RFID เทคโนโลยีเพิ่มความสะดวก และความรวดเร็วในการจัดการ


RFID (radio frequency identification) หรือการระบุตัวด้วยคลื่นวิทยุ เป็นชิฟที่มีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆที่จำเป็น แล้วนำไปติดยังสิ่งที่ต้องการ โดยสามารถอ่านข้อมูลจากระยะห่างได้ด้วยการส่งข้อมูลมาทางสายอากาศ เป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในการนำไปใช้ แม้ปัจจุบันยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆน้อยอยู่ ไม่แพร่หลายเหมือนอย่างต่างประเทศ แต่เชื่อว่าอีกระยะ3-5ปีจะเฟื่องขึ้นเท่าตัว
RFID (radio frequency identification) หรือการระบุตัวด้วยคลื่นวิทยุ เป็นชิฟที่มีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆที่จำเป็น แล้วนำไปติดยังสิ่งที่ต้องการ โดยสามารถอ่านข้อมูลจากระยะห่างได้ด้วยการส่งข้อมูลมาทางสายอากาศ  เป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในการนำไปใช้  แม้ปัจจุบันยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆน้อยอยู่ ไม่แพร่หลายเหมือนอย่างต่างประเทศ แต่เชื่อว่าอีกระยะ3-5ปีจะเฟื่องขึ้นเท่าตัว

ธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกแขนงที่อยู่ระหว่างศึกษาเตรียมนำไปใช้แทนบาร์โคดสินค้า อาทิ  ห้างเทสโก้  โลตัส และอีกหลายแห่ง  เพราะนอกจากประหยัดเรื่องต้นทุนการทำะรกิจแล้ว   สิ่งที่เห็นผลชัดเจนที่สุด คือเรื่องความเร็ว

กรณีศึกษาใช้งานRFID สปีดกว่าเดิม 10 เท่า

มีกรณีศึกษาของธุรกิจที่นำ RFID ไปใช้ ได้แก่ บริษัทบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตโซดาไฟ และพีวีซีผง ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 10 ปี เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของบริษัทผู้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการบริหารจัดการการทำงานของบริษัท โดยติดตั้งในรถยนต์ที่ขนส่งสินค้ากว่า 200 คัน

"บริษัทเพิ่งเริ่มนำแท็กมาติดตั้งในรถยนต์ และใช้มา 1 เดือนแล้ว พบว่าราบรื่นดี ช่วยลดระยะเวลาในการเช็คสินค้าจากรถขนส่งได้มาก " นายกาญจณัฐ กาญจนลักษณ ผู้จัดการฝ่ายระบบ วีนิไทย กล่าวถึงผลการทำงาน

เขายังเล่าย้อนกลับไปถึงสาเหตุของการเลือกใช้อาร์เอฟไอดีด้วยว่า เป็นเหตุมาจากบริษัทแม่จากประเทศเบลเยี่ยม ที่มีนโยบายลงมาว่าให้บริษัทจัดทำแวร์เฮาส์ เมนเนจเม้นท์ และเรื่องลอจิสติกก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการนี้ โดยบริษัทแม่ให้อิสระทางความคิดในการสรรหาเทคโนโลยีใดๆก็ได้มาทำให้ระบบการขนส่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เริ่มแรกก็ต้องมีพิจารณาถึงความต้องการในการใช้เทคโนโลยีก่อนว่าต้องการใช้เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องใด จากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวพบว่าบริษัทจะมีการเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ปริมาณการขนส่งต้องมากขึ้นเป็นเงาตัว ดังนั้น  ต้องหาเทคโนโลยีมาช่วยให้การขนส่งเร็วขึ้น ในจำนวนรถเท่าเดิม เพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้น

เทคโนโลยีแรกที่มอง ยังไม่ใช่อาร์เอฟไอดี เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงความต้องการต่างๆแล้ว สุดท้ายก็มาลงที่เทคโนโลยีนี้ หลังจากได้ข้อสรุปบริษัทก็ทำการทดสอบเทคโนโลยีของหลายบริษัทเพราะโครงการด้านการขนส่งมีหลายส่วนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ส่วนที่ใช้อาร์เอฟไอดีจะเป็นเรื่องของแท็กสำหรับติดในรถยนต์

วิธีการคือ ติดแท็กอาร์เอฟไอดีที่ตัวรถขนส่งนั้นๆ เพื่อสะดวกในการจัดการกับการเช็คสินค้าในรถ โดยคนขับรถไม่ต้องลงจากรถเพื่อนำเอกสารไปให้เจ้าหน้าตรวจสอบ และเซ็นต์เพราะอาร์เอฟไอดี นอกจากจะสามารถเป็นสัญญาณในการเช็คสินค้าแล้ว ยังสามารถบันทึกรายละเอียด ข้อมูลที่จำเป็นได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้คนขับรถต้องมีทักษะเล็กน้อยในการขับไปจอดยังตำแหน่งที่กำหนดเพื่อการกำหนดในการจัดการ

"เดิมรถคันหนึ่งใช้เวลาในการเช็คสินค้าคันละ 5 นาที แต่พอนำเทคโนโลยีมาช่วย พบว่าคันหนึ่งใช้เวลาเพียง 30 วินาที เท่านั้น"

เป็นคำยืนยันของนายกาญจณัฐ กล่าวถึงประสิทธิภาพที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารงานในด้านการขนส่ง

ถามว่า กว่าที่โครงการข้างต้นจะเสร็จลุล่วงมาถึงวันนี้ นายกาญจณัฐ กล่าวว่า ตอนแรกตั้งเป้าว่าระยะเวลาของโครงการประมาณ 4 เดือน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และต้องทดสอบให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาดในเรื่องของสัญญาณอาร์เอฟไอดีต้องแม่นยำ การให้คำปรึกษาหรือบริการหลังการขายต้องติดต่อสะดวก ทำให้ตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆที่เป็นบริษัทที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยพบว่าบริษัทคนไทยที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติ ที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย และด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่ สิ่งสำคัญที่การให้คำปรึกษา เรื่องเทคนิค บริการหลังการขาย บริษัทนั้นๆต้องพร้อมที่จะให้บริการทุกเมื่อที่มีปัญหา ทั้งนี้สิ่งที่บริษัทคนไทยทำได้เห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เสาอากาศ แท็ก ตัวอ่าน เหล่านี้หากทำให้ต้นทุนถูกลงได้อีก จะดีมาก

ด้วยความพิถีพิถันนี้ ทำให้โครงการต้องยืดออกไปเป็น 6 เดือน ด้วยงบประมาณการลงทุนที่ไม่สามารถเปิดเผยชัดเจนได้ บอกได้เพียงแต่ว่าหลายล้านบาท

กระนั้นก็ตาม บริษัทให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการอย่างมาก ซึ่งในส่วนของระบบการขนส่งนั้นจะต้องมีการต่อยอดต่อไปอีกแน่นอน เพื่อให้ระบบดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แต่เดิม บริษัทก็ใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการข้อมูล ของ SAP อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเพิ่งขึ้นระบบ EHR เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการบุคลากร อันได้แก่ การขอโอที ขอวันหยุด เช็คข้อมูลพื้นฐานของตนเอง และอัพเดทเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายดาย

นอกจากนี้ยังได้ใช้เครื่องอ่านมือถือ หรือ แฮนด์เฮล ลักษณะคล้ายเครื่องแสกนบาร์โค้ด แต่อุปกรณ์นี้เป็นไวร์เลส ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้ทันที โดยนำมาใช้กับสินค้า มากว่า 2 ปีแล้ว


ถอดรหัส..!!!สายพันธ์ "RFID"

“หากจะเอ่ยถึงเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี วันนี้คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมีคนเอาไปใช้เยอะพอสมควร แถมยังนำไปขยายผลแล้วด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจคงต้องบอกว่าไม่ต้องห่วงและกลัว” เป็นคำกล่าวของดร.นัยวุฒิ วงษ์โคเมท กรรมการผู้จัดการ บริษัทไออี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองพัฒนาการของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีในปัจจุบัน

โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่ม “ไออี เทคโนโลยี” ถือเป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีและระบบอาร์เอฟไอดีชั้นนำของเมืองไทย  ซึ่งในการพัฒนาระบบอาร์เอฟไอดีของบริษัทนั้น ดร.นัยวุฒิ เล่าให้ฟังว่า บริษัทไม่เน้นพัฒนาทุกตัว แต่จะเลือกพัฒนาและออกแบบระบบอาร์เอฟไอดีในสินค้าแต่ละตัว เนื่องจากอาร์เอฟไอดีมีความหลากหลาย และมีอุปกรณ์จำนวนมาก เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทหรือแม้แต่บริษัทคนไทยรายอื่นจะพัฒนาได้ครบทุกตัว

“เราจะเลือกบางตัวที่คิดว่ามีนิชของมันเอง หรือสอดคล้องกับตลาดเมืองไทย หรือเป็นตัวที่ตลาดเมืองไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยหลักๆ แล้วบริษัททำการพัฒนาอยู่  2 ซีรีส์ด้วยกัน”เขากล่าว

สำหรับซีรีส์ที่หนึ่ง เป็นเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี ในตระกูล Low Frequency เป็นการพัฒนาขึ้นเพื่อประกอบกับบริษัทซิลิกอนคราฟ ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยที่ทำการออกแบบไมโครชิป และมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง บริษัทจึงออกแบบเครื่องอ่านตัวนี้มาเพื่อซัพพอร์ตโปรดักต์ตัวนี้ให้ครบในแง่ตัวโปรดักต์เชน หรือเซ็กเม้นต์ที่มีความต้องการในกลุ่มตลาดของ Low Frequency

ในไลน์ของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะประกอบด้วยโปรดักต์ 3 ส่วน โดยส่วนที่หนึ่งเป็นโปรดักต์กลุ่มเดสก์ทอป รีดเดอร์  นิยมใช้สำหรับงานเดวิลอปเม้นท์ และงานรีเทล ส่วนที่สองเป็นพาแนล รีดเดอร์ จะใช้กับงานทางด้านฟาร์ม การเกษตร หรือขนส่ง โดยมีระยะอ่านไกลขึ้นจากโปรดกัต์ชนิดแรกตั้งแต่ 50-80 เซนติเมตร และเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับทางมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอเชีย (Asian University) ในการพัฒนาเสาอากาศ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ได้ทุนสนับสนุนจากทางเนคเทคเพื่อพัฒนาเสาอากาศที่จะมาใช้กับเครื่องอ่านให้ได้ประสิทธิภาพดีขึ้น

และตัวสุดท้าย เป็นเครื่องมือถือ หรือแฮนด์เฮลด์ รีดเดอร์ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายเหมือนกัน ทั้งใช้ในเรื่องของสัตว์ หรือขนส่งก็ได้ เป็นตัวที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้เครื่องอ่านแฮนด์เฮลที่มีระยะอ่านไกล ซึ่งสามารถอ่านได้ถึง 25 เซนติเมตร

ดร.นัยวุฒิ กล่าวถึงซีรีส์ที่สอง ว่า จะเป็นลักษณะแพลตฟอร์มหรือเรียกว่า อาร์เอฟไอดี เทอร์มินอล โดยเน้นใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ความน่าสนใจของอาร์เอฟไอดี เทอร์มินอลนั้น   นอกจากการเป็นเครื่องอ่านแล้ว ยังทำหน้าที่เหมือนทดแทนคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะในอุตสาหกรรมอาหารหรือการผลิต บางครั้งไม่ต้องการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้มากนัก เนื่องจากต้นทุนสูง และอีกหนึ่งจุดเด่นของเครื่องอ่านชนิดนี้ก็คือ เป็นทัชสกรีน คีย์บอร์ด คล้ายกับทัชสกรีนบนเครื่องพีดีเอ เพื่อกันน้ำ กันฝุ่นและทนทานมากขึ้น

“นอกจากเทอร์มินอลตัวนี้จะเป็นฮาร์ดแวร์ในตัวเองแล้ว ปัจจุบันเรายังเอามาใช้ร่วมกับโซลูชันด้านการตรวจสอบย้อนกลับในอาหารอีกด้วย ซึ่งที่มาเรื่องนี้มาจาก ข้อบังคับของลูกค้าผู้ส่งออกอาหารในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ระบุว่าผู้ส่งออกอาหารต้องสามารถตรวจสอบกลับไปได้ว่าต้นตอของอาหารมาจากแหล่งใด และระหว่างทางผ่านมือใครบ้าง เช่น การทดสอบกุ้งหรือไก่ 1  แพคในโรงงานว่าออกมาจากไหน ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและใช้แรงคนจำนวนมาก การเอาอาร์เอฟไอดีเข้ามาช่วยจึงเป็นการเพิ่มความถูกต้องและลดแรงงานที่จะไปทดสอบ”ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้กล่าว

ดร.นัยวุฒิ อธิบาย และเสริมต่ออีกว่า นอกจากโซลูชันด้านการตรวจสอบย้อนกลับในอาหารแล้ว บริษัทยังมีโซลูชันด้านของการติดตามทรัพย์สิน การติดตามรถบรรทุก การจัดการคลังสินค้า รวมไปถึงการสนับสนุนผู้ส่งออกไปยังห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในต่างประเทศที่บังคับต้องใช้อาร์เอฟไอดี

ทั้งนี้  เขามองถึงการพัฒนาอาร์เอฟไอดีโดยรวมในเมืองไทยว่า มีความแข็งแกร่งและมีโอกาสอีกมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างอื่นและประเทศเพื่อนบ้านได้ดี เนื่องจากมีการพัฒนาเกือบครบทุกส่วนของอาร์เอฟไอดี ทั้งระดับล่างสุดอย่างไมโครชิป ไปจนถึงการนำอาร์เอฟไอดีชิปมาพัฒนาอาร์เอฟไอดีแทรค และการพัฒนาเป็นเครื่องอ่านซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในเมืองไทยเช่นกัน  

ขนส่ง-อุตฯอาหาร  แนวโน้มใช้RFID สูง

 “ถึงวันนี้บริษัทคนไทยมีการนำเอาไปใช้ค่อนข้างมาก  แต่ถ้าจะถามเป็นจำนวนคงตอบยาก เพราะกระจัดกระจาย เริ่มจากชัดๆ ที่เห็นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันก็คือ บัตรทางด่วน สมาร์ทเพิร์ส บัตรรถไฟใต้ดิน นอกจากนั้นเริ่มเข้าไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ปิโตรเคมี อาหาร ภาคการศึกษา และลอจิสติกส์ซัพพลายเชน เฉพาะที่เป็นลูกค้าเราก็น่าจะเกือบๆ 20 รายได้”  ดร.นัยวุฒิ บอกเล่าให้ฟังถึงการนำเอาอาร์เอฟไอดีไปใช้ในเชิงธุรกิจ อีกว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นกลุ่มที่มีการนำอาร์เอฟไอดีไปใช้งานมากสุด แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าทุกธุรกิจอุตสาหกรรมมีโอกาสนำอาร์เอฟไอดีไปใช้ได้หมด ขึ้นอยู่กับว่านำอาร์เอฟไอดีไปใช้อย่างไร?

ทั้งนี้  เขาย้ำว่าในฐานะที่ปรึกษาระบบ ได้พยายามเข้าไปสร้างการรับรู้กับลูกค้าผู้บริโภคตลอด แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะอาร์เอฟไอดี โพรไวเดอร์ก็ไม่ได้ทุกคนที่มองว่าอาร์เอฟไอดีเป็นซิสเต็มส์   แต่มองเป็นแค่ฮาร์ดแวร์ และถ้าบวกกับลูกค้าที่มองอาร์เอฟไอดีเป็นฮาร์ดแวร์ มันก็ยาก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันพยายามเอ็ดดูเคทสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง

และการสร้างความเข้าใจกับตลาด ยังต้องใช้เวลาอีกมาก แต่สำหรับปีนี้ตลาดเริ่มดีขึ้นมากและเชื่อว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะพอมีคนใช้และเกิดประโยชน์ คนก็จะเริ่มเข้ามาลองใช้กันมากขึ้น 

"แผนอนาคตของไอทีเทคโนโลยีกับอาร์เอฟไอดีนั้น บริษัทจะเน้นขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ทั้งลูกค้ากลุ่มเก่าให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้นและกลุ่มใหม่ที่มีโอกาส อย่างเช่น กลุ่มสิ่งทอ และธุรกิจอาหาร เพราะนอกจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่แล้วยังเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ขณะที่ในส่วนธุรกิจคอนซูเมอร์ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องมองให้ถี่ถ้วนว่าจะนำไปใช้ในมุมไหน เพราะยังติดเรื่องต้นทุน หากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าอย่างโทรทัศน์ หรือพรินเตอร์ สามารถทำได้"

คำสำคัญ (Tags): #rfid
หมายเลขบันทึก: 87998เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท