วันนี้ไม่ดูทีวี ปิดทีวี 555


ข้อเขียนฝากมา บอกเล่าเรื่องราว ถึงการปิดทีวี เพื่อตั้งคำถามกับชีวิต
" วันนี้ไม่ดูทีวี ปิดทีวี 555 "

วันนี้ไม่ดูทีวี ปิดทีวี555

อยากประหยัดไฟ ไม่ชอบนักการเมือง ขัดเคืองโฆษณา อยากเอาเวลาไปทำอย่างอื่น อยากนอนตื่นเช้า

อยากนั่งเหงาคนเดียวบ้าง อ่านหนังสือดีกว่า อยากเห็นหน้าครอบครัว กลัวลูกเลียนแบบการ์ตูน

สนับสนุนชีวิตอิสระ เบื่อละครเกะกะตา อยากเล่นกับหมาข้างบ้าน ไม่เชื่อรายงานข่าวบิดเบือน

อยากเจอเพื่อนเก่า อยากเข้าวัด อยากจัดห้อง อยากลองอยู่เงียบๆ อยากทำข้าวเกรียบกินเอง อยากละเลงสีในกระดาษ

ไม่อยากพลาดการสังสรรค์ อยากใส่ใจกับชีวิต อยากปิดทีวี

ปิดทีวี ฮ่า ฮ่า ฮ่า

เพื่ออะไร :
- เพื่อทบทวนบทบาทของโทรทัศน์ ว่าทำไมเราเราต้อง
ใช้มันและมันมีไว้เพื่ออะไร
- เพื่อค้นพบทางเลือกที่หลากหลายของการใช้ชีวิตที่ดี
และมีคุณค่า

อย่างไร :
- เพียงปิดสวิทช์หรือถอดปลั๊กทีวีเป็นเวลา ๗ วัน
และหาทางเลือกอันหลากหลายในการทำกิจกรรมต่างๆ
ของชีวิตแทนทีวี

ใคร :
ใครก็ได้ ทั้งเด็ก ครอบครัว บุคคล นักเรียนนักศึกษา
กลุ่มคนแก่ ฯลฯ

ที่ไหน :
ในบ้าน , โรงเรียน, ห้องสมุด, ที่ทำงาน ฯลฯ

บางคนอาจมีเหตุผลในการดูทีวีห้าพันแปดร้อยสามสิบสี่ประการ แต่ถ้าคิดในมุมกลับ

เราก็อาจมีเหตุผลในการปิดทีวีอีกแปดพันสี่ร้อยยี่สิบหกประการก็ได้ บางคนอาจบอกว่าทีวีก็มีดีอยู่บ้าง

แต่บางคนก็ว่ามันไม่มีอะไรดี บางคนอาจไม่รู้ว่าจะทำอะไรถ้าไร้ทีวี ขณะที่บางคนบอกว่าไม่ดูอยู่แล้ว ได้มาคุยกันเรื่องนี้ก็น่าสนุกดีนะ

เป้าหมายของการรณรงค์ปิดทีวี ฮ่า ฮ่า ฮ่า ไม่ได้ต้องการทำลายทีวีหรือให้เลิกดูอย่างเด็ดขาดถอนรากถอนโคน

การรณรงค์ครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่จะตั้งคำถามกับชีวิตของเราในโลกของทุนนิยมบริโภคนิยม

อาจเป็นจุดเริ่มของการตั้งถามว่ามันแทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตของเราอย่างไร
อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการฉุกคิดว่าเราทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมายเพียงไร
อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรอีกหลายหลาก ลดใช้มือถือ งดเล่นเกมส์ออนไลน์
งดออนไลน์msn ฯลฯ

อย่างน้อยที่สุด เราจะไม่เป็นเพียงผู้รับสารที่เฉื่อยชาหรือผู้รับสารที่เปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น
แต่ยังจะกลายเป็นผู้รณรงค์ได้ด้วยตนเองอีกด้วย ก็ด้วยการบอกต่อชักชวนทำเป็นแบบอย่างไงล่ะ

การรณรงค์เพียง 7 วันอาจเล็กน้อย แต่มันจะแทรกตัวเข้าในพื้นที่ทางความคิดของผู้รับรู้ว่า

‘การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนั้นเป็นไปได้ และสังคมที่ดีเราสร้างได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้’
เมื่อเราเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน ทุกวันฉันเปลี่ยนแปลงโลก....


ปิดทีวีแล้วทำอะไร

ก่อนอื่น เปลี่ยนความคิดในหัวสมองคุณก่อนเลย ไอ้ประเภทที่ว่า ทำไม่ได้หรอก ขาดทีวีไม่ได้ เดี๋ยวเหงาตายเลย ฯลฯ

แล้วทีนี้ก็มามองหารอบๆตัวว่า จะทำอะไรได้บ้างมั้ย อะไรที่คุณอาจไม่เคยมองเห็นหรือใส่ใจมาก่อนเลย

ถ้ายังนึกไม่ออก ลองดูจากกิจกรรมพวกนี้ไปพลางๆก่อน แล้วลองออกแบบกิจกรรมที่เหมาะกับตัวคุณเองดู เพื่อต้อนรับสัปดาห์ปิดทีวี

1. หัดเล่นกีต้าร์หรือเครื่องดนตรีอื่น
2. นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ร่วมกัน
3. จัดคอนเสิร์ตในชุมชน
4. รวมกลุ่มกันทำความสะอาดชุมชน
5. ต่อจิ๊กซอร์ร่วมกันในครอบครัว
6. ไปห้องสมุด ยืมหนังสือ ร่วมกิจกรรมของห้องสมุด
7. ฟังวิทยุ
8. ไปสวนสัตว์
9. วาดภาพลงกระดาษ หรือบนผนัง
10. สำรวจชุมชน ทำแผนที่
11. ไปว่ายน้ำ
12. วางแผนการไปปิกนิคหรือบาร์บีคิว
13. ดูนก
14. อาสาทำอะไรเพื่อชุมชน
15. เล่นกับสัตว์เลี้ยง
16. เต้นรำ
17. เขียนจดหมายถึงเพื่อนหรือคนรู้จัก
18. เรียนทำอาหาร
19. ปลูกดอกไม้ ผัก สมุนไพร
20. อ่านนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์
21. ชวนเพื่อนบ้านตีแบด เล่นบอล
22. ออกค่ายพักแรม (อาจเป็นหลังบ้านของคุณเอง)
23. ไปที่ตู้เสื้อผ้า และเก็บกวาด รวบรวมเสื้อผ้าไว้บริจาค
24. เริ่มเขียนไดอารี่หรือบันทึกการเดินทาง
25. ไปพิพิธภัณฑ์
26. ไปวัด
27. ไปเดินเล่นที่ว่างๆ เก็บเมล็ดพืชและใบไม้ มาปลูกหรือทำงานศิลปะ
28. เล่นไพ่ในครอบครัว
29. ชักชวนกันทำกลุ่มออกกำลังกายในชุมชน เช่น เดิน วิ่ง จักรยาน
30. อ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง
31. เอารูปของครอบครัวมาวิจัยประวัติของครอบครัว
32. ทำงานประดิษฐ์เป็นของขวัญให้เพื่อน
33. เขียนนิยาย บทความ บทกวี
34. เรียนพูดคำง่ายๆ ในหลายๆ ภาษา เช่น รัก Love อ๊าย ฮัก
35. ให้คุณตาคุณยายเล่าชีวิตวัยเด็กให้ฟังแล้วบันทึกไว้
36. หัดเล่าเรื่องตลก
37. ทำกับข้าวหรือขนมแล้วแบ่งให้เพื่อนบ้านด้วย
38. ดูท้องฟ้าตอนกลางคืนด้วยกล้องส่องทางไกล มีทั้งดาวและดวงจันทร์
แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างในแต่ละวัน
39. ไปร้านหนังสือท้องถิ่น
40. ไปดูหนังกับครอบครัวหรือเพื่อน
41. เดินไปทำงานหรือไปเรียน
42. สอนคอมพิวเตอร์คนข้างบ้าน
43. ไปตกปลา
44. คิดโครงการร่วมกันในครอบครัว
45. จัดปาร์ตี้ฉลองสัปดาห์ปิดทีวี วาดรูป / เขียนจดหมายส่งถึงนายก / หัดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือล้อรถเอง /

ซ่อมเครื่องใช้ในบ้าน / เริ่มออกเดินทางแล้วเขียนบันทึกการเดินทางของตัวเอง

เล่นเกมปริศนาทายคำ / เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง / ร่วมทานอาหารค่ำกับเพื่อนข้างบ้าน /

เรียนภาษาใบ้ / รื้อฟื้นเกมที่เล่นกันในครอบครัว แล้วผลัดกันสอนเล่น เดินป่า / ตื้นเช้าดูพระอาทิตย์ขึ้น / รอดูพระอาทิตย์ตก / เล่นโยคะ / ขี่จักรยาน

ร้องเพลง / จัดห้องใหม่ / ค้นของเก่าแล้วเอามาใช้ใหม่ คิดเกมใหม่ๆเอามาเล่นกับเพื่อนๆครอบครัวและเพื่อนบ้าน /

ทำหุ่นมือจากรองเท้าเก่าๆ แล้วเอามาเล่นโชว์ / หัดทำว่าว เอามาเล่นกัน / เขียนจดหมายถึงญาติๆ / เล่นตั้งเต

แลกหนังสือกันกับเพื่อน / สร้างตัวต่อแบบจำลองหมู่บ้าน / วาดการ์ตูน / เขียนหนังสือของตัวเอง / ชื่นชมและห่วงใยคนรอบข้าง / หัดทำเสื้อมัดย้อม

46. เฮ้อ! เหนื่อยล่ะ มองหากิจกรรมของคุณดูสิคะ

หมายเลขบันทึก: 92709เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ที่บ้านอยู่กันหลายวัน ไม่อยากบังคับใคร ขอร่วมความคิดและโครงการรณรงค์นี้ระดับหนึ่ง คือตัวเองจะไม่เปิดทีวี ถ้าเดินผ่านหน้าจอที่คนอื่นเปิดและดูอยู่ ก็จะแค่เหลือบมอง

มีทางเลือกเยอะดีนะครับ คุณ Kati

ผมเองใช้โอกาสช่วงนี้ประชุม และทำงานในพื้นที่ ...เลยไม่ได้เปิดทีวีเลย

นี่ขอเพิ่มเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เปิดทีวีครับ

 

ซื้อหนังสือดีๆมาหลายเล่ม ถือโอกาสนี้ทยอย ย่อยไปเรื่อยๆครับ

ขอบคุณมากครับ

P
P

 

ไม่ว่าอย่างไร จะปรับตัว จะต่อรอง หรือปรับระดับความร่วมมือในการรณรงค์อย่างไร ก็ถือเป็นกุศลเจตนาครับ ด้วยความสมัครใจ ด้วยความร่วมใจ และร่วมกันตั้งคำถาม ให้กับชีวิต ให้คุณค่ากับชีวิตด้วยการพิจารณา และเรียนรู้กับความเคยชินในชีวิตร่วมกันครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็น

ทำไมต้องปิดด้วย  เลือกดูรายการดีๆก็ได้  

ปิดทีวีไปเล่นดนตรี  อีกหน่อยก็ต้องเลิกเล่นดนตรีไปทำอะไรอีก ?

ทางสายกลางก็คงพอมั๊ง

 

ปิดทีวี สำหรับสัญลักษณ์ในการตั้งคำถามกับความเคยชินของชีวิตครับ เพราะความเคยชิน ก็ไม่ได้อยู่บนความพอดี ในโลกของการบริโภคครับ

เป็นเพียงหนึ่งในสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์  และสร้างการตั้งคำถามในการมีส่วนร่วมของผู้คนครับ อย่างน้อยก็ทำให้วงการสื่อสารมวลชน วงการผู้ผลิตสื่อ และวงการโฆษณาไทยได้เข้าใจว่า อะไรที่มากเกินไป และคาดเดา คาดการณ์ว่าผู้คนเห็นดีเห็นงาม ก็สามารถได้รับการตั้งคำถามได้เช่นเดียวกัน

ในระยะยาว วิธีการเลือกดูเลือกชมรายการดีๆ ก็เป็นคำตอบในระยะยาวเช่นเดียวกันครับ ส่วนจะปิดทีวี เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น ก็เช่นเดียวกันครับ หลากหลาย และสร้างการมีส่วนร่วมครับ

สำหรับปิดทีวี ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ครับ จัดในรอบสัปดาห์ ในรอบปี และในบางวันของปีเท่านั้น ครับ อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์ในแวดวงสื่อสารปัจจุบันครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นข้อเสนอ และคำแนะนำครับ

ขอบคุณมากครับ 

เพิ่มเติมครับ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การตั้งคำถามกับความเคยชินของชีวิต ภายในสังคมสื่อบริโภคนิยม หรือกระทั่งในกรอบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในรูปของประชาสังคม ไม่ว่าจะร่วมมือ ตั้งคำถาม และสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์เช่นไรนั้น

ล้วนมีมิติของการเมืองภาคประชาชนที่สมบูรณ์  สร้างการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย สร้างคำถามและคำตอบร่วมกันของภาคประชาสังคม

อย่างน้อยก็ลดขั้นตอนของการเมืองภาคตัวแทนลงได้ ลดกลไกในการอ้างอิงผู้บริโภค โดยให้ภาคสื่อ และธุรกิจสมัยใหม่ ได้เข้าใจมิติของสื่อ และมิติของผู้บริโภค ที่เป็นเรื่องเดียวกันของสังคม และการตั้งคำถามของสังคมที่น่าอยู่ในสมัยใหม่เช่นเดียวกันครับ

ปั่นจักรยาน ลดการใช้พลังงาน ออกกำลังกาย ตั้งคำถามกับอาหารการกิน เดินเพื่อลดการใช้ไฟ รณรงค์ปลูกต้นไม้ ปกป้องสิทธิผู้บริโภค หรืออีกหลากหลายกิจกรรมครับ ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมที่แท้จริงครับ สัญลักษณ์และการสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมของคนเมืองสมัยใหม่ น่าจะหลากหลายและงอกงาม เหมือนดอกไม้ในสวนเดียวกัน ที่เบ่งบานหลากสีสันครับ ต่างสีต่างสัน ต่างล้วนมีคุณค่าในความเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานเช่นเดียวกันครับ

วิธีการที่หลากหลายครับ ร่วมกันสื่อสาร ร่วมแลกเปลี่ยน และสร้างมีส่วนร่วมที่ง่ายดาย และหลากหลายที่สุดครับ

ขอบคุณมากครับ

ถามนิดเดียว กรุณาอธิบายซะยาวจนเข้าใจเลย  ขอบพระคุณมากครับ

ขอบคุณครับ

ขอโทษด้วยครับ ที่ต้องนำเสนอและอธิบายยาวครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ ที่เข้ามาแนะนำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท