ภาพประกอบสิ่งพิมพ์


ภาพประกอบสิ่งพิมพ์ทั้งภาพวาดและภาพถ่ายต่างก็ใช้เพื่อสื่อความหมายเช่นเดียวกับตัวอักษร แต่มีลักษณะพิเศษคือให้รายละเอียดได้มากกว่าและยังสามารถทำให้เห็นภาพได้เหมือนจริง การได้มองเห็นภาพจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาตีความหรือทำความเข้าใจ นอกจากนี้ภาพยังถือว่าเป็นภาษาสากล แม้คนไม่รู้หนังสือก็สามารถดูรู้เรื่องได้ การใช้ภาพประกอบจึงมีความหมายและสำคัญต่อสิ่งพิมพ์ไม่น้อยไปกว่าตัวพิมพ์

ภาพประกอบมีประสิทธิภาพในการสื่อสารสูง ภาพประกอบเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขสู่การอธิบายสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ เริ่มตั้งแต่ภาพประกอบที่ใช้ในหนังสือสำหรับเด็กที่เราคุ้นเคย จนถึงภาพประกอบที่เต็มไปด้วยเทคนิควิธีอันก้าวหน้า (Colyer.1990: 8) 

ในอดีตที่ผ่านมาภาพประะกอบถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการตกแต่งอธิบายและเป็นหลักฐานอ้างอิง ความสำคัญของภาพประกอบคือสามารถแสดงสิ่งที่ผู้เขียนไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นภาษาเขียนได้ นอกจากนี้ภาพประกอบสิ่งพิมพ์ยังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งใน ชีวิตประจำวันของผู้คน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์ ปกเทปแผ่นพับแผ่นปลิว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือทั่วไป ล้วนต้องใช้ภาพประกอบทั้งสิ้นสิ่งที่จะกล่าวต่อไป มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจในความหมายของภาพประกอบสิ่งพิมพ์ ความสำคัญ ของภาพประกอบ ประเภทของภาพประกอบ ตลอดจนการสร้างสรรค์ภาพประกอบสิ่งพิมพ์เพื่อการนำไปใช้

 

ความหมายของภาพประกอบสิ่งพิมพ์

ภาพประกอบสิ่งพิมพ์ หมายถึงเนื้อหาส่วนที่เป็นภาพที่ปรากฏในเอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆนอกเหนือจากเนื้อหาข้อความที่เป็นตัวอักษร ภาพเหล่านี้อาจเป็นภาพวาดหรือภาพถ่ายก็ได้ และยังนับรวมถึงภาพกราฟิกต่างๆ เช่น จุด เส้น สี แถบกราฟิกหรือ ภาพลายเส้นเรขาคณิตอื่นๆ ที่ใช้ในการตกแต่งสิ่งพิมพ์อีกด้วย 

 

ความสำคัญของภาพประกอบสิ่งพิมพ์

ภาพประกอบมีความสำคัญต่อสิ่งพิมพ์มากโดยเฉพาะในด้านการสื่อความหมายและการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ เพราะภาพประกอบสามารถให้รายละเอียดและความเหมือนจริงเหนือคำบรรยาย ให้ความสวยงามและความประทับใจหรือใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงความสำคัญของภาพประกอบสิ่งพิมพ์มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

1 . ใช้สร้างความเข้าใจ

การอธิบายถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดบางครั้งตัวอักษรก็มีข้อจำกัด ที่จะบ่งบอกถึงสิ่งที่อธิบายนั้นว่าเป็นอย่างไร ในบางกรณีแม้ว่าผู้บรรยายจะมีความสามารถในการใช้ถ้อยคำมากสักเพียงใดก็ไม่อาจทำให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย เช่น การจะอธิบายความแตกต่างระหว่างม้ากับลาให้กับคนที่ไม่เคยเห็นสัตว์ทั้งสองชนิดนี้คงเป็นเรื่องที่ลำบากมาก

2 . ใช้เสริมความเข้าใจ

การนำภาพประกอบมาใช้ในกรณีที่ข้อความสามารถสร้างความเข้าใจได้ระดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องใช้ภาพประกอบเพื่อเสริมความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นการอธิบายพุทธลักษณะของพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ถ้ามีภาพประกอบเพื่อเสริมความเข้าใจในรายละเอียดเพิ่มเติมก็จะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

3 . ใช้เป็นหลักฐานเพื่อบ่งบอกบุคคล

ในการบ่งบอกถึงตัวบุคคล ไม่อาจใช้ข้อความอธิบายให้เห็นภาพหรือเข้าใจได้ว่าบุคคลผู้นี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าพิมพ์ภาพลงแล้วบอกชื่อ ผู้ที่เห็นก็จะรู้จักและจดจำได้ทันที

4 . ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงหรือแสดงเหตุการณ์

ภาพประกอบสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบคำบรรยายในกรณีเหตุการณ์นั้นสำคัญขนาดต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์นั้นต้องการความรวดเร็วเพื่อการนำเสนอเป็นภาพข่าวลงในสื่อสารมวลชนต่างๆ เป็นบอกเล่าเหตุการณ์ให้เข้าใจโดยง่าย

5 . ใช้ตกแต่งหน้าสิ่งพิมพ์

ภาพประกอบช่วยให้สิ่งพิมพ์สวยงามน่าอ่านมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีการถ่ายภาพ ตกแต่งภาพ และการพิมพ์ในปัจจุบัน เอื้ออำนวยให้การทำงานกับภาพประกอบสะดวกยิ่งขึ้น การถ่ายภาพทำได้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนการตกแต่งภาพลง ใช้เวลาน้อยลง การจำลองภาพอย่างการถ่ายเอกสารหรือการกราดภาพ(scan) ทำได้คุณภาพดีแลสะดวกรวดเร็วอีกทั้งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังช่วยให้การตกแต่งดัดแปลงภาพทำได้หลายรูปแบบ

ประเภทของภาพประกอบสิ่งพิมพ์

การใช้ภาพประกอบสิ่งพิมพ์นั้นอาจกล่าวได้ว่าใช้ภาพได้ทุกประเภทเพราะเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์สามารถถ่ายทอดภาพประเภใดๆ ก็ได้ลงบนสิ่งพิมพ์การแบ่งประเภทของภาพประกอบสิ่งพิมพ์สามารถแบ่งได้หลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับข้อความรู้ทีต้องศึกษา ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็น การแบ่งประเภทภาพประกอบสิ่งพิมพ์ตามสื่อที่ใช้ในการผลิต ดังจะกล่าวในรายละเอียดเป็นลำดับไป

1 . ภาพถ่าย

ภาพถ่ายเป็นภาพที่เกิดจากกรรมวิธีทางการถ่ายภาพ ใช้ประโยชน์ได้ดีในงาน พิมพ์เพราะภาพถ่ายมีคุณลักษณะเฉพาะตัวหลายอย่าง ทั้งในแง่ความเหมือนจริงและความละเอียดลออ สามารถสร้างสรรค์ได้ตามความรู้สึกการถ่ายภาพเพื่อนำมาใช้ประกอบสิ่งพิมพ์ปัจจุบัน นิยมใช้กล้องดิจิตอลผลที่ได้ส่วนใหญ่จึงออกมาเป็นภาพสี (colour print) แต่ถ้าต้องการภาพขาว-ดำมักใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยแปลงจากภาพสีให้เป็นภาพขาว-ดำ

2 . ภาพวาดลายเส้น

ภาพวาดลายเส้นเป็นภาพที่ใช้ประกอบสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ และยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการวาดภาพผสมผสานกันหลายอย่าง เช่นการวาดลายเส้นแบบภาพการ์ตูนโดยการใช้ดินสอ พู่กัน ปากกาหมึกดำ รวมทั้งการผสมสกรีนหรือการสร้างพื้นผิวลวดลายต่างๆ ร่วมกับภาพลายเส้นด้วย

3 . ภาพวาดน้ำหนักสีต่อเนื่องและภาพระบายสี

ภาพวาดน้ำหนักสีต่อเนื่องกับภาพระบายสี ภาพทั้งสองชนิดมีลักษณะภาพคล้ายคลึงกัน คำว่า “ภาพวาดน้ำหนักสีต่อเนื่อง” ใช้เรียกภาพวาดสีเดียวที่มีน้ำหนักอ่อนแก่ลดหลั่นกันสำหรับ ”ภาพระบายสี” จะประกอบด้วยสีต่างๆ มากมายหลายสี โดยการเขียนหรือระบายสีด้วยกรรมวิธีหรือเทคนิคต่างๆ กันไปภาพวาดอาจเป็นภาพที่วาดในมุมมองและรายละเอียดเหมือนกับภาพถ่ายได้และยังสามารถวาดในมุมที่ภาพถ่ายอาจทำไม่ได้อีกด้วย ภาพวาดจึงเป็นภาพอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นภาพประกอบได้อย่างดี

4 . ภาพพิมพ์

ภาพพิมพ์ในที่นี้หมายถึงภาพที่ผ่านการพิมพ์มาแล้ว มีทั้งชนิดที่พิมพ์เป็นภาพลายเส้นและพิมพ์เป็นภาพเม็ดสกรีน ภาพทั้งสองประเภทนี้สามารถนำมาพิมพ์ซ้ำได้ถ้าเป็นภาพลายเส้นจะได้คุณภาพใกล้เคียงของเดิม แต่ภาพที่เป็นเม็ดสกรีนรายละเอียดอาจหายไปบ้าง

5 . ภาพดิจิตอล

ภาพดิจิตอลหมายถึงภาพที่ผ่านกระบวนการจัดการ์โดยคอมพิวเตอร์มาแล้วด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ทำให้ภาพทุกชนิดที่จะเข้าสู่ระบบการพิมพ์ต้องผ่านกระบวนการแปลงรูปภาพนั้นให้เป็นภาพดิจิตอลเสียก่อน เช่น การกราดภาพ (scan) การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล และการสร้างภาพขึ้นใหม่ด้วคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 link : >>> ภาพประกอบสิ่งพิมพ์.pdf

คำสำคัญ (Tags): #design
หมายเลขบันทึก: 98771เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ปกติผมถ่ายภาพอย่างเดียว  เรื่องการออกแบบมั่วตลอดเลยครับ


:bucha:  บทความนี้ดีจริงๆ  ขอแอดบันทึกนี้ใส่แพลนเนตแล้วขอสมัครเป็นลูกศิษย์ด้วยแล้วกันครับผม

อาจารย์ครับ ผมชูวิดเองฮะ ถ้าเอาหัวข้อว่า ภาพประกอบในละคร ต้องมีแจกแจงรายละเอียดอะไรอีกบ้างฮะ แล้วหัวข้อนี้ใช้ได้ไหมครับ รักและเคารพนะฮะ  น้าชู

น้าชู ลองเอาตัวอย่างภาพประกอบในละครมาให้ดูหน่อยก็จะดีนะ เผื่อเห็นแล้วอาจจะได้ไอเดีย และมีคำปรึกษาเพิ่มเติมให้

link : >>> ภาพประกอบสิ่งพิมพ์.pdf

ใช้ได้แล้วนะคะ

ควรหามาใส่หน่อยหางานไม่เจอเลย

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท