วิถีแห่งชาวนา...ตอนที่ 2...พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม...


สมการ “ปลดหนี้สิน” ของชาวนา... คงต้องถอดรหัสกันอีกนาน การวิเคราะห์โดยใช้ความรู้ทางสถิติเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถถอดรหัสได้ เพราะนอกจากจะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมายหลายตัวแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวแปรในสมการยังโยงใยและซับซ้อน

 

ภาวะหนี้สินและความทุกข์ยากของชาวนา

เป็นกระบวนการที่มีการก่อเกิดและพัฒนาการมายาวนาน...

หนี้สินหมายถึงการที่รายจ่ายมากกว่ารายได้

รายได้มีที่มาจากผลผลิตและราคาที่ได้จากการขายผลผลิตหักด้วยต้นทุนในการผลิต

ความเป็นจริงที่ทุกคนรู้ก็คือ ผลผลิตทางการเกษตรและราคาผลผลิตมักจะแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ผลผลิตทางการเกษตรขึ้นอยู่กับสภาวะทางธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ น้ำ ลม ฝน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แม้เราจะมีพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน แต่ก็ไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด  ส่วนราคาผลผลิตที่ขายได้ขึ้นอยู่กับกลไกทางการตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ยากเช่นกัน โดยเฉพาะหากเป็นการกำหนดราคาจากภายนอก เช่น ตลาดโลก ที่นับวันจะมีกติกาและการแข่งขันที่ซับซ้อนขึ้นทุกขณะ 

 

ในขณะที่ ราคาข้าว ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สวนทางกันก็คือ ต้นทุนการทำนา ที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นและสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ค่าจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน ค่าสูบน้ำ ค่าเก็บเกี่ยว ฯลฯ

 ชาวนาในเขตน้ำฝนอาจไม่ต้องลงทุนสูงเหมือนชาวนาในเขตชลประทาน แต่โดยเงื่อนไขที่จำกัดของระบบนิเวศน์ ผลผลิตข้าวในเขตน้ำฝนจึงอยู่ที่ประมาณ ๓๐ -๔๐ ถังต่อไร่ ซึ่งบางพื้นที่อาจได้มากหรือน้อยกว่านี้ ชาวนาที่พนมทวนไม่ไกลจากกำแพงแสนนี้เอง ได้ข้าวเพียง ๑๐ ถังต่อไร่ และหากฝนแล้งก็จะได้น้อยกว่านี้.... 

รายได้ของชาวนาจากการขายข้าวจึงมีแต่จะลดลง...

ส่วนรายจ่ายที่เป็นต้นทุนการทำนา...มีแต่จะเพิ่มขึ้น

 

ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต....แต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี....

ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากับข้าว ค่าเสื้อผ้า ค่ายา ค่าภาษีสังคม ฯลฯ

ที่สำคัญคือเจ้า โจรเสื้อขาว  ที่ปล้นทีนึง... หมดนาไปแปลงนึง

ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกต้องมา ลำบาก เหมือนตัวเอง

ปรากฏการณ์ ขายนาให้ลูกเรียน จึงเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย 

สมการ เกิดหนี้สินของชาวนานี้.... คิดง่ายมาก

 แต่สมการ ปลดหนี้สิน ของชาวนา... คงต้องถอดรหัสกันอีกนาน  การวิเคราะห์โดยใช้ความรู้ทางสถิติเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถถอดรหัสได้ เพราะนอกจากจะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมายหลายตัวแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวแปรในสมการยังโยงใยและซับซ้อน ผู้ถอดรหัสจำเป็นต้องมีวิธีคิดและวิเคราะห์ เชิงระบบ ที่ครอบคลุมทั้งมิตินิเวศน์เกษตร นิเวศน์วัฒนธรรม ภูมิสังคม ภูมิเศรษฐศาสตร์ การเมืองและการปกครอง  ต้องศึกษาในลักษณะของการวิเคราะห์เชิงโครงสร้างที่มีมุมมองทางประวัติศาสตร์และการศึกษาเปรียบเทียบ เนื่องเพราะเรื่องราวของชาวนาและสังคมไทยไม่ใช่เป็นเพียงภาพที่อยู่นิ่ง แต่เป็น พลวัตร คือปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา 

ในชั่วโมงว่าด้วยสถานการณ์ภาคการเกษตร ชุมชนและโครงสร้างการเกษตรไทย ที่บรรยายให้แก่นักศึกษาม.เกษตรกำแพงแสนทุกภาคเรียนนั้น (เป็นรายวิชาบังคับของนิสิตคณะเกษตรทุกคน และบางเทอมก็มีนิสิตคณะอื่นลงเรียนด้วย)  จะให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ ที่มาที่ไปของการพัฒนาการเกษตรผ่านการวิเคราะห์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นับแต่แผนฉบับที่ ๑ จนถึงปัจจุบันคือแผน ๑๐.... บทเพลง ผู้ใหญ่ลีที่ให้ลูกศิษย์ช่วยกันร้องในห้องเรียนโดยไม่มีโพย (ต้องขออภัยห้องเรียนอื่นที่อาจถูกรบกวนจากเสียงที่ประสานกันของนิสิตเกือบ ๒๐๐ กว่าคน) จึงเป็นการให้นิสิตได้รับรู้และเข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนชนบทของสังคมไทยที่สะท้อนผ่านเนื้อหาของเพลง.... 

พ.ศ. ๒๕๐๔ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม

ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี

ต่อไปนี้ ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา

ทางการเขา สั่ง มาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร

ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร

ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด

ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด...

สุกรนั้นไซร้...คือหมาหน้อยธรรมดา...หมาหน้อย...หมาหน้อยธรรมดา...

 

หลังจากร้องเพลงกันจบแล้ว จะตั้งคำถามว่า นิสิตได้เรียนรู้อะไรจากเพลงผู้ใหญ่ลีบ้าง?

ลูกศิษย์หลายคนคงคิดว่าเรื่องราวของผู้ใหญ่ลีเป็นเนื้อเพลงที่แต่งขึ้นไว้ร้องกันเล่น ๆ เพื่อความบันเทิง

แต่เรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิทานก็คือ ชาวบ้านของหมู่บ้านนั้น (และคงอีกหลาย ๆ หมู่บ้าน) ในยุคเริ่มต้นของการใช้แผนพัฒนาประเทศ ได้พากันเลี้ยง หมาหน้อย ตามที่ผู้ใหญ่บ้านบอกกล่าว...

 

หากโยงเรื่องราวของผู้ใหญ่ลี....ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๕๐ ปีก่อน เข้ากับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่... ณ วันนี้

เราก็ยังคงมี ทางการ ที่ไม่เข้าใจความเป็นจริงของวิถีชุมชน และยังคงทำงานแบบใช้ คำสั่ง

เรายังคงมี ผู้นำชุมชนที่ถูก เกณฑ์ ให้ไปรับฟังเรื่องของแผนพัฒนาประเทศ และกลับมา บอกต่อ ให้คนอื่น ๆ รับรู้

เรายังคงมีคนอย่าง ตาสี ที่ฟังแล้วฟังอีกก็ยังไม่เข้าใจ

และเราก็ยังมีคนอย่าง ผู้ใหญ่ลี ที่แม้ได้ยินกับหูแต่ก็ ไม่รู้จริง

คำถามคือ...เราจะจัดการกับคนที่ ไม่รู้แล้วชอบชี้ ได้อย่างไร

 

การจัดการกับ ความไม่รู้ (Knowless Management)” จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะกับความไม่รู้ของ ตัวเราเอง

ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่า เราไม่รู้ ….

คงต้องมีใครบางคนรักและเมตตา ช่วยทำหน้าที่เป็น กัลยาณมิตร ให้กับชีวิตกระมัง
หมายเลขบันทึก: 92666เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • เป็นเพราะรบบการศึกษาของไทยหรือเปล่า  ที่ไม่สอนให้คนชอบคิด วิเคราะห์  ให้เชื่อ และจำ  ตามกันมา เน้นท่องจำมากกว่าให้คิดเป็น น่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนใหม่  ให้แก้ปัญหาเยอะ ๆ  กับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง  รอบตัว น่าจะดี
  • บทความนี้ดี แล้วจะแวะเข้ามาอ่านอีกนะคะ

                ชอบบทความนี้มากครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อความ การจัดการกับ ความไม่รู้ (Knowless Management)” จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะกับความไม่รู้ของ ตัวเราเอง ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่า เราไม่รู้ ….คงต้องมีใครบางคนรักและเมตตา ช่วยทำหน้าที่เป็น กัลยาณมิตร ให้กับชีวิตกระมัง

  • เป็นเรื่องที่น่าสงสารชาวนาครับ
  • แถวๆๆสุพรรณฯ กาญจน์ฯ บอกว่าขายวัวส่ง
  • ....เรียนด้วยครับ
  • ชอบที่อาจารย์เขียนมากเลยครับผม
  • วันที่ 19-20 พค. ไปอบรมให้สพท.สุพรรณบุรีเขต 2  กับอาจารย์ Handy
  • ถ้าวันที่ 21 พค จะไปช่วยอาจารย์แต่งบันทึกตอนเช้า เวลา 9.00-12.00 น.ไม่ทราบว่าอาจารย์จะว่างไหมครับ
  • อยากพบอาจารย์แบบตัวเป็นๆๆก่อนไปต่างประเทศครับผม
  • ขอบคุณครับ

โดนใจมากเลยค่ะ ดีใจกับประเทศไทยที่มีอาจารย์อย่างดร.ทิพวัลย์ แม้จบการศึกษาจากต่างประเทศก็ไม่ได้บูชาฝรั่ง ไม่ได้ถูกแปลงโฉมโดยทุนนิยม กลับมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งละเอียดต่อการมองปัญหาของชาวนาและเกษตรกร

ที่จริงกำแพงแสนกับอยุธยาก็ไม่ได้ไกลกันนักหนาคงจะได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์แบบเห็นหน้ากัน อยากเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งทานข้าวสบายๆในชนบทริมน้ำป่าสักเมื่อไร ขอเชิญนะคะ หากตัวเองมีโอกาสไปทางกำแพงแสนจะหาโอกาสแวะเยี่ยมเยียนอาจารย์เช่นกัน

P  เห็นด้วยค่ะคุณกอบัว ว่าที่ผ่านมาการศึกษามักเน้นการท่องจำมากกว่าให้คิดเป็น ...ลูกศิษย์เคยมารำพึงให้ฟังเหมือนกันว่า ไม่อยากเรียนแบบท่องจำ แต่ทำอย่างไรได้ล่ะคะ เพราะระบบการเรียนการสอนบ้านเราเป็นเช่นนี้มานานค่ะ
มีโอกาสจะขอส่งลูกศิษย์ไปฝึกงานกับคุณกอบัวได้ไหมคะ ช่วยสร้างการเรียนรู้กันหลาย ๆ รูปแบบนะคะ
P   นั่นซิคะ ทำอย่างไรเราจะรู้ว่าเราไม่รู้...
          อาจารย์จำนงเป็นคนดี ต้องมีกัลยาณมิตรในชีวิตที่จะช่วยชี้แนะแน่นอนค่ะ
P   มีเวลาช่วยเขียนเล่าเรื่องชาวนาให้อ่านบ้างซิคะ
         บางบ้านบอกว่า...ขายนาส่งควายเรียน แล้วก็ได้ควายอ้วนกลับมาตัวนึง ทำอะไรไม่เป็น กินกับนอนอย่างเดียว  ฟังแล้วก็สะท้อนใจค่ะ
          ไว้นัดหมายกันอีกทีนะคะ
P   ลงพื้นที่มาก ๆ ทำให้ได้เรียนรู้และได้ความรู้ที่ไม่มีอยู่ในตำราค่ะ ...ที่เข้าใจก็เพราะชอบลงพื้นที่นี่แหละค่ะ

กระผมเคยคำนวนต้นทุนการผลิตข้าวกับรายได้จากการขายข้าวเปลือกพบว่าเกือบจะขาดทุน  แต่ถ้ามองกันจริงๆ คือขาดทุนครับ  เพราะชาวนายังไม่ได้คิดค่าแรงงาน และต้นทุนที่ดิน หรือต้นทุนอื่นๆ ที่นักธุรกิจผู้มีความรู้เขาคิดกัน แล้วเมื่อไหร่ชาวนาจะไม่ขาดทุน คิดอย่างง่ายแบบเด็กก็หนีไม่พ้นเพิ่มราคาข้าวสิครับ เห็นทีสินค้าอื่นเขาก็ขึ้นราคาได้ทั้งที่กำไรมหาศาลเช่นน้ำมัน หรือน้ำดืม หรือสินค้าอื่นๆ ยังกำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตบวกต้นทุนอื่นๆ  ทำไมระบบการค้าจึงไปกดราคาแต่เกษตรกร เขาไม่ได้โง่แต่ตกอยู่ในภาวะจำยอม ยอมเพื่อให้คนได้มีข้าวกิน เติบโต ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญ   และเพื่อจะได้ช่วยเหลือเขา เป็นความเมตตาให้พวกเราได้ของดีมีคุณค่าราคาถูก แต่ใครบ้างที่จะเมตตาเขา ขอให้ผลบุญจงบังกิดแด่ผู้มีความเมตตาทุกท่านทุกภพเทอญ

สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ การสร้าง "การเรียนรู้" ให้กับพี่น้องชาวนาค่ะ ที่มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรีมี "โรงเรียนชาวนา" ที่สอนให้เข้าใจระบบการผลิตทุกขั้นตอนค่ะ

และกำลังพยายามเชื่อมร้อยให้เกิด "เครือข่ายคุณค่า" ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มาพบเจอกัน และมีความสัมพันธ์ที่ "เกื้อกูล" กันค่ะ

จะหาเวลาเขียนเรื่องราวของโรงเรียนชาวนาลง blog ในโอกาสต่อไปค่ะ

สวัสดีคะอาจารย์ทิพวัลย์      หนูเป็นเด็กธรรมศาสตร์ ศูยน์ลำปางคะ  

หนูได้อ่านงานที่อาจารย์เขียน  และที่อาจารย์สอนที่ลำปางวันนั้น  ได้ความรู้มากคะ  และทำให้เข้าชุมชนขึ้น  และวิธีคิดที่แตกต่าง    อาจารย์สอนสนุกมากเลยคะ  ได้เรียนกับอาจารย์แล้วรู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ที่เก่ง  วันพรุ่งนี้หนูจะสอบวิชาอาจารย์  หนูจะพยายามนำความรู้ที่อาจารย์ให้  มาตอบในข้อสอบคะ

สวัสดีค่ะเด็กดี

ครูก็ดีใจมากค่ะที่ได้มีโอกาสสอนเด็กดีและน่ารักอย่างหนูค่ะ

ขอให้ทำข้อสอบวันพรุ่งนี้อย่างมีความสุขนะคะ

แล้วเจอกันใหม่ช่วงปลายเดือนนี้ที่ลำปางค่ะ (วิชาอ.อ้อมที่ครูจะไปช่วยสอนยังเหลืออีก 1 วันค่ะ ) อย่าลืมตั้งคำถามไว้ให้ครูตอบหลาย ๆ คำถามนะคะ

บุญรักษาค่ะ

เป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจมาเลยคะ  ชีวิตเกษตรกรไทย

  มีเรื่องดีๆสู่สังคมอีกแล้วนะคะ  ท่านอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท