ไปประชุมที่บ้านครูบาสุทธินันท์


หลักสูตรบัณฑิตศึกษาแนวใหม่ เน้นการเรียนในชุมชน

ไปประชุมที่บ้านครูบาสุทธินันท์

        วันที่ ๑๑ – ๑๒ ธค. ๔๘ อ้อม  ผม   และ ศ. ดร. อภิชัย พันธเสน เดินทางไปบุรีรัมย์     เพื่อร่วมประชุมหารือรายละเอียดเรื่องทุนปริญญาโท – เอก สาขาการจัดการความรู้ในชุมชนของ ม. อุบลฯ  ร่วมกับครูบาสุทธินันท์และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน


         เรื่องนี้คุยกันมาเกือบ ๒ ปีแล้ว     สคส. เราต้องการอุดหนุนให้เกิดวิชาการด้าน KM ที่สร้างขึ้นจากแผ่นดินของเราเอง หรือจากกิจกรรมในชุมชนของเราเอง หรือจากการปฏิบัติ    ต้องการให้เกิดการทำปริญญาเอก – โท แบบใหม่ ที่เน้นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติร่วมกับชุมชนหรือชาวบ้าน    นักศึกษาใช้เวลาศึกษาเกือบทั้งหมดทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน    ใช้เวลาเพียงส่วนน้อย (ไม่เกิน ๒๐%) เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย     และอาจารย์ที่ปรึกษาก็ออกไปร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านเป็นระยะๆ ด้วย     เราคุยกันมาหลายยกแล้วและสุดท้ายตกลงกันว่าให้ครูบาเป็นผู้หานักศึกษาให้ มอบ. และ สคส. อนุมัติ เพื่อให้ได้ นศ. ที่เมื่อเรียนจบก็ยังทำงานอยู่ใน จ. บุรีรัมย์     ตอนนี้ครูบาสุทธินันท์หา นศ. ได้ ๗ – ๘ คนแล้ว     เราจึงไปสัมภาษณ์พูดคุยกับ นศ. เพื่อให้แน่ใจว่าคนไหนบ้างที่ สคส. จะให้ทุนสนับสนุน    และทำความเข้าใจว่า สคส. จะสนับสนุนอะไรบ้าง ไม่สนับสนุนอะไรบ้าง


         เราใช้วิธีให้ ผู้สมัครรับทุนแต่ละคนแนะนำตัวเองและนำเสนอว่าตนเองต้องการทำอะไร     โจทย์วิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์คืออะไร     ถ้าโจทย์ยังไม่ชัดก็ขอให้เสนอความฝันความสงสัยของตน ที่จะนำไปสู่โจทย์วิจัย


         สรุปว่ามี ผู้สมัคร นศ. ป. เอก ๓ คน,  ป. โท ๔ คน    เราจะจัดการแบบเป็นเครือข่าย ให้มีการเรียนรู้ร่วมกันทั้งระหว่าง นศ. และ อจ. ที่ปรึกษา    โดยมี ดร. สุธิดา เป็นผู้จัดการในภาพรวม    นศ. ทุกคนต้องเขียนรายงานกิจกรรมลง บล็อก ทุกสัปดาห์     นศ. กับ อจ. ที่ปรึกษาจะพบกันทุกเดือนเพื่อรายงานกิจกรรม ตีความการเรียนรู้ราวมกัน    และร่วมกันคิดว่ากิจกรรมการเรียนรู้จะนำไปสู่การเขียนวิทยานิพนธ์อย่างไร     รวมทั้งร่วมกันวางแผนกิจกรรมในเดือนต่อๆ ไป     จากการพบกันประจำเดือน นศ. และ อจ. จะแยกกันเขียน AAR ของการพบหารือลง บล็อก     ทุกๆ ๒ เดือน จะมีการประชุมเครือข่าย คือ อจ. ทุกคน และ นศ. ทุกคนมานำเสนอความก้าวหน้าและ ลปรร. กัน     ทุกคนที่มา ลปรร. ประจำ ๒ เดือน จะเขียน AAR ลง บล็อก     และทุกๆ ปี จะมีการประชุมวิชาการของเครือข่าย เชิญผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาร่วมให้ความเห็นหรือวิพากษ์การนำเสนอการเรียนรู้หรือความคืบหน้าของ นศ. ทุกคน


         นศ. ทุกคนต้องเรียนแบบ full time คือถ้าเป็นข้าราชการต้องลามาเรียนเต็มเวลา      ต้องไม่มีธุรกิจอื่นมารบกวนเวลาและสมอง     และต้องทำสัญญารับทุนจาก สคส.     ถ้าไม่เอาใจใส่การเรียนอย่างจริงจังและต้องยุติการเรียนก็จะต้องคืนเงิน  


         นี่คงจะเป็นทุนเรียนต่อชุดเดียวที่ สคส. ให้      จะไม่มีทุนแบบนี้อีก    เพราะเราคิดว่าเราได้เรียนรู้เรื่อง KM ในชุมชนก้าวหน้าไปมากแล้วในช่วงเวลา ๓ ปี     โครงการนี้ได้หารือกันมาตั้ง ๒ ปีแล้ว แต่การดำเนินการล่าช้ามา     สคส. ไม่อยากเสียคำพูดจึงยอมจัดให้     และหวังว่าจะช่วยเป็นตัวอย่างการศึกษาสร้างความรู้ต่อยอดความรู้ที่ชาวบ้านสร้างขึ้น จากกระบวนการ KM ของชาวบ้าน    ที่นักวิชาการเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน    เราหวังว่าทาง มอบ. จะมีการจัดการโครงการนี้อย่างจริงจัง     คือหวังว่า มอบ. จะมี management อย่างเข้มแข็ง    ผมคิดว่า management ของ มอบ. มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความเอาจริงเอาจังของ นศ. และ อจ. ที่ปรึกษา     เนื่องจากจริงๆ แล้ว นศ. ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางวิชาการน้อย     ถ้าไม่ขยันขันแข็ง    และไม่มีระบบช่วยอย่างจริงจัง  โอกาสเรียนสำเร็จคงจะยาก


         ทาง สคส. จะมีคุณอ้อม (อุรพิณ ชูเกาะทวด) เป็นผู้ประสานงาน    เราหวังว่าการประสานงานกับทาง มอบ. และครูบาสุทธินันท์ จะใกล้ชิดและเอาจริงเอาจัง     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผ่าน บล็อก ดังตัวอย่างที่ผมทำให้ดูนี้

         ขอสื่อสารไปยัง นศ. และ อจ. ที่ปรึกษาทุกท่านให้อ่านทำความเข้าใจ KM จาก เว็บไซต์ www.kmi.or.th และจาก บล็อก gotoknow.org  รวมทั้งศึกษาวิธีใช้ บล็อก สำหรับการ ลปรร. ภายในเครือข่าย ทั้งในกลุ่ม นศ. และ อจ.  

     

   สถาบันฟื้นฟูศักยภาพภูมิปัญญาฯ        บรรยากาศการประชุม

                     

       ดร. อริยาภรณ์ พงษ์รัตน์ และ ดร. ธิติพนธ์ สองอาจารย์ที่ปรึกษา

                       

                        ศ. ดร. อภิชัย และครูบาสุทธินันท์


วิจารณ์ พานิช
       ๑๒ ธค. ๔๘      

หมายเลขบันทึก: 9472เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท