GotoKnow

บล็อกช่วยจัดการความรู้ได้อย่างไร?

ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์
เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2548 08:30 น. ()
แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2558 12:24 น. ()

บล็อกเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในทุกขั้นตอนกระบวนการของการจัดการความรู้ ดังนี้คือ

1. เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้

การเขียนบล็อคเพื่อบันทึกเล่าเรื่องราว ข่าวสาร ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ในสิ่งที่ผู้เล่าสนใจ เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในสมองลงสู่ตัวหนังสือ การเขียนที่ มีอิสระทางความคิดในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเอง จะช่วยอำนวยให้การดึงเอาความรู้ฝังลึกถูกแสดงออกมาได้โดยไม่ยากนัก ดังแสดงในรูป

และอาจช่วยให้ผู้เล่าที่มีความรู้ด้านหนึ่งๆ อยู่แล้ว แต่อาจไม่เคยตระหนักว่าตัวเองมี ได้รับรู้ถึงความเป็นผู้รู้ของตนเอง หรือผู้เล่าบางท่านอาจตระหนักรู้อยู่ว่าตนเองมี ความรู้นี้อยู่ แต่ความรู้ไม่เคยได้ถูกเรียบเรียงหาเหตุผลสนับสนุนต่อยอดความถูกต้องของความรู้นี้ ได้โยงความสัมพันธ์ของเรื่องเล่าของตนเองและสร้างความน่าเชื่อถือและ ความถูกต้องของความรู้ฝังลึกให้เกิดขึ้นได้

และการเขียนบล็อคอยู่เป็นประจำก็สามารถนำมาสู่การสร้างขุมความรู้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การเก็บรวบรวมและการแก้ไขหรือเพิ่มเติมความรู้ก็ทำได้โดย สะดวกรวดเร็ว ส่วนระบบบล็อคที่เป็นแบบชุมชน เช่น GotoKnow.org จะยิ่งช่วยทำให้ขุมความรู้ถูกร่วมมือกันสร้างขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

2. เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้

ธรรมชาติของบล็อคคือการเผยแพร่เรื่องราวที่ผู้เขียนเขียนไว้บนบล็อคเพื่อแสดงตัวตนของผู้เขียนออกสู่สาธารณชน ซึ่งนั่นหมายถึง บล็อคย่อมมีความสามารถในการ สนับสนุนการเข้าถึงความรู้ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทันทีที่ผู้เขียนมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขความรู้ที่มีอยู่บนบล็อค

บล็อคเกือบทุกที่ จะมีไฟล์ RSS (Really Simple Syndication) อยู่บนไซต์ ในรูปของกราฟฟิกเล็กๆสีส้มเขียนว่า XML หรือ RSS หรือ ATOM หรือ อาจอยู่ในรูปของลิงค์ที่เป็นข้อความที่เขียนว่า "Syndicate this site" ไฟล์ RSS เป็นไฟล์ที่ประกอบด้วยเนื้อหา ย่อๆของบันทึกแต่ละอัน เมื่อใดที่บล็อคมีการปรับปรุงเนื้อหา ไฟล์ RSS ก็จะทำการดึงเอาเนื้อหานั้นๆมาใส่ไว้ในไฟล์ด้วยทันที ช่วยให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่อัพเดตเพื่อ ติดตามอ่านได้ทันท่วงที โดยผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ่านบล็อคโดยตรงจากเว็ปไซต์ทีละไซต์ ผู้อ่านสามารถอัพเดตไฟล์ RSS ผ่านทางซอฟต์แวร์ช่วยอ่านบล็อค เช่น BlogExpress หรือจากเว็ปไซต์ เช่น Bloglines.com ก็ได้ (อ่านประกอบเกี่ยวกับ RSS ได้จากจดหมายข่าว สคส. ฉบับที่ 11 เดือน มีนาคม - เมษายน 2548 เรื่อง "เรื่องเล่าเมื่อเข้า Blog เครื่องมือใหม่ในการจัดการความรู้" โดย ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ เรื่อง "หัดอ่าน Blog ด้วย Bloglines" โดย อาจารย์กรกฎ เชาวะวณิช)

3. เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความรู้

การเขียนบล็อคและอนุญาตให้ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นต่อความรู้ที่ผู้เขียนถ่ายทอดลงไปในบล็อค และผู้เขียนได้เขียนโต้ตอบต่อความคิดเห็นนั้นๆ ไปๆ มาๆ ในลักษณะของการสนทนาเพื่อหาความแตกฉานในตัวความรู้ ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันสกัดความรู้ฝังลึกได้อย่างดี ดังแสดงในรูป

นอกจากนี้ โดยลักษณะของบล็อคแล้ว ผู้เขียนคนหนึ่งๆ อาจลิงค์มายังบันทึกที่อยู่ในบล็อคอื่นๆ และแสดงความคิดเห็นต่อบันทึกนั้นๆ ในบล็อคของตน และบล็อคอื่นๆก็อาจจะลิงค์และแสดงความคิดเห็นต่อกันเป็นทอดๆ ลักษณะการแลกเปลี่ยนความรู้เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นประจำในการแวดวงของคนเขียนบล็อค ดังแสดงในรูป

4. เป็นเครื่องมือในการค้นหาความรู้ ผู้ชำนาญการ และชุมชนปฏิบัติ

การเขียนและอ่านบล็อค เป็นวิธีการค้นหาความรู้ และช่วยให้ค้นพบผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะโดยการเขียนบล็อคที่มักอ้างถึง บล็อคอื่นๆ โดยโยงลิงค์ไปหาบทความหรือบันทึกนั้นๆ อีกทั้งลิงค์ที่ผู้เขียนบรรจุไว้ในบล็อคซึ่งอยู่นอกตัวบทความ หรือ การร่วมเป็นสมาชิกของบล็อคชุมชน อย่างที่มีให้บริการ ใน GoToKnow.org หรือ การอ่านบทความที่มีการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกัน ก็ล้วนเป็นการช่วยให้ค้นพบแหล่งค้นคว้าหาแหล่งความรู้ใหม่ๆ ได้โดยง่าย ดังแสดงในรูป

5. เป็นเครื่องมือในการรวบรวมและแยกแยะประเภทของความรู้ สกัดแก่นความรู้ และสร้างความสัมพันธ์ของความรู้

วิธีการหนึ่งที่ระบบบล็อคโดยทั่วไปนำมาใช้ในการรวบรวมและแยกแยะประเภทของบันทึก คือการให้ผู้เขียนระบุหมวดหมู่หรือคีย์เวิร์ดของบันทึกนั้นๆ ไว้ ซึ่งบันทึกหนึ่งๆ อาจมีความเหมาะสมในการแยกแยะสู่หลายหมวดหมู่ ถือเป็นการสกัดแก่นความรู้จากขุมความรู้โดยตัวผู้เขียนเอง หรืออาจจะดึงเอาคีย์เวิร์ดของชุมชนที่ถูกรวบรวมโดยคุณอำนวย (อาจมากกว่า 1 คน) ของชุมชนนั้นๆ ดังแสดงในรูป

เมื่อผู้อ่านอ่านบล็อคแล้วอยากอ่านเพิ่มเติมในบันทึกที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถเลือกอ่านบันทึกได้ตามหมวดหมู่หลักของบันทึกนั้นๆ และเมื่อบล็อคบรรจุความรู้มากขึ้น และจำนวนบล็อคที่เกี่ยวข้องก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างแผนที่ความรู้ที่บ่งบอกถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ของความรู้ต่างๆ ก็จะเป็นไปได้ด้วยความถูกต้องมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

6. เป็นเครื่องมือในการสร้างลำดับความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของความรู้โดยผู้นำเอาความรู้นั้นไปใช้

สิ่งที่นักปฏิบัติด้านการจัดการความรู้อยากให้เกิดขึ้นภายหลังจากการที่ได้มีการจัดการความรู้ ก็คือ การที่มีผู้อื่นนำเอาความรู้นั้นๆไปใช้ให้เกิดผล และนำผลมาปรับ ปรุงความรู้เดิมให้เกิดความรู้ตัวใหม่ หรือทำให้ความรู้นั้นๆ มีความถูกต้องมีหลักฐานที่วัดได้ทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ระบบบล็อคประกอบกับเทคโนโลยีในการ พัฒนาเว็ปในปัจจุบัน สามารถสร้างระบบ Rating หรือระบบการจัดลำดับความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของความรู้หนึ่งๆ ได้โดยตรงจากผู้อ่านบล็อค ซึ่งอาจจะเป็น ผู้ที่ได้นำเอาความรู้นั้นๆ ไปใช้เองอีกด้วย หรือการแสดงสถิติต่างๆของบล็อค เช่น บันทึกที่ได้รับการแสดงข้อคิดเห็นมากที่สุด หรือ บันทึกที่มีผู้อ่านมากที่สุด ก็สามารถเป็น เครื่องมือพิสูจน์ความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของความรู้ได้ในระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน

7. เป็นเครื่องมือในการแสดงรายละเอียดของแก่นความรู้อย่างเป็นระบบ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า "Imagination is more important than knowledge." การไม่หยุดคิดที่จะวิจัยและพัฒนา เครืองมือเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความสมบูรณ์แบบของระบบการจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปัจจุบัน ระบบบล็อคถือว่าเป็น เครื่องมือที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในการเล่าเรื่องซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในการจัดการความรู้ แต่เพื่อที่จะสกัดความรู้ฝังลึกที่มีความซับซ้อน การใช้เทคนิคการเล่าเรื่องเพียงอย่างเดียว หรือการร่วมช่วยกันเล่าก็ตาม ก็อาจจะยังไม่สามารถสกัดเอาความรู้นั้นออกมาได้หมด เพราะความสับสน และความไม่มีรูปแบบในตัว ของความรู้เอง ดังนั้น เทคโนโลยีที่น่าจะสามารถช่วยจัดการความรู้ประเภทนี้ได้ ก็เช่น Rule-based reasoning หรือ Fuzzy logic เพื่อ ใช้ในการทำเหมืองความรู้ (Knowledge mining) เป็นต้น



ความเห็น

เพชรดา
เขียนเมื่อ

น่าจะทำคู่มือการใช้ Blog Gotoknow แจกสมาชิกท่เข้าสมัคร

เพื่อแก้ปัญหาเวลาเข้า Web ไม่ได้

ขอบคุณ

นายสันติ ดาวเรือง
เขียนเมื่อ

 

 ได้สมัครเป็นสมาชิกของ Gotoknow.org ในวันนี้

ดีใจมาก คงได้มีโอกาสเป็นสมาชิกที่ดีต่อไป

                             ขอบคุณครับ

                               สันติ

บล็อก ไม่ใช่ บล๊อค หรือ บล็อค นะค่ะ

สำหรับันทึกนี้มีผิดอยู่ เดี๋ยวดิฉันจะกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ ดร.จันทวรรณ ทำให้ผมเข้าใจได้เห็นถึงประโยชน์ของบล็อคอย่างมากเลยครับ

ดร.อ้อ สุชานาถ
เขียนเมื่อ
  • สวัสดีค่ะ อ.ดร.จันทวรรณ  
  • ดิฉันกำลังหาข้อมูลเรื่องนี้อยู่พอดีค่ะ เพื่อตอบคำถามกับอีกหลาย ๆ คนที่ถามไถ่กันมา จะนำไปถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับทราบต่อไปค่ะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
ดร.อ้อ สุชานาถ
เขียนเมื่อ
  • ขอเพิ่มเติมนิดนึงค่ะ ที่บอกว่า ดังแสดงในรูปนั้น ยังไม่เห็นรูปเลยนะคะอาจารย์
  • ขอบคุณค่ะ

เข้ามาอ่าน เผื่อจะได้ความรู้เกี่ยวกับเว็บบล็อกบ้าง  ทดลองใช้ครับ

อ.จารุณี
เขียนเมื่อ

มีความรู้เกี่ยวการทำบล๊อกมากเลยคะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย