเห็นนี้ เพียงบางประเด็น...

  • วัดต้องการความเงียบสงบ

ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ที่บวชเข้ามาเกือบทั้งหมด ในระยะแรกมุ่งหวังความสงบ... เพียงแต่เมื่อบวชอยู่นานๆ สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมค่อยๆ หล่อหลอมให้แต่ละท่านมีความคิดเห็นแปรเปลี่ยนและแตกต่างกันออกไป....สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมเหล่านี้ จะก่อให้เกิดความไม่สงบต่อวัด ซึ่งพอจะจำแนกได้  ๒ นัย กล่าวคือ

สถานที่ ชาวบ้านบางคนจะใช้วัดเป็นที่พักพิง หลบซ่อน หรือลบเลียแผลใจ.... ชอบจัดงานต่างๆ ขึ้นภายในวัด.... ใช้วัดเป็นที่กระทำการต่างๆ ตามที่เห็นเหมาะสม.... ซึ่งสิ่งเหล่านี้บรรดามี ลึกๆ แล้ว ก่อความไม่สงบขึ้นภายในวัด แต่พระ-เณรในวัดไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นระบบสังคม ประเพณี วัฒนธรรม....

บุคคล ชาวบ้านชอบไปหาพระ-เณร... บางคนก็เอาของไปถวาย ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า ทำบุญ... ซึ่งลึกๆ แล้ว พระ-เณร ก็ใช่ว่าจะชอบสิ่งเหล่านี้ เพราะผู้ที่เข้าวัดทำบุญนั้น มีปัญหานานัปปการไปกองไว้ที่วัด เช่น บางคนก็ไปบ่นให้พระ-เณรฟัง ซึ่งพระ -เณรย่อมเกรงใจเป็นธรรมดา ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะฟัง....

บางคนก็ต้องการให้พระ-เณรทำโน้นทำนี้ให้ ซึ่งพูดไปเค้าก็รับฟัง แต่ก็ยังต้องการให้พระ-เณรทำให้เหมือนเดิม... เมื่อพูดไปไม่จบ ก็ทำให้เสียเลยจะได้จบๆ พ้นๆ เช่น รดน้ำมนต์ ทำสายมือ เสกของ ดูหมอ สะเดาะเคราะห์....

.........

  • ไม่แสวงหาผลประโยชน์หรือเบียดเบียนวัด

วัดเป็นองค์กรที่ชาวบ้านบางกลุ่มหรือบางคนแสวงหาผลประโยชน์ได้... ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ อาจเป็นเงิน สิ่งของ หรือการยอมรับจากสังคมในบางกรณี... แม้พระ-เณรจะรู้เท่าทัน แต่โดยมากก็มักจะวางเฉย....

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ดินวัดหรือสมบัติวัดบางอย่าง ถูกชาวบ้านฉ้อโกงไปเยอะแยะ... ลองคิดดู แม้ว่าตระกูลนั้นจะทำบุญหรือช่วยวัดสักเพียงใด แต่ที่ดินวัดหรือสมบัติวัดบางอย่างที่ฉ้อฉลไป ไม่คืนให้วัด การกระทำอย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่....

.........

มีอีกหลายอย่าง ถ้าจะบ่นต่อไป... แต่พักไว้เพียงแค่นี้ เพื่อสะท้อนกลับว่า บรรดาชาวบ้านที่จะให้วัดเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เคยคิดหรือไม่ว่า ตัวอย่างเล็กน้อยที่เล่ามา เคยมีใครตระหนักบ้าง ?....   

คำสำคัญ (Tags): #วัด
หมายเลขบันทึก: 98779เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
นมัสการ พระคุณเจ้า ขออนุญาตร่วมบ่นด้วยคนครับ ขอบ่นในฐานะคนนอกวัด ที่คาดหวังให้วัดเป็นอย่างไร ขออนุญาตบ่นประเด็นเดียวครับ คือ ขอให้วัดเป็นวัดแห่งบุญนิยม ไม่ใช่บริโภคนิยม ตอนนี้เข้าไปที่วัดใหน จะเกือบๆร้อยเปอร์เซ็นต์มั้งครับ ที่เป็นวัดแบบบริโภคนิยม(ต้องขออนุญาตนะครับว่าเป็นความเห็นส่วนหนึ่ง และผมก็ไม่ได้เข้าวัดมากมายหลายวัด เพราะฉะนั้น เห็นอย่างไรก็สรุปอย่างนั้น ยังมีวัดที่ดีๆอีกมากที่อาจไม่ได้ไป)ผมไม่ปฏิเสธเรื่องวัตถุ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือเทคโนโลยี ถ้ามีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างปัญญา แต่เท่าที่พบวัดบางส่วน พัฒนาโดยมีวัตถุเป็นเป้าหมาย เช่น เป้าหมายหลักของเจ้าอาวาส หรือของวัด ก็คือ สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง สร้างศาลาการเปรียญ เมื่อสร้างเสร็จก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ขอบ่นเรื่องเดียวก่อนครับ ยังมีเรื่องให้บ่นอีกหลายเรื่อง เดี๋ยวท่านอาจารย์จะเหม็นขี้หน้าผมซะก่อน
ไม่มีรูป
small man

....สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง สร้างศาลาการเปรียญ....

ถามว่า....

 สิ่งเหล่านี้เป็นของใคร ?

เอาเงินมาจากไหนสร้าง ?

สร้างเพื่ออะไร ?

มุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ การสร้างนั้นก่อให้เกิดอะไรบ้าง ?

......ฯลฯ....

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

ได้แง่คิดมากเลยค่ะ..การสร้างต่างๆนั้นเป็นเพราะ " คน " หาผลประโยชน์จากวัดหรือไม่ ?..การเข้าไปทำบุญต่างๆโดยเฉพาะการไปบ่น ระบายทุกข์นั้นใช่สิ่งที่พระท่านต้องการหรือไม่ ? เพราะเรามักคิดเอาเองว่า..ท่านมีเมตตาไม่ว่าอย่างไรท่านต้องโปรดสัตว์อยู่แล้ว..การสะท้อนอย่างนี้ก็ทำให้คิดได้ดีเหลือเกินค่ะหลวงพี่..

รวมถึงการเอาสัตว์ไปปล่อยในวัดด้วยหรือเปล่าคะ..

กราบสามครั้งค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า.. เมื่อมองในมุมมองเศรษฐศาสตร์ ผมขออนุญาตกล่าวลึกเฉพาะประเด็นความต้องการ อันเป็นที่มาของการผลิตและการบริโภค(และการบริโภคในที่นี้ เป็นการบริโภคที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่บริโภคนิยม)ผมลองวิเคราะห์ดูเล่นๆว่า การสร้างกุฎิ สร้างโบสถ์ ฯลฯ มาจากความต้องการของเจ้าอาวาสครับ ที่นี้ก็ต้องมาวิเคราะห์ความต้องการของเจ้าอาวาส ว่าเป็นความต้องการแท้ (ฉันทะ)หรือ ความต้องการเทียม(ตัณหา) ดังนั้นการสร้างโบสถ์สักหลัง มันก็เป็นไปได้ทั้งสองแบบ และแต่ละแบบก็จะมีคำตอบที่พระคุณเจ้าถามแตกต่างกันไป(เป็นของใคร เอาเงินมาจากใหน สร้างเพื่ออะไร การสร้างก่อให้เกิดอะไรบ้าง) ผมว่าคำถามหรือคำตอบไม่สำคัญหรอกครับ สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเจ้าอาวาสได้อย่างไรต่างหาก เพราะเจ้าอาวาสบางองค์ก็พรางตัวได้เก่งครับ สร้างภาพได้น่าเลื่อมใสศรัทธามากครับ กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว
  • นมัสการเจ้าค่ะ ตอนนี้ พระน้อง บวชมา2 ปีแล้ว ไม่ยอมสึก ไปบอกให้ท่านสึกบาปไหมค่ะ
  • แต่ตอนนี้ไม่บอกแล้ว(กลัวบาป) คุณพ่ออยากให้มาอยู่วัดในเมืองบอกว่าได้ซองเยอะ แต่พระน้องปฏิเสธลูกเดียว ขออยู่วัดป่า หาความสงบ ปฏิบัติธรรมะ บอกว่าบวชเรียนมาเพื่อศึกษาธรรมะไม่ใช่รับกิจนิมนต์
  • ตอนนี้พัฒนาวัดป่าไปได้สวยเลยเจ้าค่ะ
  • ตั้งแต่บวชเรียนมาก็เลิกบุหรี่ได้อีกต่างหาก จากที่เคยสูบมาสิบปี มาเลิกเอาเมื่อตอนบวชพระได้ปีกว่าๆ ป่านนี้แม่ที่อยู่บนสวรรค์คงจะได้บุญนะเจ้าค่ะ

 

ไม่มีรูป
small man

การสร้างงานของคนในชาติ....

การกระจายรายได้....

.... เจ้าอาวาสถูกมายาสังคมให้เล่นไปตามลีลาสังคม...

คุณโยมลองมองประเด็นนี้บ้าง....

..............

ปกติ... อาตมาไม่ค่อยต่อความยาวกับผู้ไม่แจ้งสถานภาพตัวเอง ดังนั้น ถ้าคุณโยมต้องการจะวิพากษ์ลึกๆ ก็ลองสมัครเป็นสมาชิก gotoknow.org...

การอยู่ในมุมมืดแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์บางอย่าง ก็คล้ายๆ กับบัตรสนเทห์ ซึ่งแม้จะมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่น่าเชื่อถือ...

อาตมาไม่อยากจะให้คุณโยมเป็นประดุจบัตรสนเท่ห์... ประมาณนั้น

เจริญพร 

P

อนุโมทนาแทนน้องของคุณโยม และคุณโยมด้วย....

การศึกษาเล่าเรียน แม้อยู่ในวัดป่า วัดบ้านนอก หรือสำนักปฏิบัติ ก็สามารถแสวงหาความรู้ได้ เพราะมีหนังสือ และคอยสอบถามผู้รู้ได้ เมื่อมีโอกาส... อาตมาเคยเจอพระคุณเจ้าที่ไม่ได้แม้นักธรรมตรี แต่มีความรู้ลึกซึ้งด้านภาคปริยัต (ทฤษฎี) และปฏิบัติมาสมควร...

อีกอย่าง คุณธรรมของความเป็นพระ-เณร มิใช่ขึ้นอยู่กับสถานที่... อาตมาเคยเจอพระเมืองที่มีคุณธรรมสูงๆ... และเคยเจอพระป่า หรือตามสำนักปฏิบัติที่ทุศีล.. แต่คนทั่วๆ ไป มักจะมองที่สิ่งแวดล้อมมากกว่า....

พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่รักห่วงเรา โดยมากเค้าก็ต้องการให้เรามีความสุขสบาย ตามความคิดเห็นของเค้า... ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา...

เจริญพร 

 

นมัสการท่านอาจารย์ ต้องขอโทษด้วยนะครับที่ไม่เปิดเผยตัว ด้วยเหตุผลหลายประการครับ ผมได้แก้ไขประวัติของผมใน gotoknow ใช้ชื่อจริงและประวัติในสมาชิกแล้วครับ(โกหกพระจะบาปมาก)แต่ขั้นตอนการเปิดเผยผมไม่เก่งเรื่องระบบ เอาเป็นว่าผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาล อยู่ในจังหวัดตราด ชื่อวิชชา ครุปิติ ครับ มาว่าเรื่องในประเด็นต่อครับ ในมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ ได้ก่อให้เกิดการสร้างงาน การกระจายรายได้ ในประเด็นนี้ผม 50/50 ครับ คือ ผมใช้กรอบของพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นมุมมองครับ ถ้าก่อสร้างเพื่อการพัฒนาพุทธศาสนา ผมเห็นด้วยครับ ในประเด็นนี้ นอกจากกระจายรายได้แล้ว ถือว่ายังได้บุญด้วยครับ และกลับกัน ถ้าก่อสร้างเพื่อเสริมบารมีของเจ้าอาวาส ผมว่าคงได้แค่การกระจายรายได้อย่างเดียว คงไม่ก่อให้เกิดบุญกุศลอย่างไร บางทีมันอาจจะก่อให้เกิดบาปด้วยครับ (เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ผมได้ยินชาวบ้านนินทาพระแล้วไม่สบายใจฉ ส่วนเรื่องที่ว่าเจ้าอาวาสถูกมายาสังคมให้เล่นไปตามลีลาสังคม ข้อนี้ผมเคยเห็นด้วยครับ และในประสบการณ์จริงก็เห็นได้ไม่ยาก เช่น มีคนมาสร้างกุฏิ สร้างศาลาที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น เพื่อเสริมบารมีตนเง(บารมีคนบริจาค) หรือ มีคนถวายรถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ไม่มีรูป
small man

ต้องขออภัยคุณโยมด้วย เพิ่งเห็นเหมือนกันว่า คุณโยมเป็น ผ.อ.... 

ใครจะถามท่านผ.อ.ว่า พระมาจากไหน ?

อาตมาตอบเอง พระก็มาจากลูกชาวบ้าน

แค่นี้..................

......

ท่านผ.อ. ลองกลับไปอ่านบันทึกนี้ อีกครั้ง... อาตมาเชื่อว่า (ย้ำ เชื่อว่า ) พระเกือบทั้งหมด (ไม่นับเณร เพราะเณร โดยเฉพาะที่เล็กๆ อาจไม่ซึมซับเรื่องนี้) ที่บวชแล้วอยู่ได้ มักจะมีความศรัทธาและต้องการสิ่งเหล่านั้นเป็นพื้นฐาน แต่พอบวชไปนานๆ.... นี้เป็นประเด็น

เคยมีการวิจัย (จำที่มาไม่ได้) ระหว่างผู้ที่รับราชการใหม่ๆ กับผู้ที่ทำงานมานานๆ ปรากฎว่าผู้ที่รับราชการใหม่ๆ มักจะมีอุดมคติและความซื่อสัตย์สุจริตมากกว่าผู้ที่รับราชการมานานๆ..... นี้ก็เป็นอีกประเด็น

สองประเด็นนี้ ท่านผ.อ. ว่า สอดคล้องกันหรือไม่ ? และ เป็นเพราะเหตุอะไร ?

.........

ไม่ทราบว่าท่าน ผ.อ. ชอบอ่านนิยายหรือไม่?  อาตมาชอบอ่านนิยายของ วสิฎฐ์ เดชกุญชร และเคยทำรายงานร่วมกับเพื่อนในหัวข้อ แนวคิดจริยศาสตร์ในวรรณกรรม โดยนำนิยายของท่านมาศึกษา ซึ่งเลือกมา ๓ เรื่อง คือ สารวัตรใหญ่ เลือดเข้าตา สันติบาล (น่าจะไม่ผิด แต่อาตมาก็อ่านมาเกือบทุกเรื่อง เช่น ลว. ลาตตระเวนครั้งสุดท้าย เบี้ยล่าง สารวัตรเถื่อน แม่ลาวเลือด ฯลฯ)

ประเด็นหนึ่งที่อยากอ้างถึง คือ อาตมาสรุปได้ว่า ตำรวจกับพระ คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ตำรวจที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ตอนหลังมักจะแยกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

  • ลาออก ...เทียบกับ พระ คือ ลาสิกขา (สึก)
  • คล้อยตามระบบ ...ซึ่งพระก็ทำนองนั้น
  • อยู่เงียบๆ โดยการเป็นครูฝึกหรือสอนหนังสือ ... ซึ่งพระก็ทำนองนั้น ถ้าไม่เป็นครู ก็ปลีกวิเวก

อยากถามท่านผ.อ. ว่า เพราะเหตุอะไร ?

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า  อ่านคำตอบของท่านแล้วเข็มขัดสั้นไปทันที่ครับ(คาดไม่ถึง) เป็นความรู้ใหม่จริงๆเลยนะครับว่า ตำรวจกับพระ คล้ายคลึงกัน ผมขอชมเชยอย่างจริงใจเลยครับที่ท่านกล้าสรุปเช่นนี้ ส่วนนิยายของท่านวสิฏฐ์ ผมอ่านตลอดครับ เพราะได้ทั้งความรู้และความคิด และงานวิจัยที่ท่านว่ามา ก็ตรงกับนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในวงราชการ  คือ พระเอกเป็นคนหนุ่มไฟแรงมีอุดมการณ์ รับราชการ ต้องการจะทำทุกอย่างตามอุดมการณ์  ตอนจบทำอะไรไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือ ทำใจ และที่ท่านอาจารย์ถามผมว่า เพราะเหตุอะไร ผมตอบตามประสบการณ์นะครับ ว่าเป็นเพราะกระแสสังคมครับ  เพราะมนุษย์(รวมทั้งพระด้วย) เป็นสัตว์สังคมใช่ใหมครับ ดังนั้นถ้าจะอยู่ในสังคมได้ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมและกระแสของสังคม  ไม่ว่าสังคมนั้นจะมีสภาพอย่างไรก็ตาม เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตามครับ  เพราะถ้าไม่ปรับตัวเข้าสังคม เราก็อยู่ไม่ได้ใช่ใหมครับ จะอยู่ได้ก็ต้องอยู่นอกกระแสด้วยการอยู่เงียบๆ หรือเข้าป่าไปเลย  ผมเองเป็นครูใหม่ๆก็เป็นคนหนุ่มมีอุดมการณ์ไฟแรงนะครับ แต่พอไฟแรงมากๆเข้ามันจะเผาตัวเองครับ ค่อยๆอยู่ ค่อยๆปรับตัวไป ก็อยู่กับเขาได้ โดยไม่ต้องไปมีอุดมการณ์อะไรมาก ไม่ใช่เราหมดอุดมการณ์นะครับ แต่บางครั้งต้องรอจังหวะ รอโอกาส รอสถานการณ์ที่เหมาะสมครับ 

ไม่มีรูป
small man

...ตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม..

อาตมาว่า เป็นคำพังเพยที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งมีความหมายเชิงลบหรือบ่งบอกความเห็นที่เห็นแก่ตัวเองอยู่สูง นั่นคือ ไม่มีพยางค์ใดบ่งชี้ จุดยืน หรือ ความเป็นตัวของตัวเองอยู่เลย...

ในเรื่อง สันติบาล มีวิวาทะ ระหว่างผู้กองกับผู้การสันติบาล (จำไม่ค่อยได้แล้ว) ประเด็นก็คือว่า ผู้กองอ้างถึงความเป็นอยู่ที่หรูหราของผู้การ และยกเรื่องสันโดษเป็นต้นมาสู่วิวาทะ...  

ผู้การก็แก้ต่างทำนองว่า ชีวิตจริงไม่มีในตำรา ดังนั้น ท่านต้องสร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นมา แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นเด็กของผู้ใหญ่ เพราะท่านทำไม่ได้สองเรื่อง คือ ค้าฝิ่นและฆ่าคนบริสุทธิ์ไม่ได้... ทำนองนี้

อาตมาคิดว่า ผู้ประพันธ์ ต้องการเสนอว่า คนเราจะต้องมีจุดยืนบางอย่างในการดำรงชีวิต มิใช่ว่า เข้าเมืองตาหลิว ต้องหลิ่วตาตาม ทุกกรณี... ประมาณนั้น

เจริญพร  

นมัสการท่านพระอาจารย์ "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ผมมีมุมมองไม่เหมือนท่านอาจารย์ครับ เพราะตัวผมเองผมยึดพังเพยนี้ประจำตัวอยู่เสมอ และก็ใช้ได้ผล คือ ในมุมมองของผม ผมว่าคำพังเพยดังกล่าวต้องแฝงนัยบางอย่างเอาไว้ครับ ผมว่าคงไม่ได้แปลทื่อๆ เป็นความหมายเชิงลบเหมือนคนเห็นแก่ตัวหรอกครับ คือตามตัวอักษรก็ใช่ครับ คือ ไม่มีพยางค์ใดบ่งชี้จุดยืน แต่สำหรับผม ผมแปลของผมเองนะครับ ว่าบางครั้งเราต้องปรับตัว ถ้าเราไม่ปรับตัวเราก็อยู่ไม่ได้ ผมแค่ปรับตัวนะครับ ไม่ใช่ปรับใจ เพราะชีวิตจริงไม่มีในตำรา อย่างที่ท่านผู้การว่า ผมว่าถ้ายึดตามพยางค์จริงๆแล้ว ก็แค่ตาหลิ่วครับ แต่ใจไม่ได้หลิ่วไปด้วย แต่ว่าถ้าใจก็ไม่หลิ่ว แถมตาก็ไม่หลิ่วอีกด้วย อันนี้ซิครับ อันตรายต่อชีวิตและสวัสดิการ ในทางตรงกันข้าม ว่าถ้าจะให้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน ก็ต้องหลิ่วทั้งตา หลิ่วทั้งใจ อันนี้ซิครับ ถึงจะตรงกับที่ท่านอาจารย์ว่าไว้

ช่วงนี้มีเวลา...พามาย้อนอดีตติดตามพระอาจารย์ของกระผม...

 

ยินดีรู้จักเพื่อนร่วมสังฆกรรมคนใหม่ครับ ผอ.วิชชา  ครุปิติ...ชื่อของท่านแสดงเจตนาชัดเจนครับ...555

 

จากวัดต้องการสิ่งใด...ไถลมาจนเป็น เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม...ที่จริงสาระลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่...ผมเห็นความเข้าใจที่ตรงกันในหลักความเป็นจริงของวิถีสังคม...

 

ผมเคยได้รับความเห็นแย้งจากผู้ที่เห็นแย้งกับผมว่า...นั่นเป็นเพียงวาทกรรม...ซึ่งไม่อาจเปิดเผยถึงเนื้อแท้ในตนได้...

 

ผมก็ย้อนแย้งว่า...หากได้ปุชฉาวิสัชชนากันระยะหนึ่งก็อาจเห็นสภาวะจิตที่ซ่อนอยู่หลังวาทกรรมนั้น ๆ...

 

ยินดีครับ...

 

 

นายขำ ......

ท่านเลขาฯ มาแว้วววววว.....

เสริมท่านเลขาฯ อีกนิด.... มี ๔ อย่าง ในการตอบข้อซักถามหรือแก้ต่าง แก้ตัว...

  • ถามมาก็ตอบไป
  • ย้อนถามอีกครั้ง
  • จำแนกเป็นข้อๆ
  • ไม่ตอบ

ซึ่งอาตมาก็ใช้ทุกอย่าง ส่วนประการสุดท้าย (ไม่ตอบ) ไว้ใช้เมื่อขี้เกียจ หรือไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด... ประมาณนั้น

เจริญพร

นมัสการ

เคยมีโอกาสไปยุ่งกับการก่อตั้ง/สร้างวัดใหม่ๆ2-3วัดพบประเด็นคล้ายๆกับที่พระอาจารย์นำเสนอ คือพระท่านก็มาจากลูกชาวบ้านนี่แหละ โดยเฉพาะเจ้าอาวาส บางองค์ท่านก็มองว่าการสร้างอาคารสถานที่(พัฒนาถาวรวัตถุ)เป็นวิธีการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพัฒนาและสร้างศรัทธา)แต่บางรูปท่านก็ทำไปตามกระแส/มติแห่งกรรมการวัด(โดยเฉพาะกรรมการวัดขาใหญ่ๆ)ซึ่งพระท่านเองหรือแม้กระทั่งกรรมการวัดบางส่วนก็ไม่อาจจะไปขัด/ทำอะไรได้

..วัดต้องการความสงบ.คิดว่าญาติโยมที่เข้าใจเองก็ต้องการให้วัดเป็นที่สงบเช่นกัน ความสงบที่พึงมีในวัดจะมาจากไหนได้บ้าง? ....นอกเหนือไปจากระบบการจัดการสถานที่แล้วระบบการจัดการภายในวัดทั้งส่วนที่เป็นพระกับพระด้วยกันเองแล้ว ยังมีพระกับฆราวาสที่มาเกี่ยวข้องภายในวัด ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายๆหรือเป็นภาระของเจ้าอาวาสเท่านั้น..

โยมเองสุดท้ายแล้วก็เลือกว่าไปวัดแบบที่ไปช่วยทำบุญในวัดเฉยๆ...เช่น เป็นแรงงานช่วยทำความสะอาดภาชนะ-สถานที่เวลาที่วัดมีงาน/เป็นผู้บริจาคทรัพย์สินตามแต่โอกาสและความเหมาะสม..แต่ไม่ยุ่งเป็นกรรมการวัดหรือว่าอะไร พบว่าสบายใจและเป็นบาปน้อยสุด...

กราบนมัสการครับ

...ผมเพิ่งเข้ามาที่บล็อกและไม่ค่อยชำนาญ..ขอออกตัวก่อนนะครับ..และเริ่มรู้สึกสนใจในประเด็นต่างๆของหลวงพี่เป็นลำดับแรก..ขอนมัสการว่ารู้สึกทั้งแปลกใจทั้งฉงนใจ(ในข้อความเห็นและวิธีนำเสนอ)จนต้องติดตามอ่านทุกครั้ง..อย่าเข้าใจผิดนะครับว่าผมเข้ามาโดยอคติหรือ...อย่างแรกที่เจอคือ..หลวงพี่มีความสนใจในกิจกรรมทางโลกที่คนทั่วไปนิยมกันเช่นฟุตบอลอังกฤษ..นวนิยาย..ทีวี..มวย..การแสดง..อย่างที่สองคล้ายกับว่ามีข้อคิด(ธรรมะ)แฝงอยู่ในเรื่องนั้นๆ..อีกอย่างคือ..การสะท้อนความคิดของสังคมต่อท่าทีของภิกษุ..หรือการสะท้อนของภิกษุต่อท่าทีของสังคม..คงเพื่อประโยชน์ของพระศาสนาด้วย..ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกผิดประการใดขอกราบอภัยด้วยครับ..

สำหรับเรื่องวัดกับบ้าน..ถ้ามองว่าวัดเป็นที่พักพิงชั่วคราวของคนทุกคน..แต่แรงอิทธิพลที่ส่งให้วัดเป็น/มีสภาพใด..ส่วนใหญ่อยู่ที่ว่าใครมีบารมีต่อวัดและชุมชนข้างวัด..ส่วนหนึ่ง..อีกส่วนอาจมาจากคณะสังฆาธิการที่มองถึงประโยชน์วัด..แต่สุดท้ายแล้ว..ในสังคมไทยยังมิได้มองวัดอย่างเป็นที่พักพิงถาวรหรือเป็นสถาบันทางพระศาสนาและจิตใจของสังคมปัญหามาจากชาวบ้านและลูกชาวบ้านทุกคนทั้งที่มีผมและโกนผมนี่แหละ..ซึ่งน่าจะมีฐานมาจากความเชื่อว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธองค์.

P

ลุงรักชาติราชบุรี

อาตมาก็ บ่น ไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรมาก...

อาตมาบวชเมื่ออายุยี่สิบกว่าๆ จึงผ่านชีวิตแบบโลกๆ มาตามวัย... หลายๆ อย่างที่เคยผ่านมา ก็อาจมีมุมมองส่วนตัว...

แต่หลายสิ่งหลายอย่าง ใช่ว่าอาตมาจะรู้จริงหรือสนใจจริงจังในเรื่องนั้นๆ... 

ที่เด่นก็อาจเป็นที่การใช้ภาษาในการเล่าเรื่องเท่านั้น... เคยบอกลูกศิษย์ว่า ในการตอบโจทย์อัตนัยนั้น มีหลักการตอบที่ต้องฝึกให้ได้อยู่ ๓ ระดับ กล่าวคือ

  • เรื่องไม่รู้ จะเขียนอย่างไร ให้ผู้อ่านรู้สึกว่า เรารู้เรื่องนั้นงูๆ ปลาๆ
  • รื่องที่พอรู้งูๆ ปลาๆ จะเขียนอย่างไร ให้ผู้อ่านรู้สึกว่า เรารู้จริงหรือชำนาญในเรื่องนั้น
  • เรื่องที่เรารู้จริงหรือชำนาญ จะเขียนอย่างไร ให้ผู้อ่านรู้สึกว่า เราไร้เทียมทานในเรื่องนั้น

ซึ่งประเด็นนี้ อาตมาสรุปขึ้นเองจากประสบการณ์การในการเรียนหนังสือ....และนัยตรงข้าม เรื่องที่เรารู้จริงหรือไร้เทียมทาน เราก็อาจเล่าให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรารู้เพียงงูๆ ปลาๆ ได้เช่นเดียวกัน....

เจริญพร 

..น่าสนใจครับ..กระผม..เข้าใจว่า..วิธีสอนตอบอัตนัยของหลวงพี่(พระอาจารย์)ที่กล่าวคงเป็นเชิงเปรียบเปรยให้ขำๆ(..นี่คงมิใช่เจตนาให้เข้าใจว่าควรปฏิบัติเช่นนั้นประทานโทษครับ..ถ้ามิบังควร)ผมเข้าใจตามประสาคนที่เกี่ยวข้องกับการสอนอยู่บ้างว่า..การสื่อสารใดๆต่อเพื่อน/หรือบุคคลที่เราปรารถนาดี(คงจะเป็นทั้งหมดในโลกนี้..นั่นแหละ)ที่ถูกที่ควรคือ..ความสัตย์+ซื่อ..เพื่อให้เขาเข้าใจเราตรงตามสภาพที่เขาพอจะประเมินได้ไม่ไขว้เขว..อันนี้ถือเป็นศิลปะสูงสุดของมนุษย์..เว้นแต่..จะมีเจตนาเพื่อชี้ทางธรรมะ..โดยให้เขาสนใจพิจารณาเห็นถึงสิ่งที่แฝงอยู่อันจะเป็นประโยชน์ต่อเขาตามที่เราปรารถนาในฐานะที่เรามีสภาพจิตที่พอจะพิรจารณาว่าจะไม่ก่อโทษใดๆ..ใช่ไหม?ครับ..
ลุงรักชาติราชบุรี
  1. "อย่ารูจังคะ^_^ ว่าวัดมีสิ่งใดบ้าง หนูจะได้วาดรูปไปส่งอาจารย์ได้อ่าค๊า"
  2. แล้วหนูกลัวครูเข้าว่าเอาคะ
  3. ครูคนนี้เข้าดุอย่างกะอะไรดี
  4. แง...........

                                 เจริญพร

...เอาแล้วไหมล่ะ...ความคิดเห็นที่ ๒๓ ไม่ใช่กระผมนะขอรับ..ดีนะที่กลับมาอ่านเรื่องเก่าๆ..ถึงได้เห็น..เฮ้อ..แล้วก็ขำๆดีนะครับ พระอาจารย์..

P ลุงรักชาติราชบุรี

 

พิจารณาแล้ว ก็คาดหมายว่า มิใช่่ คุณโยมแน่นอน... ถ้ามิใช่เด็ก ก็อาจใครบางคนหยอกล้อเล็กๆ ไม่ลบก็ทิ้งไว้อย่างนั้น...

ความเห็นทำนองนี้ โดยมากก็ไม่ลบ มักจะทิ้งไว้อย่างนั้น เอาไว้เป็นตัวอย่างบ่งชี้ถึงความเห็นที่ไม่เหมาะสม...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท