ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่ส่งผลต่อการบริหารมหาวิทยาลัย 3


พรบ. การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

          พัฒนาการของกฎหมายมหาชนเรื่องที่ 3 (ย้อนไป เรื่องที่ 1 และ เรื่องที่ 2 ) คือ การปลดเปลื้องการรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิด  ศ.สุรพล   นิติไกรพจน์   เลกเช่อร์ ให้ฟัง ควรแก่การบันทึกไว้ดังต่อไปนี้


          มี พรบ. อีกฉบับที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 คือ พรบ. การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มีหลักเกณฑ์สั้นๆ ข้อเดียว คือ

          ต่อไปนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใด ในส่วนงานใดก็ตาม ปฎิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อรัฐและเกิดความเสียหายขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหลุดพ้นจากการรับผิดทางแพ่ง  ห้ามมิให้ฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นเป็นจำเลย แต่ให้ส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลรับผิดชอบแทน
          

          ความเสียหายดังกล่าว  อาจเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการโดยตรง เช่น ถ้าท่านมีหน้าที่อยู่เวรอยู่ยาม อยู่ๆ มีขโมยแอบมางัดหน้าต่าง ขนอุปกรณ์ของหลวงไปขายหมด หรือเป็นความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอก และบุคคลภายนอกมาฟ้องร้องความเสียหายกับส่วนราชการ เช่น ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนนิสิต  และถอนชื่อนิสิตออกจากทะเบียนเนื่องจากนิสิตกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่ต่อมาพิสูจน์ได้ภายหลังว่านิสิตไม่ได้ผิดจริง เขาก็ไปฟ้องร้องท่านว่าทำให้เขาเสียหายต้องชดใช้เป็นต้น

           เมื่อก่อนนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ของหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้  ใครก็ตามทำชำรุดเสียหาย หรือยืมไป ต้องเอามาคืนเสมอ หรือแม้มีขโมยมาขโมยไปในขณะที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ ท่านก็ต้องรับผิดชอบหามาคืนหลวง แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ท่านจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้

        ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกผู้ที่มาสมัครเป็นอาจารย์ฟ้องว่าไม่รับบรรจุเป็นอาจารย์ เพราะ อกม. พิจารณาว่าเกรดไม่ถึงเกณฑ์  ซึ่งในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยประกาศเกณฑ์ให้ทราบภายหลังการรับสมัคร ดังนั้น กรณีนี้ศาลปกครองตัดสินให้มหาวิทยาลัยแพ้คดี โดยให้ชดใช้ค่าเสียหาย/ค่าเสียโอกาสแก่อาจารย์ผู้นั้น เพียงแต่อธิการบดีไม่ใช่จำเลยที่ 1

         มีข้อยกเว้นของกฎหมายฉบับนี้เหมือนกัน  คือเมื่อท่านจงใจทำให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้นเอง  หรือท่านประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านขับรถหลวงไปพลิกคว่ำ โดยสามัญสำนึกย่อมไม่มีใครอยากรถคว่ำอย่างแน่นอนแม้อาจถือได้ว่าประมาทเหมือนกันแต่ก็คงไม่มีเจตนา  แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่า วันที่รถคว่ำท่านดื่มเหล้า ขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตกอย่างหนักด้วย อย่างนี้ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เข้าข่ายข้อยกเว้น

          เดิมการทำงานให้ราชการ อะไรที่เป็นประโยชน์ หลวงได้รับทั้งหมด แต่ถ้าเสียหายหลวงไม่เกี่ยว ใครเป็นคนทำ คนนั้นรับผิดชอบเอง ซึ่งไม่แฟร์  ทำให้เรื่องบางเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องเสี่ยงกับการถูกฟ้อง ไม่มีใครอยากทำ กฎหมายมหาชน จึงออกมาเพื่อแก้ไขความไม่ยุติธรรมตรงนี้

          ถ้ามีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานมาช่วยกันทำ หรือมันไม่ชัดเจนว่ากรมไหนต้องรับผิดชอบ เพราะมีหลายกรมที่มาเกี่ยวข้อง ก็ให้ฟ้องกระทรวงการคลังเป็นจำเลยแทน

          มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ทั้งข้าราชการและลูกจ้างของมหาวิทยาลัย (หมายรวมทั้งพนักงานมหาวิทยาลัย) รัฐวิสาหกิจ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหมด และล้วนได้รับความคุ้มครองตาม พรบ.นี้  ส่วน มหาวิทยาลัยในกำกับ หรือองค์การมหาชนบางอย่าง เช่น สมศ. แบงค์ชาติ  ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้เช่นกัน เพราะมีพระราชกฤษฎีการองรับ

          แต่ความรับผิดทางอาญาเป็นเรื่องส่วนบุคคล เช่น ถ้าขับรถชนคน คนขับก็ต้องรับผิดทางอาญาด้วย


          ค่อยยังชั่วหน่อยนะคะ  กฎหมายฉบับนี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งที่เป็นผู้บริหารและผู้ที่ไม่ต้องบริหาร ผ่อนคลายความกังวลใจลงได้บ้าง  แต่ก็อย่าประมาทนะคะ  พวกเครื่อง LCD projector หรือโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เนี่ย ชอบหายเป็นประจำเชียว

  

หมายเลขบันทึก: 90656เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2007 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขอบคุณ สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ครับ

แวะเข้ามาลงชื่อเรียนรู้ค่ะอาจารย์

เรื่องความรับผิดทางละเมิดนี้เคยเจออยู่บ่อยเหมือนกันค่ะ อย่างที่อาจารย์ว่าไว้ค่ะ ของหลวงหายได้บ่อยจริงๆ

เช็คชื่อเรียบร้อยแล้วค่ะ

          เป็นเด็กดีทั้งคู่เลยนะคะ คุณครูหาความรู้มาสอนไม่ทันเลย...  *_*

อ่านแล้วสนุกดี ได้ความรู้ด้วยคะ ประมาทไม่ใช่เรื่องของเจตนา แต่ความซวยไม่มีใครอยากให้เกิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท