ควันหลงการประเมินเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ (ตอน 1 )


เราคงไม่อยากเห็นภาพความเสื่อมเสียในวิชาชีพเราอันเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องคุณธรรมจริยธรรมโดยตรง

       สืบเนื่องจากเมื่อปีที่แล้วที่ครูทั่วประเทศร่วมสองแสนคนผ่านการประเมินให้มีวิทยฐานะชำนาญการ และรับเงินวิทยฐานะ 3,500 บาทไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2549
      ตามหลักเกณฑ์วิธีการประเมินเลื่อนวิทยฐานะ (ว.25) กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการครบ 1 ปี สามารถเสนอขอประเมินเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษได้ และการเสนอขอรับการประเมินกำหนดช่วงเวลาไว้ให้ 2 ช่วง คือ 1 -30 เมษายน และ 1 – 31 ตุลาคม ทุกปี
      ดังนั้น 1–30 เมษายน 2550 ผู้มีวิทยฐานะชำนาญการจึงมีสิทธิ์เสนอขอรับการประเมินเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษได้ทุกสายงาน ถ้าทุกคนเสนอขอก็จะประมาณสองแสนคน แต่คาดว่าคงเสนอขอประมาณครึ่งหนึ่งของผู้มีวิทยฐานะชำนาญการ ก็คงอยู่ราวหนึ่งแสนคน ซึ่งกระบวนการการประเมินทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพัฒนาตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.กำหนด(มาตรา 80) การประเมินที่ดำเนินการโดยกรรมการ 2 ชุด จนถึงการแต่งตั้งนั้น ก.ค.ศ.ก็กระจายอำนาจไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการเบ็ดเสร็จแล้ว
      
หลับตานึกถึงภาพการประเมินวิทยฐานะที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว หากบริหารจัดการไม่ดี ก็คงจะวุ่นพอสมควร นึกถึงกรรมการประเมิน คือผู้บริหารและผู้ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าผู้รับการประเมิน ซึ่งมีจำนวนจำกัดคงไม่เป็นอันทำงานหลักนัก แค่ทำหน้าที่นี้อย่างเดียวคงแทบไม่มีเวลาว่างแล้ว ดังนั้นหากพยายามบูรณาการการประเมินไปกับงานในหน้าที่รับผิดชอบพร้อมกันก็น่าจะดี
     
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ระบบอุปถัมภ์และระบบผลประโยชน์ ซึ่งเกรงว่าจะแพร่สะพัดในหลายๆรูปแบบ เพราะสพท.จะเป็นทั้งผู้ดูแลส่งเสริมพัฒนาครูและเป็นผู้ดูแลเรื่องการประเมินไปด้วยกัน ซึ่งหลักการประเมินไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น หากไม่มีระบบคานอำนาจ หรือการติดตามดูแลการประเมินของทุก สพท.ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งหาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ ยังไม่เป็นกลไกรักษากติกาตามเจตนารมณ์ของ ก.ค.ศ. เรื่องนี้ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเราคงไม่อยากเห็นภาพความเสื่อมเสียในวิชาชีพเราอันเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องคุณธรรมจริยธรรมโดยตรง ให้สังคมลดความศรัทธาลงไปอีก (ดังที่ผ่านมาพูดถึงแต่เรื่องครูเป็นหนี้สิน และการเรียกร้องประโยชน์กัน) ก็หวังว่าแต่ละ สพท.จะช่วยกันดูแลให้ดีที่สุดก็แล้วกันครับ พยายามจำแนกครูเก่งครูดีที่ตั้งใจพัฒนาผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนก้าวหน้าได้รับอานิสงส์นี้ มากกว่าการตอบสนองให้แก่ผู้ที่อยากได้และไม่ควรได้ครับ
       ก็น่าเห็นใจ ก.ค.ศ.ที่พยายามคิดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีที่สุด และหาทางอุดช่องโหว่มาโดยตลอด แต่ปัญหาอยู่ที่การนำไปใช้ ต่างหาก(โดยเฉพาะกับคนไทย)
     
ผมจะเล่าควันหลงเรื่องนี้ตอนต่อไปอีก และจะมีข้อเสนอแนะเรื่องการประเมินให้แลกเปลี่ยนกันในตอนสุดท้ายครับ

หมายเลขบันทึก: 94447เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาทักทายครับอาจารย์ และจะติดตามอ่านต่อ
  • ขอบคุณครับ
  • ...
  • ได้เจออาจารย์ที่งานมหกรรม ไม่ทราบอาจารย์จำผมได้รึเปล่า นิสิตจาก ม.นเรศวร
     วันนั้นได้เจอกันหลายคน  กำลังนึกอยู่ ...
     อ่านประวัติคุณบีเวอร์น่าสนใจมาก  ผมพบเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนที่เป็นผู้นำและทำกิจกรรมระหว่างเรียนมาโดยตลอด  เมื่อเขาจบออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพ เขาจะสามารถบูรณาการนำประสบการณ์ตรงมาใช้ได้อย่างดี เจอปัญหาก็ไม่หนีปัญหา และมักจะประสบผลสำเร็จสูง  ที่สำคัญคือ คนเหล่านี้มักจะมีจิตใจที่ชอบช่วยเหลือประชาชน ชาวบ้าน  น่าศรัทธาอย่างยิ่งครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท