เรียนแบบสวมบทบาท


เข้าไปบ่นในห้องคุณเม้ง เรื่องการเรียนกับการสอน และไปบ่นต่อในห้องของคุณดอกไม้ทะเล ว่าส่วนใหญ่แล้วจะเสนอแนะแนวทางหรือความคิดเกี่ยวกับการศึกษาแต่ไม่ค่อยได้เห็นคนเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์จริง ก็เลยขอนำกิจกรรมที่ผมชอบมากมาเล่าสู่กันฟังครับ

เรียนเชคสเปียร์แบบสวมบทบาท

ผมรู้สึกว่าที่อเมริกานี้ เขาสอนการอ่านกับเป็นเรื่องเป็นราว (ประสบการณ์ของผมย่ำแย่มากครับ กับชั้นเรียนการอ่านเมื่อสมัยมัธยม) มีบทเรียนที่ผมเคยเห็นผ่านตาแล้วถูกใจมากคือชั้นเรียนการอ่านเชคสเปียร์ ผมคิดว่าภาษาของน่าจะยาก เพราะเป็นภาษาโบราณ หนังสือเรียนการอ่านของบ้านเราอาจจะมีภาษาร้อยกรองบ้าง ซึ่งก็น่าจะเทียบเคียงกันได้ในระดับความยาก 

ความยากนับว่าท้าทายครับ จะสอนอย่างไรให้สนุก ให้เข้าใจ เข้าถึง มีกิจกรรมหนึ่งที่ผมชอบขนาดที่อยากจะกอดเจ้าของความคิด (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครจริงๆ) วิธีการง่ายๆ แต่ฟังดูน่าสนุกครับ คือให้เด็กแต่ละคนศึกษาตัวละครแต่ละตัวมา ทำความเข้าใจว่าทำไมตัวละครนี้ถึงแสดงพฤติกรรมอย่างนี้ เพราะมีภูมิหลังอย่างไร อยู่ในวัฒนธรรมและระบบคิดอย่างไร คือมองในมุมของนักจิตวิทยาไปเลย เสร็จแล้วก็ให้เด็กเสนอแนวทางแก้ไข ว่ามีทางออกอื่นไหม เช่นตัวละครตัวนี้ต้องฆ่าตัวตาย จะทำอย่างไรถึงจะไม่ทำอย่างนั้น ฟังแล้วอาจจะไกลตัวนะครับ แต่ถ้าเราลองปรับใช้กับวรรณคดีบ้านเราเช่นขุนช้างขุนแผน ก็น่าจะสนุกอยู่เหมือนกัน เช่น ทำไมขุนช้างต้องทำตัวอย่างนี้ มีอะไรจูงใจแบบนั้น ผมว่าข้อดีอีกประการของกิจกรรมนี้คือ ดูไม่เด็กเกินไป เพราะถ้านึกถึงการเล่นละคอนแล้ว หลายคนอาจจะบอกว่าเด็กๆ มัธยมมาเล่นละคอนในห้องคงจะไม่ค่อยอยากกัน

ผมลองคิดต่อกับวิชาที่ผมเคยสอน คือการออกแบบเว็บไซต์ ก็ได้ไอเดียคล้ายๆ กันนี้ เมื่อก่อนผมให้นักเรียนไปหาร้านหรือกิจการเล็กๆ แล้วให้นักเรียนออกแบบเว็บไซต์ออกมา โดยวัดคะแนนจากความสวยงาม และโครงสร้างของผลงาน ถ้าลองมามองในมุมของการเรียนแบบสวมบทบาทนี้ ผมน่าจะเน้นที่การติดต่อกับเจ้าของกิจการมากกว่า คือเน้นให้นักเรียนได้เก็บข้อมูลจริง ได้เห็นปัญหาจริงแล้วมีการกำหนดหัวข้อกับเจ้าของกิจการว่าจะสามารถทำอะไรได้ หรือไม่ได้ มีการวางโครงการในระยะเวลาที่แน่นอน

ลองคิดต่ออีกนิด ก็เห็นว่าเจ้าของกิจการอาจจะไม่ว่างกันขนาดนั้น หรืออาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมีเว็บไซต์ ก็ลองเปลี่ยนให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตั้งตัวเป็นเจ้าของกิจการกันเสียเลย ให้คิดว่าตัวเองจะทำผลิตภัณฑ์หรือบริการ แล้ววางแผนให้ดีเลย อยากได้เว็บแบบไหน พอถึงเวลา ไม่ต้องทำครับ ให้สลับกับกลุ่มอื่น คือตัวศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรมา วาดภาพไว้ในใจ แล้วบอกให้อีกกลุ่มทำซะ ให้วนกันเป็นลูกโซ่ คือกลุ่ม ก. รับออกแบบงานให้กลุ่ม ข. ก็จะต้องไปเป็นนายจ้างกลุ่ม ค. ทุกกลุ่มเล่นทั้งสองบท เป็นลูกค้าก็เล่นให้เต็มที่เลย สั่งแหลก อยากได้สวยแบบไหนก็ไม่ต้องเกรงใจ แต่พอตัวต้องเล่นบทดีไซน์เนอร์ ก็ต้องต่อรองว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ฐานข้อมูลจะเอาแบบไหน สั่งของออนไลน์ได้หรือเปล่า จะทำเสร็จทันเวลาไหม แบบนี้น่าจะสนุก แต่ก็คงต้องวางแผนและติดตามผลงานกันดีๆ

พูดไปพูดมา ก็อยู่ที่ผู้สอนเหมือนเคยล่ะครับ

ใครจะลองปรับใช้กับวิชาไหน ได้ผลอย่างไร ผมจะคอยติดตามด้วยใจระทึกนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 98011เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีครับคุณแว้บ สบายดีไหมครับ
  • เข้าเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มครับผม
  • ผมชอบประโยคที่ว่า ความยากนับว่าท้าทายครับ จะสอนอย่างไรให้สนุก ให้เข้าใจ เข้าถึง
  • ผมว่าเป็นส่วนสำคัญมากเลยครับ ผู้ถ่ายทอดก็ต้องรู้สึกว่าท้าทายในการถ่ายทอด ในการหากระบวนการถ่ายทอด ระหว่าง ผู้รับกับผู้ส่ง
  • ในตัวครูมีความท้าทายเต็มเลยใช่ไหมครับ เพราะนอกจาก ท้าทายในการถ่ายทอดแล้ว ยังท้าทายในการสร้างยุวครู(ครูน้อย) เพิ่ม ยังท้าทายในการทำให้เค้าเป็นผู้ให้ จิตใจดี ปัญญาดี และท้าทายในการหาความรู้เพิ่มให้กับตัวเอง และเรื่องอื่นๆ
  • สาขาอาชีพด้านอื่นๆ ก็คงทำนองเดียวกันใช่ไหมครับ...ความท้าทายเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เลยครับ..... เพราะคำว่าท้าทายนำมาถึงความสนุกและความสุข หากท้าทายแล้วไปถึงเป้าหมาย หากไม่ถึงใส่ความท้าทายเข้าไปเพิ่ม ยิ่งทำให้เห็นรสชาติและประสบการณ์บนถนนเส้นนี้ครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่บอกเล่าประสบการณ์ ดีๆ นะครับ

สวัสดีค่ะ  อาจารย์วสะ

  • ดีใจจังที่อาจารย์เข้าไปบ่น   นิเทศศาสตร์มีมาคุยกันแค่เราสองคน : )  อยู่กันคนละมุมโลกด้วย  ดีนะเนี่ยที่มี G2K    ไม่งั้นเราอาจไม่มีโอกาสพบกัน  น่าเสียดายแย่เลยค่ะ  
  • โอ...ชอบจังเลยที่อาจารย์เล่า  เจ้าของความคิดเรื่องบทบาทตัวละครสมมุติ  ดีจังเลยค่ะ  ถ้าเป็นผู้หญิงจะเข้าไปกอดด้วยคน 
  • .....การสร้างแรงบันดาลใจนี่ละเอียดอ่อนมากนะคะ    ดิฉันไม่เคยเรียนครู   ก็เลยล้มลุกคลุกคลานทำไปอะค่ะ  ยังไม่ได้ลงมือทำวิจัย  ว่าทำไปแล้วผลเป็นยังไง  ว่างๆว่าจะลงมือสักทีเหมือนกัน
  • ชอบไอเดียอาจารย์เรื่องการวางแผนกิจการเว็บไซต์ครบวงจรจังเลย  ได้ทั้งทีม ได้ทั้งงานเลยค่ะ    ขออนุญาตนำไปใช้ด้วยเลยนะคะ....  เปิดเทอมนี้สอนพีอาร์พอดี  จะให้เด็กลองตั้งทีมพีอาร์ออร์แกไนเซอร์นะคะ  ถ้าคิดไม่ออกยังไงคงต้องขอคำแนะนำอาจารย์ด้วย  เปิดเทอมสนุกแน่  โปรดติดตามด้วยใจระทึกพลัน 
  • ดิฉันชอบอ่านมติชน (สุดสัปดาห์)เหมือนกันอะค่ะ     เอ่อ...  อ่านข้ามคอลัมน์คุณนิวัติ  แค่เปิดผ่านๆ   ถ้าไม่มีใครเห็นถึงจะอ่าน  อิอิ
  • สำหรับประสบการณ์จริง ในการ "สอนคนให้ฝึกคิด"  เน้นที่การฝึกคิดนะคะ  ดิฉันมีประสบการณ์น้อยมาก  แต่ชอบฝึก  เพราะรู้สึกว่าจำเป็นมาก  เลยพยายามสอนแบบแทรกๆไปในเนื้อหา  ใช้วิธีกะจังหวะให้เหมาะ  แล้วก็แทรกไปเนียนๆ
  • คือดิฉันเข้าข้างตัวเองไปงั้นอะค่ะ  เด็กเขาก็คงรู้ว่าครูกำลังฝึกอะไร  หรือไม่อีกทีก็งงๆไปด้วยกันทั้งห้อง  อบอุ่นดี  : )
  • เลยเอาลิงก์เล่าเรื่องที่เคยสอนมาฝากนะคะ  การันตีว่าเป็นการสอนแบบบ้านๆ  ไม่มีหลักวิชาการอะไรเลย  มีแต่คำรับรองของเพื่อนที่เคารพท่านบอกว่า  " สอนอะไรก็ไม่รู้  สอนแปลกพิลึก..."   เฮ้อ...!....
  • เอ่อ...  ถ้าอาจารย์เคยแวะไปอ่านแล้วต้องขออภัยนะคะ   : )   เอามาฝากไว้อ่านเล่นยามว่างนะคะ  และขอให้อาจารย์วสะเรียนอย่างมีความสุขค่ะ

           สิ่งที่ไกลกว่าเปลือกลูกอม (สอนแบบตั้งคำถามให้คิด  สร้างจิตสำนึกสาธารณะ  ด้วยวิธีพูดให้ฉุกใจคิด) 

           ประวัติศาสตร์ "จริง" ไหม? (สอนแบบพูดให้สงสัย ไม่เชื่อตาม คิดแย้ง ใช้วิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามให้ตัดสินใจเลือกข้างในเวลาจำกัด  เพื่อให้ลองสะท้อนตัวตน  และมองเห็นวิธีคิดผู้อื่นในเวลาเดียวกัน   และเล่าแบบต่อเนื่อง) 

           ครูหลอก...หรือ ครูฝึก? (เรื่องเดียวกันกับประวัติศาสตร์  แต่เขียนถ่ายทอดกระบวนการสอน ระบุขั้นตอนตามแผนปฏิบัติการการสอน  ยังไม่เต็มรูปนะคะ  กำลังหัดเขียนสื่อสารแบบนี้   ถ้าจะทำงานวิจัย  ต้องถอดรหัส จัดกระบวนการ  และนำเสนอเป็นกลไกอย่างนี้   ซึ่งไม่ใช่แนวถนัดเท่าไหร่  แต่จะพยายามค่ะ) 

  • อูย..ยาวเลย...แวะมาบันทึกอาจารย์ทีไร  เขียนยาวกว่าบันทึกอาจารย์เกือบทุกที  อายเหมือนกันอะค่ะ  .. : )

คุณเม้งครับ

ผมชอบที่คุณเม้งบอกว่า ความท้าทาย = ความสนุก  เพราะจริงๆ แล้วผมคิดว่าแนวคิดยุวครูของคุณเม้งนั้น สุดท้ายแล้ว ถ้าผู้สอน หรือผู้ถ่ายทอด สามารถเข้าถึงเด็กได้ ก็จะรู้ว่าเด็กชอบอะไร เหมาะจะเป็นอะไร ก็เชียร์ ก็สนับสนุนกันไป ถึงที่สุดถ้าเด็กได้ทำอะไรที่ชอบ ก็จะเป็นผู้นำในวิชาชีพสาขานั้นๆ ถึงแม้จะแตกต่างจากอาชีพครู แต่ครูในความหมายที่คุณเม้งพูดถึง น่าจะหมายถึง ผู้ที่สามารถถ่ายทอดความถนัดของตนสู่รุ่นต่อไปได้

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ผมจะแปลว่า สอนดี คือสอนให้รู้ว่าเด็กถนัดอะไร แล้วกล้าที่จะลองในสิ่งที่ตัวเองฝัน ดีไหมครับ? 

อาจารย์สุขุมาลครับ

 ยินดีมากเลยครับ ถ้าอาจารย์จะลองปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเอากิจกรรมที่ผมลองคิด แต่ยังไม่มีโอกาสได้ลองทำ

ผมว่าบรรยากาศในการสอน ที่อาจารย์จะลองทำโน่นนี่ เป็นเรื่องดีมากครับ ผมสงสัยว่าบ้านเราทำได้ยากเพราะครูเป็นอาชีพที่มีทุนทางสัญลักษณ์ ว่าต้องมีความรู้ ต้องถ่ายทอด จะขอความรู้ หรือจะร่วมกันสร้างความรู้ (knowledge construction) ร่วมกับนักเรียนไปพร้อมๆ กันนั้นยาก ความคิดนี้ไม่ต่างจากราชการไทยที่มีสัญลักษณ์ว่ามั่นคง มีเกียรติ สัญลักษณ์แบบนี้สลัดยาก แต่ผมว่าสำหรับครูแล้ว ถ้าเราวางตัวว่าเราพร้อมรับฟัง พร้อมร่วมกำหนดแนวทางการเรียนไปพร้อมกับผู้เรียนแล้ว บรรยากาศการเรียนการสอนจะน่าสนใจไปอีกแบบ 

 แต่ปัญหานี้ก็ย้อนกลับมาที่แนวคิดของคุณเม้งครับ ว่าครูจะมีทักษะขนาดนี้ได้อย่างไร ผมมองว่าแนวทางของอาจารย์สุขุมาลนั้นถูกต้องเลยครับ คือต้องลองทำจริง แล้วก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับผู้เรียน

 จะคอยฟังผลการสอนของอาจารย์นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท