อาจารย์พรหม ภูธรานนท์ (2/2)


...ขณะนี้นักเรียนชาวนาเหมือนดวงเทียนที่ต้านลมได้พอสมควร...
"การคัดเลือกพันธุ์ข้าวก็เป็นความรู้ใหม่  ที่เรียนแล้วสนุก เริ่มตั้งแต่ดูว่าข้าวต้นไหนที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วเจริญงอกงามดี  ถ้าจะเอาลงน้ำลึกๆ ก็คัดเอาต้นสูง เนื่องจากข้าวพันธุ์เดียวกันจะมีทั้งต้นสูงและต้นเตี้ย  ก็หมายต้นนั้นไว้ทำพันธุ์ พอได้ต้นสวย ไม่เป็นโรค ไม่ต้องการปุ๋ยเคมี พอรวงข้าวสุกก็ไปเกี่ยว แล้วเอาเมล็ดมาแกะเป็นเมล็ดข้าวกล้อง”
"เมล็ดข้าวกล้องต้องเป็นมัน เมล็ดเต่งตึง เมล็ดต้องใหญ่แต่จมูกข้าวเล็ก (จมูกเล็กโรงสีจะชอบ เวลาสีข้าวไปแล้ว ข้าวจะแหว่งไม่มาก  ได้เนื้อข้าวเยอะและมีจุดแหว่งน้อย) แล้วเอามาเพาะ คัดจาก ๑๐ รวง อาจได้เมล็ดสวยเพียง ๑ – ๕ เมล็ดเท่านั้น ก็เอามาเพาะให้มันจะเจริญงอกงามขึ้น จากข้าวเมล็ดหนึ่งจะได้ถึง ๓๐ ถึง ๑๐๐ ต้นก็มี  ข้าวที่จะได้จะเหมือนกับเมล็ดที่คัด”
การผสมพันธุ์ข้าว ผมเอาข้าวนาปรังกับนาปีมาผสมกัน ข้าวนาปีเป็นแม่ เช่น ข้าวเหลืองเลาขวัญ เอามาผสมกับพิษณุโลก ๒ วิธีทำก็คือ ข้าวรวงหนึ่งจะประกอบด้วยเมล็ดข้าวหลายเมล็ด ในหนึ่งเมล็ดคือดอกข้าวดอกหนึ่ง จะมีเกสรตัวผู้ตัวเมียอยู่ ผมไปจ้องรออยู่ว่าจะบานเมื่อไหร่ แต่ละพันธุ์จะมีเวลาบานต่างกัน บานจากยอดรวงลงถึงโคนรวง   การบานส่องดู...จะเห็น เพราะเมล็ดข้าวจะใส โปร่งแสงพอสมควร ถ้าเกสรตัวผู้อยู่บริเวณปลายก็จะรู้เลยว่ามันจะต้องบาน ถ้ามันอยู่ต่ำกว่าลงมาถึงครึ่งเมล็ดแสดงว่าจะบานพรุ่งนี้”
"แต่ถ้าจะผสมพันธุ์ข้าวให้เกิดข้าวพันธุ์ใหม่ขึ้นมา โดยใช้เหลืองเลาขวัญเป็นต้นแม่ จะต้องตอนเกสรตัวผู้ออกก่อน เช่นว่าพอขึ้นมาได้ถึง ๑ ใน ๔ ของเมล็ดแล้ว ก็จะเอาเกสรตัวผู้ออก เพื่อจะเอาเกสรตัวผู้จากต้นอื่นมาใส่ ผมเลือกพิษณุโลก ๒ มาใส่ แต่ต้องบานพร้อมกันนะ  เอากระถาง ๒ ต้นมาเทียบกันเลย นี่เป็นงานที่ละเอียดมากๆ ต้องใช้แว่นขยาย ใช้คีม มือต้องไม่สั่น
“เมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้วดอกบานก็จะหุบ แล้วก็จะมีเมล็ดข้าวสารในนั้น หลังจากนั้นไปประมาณ ๑ เดือน เมล็ดก็จะแก่กลายเป็นเมล็ดข้าว”
"การผสมพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ให้ได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามที่ชาวนาต้องการ เช่นว่า ต้องการกลิ่นหอมก็เอาข้าวหอมปทุมมาผสม อายุการเก็บเกี่ยวเอาข้าวนาปีนาปรังมาผสมกัน นี่แหละข้าวในฝัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวนาแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน”
ผมอยากได้พันธุ์ข้าวที่ดี หมายความว่า ในสภาพภูมิศาสตร์ที่บ้าน ผมจะทำนาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ๔ เดือน และเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ๔ เดือน และต้องเกี่ยวก่อนวันที่ ๑๕ กันยายนด้วย เพราะมิใช่นั้นหากหลังจากนี้น้ำจะท่วมแล้ว ข้าวที่สามารถผลิตได้ในช่วงฤดูกาลที่ไม่ยาวนานเหมาะกับสภาพ ทำอย่างไรจะได้เมล็ดที่หอม มีน้ำหนักดี และโรงสีต้องการ จะเอาส่วนที่เหลือขายนะ”
"ผมเริ่มต้นทดลอง ๒ ไร่ ๑ งาน   แปลง ๑ งาน เป็นแปลงข้าวพันธุ์ เป็นแปลงทดลอง เก็บพันธุ์เอง แยกเมล็ดเพื่อจะทำพันธุ์ต่อไป”
"ข้อตกลงในชั้นเรียนคือเจอกันทุกวันศุกร์ และเจอกันระหว่างเครือข่ายเป็นระยะๆ  ผมได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันในกลุ่ม การแลกเปลี่ยนเป็นการบอกเล่าเก้าสิบซึ่งกันและกันว่าใครค้นพบอะไรกันมาบ้าง ค้นพบอะไรใหม่ๆ”

ปลูกสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อการเรียนรู้และนำไปใช้จริงกับแปลงนาข้าวและผลไม้
"เรื่องประเพณี คนที่ไม่ปฏิบัติจะไม่เข้าใจถึงจิตวิญญาณ จริงๆ แล้วมีคำสอนแฝงอยู่ อย่างพิธีกรรมรับขวัญข้าวตั้งท้อง   ชาวนาต้องสังเกตข้าว ชาวนาจะต้องเอาใจใส่แม่โพสพ  การรับขวัญข้าวตั้งท้องเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด”

ตะเหลวรับขวัญแม่โพสพ
"ของที่บรรจุอยู่ในชะลอมประกอบไปด้วยส้มสุกลูกไม้ ของเปรี้ยวของหวาน ก็เช่นว่า มะขาม ส้ม พุทรา ฝรั่ง กล้วย อ้อย  อันนี้ก็ล้วนแต่คนท้องมักกินอย่างนี้ ลองวิเคราะห์ดูว่าเอาของอย่างนี้ไปคารวะเคารพแม่โพสพในยามตั้งท้อง ก็คือเป็นการสอนชาวนาทางอ้อมว่าข้าวก็ต้องการอย่างนั้น สอนให้รู้ถึงขั้นตอนการงอกงามของข้าว พอหลังจากออกรวงพ้นรวงแล้ว ใบธงตั้งชูรวงขึ้นมา พอรวงข้าวโผล่แล้ว ก็อีกสัก ๒๐ – ๒๕ วัน จะได้เก็บเกี่ยว”
“ในคำสอนก็ว่ากันถึงสิ่งดีๆ ข้าวนี่...ชอบความไพเราะ เช่นจะกล่าวว่า แม่โพสพ แม่โพสี แม่จันเทวี แม่สีสุดา วันนี้เป็นวันจันเทวี เป็นวันสีสุชาดา ลูกได้มาหาแม่ แม่จ๋าแม่ แม่แต่งตัว เดี๋ยวไปไหว้หลวงพ่อวัดป่า แต่งตัวเร็วๆไวๆ ลูกผัวก็จะมา ถ้ายามแม่ท้องไส้ ขอให้แม่ออกลูกง่ายลูกดาย เมื่อยามแม่หิวก็มีส้มสุกลูกไม้ไว้ให้แม่แล้วนะ เมื่อได้เวลาพอสมควรแล้วลูกก็จะขอลา จะฝากแม่ไว้กับตาแก่ (ตะแก) ถ้ามีศัตรูหมู่ร้ายมา ขอให้ตาแก่ขับไล่ออกไปให้พ้นนะแม่นะ ขอให้แม่ออกลูกออกรวงได้รวงละ ๑ ทะนาน ให้ได้กอละ ๑ สัด ให้ได้มัดละ ๑ เกวียน ล้วนแล้วแต่เป็นคำกล่าวที่มีความหมายถึงการเอาใจใส่ต้นข้าวทั้งนั้น”
"ผมค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บพันธุ์ข้าวไว้ เพราะเพิ่งเริ่มต้น  ส่วนผลไม้ก็กินเอง ปล่อยอย่างธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยหมักที่โคนต้น ผมชอบการปรับปรุงบำรุงดิน เพราะผมได้มาทดลองทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และประสบความสำเร็จ แต่ผมมีปัญหาเรื่องการปราบหญ้า”
“ในขณะนี้นักเรียนชาวนาเหมือนดวงเทียนที่ต้านลมได้พอสมควร เพราะมีความเชื่อมั่นในตนเอง การรวมกลุ่มทำให้นักเรียนชาวนาร่วมคิดร่วมทำ และมีผลประโยชน์ร่วม เช่น ร่วมกันทำปุ๋ยแล้วแต่ละคนได้ปุ๋ยไปใช้”
“ต้องขอขอบคุณมูลนิธิข้าวขวัญ เป็นผู้นำทางวิชาการ ทำให้ชาวนาค้นพบด้วยตนเองด้วย”
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวฯ (เมษายน 2550)  
อาจารพรหม (1/2)
หมายเลขบันทึก: 96717เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตื่นเต้น กับการค้นพบความรู้ฝังลึกของนักเรียนชาวนาครับ
  • ได้ความรู้เยอะมาก
  • แต่ช่วงที่เป็นแถบสีปูน (แม่โพสพ) อ่านไม่ค่อยออกครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท