ผมไม่ได้ติดยา


ผมไม่ได้ติดยา คำพูด ติดปากของคนติดยา

ผมไม่ได้ ติดยา 

 

ผมไม่ได้ ติดยา คำพูดนี้คงเป็นคำพูดที่คุ้นหู สำหรับผู้ที่มี ลูกหลาน ญาติ หรือ คนรู้จักที่เสพยาเสพติด ผู้ป่วยที่เสพยาเสพติดส่วนใหญ่ มักจะไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหาในการใช้สารเสพติด หรือ ไม่ได้ติดยา ทั้งๆที่ตนใช้ยาเสพติดเป็นประจำ           การไม่ยอมรับดังกล่าวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่มีใครอยากจะยอมรับว่า ตนอยู่ภายใต้อิทธิพล หรือ ตกเป็นทาส ของใคร การไม่ยอมรับนี้ ยังเป็นวิธีที่ง่ายในการหนีปัญหา ไม่มีใครอยากมีปัญหา การบอกว่าตนไม่มีปัญหา (ทั้งๆ ที่มี) เป็นวิธีที่ง่ายกว่าการแก้ปัญหา แต่สิ่งสำคัญที่เขาเหล่านั้นมองข้ามไปคือ เราไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆได้ ถ้าเรายังมองไม่เห็นปัญหานั้น คำถามคือ เราจะทำอย่างไร ให้เขาเหล่านั้นยอมรับได้ว่า ตนเองมีปัญหาการใช้สารเสพติด

ก่อนที่จะเล่าให้ฟังถึงวิธีการโน้มน้าวให้ผู้ป่วยยอมรับ คงต้องขออนุญาตทำความเข้าใจกันก่อนว่าความผิดปกติ ของการใช้สารเสพติด มีอะไรบ้าง ในทางการแพทย์เราแบ่งความผิดปกติในการใช้สารเสพติดออกเป็น 2 ระดับ

ระดับแรกเป็นระดับที่การใช้สารเสพติดนั้นก่อให้เกิดปัญหา กับผู้ใช้ โดยอาจแบ่งประเด็นปัญหาออกเป็น ด้านใหญ่ๆ ได้ 4 ด้าน คือ

การใช้สารเสพติดในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อ ตนเอง หรือ ผู้อื่น อาทิ เช่น กินยาบ้า แล้วขับรถ หรือ ควบคุมเครื่องจักรกลขณะที่เมายา

การใช้สารเสพติดมีผลให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย อาทิ ถูกจับเพราะสูบบุหรี่ในที่ห้าม เมาสุราอาละวาด ถูกจับเพราะเสพยาเสพติด

การใช้สารเสพติดทำให้เกิดผลเสียต่อหน้าที่การงาน ต้องขยายความว่าหน้าที่การงานในที่นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ อาชีพการงานเท่านั้น แต่รวมไปถึง หน้าที่ที่ควรทำตามบทบาททางสังคม เช่น ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวก็ต้องมีหน้าที่ดูแล หาเลี้ยงคนในครอบครัว ถ้าเป็นที่พ่อก็ต้องให้ความอบอุ่น ให้คำปรึกษาลูก เป็นต้น

ด้านสุดท้ายคือ ด้าน  สัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ตั้งแต่คนในครอบครัว ญาติสนิท เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเพื่อนสนิท เมื่อไรที่การเสพสารเสพติดเป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับคนเหล่านี้ อาทิ เสพยาแล้วถูกครอบครัวว่า ถูกเจ้านาย เพื่อนร่วมงานบ่น ก็นับว่าเป็นความผิดปกติของการใช้สารเสพติดประการหนึ่ง

ผู้ที่เสพยาเสพติดจนมีผลทำให้เกิดปัญหาเพียงด้านหนึ่งด้านใดข้างต้น เราก็นับว่ามีปัญหาจากการใช้ยาเสพติดแล้ว แต่เท่าที่พบโดยส่วนใหญ่ ถ้ามีปัญหาด้านหนึ่งด้านใดก็มักจะมีปัญหาด้านอื่นๆด้วยเสมอ ความผิดปกติ ในกลุ่มนี้ยังไม่จัดเข้าขั้นว่า ติดยา อย่างไรก็ตามไม่ได้ติดยา ไม่ได้แปลว่า “ไม่มีปัญหา” ผู้ที่เริ่มมีปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการดูแลแก้ไข ปัญหาก็จะทวีความรุนแรงจนถึงขั้นติดยาได้ในที่สุด

ความผิดปกติของการใช้ยาเสพติดในระดับที่ 2 คือ ระดับที่เราทั่วไปเรียกว่า ติดยา อย่างไรก็ตามความเข้าใจของคนทั่วๆไปมักจะนึกถึงการติดยาว่า ต้องมีการติดอย่างรุนแรง เวลาไม่ใช้จะมีอาการถอนยา ต้องใช้ยาเสพติดอยู่ตลอดเวลา การติดยา ในความหมายของคนทั่วไปนี้ ทางการแพทย์ถือว่าเป็นการติดยา ขั้นรุนแรง ผู้ที่มีอาการเหล่านั้นเป็นผู้ที่ ติดยา แน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่มีอาการข้างต้นจะไม่ได้ ติดยา ในทางการแพทย์เราจะบอกว่าผู้ป่วยรายใด ติดยา เมื่อ ผู้ป่วยรายนั้นมีอาการต่อไปนี้

1.       มีอาการดื้อยา หมายความว่า ต้องใช้ยาในปริมาณเพิ่มขึ้นจากตอนเริ่มใช้ เพื่อให้ยาได้ฤทธิ์เท่าเดิม หรือใช้ยาในปริมาณเท่าเดิมแต่รู้สึกถึงฤทธิ์ของยาน้อยลง ถ้าพูดภาษาชาวบ้านเทียบกับการดื่มสุรา ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า คอแข็ง ถ้คุยกับผู้ที่เสพยาเป็นประจำจะพบว่า เขาจะบอกว่า ยาที่เขาใช้ช่วงหลังๆมันแรงน้อยลง ไม่เหมือนตอนที่ใช้ยาครั้งแรก

2.       มีอาการ ถอนยา หรือ ที่เรารู้จักกันว่า ลงแดง เมื่อขาดยา หรือ ใช้ยาในปริมาณน้อยลง คงต้องขออธิบายเรื่องอาการ ถอนยา ว่า อาการที่คนทั่วไปนึกถึง มักเป็นอาการถอนยาของผู้ที่ใช้ ฝิ่นหรือ เฮโรอีน ซึ่งจะมีอาการ ค่อนข้างรุนแรง อาทิ ปวดเมื่อยกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ขนลุก ทุรนทุราย  อาการเหล่านั้นเป็นอาการถอนยาเฉพาะผู้ที่เสพยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นเท่านั้น ผู้ที่เสพยาเสพติดในกลุ่มอื่นๆ ก็จะมีอาการถอนยาอย่างอื่นต่างกันไปตามแต่ชนิดของยา อาทิ ผู้ที่เสพยาบ้า อาการถอนยา จะมีอาการง่วง นอน อ่อนเพลีย หลับมาก หรือในบางราย นอนไมหลับ ฝันร้าย หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง เศร้า ปวดศีรษะ เป็นต้น

อาการ ในข้อ 1 และ ข้อ 2 นี้ รวมเรียกว่าการติดทางกาย ผู้ที่ติดยาเสพติด จะมีหรือไม่มี อาการนี้ก็ได้

3.       เสพยาเสพติดในปริมาณมากกว่าที่ตั้งใจ หรือ เสพนานกว่าที่ตั้งใจ ข้อนี้อาจต้องยกตัวอย่างประกอบเพื่อความชัดเจน เสพมากกว่าที่ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น มียาบ้าอยู่ 10 เม็ด ตั้งใจจะเสพวันละ 2 เม็ด จะได้มีใช้ไป 5 วัน ปรากฎว่า พอเสพเข้าจริงๆใช้ทีเดียวหมดเลยทั้ง 10 เม็ด หรือใช้นานกว่าที่ตั้งใจ คือตั้งใจจะใช้สักเม็ดพอหมดฤทธิ์ยาจะไปทำงาน แต่เอาเข้าจริงใช้ไปเรื่อยๆจนขาดงาน

4.       มีความต้องการที่จะใช้ยาเสพติดมาก ภาษาผู้เสพก็คือ เสี้ยนยา หรือ อยากยา หรือ พยายามที่จะเลิกยาแต่ทำไม่สำเร็จ อันนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ผู้ใช้มักจะเข้าใจผิด โดยจะบอกว่า เขาไม่ได้ติดยา “เพราะเลิกได้ตั้งหลายครั้ง” ความจริงถ้าไม่ติดยาจะ “เลิกเพียงครั้งเดียว” คือ เลิกแล้วเลิกเลย ไม่กลับไปเสพอีก แต่ถ้าเลิกแล้วกลับไปเสพใหม่กลับไปกลับมา แปลว่าไม่สามารถเลิกได้จริง ซึ่งก็แปลว่า “ติดยา” ส่วนความอยากยาที่มากนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความประทับใจที่เกิดจากการใช้ยาครั้งแรก แม้ว่าครั้งหลังๆจะไม่รู้สึกเมาเท่าเดิมเพราะเกิดการดื้อยาอย่างที่อธิบายในข้อแรกแล้ว ผู้ที่เสพก็ยังพยายามไขว่คว้าหาประสบการณ์นั้น จนมีคำเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “chasing the dragon” แปลเป็นไทยว่า ตามล่าหามังกร มังกรในที่นี้คือความรู้สึกเมาที่เกิดขึ้นตอนเสพยาครั้งแรกๆ เป็นการตามหามังกรเนื่องจากเป็นสิ่งที่หายาก ตามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ

5.       ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไล่ตั้งแต่ หาเงินไปซื้อยา เสพยา เมายา จนกระทั่งรอให้สร่างเมา คนที่ติดยาจะมีเวลบางช่วงที่ วันๆหนึ่ง หมดไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเสพยา ลืมตาตื่นตอนเช้า ก็ คิดว่า จะไปหายาที่ไหนมาเสพ จะไปหาเงินที่ไหนมาซื้อยา จะไปขโมยใคร จะไปหลอกขอเงินใคร หรือจะไปขายยาให้ใคร (เพื่อจะได้มีกำไรมาซื้อยาใช้เอง) พอได้ยามาก็หมดเวลาไปกับการเสพยา จน ยาหมด รอให้สร่างก็เสพใหม่ วนเวียนไปมาจนหมดวัน

สามข้อนี้อาจเรียกรวมกันได้ว่าการติดทางใจ

6.       เสพยาเสพติดจนไม่สนใจกิจกรรมอื่นๆที่สำคัญ อาทิ ไม่สนใจทำงาน ไม่สนใจทำอะไรกับครอบครัว ไม่สนใจเรียน ไม่สนใจงานอดิเรกที่เคยชอบ

7.       เสพยาเสพติดทั้งๆที่ ทำให้เกิดอาการไม่สบายทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจ อาทิ ไอ เหนื่อย หอบ  ปวดศีรษะ ใจสั่น แน่นหน้าอก หรือ มีอาการประสาทหลอน มีอาการวิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า หรือ วิกลจริต ผู้ที่ติดยาหลายคน เสพยาต่อทั้งที่รู้ว่าเสพแล้วทำให้ตนเอง หวาดระแวง มีอาการประสาทหลอน หรือมีอาการเจ้บป่วยต่างๆนานา แต่ก็ไม่สามารถห้ามตนเองไม่ให้เสพยาได้

สองข้อสุดท้ายคือการใช้ยาเสพติดทั้งๆที่ทำให้เกิดผลเสียต่อตนเอง

ใครก็ตามที่มีอาการข้างบน ข้อใดก็ได้ ตั้งแต่สามข้อ ขึ้นไปก็ถือว่าเป็น ผู้ที่ ติดยา ถ้าเข้าใจตามนี้ก็จะเห็นว่าผู้ที่ติดยาไม่ต้องมีอาการ “ลงแดง” เสมอไป อาจติดยา โดยไม่มีอการติดทางกายเลยด้วยซ้ำ

เอาละครับคงพอเข้าใจแล้วนะครับว่าความผิดปกติของการใช้สารเสพติดเป็นอย่างไร  ทีนี้ก็คงต้องกลับไปเล่าต่อว่า ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยยอมรับ ว่าตนมีปัญหาในการใช้สารเสพติด ย้ำนะครับว่าไม่จำเป็นที่ต้องทำให้ผู้เสพยอมรับว่า ติดยา แค่ให้เขารับว่ามีปัญหาและยอมรับการแก้ไขก็พอแล้ว วิธีการคือต้องให้เขาเห็นเองว่า การที่เขาเสพยามีผลดีผลเสียอย่างไร  โดยให้เขาเขียนทั้งผลดีและผลเสียของการใช้ยาเสพติดของเขาลงบนกระดาษ แล้วให้เขาเลือกเอาเองว่าควรจะเลิกใช้ยาหรือไม่ โดยต้องเน้นว่าชีวิตเป็นของเขาเองเขาเลือกทางไหนผลก็เกิดกับตัวเขาเอง หลายท่านคงนึกสงสัยว่าแล้วถ้าผู้ที่เสพยาเลือกที่จะใช้ยาเสพติดต่อจะทำอย่างไร คงต้องอธิบายอย่างนี้ครับ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดมาไม่นาน สมองยังไม่ถูกกระทบมาก การตัดสินใจ กระบวนการความคิดยังไม่เสีย ก็มักจะเห็นว่าการใช้ยาเสพติดของตนมีผลเสียกับตัวเองอย่างไร คนกลุ่มนี้เราต้องรีบให้กำลังใจ เสนอความช่วยเหลือในการที่จะเลิกเสพยา แต่สำหรับผู้ที่ใช้ยาเสพติดมานานจนกระบวนการความคิด การตัดสินใจเขาผิดปกติไป ในรายอย่างนั้นคงต้อง ใช้วิธีบังคับรักษา ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายบังคับรักษา ที่สามารถบังคับให้ผู้ที่เสพยาเสพติดเข้ารับการรักษาได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคนเหล่านี้เข้ารับการรักษาระยะหนึ่งจนการทำงานของสมองเริ่มกลับมาสู่ปกติ มีวิธีการคิด ตัดสินใจที่ดีขึ้นแล้ว ยังจำเป็นที่จะช่วยให้เขายอมรับว่าตนมีปัญหาในการใช้สารเสพติด ด้วยวิธีข้างต้น เนื่องจากจะเป็นการช่วยให้ผู้เสพมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาของตนเอง เพื่อตัวเขาเอง ซึ่งจะช่วยให้เขามีโอกาสเลิกยาได้เด็ดขาดมากขึ้น

ทั้งหมดที่ว่านั้นเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกๆในการช่วยเหลือผู้ติดยา ผู้ป่วยที่มองเห็นปัญหาของตนเอง ยอมรับมัน จะเป็นผู้ที่พร้อมจะรับการรักษามากกว่า ที่สำคัญจะช่วยให้ผลการรักษาดีกว่า รายละเอียดในขั้นต่อๆไปว่าต้องทำอย่างไรบ้างก็คงต้องติดตามอ่านกันต่อไปนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #ยาเสพติด
หมายเลขบันทึก: 97746เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

  • จะคอยตามอ่านนะคะ
  • สรุปว่าเราควรทำให้เขายอมรับว่าเขามีปัญหาการใช้สารเสพติดด้วยการยอมรับจากใจเขาเองก่อนแล้วกันแล้วถึงหาวิธีแก้กันต่อไป
ใช่เลย ครับ การแก้ปัญหายาเสพติด ถ้าสามารถทำให้เจ้าตัวมองเห็นปัญหาก่อน แล้วตระหนักในปัญหาของตนจะช่วยทำให้งานง่ายขึ้นมากเลยครับ แต่ว่ามีบางอย่างที่ไม่ตรงไปตรงมา คนที่ติดยา ยาจะมีผลให้สมองทำงานผิดปกติ แต่ไม่ได้ผิดปกติแบบ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ วิกลจริต คลุ้มคลั่งนะครับ แต่ ผิดปกติในการ "ตัดสินใจ" เพราะฉะนั้น ในบางครั้งถ้าสมองเขาถูกยาทำให้ทำงานได้ไม่ไดีมากๆๆ เราก็จำเป็นต้อง "บังคับ" รักษา ช่วยให้หยุดยา เพื่อรอให้การทำงานของสมองกลับมาปกติก่อน แล้วค่อยมานั่งคุยอย่างข้างบน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท