การบริหารความขัดแย้ง (4)


โลกทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางที่มนุษย์ทุกคนต้องเลือก และต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อความอยู่รอด

เมื่อวานเขียนค้างไว้  ใจยังขัดแย้งกันว่าจบหรือยัง  หมดเรื่องขัดแย้งแล้วใช่ไหม?  เกิดขัดและแย้งขึ้นภายในใจ  คือใจไม่ลงรอยกัน  ยิ่งไปดูความหมายจากพจนานุกรมของเวบสเตอร์ (Websters Dictionary) ยิ่งน่ากลัวเพราะ Conflict มาจากภาษาละติน  แปลว่า  การต่อสู้  การสงคราม  ความพยายามเป็นเจ้าของ  การเผชิญหน้าเพื่อมุ่งร้าย  การกระทำที่ไปด้วยกันไม่ได้ในลักษณะตรงกันข้าม  โอ้  ใจหนอใจ  ช่างไม่สามัคคีกันเลย  เกิดความคับข้องใจ (Frustration) เลยต้องมาเขียนต่อ

ศ.ดร.เสริมศักดิ์  วิศาลาภรณ์  มีข้อแนะนำที่ผู้บริหารควรจดจำก่อนที่จะบริหารความขัดแย้ง  ดังนี้
    1.  เมื่อมีความขัดแย้ง  ประเด็นมักจะคลุมเครือ  ผู้บริหารต้องชัดเจนในประเด็นที่เป็นสาเหตุ
    2.  คนที่เกิดความขัดแย้งมักเข้าข้างตนเอง  ไม่พยายามเข้าใจคนอื่น
    3.  หากมองสาเหตุไม่ถูกต้อง  จะทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
    4.  คนที่มีความขัดแย้งมักจะต่อสู้มากกว่าแก้ไข
    5.  แต่ละฝ่ายมักจะมองว่า  ฝ่ายตรงข้ามพยายามจะเอาชนะ
    6.  หากมองปัญหาความขัดแย้งไม่ครอบคลุม  จะทำให้เกิดความลำเอียง
    7.  คนทั่วไปชอบหลีกเลี่ยง  หรือปกปิดความขัดแย้ง
    8.  คนที่มีความขัดแย้งมักเข้าข้างตนเอง  ไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็นของคนอื่น
    9.  หากมีการยอมแพ้เสียบ้าง  อาจทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งง่ายขึ้น
    10. อารมณ์  ความโกรธ  ความกังวล  อาจทำให้คนมองปัญหาผิดไป
    11. ผลของการบริหารความขัดแย้ง  อาจเป็นลบ  เพราะวิธีการที่ใช้แก้ปัญหา

ความขัดแย้งจะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน  ดังนี้
    1.  ความขัดแย้งต่ำ ระดับผลการปฏิบัติงานสูง
    2.  ความขัดแย้งสูง ระดับผลการปฏิบัติงานต่ำ
    3.  ความขัดแย้งปานกลาง  ระดับการปฏิบัติงานปานกลาง

เมื่อมีการยอมรับว่า  ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในองค์กร  ที่จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าระดับ (Degree) ความขัดแย้งในองค์กรเท่าไรจะเหมาะสม
ผมมีความเห็น (ส่วนตัว) สำหรับการเป็นผู้บริหารดังนี้ครับ
    1.  มีความขัดแย้งมากกว่า 50%  หาทางลงจากตำแหน่งโดยเร็ว
    2.  มีความขัดแย้ง  50%  ยึดระเบียบให้หนัก  อย่าพลาด
    3.  มีความขัดแย้ง  40%  พอเอาตัวรอด  แต่ต้องระวัง
    4.  มีความขัดแย้ง  30%  มีแววประสบความสำเร็จ  แต่อย่าวางใจ
    5.  มีความขัดแย้ง  20%  มุ่งมั่นทำงาน  ไม่ต้องระแวง
    6.  มีความขัดแย้ง  10%  สามัคคีคือพลัง  อุ่นใจได้
    7.  ไม่มีความขัดแย้งเลย  ผิดปกติ/ระวังคลื่นใต้น้ำ

นอกจากความขัดแย้งในองค์กรที่เกิดจากคนในองค์กร  และคนต่างองค์กรแล้ว  สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ  การเปลี่ยนแปลง (Change) เช่น  บรรยากาศโลกร้อน  มลภาวะเป็นพิษ  หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล  แต่ในความเป็นจริง  มันเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

โลกทุกวันนี้  การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทางเลือก  แต่เป็นทางที่มนุษย์ทุกคนต้องเลือก  และต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อความอยู่รอด

คราวหน้า (ถ้ามีเวลา) คงจะได้เขียนเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์

การบริหารไม่ยาก  ถ้าช่วยกันคิดและทำ

หมายเลขบันทึก: 88746เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท