ตราสารทุน กับการสร้างผลตอบแทน


เขียนจากประสบการณ์ที่น้อยนิดครับ

     คราวที่แล้วคงได้เปิดบัญชีกันกับบริษัท broker แล้วนะครับ วันนี้ลองมาดูว่าเราจะซื้อ จะขายกันอย่างไรกันดีกว่าครับ

     การลทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจไม่ได้ใช้เงินมากอย่างที่บางท่านคิดครับ ผมเคยลงทุนน้อยที่สุด 3000 บาทครับ อิอิ แบบว่าขอลองนิดนึง แต่การลงทุนน้อยๆอาจไม่ถูกต้องนักนะครับ เพราะอะไรเหรอครับ เพราะกำไรที่จะได้อาจจะไม่คุ้มค่านายหน้าด้วยซ้ำไป

     การสร้างผลตอบแทนในหุ้นทำได้สองอย่างครับ

  1. อาศัยส่วนต่างของราคา หรือง่ายๆคือซื้อมาถูก ขายไปแพงๆครับ แต่ใครจะทำได้ตลอดเวลาหล่ะครับ เดาใจตลาดนั้นยากกว่าเดาใจภรรยาซะอีก อิอิ

  2. ไม่ชอบเดา ต้องรอรับเงินปันผลครับ แต่ก็ใช่ว่าทุกบริษัทจะจ่ายเงินปันผลนะครับ

   แล้วเราจะเลือกเอาผลตอบแทนจากหุ้นแบบไหนดีหล่ะ คำตอบเหรอครับ ก็แล้วแต่ความพอใจ ความสามารถในการรับความเสี่ยง และจุดประสงค์ในการลงทุนของเรา ดังนั้นตรวจสอบตัวเองและความต้องการของเราให้ดีก่อนครับ

   ผมใช้วิธีกระจายความเสี่ยงที่คิดเอาเอง (อาจจะไม่ถูกตามแบบที่คนรวยจากหุ้นเค้าทำกัน เราเลยไม่รวยซักที) คือ เลือกซื้อหุ้นที่จ่ายทั้งเงินปันผลและมีการขยับของราคาขึ้นลงบ้าง แต่ไม่หวือหวา

    หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงๆ มักมีธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัว ไม่มีการขยายหรือลงทุนเพิ่มเติม จึงนำกำไรมาจ่ายปันผลได้มาก แต่ก็อาจไม่เสมอไปครับ  ส่วนหุ้นที่ไม่ปันผลมักมีการลงทุนในธุรกิจที่ทำอยู่ จึงต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน จึงยากที่จะจ่ายเงินปันผลได้

    ผมเลือกที่จ่ายเงินปันผลไม่สูงนัก แต่มีการขยับของราคาบ้าง เพื่อในกรณีที่ราคาขยับขึ้นไปถึงจุดที่พอใจ ก็ขายทำกำไรครับ แต่ช่วงไหนตลาดแย่ๆ ผมก็ถือรอรับปันผลไป สบายใจทั้งสองทางครับ แต่ข้อเสียคืออาจจะต้องถือหุ้นนั้นยาวมากจนเสียโอกาสในการลงทุนอย่างอื่นได้ครับ เอาเป็นว่าผมเลือกที่จ่ายปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็แล้วกันครับ

     ต้นทุนของหุ้นคิดจาก ราคาซื้อ + ค่านายหน้าซื้อ + ค่านายหน้าขาย แล้วนำมาคิดเป็นต้นทุน เราอยากได้กำไรกี่เปอร์เซนก็บวกเข้าไป เมื่อไหร่ราคาขึ้นถึงจุดที่เราต้องการ ขายออกไปเลยครับ อย่าไปโลภเชียวเพราะผมก็โลภมาหลายครั้ง เลยต้องหน้าเหี่ยวอยู่ทุกวันนี้ อิอิ

   การรอรับปันผลก็เช่นกัน เงินปันผลที่ได้ต้องถูกหักภาษีด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดเอาไว้ก่อนว่าจริงๆจะได้รับเงินเท่าไหร่ แต่มีบางบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยหน่วยงานพิเศษ ซึ่งอาจมีสิทธิไม่ต้องเสียภาษีสำหรับเงินปันผลที่เราจะได้รับ หุ้นแบบนี้ต้องหากันเอาเองครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าตัวไหน

   คราวนี้พอเลือกหุ้นที่ต้องการได้ เช่น ต้องการเงินปันผลไม่มาก แต่มีการขยับของราคาบ้าง ช่วงนี้หุ้นธนาคารน่าจะพอไปไหว ก็เลือกเลยครับว่าเอาของบริษัทไหนดี ถามจากนายหน้าที่เปิดบัญชีไว้ หรือศึกษาด้วยตังเองด้วยก็จะดีมากครับ ดูการจ่ายเงินปันผลโดยดูจากข้อมูลการจ่ายในปีผ่านๆมา เพราะมักจะจ่ายไม่ต่างกันมากหากพื้นฐานธุรกิจบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนการจ่ายปันผลมีหลายแบบครับ ทั้งรายไตรมาศ เช่น บริษัทไก่ย่างหมุนๆ  บ้างก็จ่ายทุก 6 เดือน หรือจ่ายทุก 1 ปี เลือกเอาตามต้องการครับ

   การซื้อขายหุ้นต้องซื้อขายอย่างต่ำครั้งละ 100 หุ้นขึ้นไปครับ เพราะฉะนั้นถ้าหุ้นนั้นราคา 1 บาท ก็ลงทุนขั้นต่ำ 207 บาทครับ (บางคนชักงง ว่าผมคิดเลขผิดหรือเปล่า) เพราะต้องบวกค่านายหน้า 100 บาท VAT อีก 7 บาทครับ เพราะราคาไม่เกิน 40,000 บาท คิดขั้นต่ำ 100 บาท สรุปว่าถ้าซื้อหุ้นนี้แล้ว 100 หุ้น ต้องรอราคาขึ้นไป 2 เท่าตัวยังขายไม่ได้กำไรเลย เพราะเวลาขายต้องเสียอีก 107 บาท (เวรกำจริงๆๆ) สรุปว่าหุ้นตัวที่ซื้อต้นทุนจริงๆ 314 บาทต่างหากครับ

    คงจะเห็นภาพแล้วนะครับว่าทำไมบางทีต้องซื้อหุ้นทีละมากๆ เพราะไม่คุ้มค่านายหน้านี่เองครับ

   คราวหน้าจะได้พูดถึงการเลือกซื้อหุ้นตามตำรานักลงทุนเงินน้อย ซึ่งใครเอาอย่างอาจจะมีเงินน้อยลงได้ครับ อิอิ โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 91055เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2007 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ 

ขอบคุณครับ

อืม...รู้เพิ่มขึ้นครับ...

  • ตามมาหาความรู้ครับ
  • แต่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องหุ้นเลยครับผม
  • ขอบคุณครับ

 ขอบคุณคุณหมอสุพัฒน์ที่เข้ามาทักทายครับ

   หมอที่โรงพยาบาลผมนี่นังลงทุนตัวยงเลยนะครับ ผมว่าอาจารย์(ขอเรียกแบบที่เคยชิน หวังว่าคุณหมอคงไม่ถือ) ก็คงเช่นกัน ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยเหลือชาวบ้าน เราทุกคนทราบดีว่าหมอที่ทำงานกับชาวบ้านนั้นเหนื่อยและหนักแค่ไหนครับ

   ขอบคุณและเป็นกำลังใจให้นะครับ

   เรียนอ.ขจิต

  ถ้าอาจารย์ไม่ชอบเสี่ยง ลงทุนแบบอื่นก็ดีนะครับ มีเยอะเลยทีเดียว เอาไว้มีโอกาสจะมาเพิ่มเติมให้ทีหลัง ตอนนี้ฝากกินดอกไปก่อนครับ อิอิ

  ขอบคุณที่แวะมาเสมอครับ

สวัสดีครับคุณ
P

นักลงทุนเงินน้อย

  • ติดใจตรงเรื่องค่านายหน้าน่ะครับ
  • สมมติว่าซื้อตัวที่มันเสี่ยงสูง ซื้อเพื่อลองของ แบบนี้ อย่าไปคิดเล็กคิดน้อยเรื่องค่านายหน้าดีกว่าครับ เพราะถ้าเสีย จะเสียมากกว่าค่านายหน้าหลายสิบเท่า
  • จะกลายเป็นเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายไป

เรียนอาจารย์ วิบูลย์

   พอดีผมเล่นเงินไม่มากครับ กำไรก็น้อย เลยต้องคิดเรื่องค่านายหน้าด้วยครับ แต่ถ้าซื้อ big lot ก็ไม่ต้องคิดเรื่องค่านายหน้าจริงๆครับ

  ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะนะครับอาจารย์ แบบว่า 100-200 ของผมทานข้าวได้หลายวันครับ อิอิ เสียดายง่ะ

สวัสดีครับ

  • ผมนึกถึงคำว่า "กับดักทางจิตวิทยา" ครับ
  • อันตรายกว่าค่าธรรมเนียมนะครับ... 
  • คือ "กับดักทางจิตวิทยา" ที่เราสร้างขึ้นมาเอง จะ "แพงกว่า" ค่าธรรมเนียมเสมอ น่ะครับ
  • เพื่อโปรดพิจารณา...

ขอบคุณอาจารย์ที่แนะนำครับ เรื่องกับดักนี่ ผมรู้สึกว่าจะโดนงับเข้าหลายที เลือดโชกกันเลยทีเดียวครับ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่มีประโยชน์ครับ

  ขอบคุณึครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท