เพื่อความสะอาด...สว่าง... สงบ...แห่งชีวิต


เส้นทางบนถนนแห่งการเรียนรู้นับแต่นั้น คือเส้นทางการจัดการความรู้....เพื่อความสะอาด สว่าง และสงบแห่งชีวิต ทั้งของตัวเราเองและของเพื่อนร่วมโลก
 

เพื่อนรักที่รู้ใจ

ให้หนังสือดี ๆ มาเล่มหนึ่ง

ซึ่งหากนับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ปีกว่าแล้ว ยามใดที่คิดถึงเพื่อนและมีเวลาพอก็จะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ถ้อยคำสั้น ๆ เขียนด้วยลายมือของเพื่อนบนปกด้านในของหนังสือ.... เพื่อความสะอาด สว่าง สงบแห่งชีวิต”  ทำให้เราหวนคิดถึงเรื่องราวบางเรื่องที่เป็นจุดหักเหของการก้าวเดินบนถนนแห่งการเรียนรู้ของชีวิต

เมื่อสิบหกปีที่แล้ว ช่วงที่เป็นนักเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส มีรายวิชาหนึ่งที่ชื่อว่า "Le Cas Concret " หรือ “กรณีรูปธรรม” ซึ่งเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก เพราะเนื้อหาที่เหล่านักศึกษาจะได้รับฟังนั้น เป็นเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์การทำงานที่เป็น “ของจริง” เป็น Story Telling”ที่เล่าโดย "อาจารย์รับเชิญ” ซึ่งเป็นนักพัฒนา นักวิจัย และนักวิชาการที่ทำงานด้านพัฒนาการเกษตรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

เราตั้งใจเรียนวิชานี้เป็นพิเศษด้วยความอยากรู้ว่า การพัฒนาการเกษตรที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่หลากหลาย มีที่มาที่ไปอย่างไร มีผลอย่างไร มีแนวทางการแก้ไขหรือคลี่คลายปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะการจัดทำโครงการหรือแผนพัฒนาการเกษตรที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา

ด้วยหวังไว้ในใจว่า เมื่อใดที่ได้กลับบ้าน... ชุดความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง...

แต่ความจริงที่ได้รับรู้ผ่าน “กรณีรูปธรรม” จำนวนนับสิบ ๆ กรณีนั้น ทำให้เราได้ตกผลึกทางความคิดเและมี “บทสรุป”กับตัวเองว่า “กลไกที่เป็นอยู่และดำเนินอยู่บนโลกใบนี้ เป็นไปตามกฎที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ...ดังนั้น ปลาเล็กย่อมตกเป็นเหยื่อของปลาใหญ่เสมอ” เราตั้งคำถามกับตัวเองต่อไปว่า “ในเมื่อมนุษย์ไม่ใช่ปลา วิถีของมนุษย์จึงไม่ควรเหมือนปลา มนุษย์จะสามารถเป็นเหมือนปลาตัวใหญ่ใจดี ที่นอกจากจะไม่กินปลาตัวเล็กแล้ว กลับยังคอยปกป้องคุ้มครองเจ้าปลาตัวเล็กได้หรือไม่”

หลังจากเรียนวิชานี้แล้ว เรายังคงมีวิชาอีกหลายวิชาที่ต้องลงเรียน หากแต่ในระหว่างที่นั่งฟังการบรรยาย ระหว่างกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา เรามักมีคำถามแปลก ๆ ผุดขึ้นในใจเสมอ ๆ ....เป็นคำถามที่เราไม่สามารถหาคำตอบได้...

วิชาอันมีค่า เหมือนสินค้าอยู่แดนไกล

ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา...

และแล้วเราก็บอกกับตัวเองว่า ..ที่ยากลำบากมาใช้ชีวิตต่างแดนแสนไกลนี้ ก็เพราะหวังอยากได้ความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด แต่ดูเสมือนว่า แม้จะได้ปริญญากลับบ้าน แต่เรายังไม่ได้ “ความรู้” เพื่อการพัฒนาที่แท้จริง ความรู้ที่ได้เรียนมานั้นยังไม่สามารถ “ตอบโจทย์” ในใจเราได้

แล้วเราจะเรียนไปทำไม.....

จนวันหนึ่ง ได้มีโอกาสกลับมาเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทย มี “กัลยาณมิตร” ที่แนะนำให้เราไป “Relax” ชีวิตด้วยการปฏิบัติธรรมเป็นเวลา ๑ สัปดาห์

จึงได้ค้นพบว่า เส้นทางแห่ง...ความสะอาด...ความสว่าง...ความสงบ...นี้เองคือคำตอบของคำถามทั้งหมด

ปัญญามีอยู่ ๓ แบบคือ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา

เราเคยชินแต่การแสวงหาปัญญาใน ๒ แบบแรก แต่ไม่เคยให้โอกาสและเวลาเพื่อการแสวงหาปัญญาด้วยการเจริญสมาธิภาวนาเท่าใดนัก

หนังสือธรรมะหลายสิบเล่มที่เราอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ วรรณกรรมและปรัชญาอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่ผ่านสายตา ล้วนเป็นเพียงสิ่งที่เรียกว่า “ปริยัติ” หรือความรู้ภาคทฤษฎี... ที่เสมือนว่ารับรู้ แต่ไม่เคย “เข้าใจ” เพราะความรู้เหล่านั้นไม่เคยเข้าไปอยู่ในใจ

ในขณะที่การเรียนรู้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา เป็นความรู้ภาค “ปฏิบัติ” ซึ่งหากทำได้ถูกวิธีและมี “ชั่วโมงฝึก”ที่มากพอ ย่อมได้รับทั้งความรู้และความเข้าใจจากประสบการณ์ตรงแห่งการปฏิบัตินั้น

ผลที่ได้จากการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ก็คือ “ปฏิเวธ” หรือ เส้นทางของ “ไตรสิกขา” ซึ่งเป็นเส้นทางแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะนำพาชีวิตของทุกผู้คนไปสู่ความสะอาด สว่างและสงบนั่นเอง

เรากลับไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสด้วยความสุข ด้วยรับรู้ว่าสิ่งที่เราค้นพบครั้งนี้ “ตอบโจทย์” ที่มีอยู่ในใจเราได้แล้ว

เส้นทางบนถนนแห่งการเรียนรู้นับแต่นั้น คือ เส้นทางการจัดการความรู้เพื่อความสะอาด สว่างและสงบแห่งชีวิต... ทั้งของตัวเราเองและของเพื่อนร่วมโลก

เช่นเดียวกันกับการจัดการความรู้เรื่องอื่น ๆ นั่นก็คือ “ไม่ทำไม่รู้” และ “ทำไปเรียนรู้ไป”

ไม่มีทางใดที่ความรู้จะแจ่มกระจ่างขึ้นกลางใจ เหมือนกับการได้ลงมือกระทำ....

สะอาด สว่าง สงบ....เพื่อชีวิตที่เป็นมงคล....ในวันแห่ง “พืชมงคล”.......

หมายเลขบันทึก: 95422เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2007 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ดร.ทิพวัลย์คะ

  •        ใจที่    สะอาด สว่าง สงบ

นั้นเสมือนเครื่องมือชนิดพิเศษชนิดหนึ่งอันพีงมีในโลกหรือในใจของมนุษย์

เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ไม่มีทางใดความรู้จะแจ่งกระจ่างขึ้นกลางใจเหมือนกับการได้ลงมือกระทำ เพราะเมื่อได้ทำจึงได้รู้ หนูได้ทำแล้วจึงสว่างขึ้นในใจค่ะ

  • ตามมาอ่านครับอาจารย์
  • ความสะอาด สว่าง สงบ
  • เป็นสิ่งดี
  • กลัวว่าบางครั้งเราเรียนได้ปริญญาแต่ไม่ได้นำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาไปทำประโยชน์ครับผม
  • ขอบคุณครับ
  • ๑ สัปดาห์ อาจารย์ได้พบทางแห่งความสะอาด สว่าง สงบ สุดยอดมากเลยครับอาจารย์
  • อาจารย์มีเคล็ด กลเมม็ดอย่างไรครับ
  • ผมวางแผนว่าจะไปเข้าคอสที่สวนโมกอยู่พอดีครับ อ.ภีม เขียนเล่าว่าดีจังเลย ผมไม่ตั้งเป้าอะไรมาก ขอแค่ว่าหยุดพูดให้ได้สักสิบวันได้ผมก็สุดแสนจะสำเร็จแล้วครับ
  • ขอบคุณที่นำประสบการณ์ดีๆมาเล่าให้ได้เรียนรู้กัน
  • เข้ามาทักทายอาจารย์ด้วยคนนะครับ
  • ตามรอยอาจารย์ขจิตมาครับ
  • ความจริงเรื่องนี้ผมโชคดีคือท่านอาจารย์ชูจิตรสมัยที่ท่านสอนผมอยู่ชั้นป.5 ก็ฝึกสมาธิให้ผมจนมีสติอยู่กับตนเอง และฉลาดในการเรียนรู้อย่างมีเหตุ มีผล
  • ขอบคุณอาจารย์ครับที่นำสิ่งดี ๆ มาแลกเปลี่นเรียนรู้จะติดตามผลงานอาจารย์ต่อไป
  • ดีใจมากครับที่ได้รู้จักอาจารย์ครับ

ไม่มีทางใดที่ความรู้จะแจ่มกระจ่างขึ้นกลางใจ เหมือนกับการได้ลงมือกระทำ....

คิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่การศึกษาไทยแบบสมัยใหม่ไปไม่ถึงฝั่ง

การเรียนรู้ทางโลก เป็นการเรียนรู้สิ่งรอบตัว  เพื่ออะไร เป้าหมายปลายทางอยู่ตรงไหน ยังไม่แน่ชัด

การเรียนรู้ทางธรรม เป็นการเรียนรู้ภายในตนเอง เพื่อความสะอาด สว่าง สงบ  

ขอบคุณอาจารย์ตุ้มค่ะ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ
เรียนพี่ตุ้ม ...ข้างบนนั้นเป็นข้อความของปัทเอง  ลืมใส่ชื่อ  ขออภัยค่ะ

วันนี้ผมเปิดดูมวยไทเก๊กซึ่งก็คือการเดินจงกรมภาคพิศดาร ความรู้เหล่านี้ไม่ได้นำมาจัดการให้ติดอยู่ในวิถีสุขภาพของคนไทย ผมนึกเสียดายที่โรงเรียนไม่ได้จัดการกับความรู้เหล่านี้

ความรู้มีอยู่ดาษดื่นที่จะทำให้โลกนี้กลายเป็นโลกพระศรีอาริย์เมตไตย

การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ แม้เมื่อพิมพ์ข้อความนี้อยู่ก็อาจจะทำให้เกิดความสะอาดสว่างสงบน้อยๆขึ้นได้ คุณหมอประยูร(วิทยากรสวนโมกข์)ถามว่าในแต่ละวันมีเรื่องวุ่นกับเรื่องว่างอย่างใดมากกว่ากัน ส่วนใหญ่เรามีความว่างสบายมากกว่าวุ่น

รับรู้ความว่างสบายในโอกาสที่มี ทำให้มากขึ้นด้วยลมหายใจเข้าออกยาว เป็นเคล็ดวิธีที่หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพงแนะนำว่าให้ขยันทำไว้ สบายก็ทำเบื่อก็ทำ  ทำให้เป็นประจำ เป็นความรู้ที่ไม่ยากที่จะช่วยแก้ปัญหาความร้อนรนของชีวิตได้(บ้าง)ครับ

สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตินำบันทึกเข้าแพลนเนทนะคะ ชอบที่อาจารย์ขียนค่ะ

อาจารย์อยู่ทีกำแพงแสนหรือคะ เห็นคุณขจิตพูดถึงค่ะ

P คุณoddy...
 มีโอกาสคงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในกันนะคะ จะได้ Care&Share&Learn ในวงผู้ร่วมทางเดินสายนี้กันค่ะ
P อาจารย์ขจิตไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาหรอกนะคะ รับรองว่าจบมาแล้วอาจารย์จะได้ทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างสนุกและมีความสุขที่บ้านเราแน่นอนค่ะ
P ครูนงลองแบ่งเวลาในแต่ละวันสักชั่วโมงละ 5 นาทีเพื่ออยู่กับตัวเราเองโดยใช้วิธีทำใจนิ่ง ๆ ใจสบาย ๆ ไม่คิดอะไรค่ะ และหากมีโอกาสและเวลาก็ไปฝึกช่วงยาวดูนะคะ ใจเราเหมือนแก้วน้ำที่มีตะกอนเต็ม เลยยังไม่เห็นอะไรตามความเป็นจริงค่ะ แต่ถ้าหากเอาแก้วนี้มาตั้งวางไว้เฉย ๆ สักระยะหนึ่ง ตะกอนจะค่อย ๆ ทิ้งตัวลงนอนก้นแก้ว ถ้าเราอดทนพอที่จะไม่ไปขยับเขยื้อนหรือเขย่ามัน พอตะกอนนอนก้นหมดแล้ว ทีนี้ล่ะค่ะที่แก้วน้ำจะใส มองเห็นอะไร ๆ ผ่านเนื้อแก้วได้ค่ะ
ใจคนเราก็เหมือนกันค่ะ
P สวัสดีค่ะคุณประเสริฐ...ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ ที่ได้ปฏิบัติธรรมตั้งแต่เยาว์วัยค่ะ ใช่เลยค่ะ การมี "สติ" และ"ความฉลาด" คือตัวชี้วัดเชิงประจักษ์หรือผลของการทำสมาธิอย่างที่คุณประเสริฐกล่าวไว้ค่ะ มีโอกาสคงได้แลกเปลี่ยนผลการปฏิบัติกันบ้างนะคะ
          ดีใจที่ได้รู้จักเช่นกันค่ะ
          ชาวแก๊ง "เพื่อนขจิต"นี่น่ารักน่ารู้จักกันทุกท่านเลยนะคะ

อาจารย์ปัทที่รัก

เราคงต้องช่วยกันทำให้การศึกษาบ้านเราเป็นเรื่องที่ต้องรู้เท่าทันทั้งข้างนอกและข้างใน ลูกศิษย์ของเราจะต้องเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมจึงจะเป็น "บัณฑิต" ที่สมบูรณ์ค่ะ พวกเรามีใจอาสาและจิตสำนึกสาธารณะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พี่ตุ้มว่าเราคงมีโอกาสได้ฝึกฝน "วิทยายุทธทางธรรม" กันแน่นอนค่ะ

อาจารย์ภีมคะ

ตำราวิสุทธิมรรคได้กล่าวถึงวิธีการฝึกสติซึ่งมีหลากหลาย เราสามารถเลือกวิธีที่เหมาะกับ "จริต" ของเราแต่ละคน ซึ่งจุดหมายปลายทางจบลงที่เดียวกันคือ ความเบา ความโล่ง ความโปร่ง ความสบาย ที่อาจารย์ภีมใช้คำว่า "ว่างสบาย" นั่นแหละค่ะ การระลึกรู้หรือการตามลมหายใจเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ใช้ได้ในทุกกิจวัตรตลอดวันค่ะ หากมีเวลาจะลองหลับตาเบา ๆ ผ่อนคลายสบาย ๆ  แล้วก็ฝึก "หยุด" ความคิด หรือ "หยุด" ใจเราดูบ้าง ก็จะช่วยให้การก้าวเดินบนเส้นทางสายนี้เร็วขึ้นได้ค่ะ

P สวัสดีค่ะคุณ Sasinanda.. ด้วยความเต็มใจค่ะ ไม่ต้องขออนุญาติเลยค่ะ เคยแวะเข้าไปอ่าน blog ของคุณ Sasinanda ค่ะ ได้ดูภาพที่หลานชายบวช (ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ)แต่ไม่ได้เขียนให้ความเห็นไว้เท่าใดค่ะ
       ทำงานอยู่ที่คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐมค่ะ หากมีโอกาสผ่านมาทางนี้เมื่อใด แวะมาทักทายนะคะ ยินดีต้อนรับค่ะ

ปกติไม่ค่อยเคยเข้ามาตอนเที่ยงค่ะ มักจะนอน(แผ่)พักสายตา

วันนี้มีแรงดึงดูด ค่ะ

มาขอแอ๊ดบล็อก และฝาก อันนี้ ค่ะ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รู้จัก

อยู่ใกล้กันด้วยนะคะ ;P

ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันค่ะ

ขอบคุณสำหรับ "ของฝาก"ค่ะ

อยู่ใกล้กัน...คงได้มีโอกาสพบกันบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท