การบริหารความขัดแย้ง (7)


มีการบริหารความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก  ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.)  เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าจะนำมาศึกษาเพื่อผลประโยชน์ในการศึกษาการบริหารความขัดแย้ง  ดังนี้

ความเป็นมา
1.  ศ.นพ.อดุลย์  วิริยเวชกุล  อธิการบดีถูกร้องเรียนกล่าวหาในเรื่อง
       1.1  ความไม่เหมาะสมในการบริหารงานที่ผ่านมา  รวมถึงการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสในการก่อสร้างหอพักนิสิต 8 หลัง
       1.2  การเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้อธิการบดีโดยที่ไม่มีระเบียบวิธีรองรับ  และไม่แจ้งสภา มมส. ทราบ

2.  คณาจารย์ มมส. กลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอนแก่น  และศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งให้ยุติกระบวนการสรรหาอธิการบดี มมส.  เนื่องจากกระบวนการสรรหาอธิการบดีไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มมส.  โดยกรรมการสรรหาเป็นคณบดีคณะนอกระบบ

เหตุที่เกิดการร้องเรียนเนื่องจากขณะนี้ มมส. กำลังสรรหาอธิการบดี  และ ศ.นพ.อดุลย์  วิริยเวชกุล  อธิการบดีปัจจุบัน  ที่จะหมดวาระเดือนมิถุนายน 2550  เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีสมัยที่สอง

3.  สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ให้ ศ.นพ.อดุลย์  วิริยเวชกุล อธิการบดี  ชี้แจงข้อร้องเรียนทั้ง 2 เรื่อง

4.  คณบดีในคณะนอกระบบที่ไม่ได้ตั้งตามพระราชกฤษฎีกา 4 คน  ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการสภา  และคณะผู้บริหารได้เรียกประชุมคณบดี  เพื่อเลือกกรรมการสภาจากคณบดีใหม่ (จากคณะที่ตั้งตามพระราชกฤษฎีกา)

ผมเห็นว่ากรณีความขัดแย้งครั้งนี้  สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยนายมีชัย  ฤชุพันธุ์  นายกสภาและกรรมการสภา  เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารความขัดแย้งอันเกิดจากหลายสาเหตุแตกต่างกับ  ความขัดแย้งระหว่างอธิการบดี  กับคณบดีของมหาวิทยาลัยศิลปากร

การจัดการความขัดแย้งนี้  มีคำสำคัญ (Key Word) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง 5 คำ  ได้แก่

คณะนอกระบบ  ผู้อยู่นอกวงการมหาวิทยาลัย  หรือแม้แต่อยู่ในมหาวิทยาลัยอาจสงสัยว่ามีด้วยหรือ?  มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการมีคณะนอกระบบ  คำตอบคือ  มีครับ

สาเหตุของคณะนอกระบบ  มาจากการที่มหาวิทยาลัยมีความต้องการที่จะจัดตั้งคณะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น  เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540  บัญญัติไว้ในมาตรา 230  วรรคแรกว่า “การจัดตั้ง  กระทรวง  ทบวง  กรม  ขึ้นใหม่  โดยมีการกำหนดตำแหน่ง  หรืออัตราของข้าราชการ  หรือลูกจ้าง  เพิ่มขึ้น  ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ”

ด้วยข้อกำหนดข้างต้น  หาก มมส. จะตั้งคณะใหม่  แม้ว่า พ.ร.บ. มมส. จะบัญญัติไว้ในมาตรา 7  ว่า “การจัดตั้ง  การรวม  และการยุบเลิก  สำนักงาน  วิทยาเขต  บัณฑิตวิทยาลัย  คณะ  สถาบัน  สำนัก  วิทยาลัย  และศูนย์  ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”  ก็ไม่สามารถทำได้

เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา  มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ  และพระราชบัญญัติ  มมส.จึงไม่สามารถจัดตั้งคณะใหม่ที่มีการกำหนดตำแหน่งคณบดี  หรือผู้อำนวยการได้  เพราะจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ

ดังนั้น  คณะที่จัดตั้งขึ้นใหม่  จึงจัดตั้งโดยอำนาจของสภามหาวิทยาลัย  และมิได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  จึงเป็นที่มาของคำว่า คณะนอกระบบ

การสรรหา  เป็นวิธีการที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐส่วนใหญ่ใช้  เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารตำแหน่งต่างๆ  อาทิ  อธิการบดี  คณบดี  ผู้อำนวยการ  โดยไม่ใช้การแต่งตั้ง  เช่น  ระบบราชการหน่วยงานอื่น  หรือการเลือกตั้ง  ที่ใช้การลงคะแนนเสียงแล้วเลือกผู้ได้คะแนนสูงสุด

การสรรหา  คืออะไร?
การสรรหา  คือ  การเลือกมา  คัดมา  ซึ่งผู้ที่จะเป็นผู้เลือกหรือคัด  คือ  คณะกรรมการสรรหา  ซึ่งมักจะประกอบด้วย  ผู้แทนจากสภามหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่  โดยกรรมการสรรหาจะเลือกผู้มีความเหมาะสม  เป็นอธิการบดีจากการเสนอชื่อของบุคลากรในมหาวิทยาลัย  โดยไม่ใช้คะแนนการเลือกตั้งมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา  ดังนั้นการทักท้วงว่ากรรมการสรรหาจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยขาดคุณสมบัติ  ก็เนื่องจากกรรมการสรรหาสามารถที่จะเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อ  คนใดคนหนึ่งเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย  และมีสิทธิลงคะแนนเลือกอธิการบดี  เพราะเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย

เห็นความสำคัญของ คณะนอกระบบ  พระราชกฤษฎีกา  และการสรรหา  หรือยังครับ?

ส่วนการร้องเรียนเรื่อง  ความโปร่งใส  และการไม่มีระเบียบรองรับ  หาก ศ.นพ.อดุลย์  ถูกตั้งกรรมการสอบสวนก็จะขาดความเหมาะสมในการเป็นอธิการบดี

การบริหารความขัดแย้งครั้งนี้  ฝ่ายร้องเรียนมีความประสงค์ให้ฝ่ายบริหารความขัดแย้ง (สภามหาวิทยาลัย) ใช้กฎหมายและความเหมาะสมในการแก้ปัญหาครับ  ส่วนจะมีการเมืองในมหาวิทยาลัยหรือไม่?

ใครตอบไม่ได้บ้างครับ?

วันนี้เครียดอีกแล้ว

การบริหารไม่ยากครับ  แต่เครียดตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 93433เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2007 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท