การอบรมเกษตรกร: พัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง(3 พฤษภาคม 2550)


                      เสร็จจากเวทีสหกรณ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดกาญจนบุรี พกพาความหิวไปฝากเจ้าของสถานที่อย่างเต็มที่ ดังนั้นเมื่อไปถึงแล้วยังไม่เข้าไปร่วมเวทีแต่ตรงเข้าไปรับประทานอาหารพื้นบ้านอย่างเอร็ดอร่อย หลังจากเสร็จภารกิจแล้วเข้าไปร่วมเวที การอบรมเกษตรกร: พัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง มี ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เป็นวิทยากร  และแกนนำจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านต้นมะรุม จังหวัดเพชรบุรี  จำนวน 2 ท่าน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่เข้าร่วมอบรม  ผู้เข้าร่วมอบรมมีความหลากหลายของช่วงอายุตั้งแต่เกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุ จนถึงลูกหลานเกษตรกรที่เป็นเยาวชนอายุประมาณ 6 ขวบ

การอบรมครั้งนี้เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรได้ค้นหาความทุกข์ของตนเอง ได้คำตอบมาหลายประเด็น แต่ที่สำคัญที่สุด คือ หนี้สิน วิทยากรให้เกษตรกรได้ค้นหาที่มาของหนี้สิน ก็พบว่ามาจากรายจ่ายประเภทจำเป็นที่ฟุ่มเฟือย ฟังแล้วก็เกิดความสงสัย คำตอบก็คือ รายจ่ายด้านปัจจัย 4 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย  อาหาร  เสื้อผ้า  ยารักษาโรค นั่นเอง แต่เกิดความฟุ่มเฟือยเนื่องจากเกษตรกรหลงทางด้วยการนำปัจจัย 4 มาเป็นสัญลักษณ์แทนฐานะทางสังคม ภาพที่เห็นได้ชัดในสังคมปัจจุบันคือ ค่านิยมการสร้างบ้านหลังใหญ่ การซื้อเสื้อผ้า/นาฬิกาข้อมือแบรนด์เนม  การรับประทานอาหารต่างชาติ เช่น อาหารเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกินคำว่า จำเป็น นอกจากนี้ที่มาของหนี้สินส่วนหนึ่งยังมาจากการซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ยและสารเคมี

ความรู้ในการแก้ปัญหาหนี้สินได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางแกนนำเกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์  ที่ได้แก้ปัญหาหนี้สินด้วยการเปลี่ยนจากการทำการเกษตรที่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีมาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์  แต่ก่อนลงมือทำการเกษตรอินทรีย์มีข้อแนะนำว่า ต้องทำบัญชีครัวเรือน ให้ได้ก่อนเพราะทำให้ครัวเรือนสามารถรับรู้ถึงรายรับ-รายจ่ายประจำวันอย่างละเอียด และได้เห็นถึงรูรั่วในครัวเรือนว่ามาจากแหล่งใดบ้าง จะทำให้ครัวเรือนสามารถจัดสรรค่าใช้จ่ายได้อย่างรอบคอบ สามารถอุดรูรั่วได้อย่างตรงจุด และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการทำบัญชีครัวเรือนคือการทำให้ครอบครัวได้พบปะ พูดคุยกันทุกวัน        

การทำบัญชีครัวเรือนนับว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือน อีกทั้งเป็นพื้นฐานความคิดที่จะทำให้เกษตรกรรู้จักการออมและรวมตัวกันเป็นองค์กรการเงินหรือสวัสดิการชุมชนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 96308เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รัชนี

ให้ข้อมูลเพิ่มเรื่อง การรับประทานอาหารต่างชาติ ค่ะ ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาคือการบริโภคอาหารประเภท fast food ที่เป็น "อาหารขยะ" และการดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีราคาไม่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต และจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา

ในงานเลี้ยงและกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน มักมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องดื่มที่เป็น "น้ำอัดลม" และ "น้ำมึนเมา "เป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องช่วยกัน "อุดรูรั่ว" ด้วยการประหยัด ดื่มน้ำสมุนไพร น้ำใบเตย ฯลฯ ที่ชุมชนสามารถผลิตได้เอง ซึ่งรวมไปถึงแต่ละครอบครัวต้อง "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" ของตนเองด้วยค่ะ

ส่วน อาหารเวียตนามที่อาจารย์พาพวกเราไปทานกันที่ร้าน "ฮานอย" หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กำแพงแสนนั้น ไม่น่าถือจะว่าฟุ่มเฟือยนะคะ เพราะมีสารอาหารที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ สะอาด และราคา reasonable ค่ะ

แล้วถ้าครั้งหน้า ชวนไปทานอาหารเวียตนามอีก รัชนีจะไปด้วยไหมนี่?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท