น้ำหนักตัว กับแผลกดทับ


" น้ำหนักตัว " จะมีผล หรือส่งผล หรือสัมพันธ์กับ " แผลกดทับ " โดยตรง
เริ่มจากข้อมูลเรื่องน้ำหนักก่อนครับ ผมสูง 175 เซนติเมตร หนักเพียง 54 กิโลกรัม จัดว่าเป็นคนผอม ผมควรจะหนักประมาณ 65 กิโลกรัม (จากสูตร ความสูง-110 = 175-110 = 65 กิโลกรัม)

หลังได้รับการผ่าตัด ผมเจ็บคอมาก จึงทานได้อาหารได้น้อย (รับน้ำเกลือเป็นหลัก) จนน้ำหนักเหลือเพียง 44 กิโลกรัมเมื่อมาถึงพญาไท 1 สงสัยจะรวมความเครียดเข้าไปด้วยทั้งแผลกดทับ และเรื่องติดเชื้อ

ผมทานอาหารได้มากขึ้นเมื่อมาที่พญาไท 1 เพิ่มมาอยู่ที่ 50 กิโลกรัมจนออกจากโรงพยาบาล ปัจจุบันผมมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ผ่านมา 5 ปี 5 เดือนพอดี

มุมมองของผมเกี่ยวกับ " น้ำหนักตัว " จะมีผล หรือส่งผล หรือสัมพันธ์กับ " แผลกดทับ " โดยตรง ผมจะลำดับความคิด และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักดังนี้ครับ

1. ตอนที่ผมมีน้ำหนักน้อย คือ 44 กิโลกรัม ทำให้ผมผอมและเกิดปุ่มกระดูก หมายถึงจับตรงไหนก็เจอแต่กระดูก โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกกดทับ ถ้าเรานอนมากๆ โอกาสที่จะเกิดแผลกดทับบริเวณที่มีเนื้อบางแล้วถึงกระดูกเลย ก็จะมีสูงกว่า ถ้ามีความหนาของเนื้อมาก ก็จะดีกว่า

2. เมื่อผมมาถึงพญาไท 1 ทีมพยาบาลแนะนำทันทีเรื่องเตียงลม ถ้าใช้เตียงลมก็จะลดโอกาส การเป็นแผลกดทับได้มาก ข้อนี้ผมยืนยันได้ 1,000% เพราะปัจจุบันนี้ ผมกับเตียงลมเป็นเพื่อนซี้กันมาก แยกจากกันไม่ได้ ถ้าไม่มีเตียงลมผมคงแย่

ดังนั้นเตียงลมจะทำให้การนอนนานๆ ของเราเกิดการเฉลี่ยจุดรับน้ำหนักของตัวเราเองได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะมันจะทำงาน 4 step คือ

step 1. เนื่องจากเตียงลมจะมีลักษณะเป็นลูกฟูกตามแนวขวางของร่างกายประมาณ 25-30 ลูก เรียงตามลำดับเลขคู่ เลขคี่ คือหมายถึงสลับกันเป็น 2 ชุด แต่ละชุดถูกเชื่อมด้วยท่อลม จึงมี 2 ท่อ และท่อลมต่อเข้ากับปั๊มลม ซึ่งมีส่วนควบคุมการทำงานอยู่ โดย step แรกจะปั๊มลมเข้าท่อลมชุดแรก ทำให้ลูกฟูกพลาสติกโป่งขึ้น ส่วนอีกชุดของลูกฟูกก็จะแฟบ

step 2. เมื่อผ่านไป 5 นาที ปั๊มลมจะทำงานให้ชุดลูกฟูกอีกชุดโป่งขึ้น ในขณะที่จะระบายลมออกจากลูกฟูกชุดเดิม ทำให้เกิดการทำงานสลับกัน อย่างนี้แล้วก็ทำให้เป็นการสลับตำแหน่งจุดรับน้ำหนักของร่างกาย

step 3. เมื่อผ่านไปอีก 5 นาที ปั๊มลมก็จะทำงานปล่อยลมเข้าท่อลมอีกชุดที่แฟบ ในขณะที่ไม่ระบายลมออกจากท่อลมชุดลูกฟูกที่ยังโป่ง หรือเต่งอยู่ ทำให้ลูกฟูกเต่งทุกลูก ก็ถือว่าเป็นการเฉลี่ยน้ำหนักบนจุดรับน้ำหนักเข้าไปอีก

step 4. เมื่อผ่านไปอีก 5 นาที เครื่องจะระบายลมออกจากท่อลมทั้ง 2 ท่อ ลูกฟูกจึงแฟบทั้งหมด เป็นเช่นนี้สลับกันไปตลอด

พอพูดถึงเตียงลม ขอกล่าวถึงความรู้สึกดีๆ ที่พญาไท 1 ควบคู่กับข้อแนะนำนะครับ คือว่า ค่าบริการเตียงลมต่อวัน ณ ขณะนั้นผมจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่อยู่ในเกณฑ์ 300-400 บาท/วัน แน่นอน ดังนั้นถ้าต้องใช้ทุกวัน 1 เดือนก็ต้องเสียค่าบริการ 9,000-12,000 บาทแน่ๆ ผมแนะนำให้ซื้อใหม่เลย เพราะอย่างไรก็ต้องนำไปใช้ต่อที่บ้านอยู่ดี และทางโรงพยาบาลก็ยินยอมให้ทางเราซื้อมาใช้ โดยไมต้องเช่ากับทางโรงพยาบาล ผมถือว่าตรงนี้โรงพยาบาลไม่เอาเปรียบผู้ป่วยที่ก็มีความทุกข์อยู่แล้ว คือเห็นใจกัน

3. เมื่อน้ำหนักค่อยๆ เพิ่มขึ้น ผมก็มีความคิดว่าจะไม่ให้น้ำหนักเพิ่มมากไปกว่านี้เนื่องจากผมกังวลใจว่าผมจะใช้ข้อมือยันตัวไม่ลอยลจากพื้น คือหมายถึงไม่ให้หนักไปกว่านี้ เพราะอาจทำให้กดติดเตียงและมีโอกาสเกิดแผลกดทับ และถ้าหนักมากผมก็จะเคลื่อนตัวลำบาก

4. แต่สุดท้ายเมื่อผมมีน้ำหนักถึง 60 กิโลกรัม ผมก็ปรับความคิดนิดหน่อย เพราะว่าตอนที่ผมมีน้ำหนักไม่ถึง 60 kgs. ถ้าผมนั่งนานก้นจะแดง แต่เมื่อถึง 60 kgs. ก้นกลับไม่แดง ขนาดนั่งทั้งวันก็ไม่เป็นอะไร

ดังนั้นแล้ว ผมอยากให้ผู้อ่านที่เป็นแบบผม ลองหาน้ำหนักที่เหมาะสมให้กับตัวเอง คือไม่ผอมเกินไปจนเกิดปุ่มกระดูก ไม่อ้วนเกินไปจนเป็นภาระในการขยับตัว ยกตัว หรือจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตัวไปนอกสถานที่ เพราะเราต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนที่มาดูแลเราด้วย

เพราะคุณรู้ไหม นางพยาบาลและผู้ช่วยแทบทุกคนมีปัญหาเกี่ยวร่างกายทั้งนั้น จากผลกระทบเรื่องน้ำหนักของผู้ป่วยแล้วจำเป็นต้องช่วยกันเคลื่อนย้าย หลังยอกกันบ่อยๆ เป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนกันก็เยอะ สงสารพวกเขา รวมถึงพี่เลี้ยง หรือคนที่จะมาดูแลคุณที่บ้านด้วย

เรื่องเกี่ยวกับน้ำหนักตัวคงจะพอแค่นี้ ถ้ามีตอนไหนที่เกี่ยวข้องก็จะรีบแทรกเนื้อหาทันที เพราะว่าตอนนี้เท่ากับผมให้ข้อมูลจนถึงปัจจุบันไปแล้ว

งั้นผมของเพิ่มเติมข้อมูลของคุณหมอ consult อีก 2 ท่านครับ คือ

พอวันที่ 2 คุณหมอ อนันตศักดิ์ ก็เข้ามาเยี่ยม ดูสีหน้าหนักใจ เนื่องจากผมติดเชื้อในเกณฑ์ขั้นรุนแรง ทั้งที่แผลกดทับที่ก็มีขนาดถึง 7 เซนติเมตรได้ กินลึกถึงกระดูก เห็นเส้นเอ็นด้วย ส่วนกระเพาะปัสสาวะก็ทราบผลจากการเพาะเชื้อ ว่ามีหลายตัว เบ็ดเสร็จ 4 เชื้อ

อาการไข้ของผมสูงถึง 39-39.5 องศาเซลเซียสตลอด ร้อนๆ หนาวๆ ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุด ที่ รพ. ที่ 2 ใช้ยาแรงที่สุดมาแล้ว คุณหมอถึงกับนั่งยองๆ ข้างเตียง แล้วบอกว่า " ต้องลองดูสักตั้ง "

ต่อมาคุณหมอธีรศักดิ์ก็เข้ามาเยี่ยมเช่นกัน พุดคุยกัน ดูคุณหมอจะยังลังเลใจถึงผลการสรุปว่า ผมเป็นผู้ทุพพลภาพ จะมีเหตุผลอย่างไร คงต้องติดตามต่อในตอนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงอีกสัก 2-3 ตอนครับ

คุณหมอ อยากให้ผมทำกายภาพบำบัดที่นี่ ซึ่งผมก็ปฏิบัติตาม แต่เนิ่องจากผมให้ความสำคัญเรื่องแผลกดทับมากกว่า จึงของดทำกายภาพบำบัดที่นี่ คุณหมอก็อนุญาติ ตรงนี้ต้องขอบพระคุณ คุณหมอที่เข้าใจผม และไม่แสดงท่าทีใดๆ เลย ทำให้ผมรู้สึกดี และสบายใจมาก

และที่นี่ มีเรื่องที่ผมรู้สึกดีๆ อีกมากมายครับ

ตอนนี้ผมขอจบแค่นี้ก่อน ตอนหน้าผมขอพูดถึงนางพยาบาลและผู้ช่วยฯ ที่น่าชื่นชมของที่นี่ครับ


ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 089-6910225
Tel. & Fax.: 02-9232724
email : [email protected]
คำสำคัญ (Tags): #ผู้ทุพพลภาพ
หมายเลขบันทึก: 91544เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2007 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกนี้เป็นเครื่องยืนยันให้คุณ นิดา จากบันทึกก่อนๆได้ว่า คุณปรีดาเป็นคนที่คิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเลยค่ะ น่านับถือและชื่นชมมากๆที่คนในสภาพคุณปรีดา ไม่มองอะไรแต่ในด้านของตัวเอง เป็นห่วงเป็นใยคนปกติอื่นๆได้มากกว่า พวกเรากันเองเสียอีก

คงยังมีเรื่องเล่าอีกยาวไกลใช่ไหมคะ จะติดตามรับความรู้ ความคิด แง่คิดดีๆในการมองโลก เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวของคุณปรีดาต่อไป และอยากจะเชื่อว่าจะมีปาฏิหารย์เกิดขึ้นกับ"คนคุณภาพพิเศษ"อย่างคุณปรีดาจังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท