เมื่อวันที่ 25-26 พย ที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสอันดีจาก พี่วัลลา ( ดร.วัลลา ตันตโยทัย ) เข้าร่วมกิจกรรม " ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน " ในฐานะคุณ อำนวย ตั้งแต่ครั้งแรกที่พี่วัลลาชวนให้มาร่วมกิจกรรมนี้ ผมรู้สึกว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้เรียนรู้สัมผัสของจริงเรื่องการจัดการความรู้ เพื่อที่จะนำไปใช้ในกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาล พุทธชินราช โดยตั้งความหวังไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานผมทุกคนสามารถเข้าใจกระบวนการนี้ และสามารถจะนำไปดำเนินการกับ เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนร่วม และ ประชาชนในชุมชนได้ เราจะได้องค์ความรู้จากประสบการณ์อย่างมากมายที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่ต้องมาเสียเวลากับการลองผิดลองถูก เพราะได้เรียนรู้จากคนที่ทำได้ดีแล้วมาเล่าสู่กันฟัง (เหมือนเรียนลัดน่ะครับ)
เครื่องบินและรถแท็กซี่พาผมมาถึง ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ ประมาณ 9.30 น ของเช้าวันที่ 25 สะพายเป้ เดินดุ่มๆเข้าไปในห้องประชุม เห็นผู้เข้าร่วมประชุมนั่งล้อมวง ฟังพี่วัลลา กับ คุณธวัชเล่าเรื่องกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ คนเต็มห้องประชุมเลยครับ แต่ละคนตั้งอกตั้งใจฟังเป็นอย่างยิ่ง ผมได้ที่นั่งข้างๆช่างกล้อง(มารู้อีกทีว่าเป็นที่นั่งพักของช่างกล้องนั่นเอง ต้องขออภัยที่แย่งไปนั่งด้วยนะครับ) ฟังพี่วัลลา กับ คุณธวัช พูดได้ซักสิบห้านาที ก็ถึงเวลาเบรค พี่วัลลาปล่อยมุขว่า " เชิญพักทานน้ำชา กาแฟนะคะ แต่อย่าทานเบรค" เห็นหลายคนอึ้งไปเหมือนกันคง งงๆ จนกระทั่งรู้ตัวว่าโดนมุขพี่วัลลาซะแล้ว ก็เดินยิ้มน้อยๆออกจากห้องประชุมไป
ช่วงเบรค ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์เทพ ในหลายๆเรื่องแต่ที่ผมจำได้เป็นอย่างดีก็คือเรื่องการสร้างเครือข่าย มีโครงสร้างลงไปถึงชุมชน และ การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความสามารถเป็นสหเวชศาสตร์ คือเรียนรู้หลายๆศาสตร์ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้ครบตามความจำเป็น (เช่น รู้เรื่องยา รักษาพยาบาลถูกต้องส่งต่อได้เหมาะสม รู้เรื่องการออกกำลังกาย รู้เรื่องโภชนาการ เข้าใจและสามารถให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น ) ส่วนแพทย์ ต้องเป็นอย่างนก สามารถมองสถานการณ์เพื่อการบริหารจัดการได้อย่าง bird eye view ไม่เป็นหนอนเจาะไชลงแนวลึกเพียงอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตามแพทย์ที่เป็นหนอนมาก่อนย่อมจะเป็นนกได้ดีเนื่องจากมีประสบการณ์ของการเป็นหนอนมาแล้วจึงจะบริหารหนอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งทางด้านนโยบาย อาจารย์มีแนวความคิดของการผลิตแพทย์พันธ์ใหม่ เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบเกื้อหนุนเรื่องความก้าวหน้าและค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม คุยเพลินจนเข้าห้องประชุมช้าอีกเช่นเคย กำลังจะเดินเข้าผู้เข้าร่วมงานตลาดนัดครั้งนี้ก็กำลังเดินออกไปนั่งตามกลุ่มที่ถูกกำหนดไว้ คราวนี้ไม่พลาดผมจำกลุ่มได้แน่นอน ว่ากลุ่มที่ผมเป็นคุณอำนวย คือกลุ่มดอกกุหลาบ ตรงรี่เข้าไปเลยครับ
กลุ่มดอกกุหลาบประกอบด้วยสมาชิกจาก รพ หนองคาย (พี่สุเจตน์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมมาเอง) รพ พยุหะคีรี รพ ดำเนินสะดวก รพ แม่พริก รพ หาดใหญ่ รพ ภูมิพล รพ เขมราฐ คงจะมีอีกสองโรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้ผมจำไม่ได้ซะแล้วครับ ทุกคนต่างแนะนำตัวเองในกลุ่มย่อยอีกครั้งนึง ทำความคุ้นเคยกันพอสมควรแล้ว แต่ละคนก็เริ่มเล่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำมาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน คุณอำนวยอย่างผมพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย สิ่งหนึ่งที่เกิดในใจขณะนั้นก็คือ ตลาดนัดความรู้เรื่องการดูแลเบาหวานครั้งที่ 2 นี้ แตกต่างจากครั้งแรกมาก ทุกคนมีผลงานกล้าแสดงออกกล้าเล่าสิ่งที่ตนเองทำอย่างภาคภูมิใจ จนเวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนคงคิดว่าช่วงนี้ถ้ามีเวลาซักอีกชั่วโมงน่าจะเหมาะสมที่สุด แต่เท่าที่รวบรวมได้ในเวลาจำกัดนี่ก็มากมายเกินกว่าที่คุณลิขิตจะบันทึกได้หมดแล้วครับ เที่ยงกว่าแล้ว พวกเราก็ย้ายขบวนไปชั้นล่างรับประทานอาหารกลางวันกัน อาหารที่นี่อร่อยมากครับ มีตัวอย่างให้ดูข้างถาดอาหารทุกถาดว่าปริมาณแค่นี้เป็นกี่ แคลอรี่ น่าสนใจมาก แต่ตอนนั้นกำลังหิวหน้ามืดตักเพลินจนไม่ได้ห่วงถึงปริมาณแคลอรี่เลย หลังจากอิ่มแปล้แทบลุกจากโต๊ะไม่ไหว ปฏิญาณกับตัวเองว่ามื้อเย็นขอแก้ตัวใหม่จะต้องกำหนดอาหารตัวเองให้เหมาะสมให้ได้ ภาคบ่ายมีอะไรน่าสนใจ ค่อยต่อตอนสองนะครับ