การประชุม Share & Learn ใน
พรพ.สัปดาห์นี้ (13 ธันวาคม 2548) คุณสุณิสา สายสุทธิ์ได้นำเรื่อง 9
คำสอนของ “พ่อ” เพื่อความสุขในการทำงาน จากข้อเขียนของคุณสุรชัย
พงเพ็ง ในหนังสือพิมพ์ Post Today
มาเล่าให้ฟังเป็นการเปิดประเด็น 9 คำสอนนั้นได้แก่
เป็นคนใจเย็น, อดทน, คิดให้รอบด้านยิ่งขึ้น, ซื่อสัตย์สุจริต,
ช่วยเหลือผู้อื่น, ใช้ชีวิตอย่างสมดุล,
แบ่งแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว, ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาเสมอ,
อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
หลังจากนั้น ผช.อาภากร สุปัญญา
ได้กระตุ้นให้ที่ประชุมแลกเปลี่ยนกันในเรื่องคำสอนของพ่อที่แต่ละคนมีประสบการณ์
รวมทั้งการประยุกต์ใช้
สิ่งที่ทีมงานบอกเล่าว่าพ่อของตัวเองสอนว่าอะไรบ้าง
เช่น
o ให้ทำดี
o ให้ทานด้วยการช่วยเหลือเพื่อน
o ให้ตื่นเช้าเหมือนนก จะได้รับอากาศดี
มีความสดชื่น สมองสดใส
มีโอกาสสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองเหมือนนกมีโอกาสกินหนอนตัวใหญ่
o
อย่าคดโกง อย่าฟุ่มเฟือย
ให้อดทนเมื่อมีปัญหา
o พ่อไปทำงานแต่เช้า
ทำให้ลูกต้องตื่นไปโรงเรียนด้วย
พ่อบอกว่าการตื่นเช้าจะได้เปรียบคนอื่น ทำให้มีโอกาสทบทวนงานเดิมๆ
มีปัญหาก็ได้มีโอกาสขบคิด ทำงานเสร็จก็อย่ารีบกลับ
ต้องทบทวนว่างานที่ทำไปนั้นถูกต้องหรือไม่
o
ชีวิตสมดุลของพ่อ
จะกลับบ้านมากินข้าวกับลูกๆ ก่อน
แล้วจากนั้นจะไปไหนก็ไป
o ให้ทำอะไรจริงจัง ทำแล้วอย่าทิ้ง
ทำให้ประสบความสำเร็จ
จะทำอะไรให้คิดก่อน
o ให้คิดดี ทำดี พูดดี
ถ้าใครมาขอความช่วยเหลือแล้วเราช่วยได้ก็ควรจะช่วย
o
ทำงานจนเสร็จ
ไม่เสร็จไม่เลิก
o ให้เราอดทน เราไม่ได้คาบกาละมังทองมาเกิด
ให้พึ่งตัวเอง
ใครที่ทำดีก็ดูในส่วนดีไว้เป็นตัวอย่าง
บางคนจะบอกว่าตอนเด็กๆ
นั้นไม่คิดว่าพ่อสอน พ่อจะพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจดจำได้
บางคนบอกว่าพ่อไม่ค่อยสอนอะไร พูดอยู่คำเดียวว่าช่างมัน
(ที่จริงเป็นสุดยอดของคำสอนว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง-ตถตา)
บางคนบอกว่าพ่อสอนโดยการปฏิบัติให้ดู
สิ่งที่คนอื่นซึ่งเปรียบเสมือนพ่อสอน
เช่น
o ในหลวง สอน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
สามารถเอามาใช้ได้ในทุกโอกาส
รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหา
หรือคนที่มีปัญหากับคนอื่น
o หลวงพ่อ สอนว่าการจะทำอะไร
ถ้าไม่สร้างความทุกข์ให้กับใคร ก็ทำไปเถอะ
สิ่งที่ทำลงไปจะกลับมาสู่เราเอง
อาจจะไม่ทันทีทันใด
o ผอ.รพ. ถาวร ลอประยูร สอนให้อยู่อย่างสมถะ
ให้เป็นครอบครัวสมถะ
o ครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ สอนให้รู้จักชุมชน
รู้ว่าการทำงานกับสังคมส่วนรวมเป็นอย่างไร
o
อ.สำลี ใจดี
สอนให้รู้เรื่องการดูภาพกว้างของสังคม
การอุทิศตอนให้กับสังคมในวงกว้าง
o อ.ธิดา นิงสานนท์
สอนเรื่องการทำงานเพื่อส่วนร่วมและครอบครัวที่สมดุล
คำถาม
o
จะพัฒนาตัวเองให้พร้อมที่จะเผชิญกับทุกอย่างได้อย่างไร
ถ้ายิ่งคิดให้รอบด้านจะยิ่งมีความกลัวและความระมัดระวังมากขึ้น
ที่ให้ข้อคิดแก่พวกเรามากที่สุดคือเรื่องเล่าของ
อ.เฉลิมชัย ชูเมือง ซึ่งเล่าทั้งคำสอนของพ่อ
และประสบการณ์จากการทำงานของท่านเอง ท่านเล่าว่าท่านเป็นลูกคนโต
มีน้อง 8 คน พ่อเป็นข้าราชการ พ่อสอนอยู่เรื่องเดียว
และสอนครั้งเดียว “การทำความดีของเราแต่ละคน
จะไม่เกิดผลลัพธ์ในวันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ หรือชาติหน้า
เราต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราทำความชั่ว
สิ่งที่เราทำดีไว้ทั้งหมดจะสูญหายไป”
การทำชั่วมักจะปรากฏทันที
แต่การทำดีไม่ค่อยปรากฏผล
ในการปฏิบัติงานจะยึดหลักว่า
“เราอยู่ตรงไหน เราต้องเป็นคนของที่นั่น
ทำให้ดีที่สุดที่จะทำได้” สมัยที่เป็นรอง เลขา อย.
ได้รับคำสบประมาทว่าไปอ่านกฎหมายให้หมดเสียก่อน
ท่านก็ไปนั่งอ่านกฎหมายจนสามารถจำมาตราต่างๆ ได้
เขาสบประมาทต่อไปว่าหมอที่มาอยู่ อย.มาเพื่อเป็นทางผ่าน
ท่านก็บอกว่าผมจะเป็นคนของ อย.ให้ดู
ไปนั่งกินข้าวที่โรงอาหารทุกเช้า
ได้รับข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ
ขอให้ทุกคนทำดีไปเถอะ
แต่อย่าไปหวังผลตอบแทน จะผิดหวังตลอดกาล
ถ้าตั้งใจทำดีแล้วเราจะสมหวังตลอดกาล
อย่าคิดทำไม่ดี
คนอื่นอาจจะไม่รู้
แต่เราจะปวดร้าวในใจตลอดว่าเราเป็นคนไม่ดี
อยู่ตรงไหนทำตรงนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ตรงนั้น
ในตอนปิดท้าย
ผมได้สรุปข้อคิดให้ดังนี้
o ในตัวเรามีทั้งพ่อและแม่อยู่ ทั้งส่วนที่เป็น DNA และจิตวิญญาณ
การสอนของพ่ออาจจะสอนด้วยคำพูดหรือสอนด้วยการกระทำ
o
เป็นคำสอนที่มาจากบทเรียนของชีวิตที่มีความยากลำบากมากกว่าคนรุ่นเรา
o
ความดีของพ่อจะเข้ามาเป็นความดีที่ฝังอยู่ในตัวเรา
o
เมื่อเราประสบความสำเร็จ
คนที่ภูมิใจในความสำเร็จอยู่ในใจลึกๆ คือพ่อแม่ของเรา
ไม่มีความเห็น